[attachmentid=846]
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลาย เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เหมือนกับสัมมาทิฏฐินี้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
การที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ต้องอาศัยบุญบารมีที่เคยสั่งสมไว้ดีแล้วในชาติปางก่อน จึงได้อัตภาพที่สมบูรณ์ มีอวัยวะครบถ้วน ๓๒ ประการ เหมาะแก่การงานทั้งปวง เมื่อเราได้ร่างกายที่สมบูรณ์ดีนี้มาแล้ว เราควรจะนำมาใช้สร้างบุญสร้างบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ควรนำไปใช้ผิดทาง ผิดวัตถุประสงค์หรือประมาทเลินเล่อ ควรหมั่นให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ซึ่งเป็นทางมาแห่งบุญ ที่จะทำให้เราเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มรรคผลนิพพานในทุกภพทุกชาติ หากเป็นเช่นนี้ ชีวิตของเราที่เกิดมาในภพชาตินี้ ย่อมมีคุณค่าไม่เปล่าประโยชน์ จะเป็นชีวิตที่มีแก่นสารอย่างแท้จริง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ทุติยอัปปมาทสูตร ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น เหมือนกับสัมมาทิฏฐินี้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นชอบ กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ ยิ่งขึ้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลาย เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เหมือนกับสัมมาทิฏฐินี้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
สุคติโลกสวรรค์ คือ ทิพยสถานรองรับผู้มีสัมมาทิฏฐิเป็นพื้นฐาน ถึงแม้ยังไม่รู้ว่า องค์ประกอบของสัมมาทิฏฐิมีอะไรบ้าง หรือปฏิบัติไม่ครบตามหลักสัมมาทิฏฐิทั้ง ๑๐ ประการ แต่ด้วยความที่เป็นผู้มีพื้นฐานใจดี มีความเคารพอ่อนน้อมถ่อมตน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปัน ย่อมให้มีสุคติภูมิเป็นที่ไปได้เช่นกัน ส่วนคนที่ไม่มีสัมมาทิฏฐิอยู่ในใจแม้แต่ข้อเดียว ย่อมไม่สามารถไปสู่สุคติได้ เมื่อละโลกแล้ว จะมีแต่ทุคติเป็นที่ไปเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
สำหรับตอนนี้ มีเรื่องในอดีตชาติของท่านอุรุเวลกัสสปะมาเล่าต่อจากครั้งที่แล้ว ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ไม่ใช่เฉพาะในภพชาตินี้เท่านั้น ที่พระองค์ทำลายความเห็นผิดของท่านอุรุเวลกัสสปะ แม้ในภพชาติก่อน พระองค์ก็ทำให้อุรุเวลกัสสปะเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ละโลกแล้ว ก็มีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไปเช่นกัน เรื่องมีอยู่ว่า
*ในอดีตกาล มีพระราชาพระนามว่า อังคติราช ครองราชย์อยู่ในกรุงมิถิลา แคว้นวิเทหรัฐ พระองค์มีอำมาตย์อยู่ ๓ นาย คือ วิชยอำมาตย์ สุนามอำมาตย์ และ อลาตอำมาตย์ ในเทศกาลเดือน ๑๒ ดอกโกมุทบาน มหาชนพากันตกแต่งบ้านเมืองอย่างตระการตาประหนึ่งเทพนคร
พระราชาตรัสถามเหล่าอำมาตย์ว่า ราตรีอันงดงามน่ารื่นรมย์เช่นนี้ เราจะเพลิดเพลินด้วยเรื่องอะไรกันดี เนื่องจากเหล่าอำมาตย์มีวินิจฉัยยังไม่สมบูรณ์ จึงกราบทูลตามที่ตนชอบใจ
อลาตอำมาตย์กราบทูลให้พระองค์ทรงออกรบ เพื่อยึดหัวเมืองต่างๆ ไว้ในอำนาจ
สุนามอำมาตย์แย้งว่า การทำศึกสงครามในฤดูกาลนี้ ยังไม่เหมาะสม ขอพระองค์ได้เสวยเบญจกามคุณอย่างเต็มที่ก่อนเถิด
ส่วนวิชยอำมาตย์ผู้มีปัญญากราบทูลว่า การเพลิดเพลินด้วยกามคุณทั้งหลาย หาได้โดยไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากกว่าและดีกว่านั้นคือ เราควรพากันไปหาสมณพราหมณ์ผู้เป็นพหูสูต ผู้แสวงหาคุณ ซึ่งท่านสามารถกำจัดความสงสัยของพวกเราได้
พระเจ้าอังคติราชทรงเป็นผู้ใคร่ในธรรม จึงสนับสนุน คำพูดของวิชยอำมาตย์ แต่ยังไม่รู้ว่าจะไปสนทนาธรรมกับสมณพราหมณ์รูปไหนดี
อลาตเสนาบดีถือโอกาสกราบทูลเพื่อเอาใจพระราชาว่า มีนักบวชชีเปลือยที่โลกสมมติว่าเป็นนักปราชญ์ ชื่อคุณะ เป็นพหูสูต พูดจาไพเราะ ขอเดชะ เราทั้งหลายควรเข้าไปหาท่าน ท่านจักขจัดความสงสัยของพวกเราได้
พระราชาสดับคำของอลาตเสนาบดีแล้ว รู้สึกชอบใจที่จะได้สนทนาธรรมกับนักบวช แต่เนื่องจากพระองค์ยังไม่รู้ว่า นักบวชแท้จริงที่มีสัมมาทิฏฐิครบถ้วนบริบูรณ์นั้นควรมีลักษณะเช่นไร จึงตัดสินใจไปพบ คุณอเจลกะ ตามคำแนะนำของอลาตเสนาบดี
เมื่อเสด็จไปถึงมฤคทายวัน ทรงเดินเข้าไปหาคุณอเจลกะทันที จากนั้น พระราชาตรัสถามถึงหัวข้อธรรมต่างๆ ว่า นรชนพึงประพฤติธรรมในมารดาและบิดาอย่างไร พึงประพฤติธรรมในอาจารย์อย่างไร พึงประพฤติธรรมในบุตรและภรรยาอย่างไร พึงประพฤติธรรมในบุคคลผู้เจริญด้วยอายุอย่างไร พึงประพฤติธรรมในพลนิกายอย่างไร และพึงประพฤติธรรมในชนบทอย่างไร มหาชนควรประพฤติธรรมอย่างไร ละโลกนี้ไปแล้วจึงจะได้ไปสู่สุคติ ส่วนคนบางพวกผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ไฉนจึงตกลงไปในนรก
เนื่องจากปัญหานี้เป็นปัญหาที่พระองค์ควรจะตรัสถามนักปราชญ์บัณฑิตผู้มีสัมมาทิฏฐิครบถ้วนบริบูรณ์ เช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น แต่กลับไปถามพวกชีเปลือยผู้ไร้ปัญญา ไม่รู้ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของปัญหา เมื่อคุณอเจลกะถูกถามเช่นนั้น ตนไม่รู้คำตอบที่ถูกต้อง ได้แต่ทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงสดับเถิด และเริ่มตั้งมิจฉาวาทะว่า ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์ทรงสดับทางที่จริงแท้ของพระองค์ ผลแห่งธรรมที่ประพฤติแล้วเป็นบุญเป็นบาปไม่มี ขอเดชะ ปรโลกไม่มี ไม่มีใครที่จากปรโลกนั้นมาสู่โลกนี้ มารดาบิดาไม่มีคุณจริง ครูอาจารย์ไม่มีบุญคุณ เพราะต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนเท่านั้น สัตว์เสมอกันหมด ผู้ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญไม่มี กำลังหรือความเพียรไม่มี บุรุษผู้มีความหมั่นจักได้รับผลแต่ที่ไหน สัตว์ที่เกิดตามกันมา เหมือนเรือน้อยห้อยท้ายเรือใหญ่ มหาบพิตร ผลทานไม่มี ความเพียรไม่มีอำนาจ คนโง่เท่านั้นที่บัญญัติเรื่องการให้ทานไว้ คนฉลาดรับทาน คนโง่สำคัญตัวว่าฉลาด เป็นผู้ไม่มีอำนาจ ย่อมให้ทานแก่นักปราชญ์ทั้งหลาย ครั้นคุณอเจลกะพรรณนาภาวะที่ทานเป็นของไม่มีผลแล้ว เนื่องจากเป็นผู้มีวาทะว่าขาดสูญ เมื่อจะทำวาทะของตนให้สำเร็จตามความสามารถที่จะเกลี้ยกล่อมได้ จึงกราบทูลโดยหาหลักฐานไม่ได้ว่า
รูปกายอันเป็นที่รวมของดิน น้ำ ลม ไฟ สุข ทุกข์และชีวิต ๗ ประการนี้ เป็นของเที่ยง ไม่ขาดสูญ ไม่กำเริบ ผู้ที่ถูกฆ่าหรือถูกตัด หรือเบียดเบียนใดๆ ไม่มี ศัสตราทั้งหลายพึงเป็นไปในระหว่างรูปกาย ๗ ประการนี้ ผู้ใดตัดศีรษะของผู้อื่น ผู้นั้นไม่ชื่อว่าตัดร่างกายเหล่านั้น ในการทำเช่นนั้นผลของบาปไม่มี สัตว์ทุกจำพวกท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร ๘๔ มหากัป ย่อมบริสุทธิ์ได้เอง เมื่อยังไม่ถึงกาลนั้น แม้จะสำรวมกาย วาจาใจเป็นอย่างดี ก็บริสุทธิ์ไม่ได้ ถ้าแม้ทำบาปไว้มากมาย บาปก็ไม่ส่งผล พวกเราไม่ล่วงเลยเขตอันแน่นอน คือ ๘๔ มหากัปนั้นไปได้ เหมือนคลื่นไม่ล่วงเลยฝั่งไปฉะนั้น
วาทศิลป์ของคุณอเจลกะผู้มีความเห็นผิดนั้น ทำให้พระราชารู้สึกเห็นดีเห็นงามตามไปด้วย เพราะฟังดูแล้ว มีเหตุผลน่าเชื่อถืออยู่ไม่น้อย แต่ความรู้สึกในใจลึกๆ ของพระองค์นั้น จะเป็นอย่างไร เราคงต้องมาติดตามในตอนต่อไป
จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า คนที่มีความเห็นผิดเป็นชอบ บางครั้งดูเหมือนมีคำพูดและการกระทำที่น่าเชื่อถือมากๆ ทำให้ผู้ฟังเคลิบเคลิ้มตาม ถ้าไม่มีธรรมะในใจ ก็เป็นการยากที่จะแยกแยะว่า คนพาลหรือคนที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีลักษณะเช่นไร จึงจำเป็นที่เราจะต้องศึกษาความเป็นจริงของชีวิต และให้มีสัมมาทิฏฐิติดแน่นในใจของเรา จะได้แยกแยะผิดถูก ดีชั่วได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องไปหลงฟังคำของผู้ที่ความรู้ยังไม่สมบูรณ์ ชีวิตเราจะได้ปลอดภัย และสร้างบารมีด้วยความสุขใจไปทุกภพทุกชาติจนกว่าจะถึงที่สุดแห่งธรรมกันทุกคน*มก. เล่ม ๖๔ หน้า ๒๐๕