[attachmentid=483]
ม ง ค ล ที่ ๑
ไ ม่ ค บ ค น พ า ล
ผู้มีปัญญา ไม่พึงคบคนชั่วเป็นมิตร ไม่พึงคบบุรุษผู้ต่ำทราม พึงคบหากัลยาณมิตร พึงคบบุรุษผู้สูงสุด เราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ต่างปรารถนาความสุขความเจริญ ปรารถนาให้สิ่งที่ดีงามที่เป็นมงคลเกิดขึ้นแก่ชีวิตของตนด้วยกันทั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า สิ่งที่เป็นมงคล คือ การบำเพ็ญบุญ อันจะเป็นเครื่องสนับสนุนให้เราบรรลุวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ สมบูรณ์พร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ตลอดจนถึงการบรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้นบุญทั้งจากการบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับชีวิตของเราทุกคน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
น ภเช ปาปเก มิตฺเต น ภเช ปุริสาธเม ภเชถ มิตฺเต กลฺยาเณ ภเชถ ปุริสุตฺตเม ผู้มีปัญญา ไม่พึงคบคนชั่วเป็นมิตร ไม่พึงคบบุรุษ ผู้ต่ำทราม พึงคบหากัลยาณมิตร พึงคบบุรุษผู้สูงสุด
*หลังจากที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว คืนหนึ่ง ขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ท้าวสักกเทวราชซึ่งเป็นจอมเทพในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อถูกหมู่เทวดาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องมงคลแล้ว ทรงมีบัญชาให้เทพบุตรองค์หนึ่งพร้อมด้วยหมู่เทพ ไปทูลถามพระบรม-ศาสดาว่า อะไรเป็นมงคลของชีวิต ความจริง เรื่องมงคลชีวิตนี้ มนุษย์และเทวดาได้คิดกันมานานแล้ว แต่คิดกันไปคนละอย่าง บางคนบอกว่า การที่ได้เห็นรูปงามๆ เป็นมงคล จะทำให้ชีวิตมีความสุข มีความเจริญก้าวหน้า บางคนบอกว่า ต้องได้ยินเสียงเพราะๆ ได้ดมกลิ่นหอมๆ จึงจะเป็นมงคล อย่างนี้เป็นต้น โดยสรุปคือ ทุกคนคิดว่า จะต้องหามงคลจากสิ่งที่อยู่นอกตัว แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสอย่างนั้น
พระพุทธองค์ทรงบอกว่า มงคลเป็นสิ่งที่เราต้องทำเอง คือต้องลงมือทำความดี ลงแรงสร้างบุญกุศล จึงจะเป็นสิริมงคลของชีวิต ทำให้ชีวิตมีความสุขความเจริญ ความดีขั้นแรกที่พระพุทธองค์ทรงบอกให้ทำ คือ ต้องไม่คบคนพาล ดังที่พระองค์ตรัสสอนไว้ว่า ผู้มีปัญญาไม่พึงคบ คนชั่วเป็นมิตร ไม่พึงคบบุรุษผู้ต่ำทราม พึงคบหากัลยาณมิตร พึงคบบุรุษผู้สูงสุด คนพาล คือ คนที่มีใจขุ่นมัวเป็นปกติ มีความคิดเห็นต่อสิ่งต่างๆ ผิดจากความเป็นจริง ชอบคิดชั่ว พูดชั่ว และทำชั่ว ไม่ยอมรับรู้ระเบียบวินัย นำแต่ความเดือดร้อนมาให้ ใครไปคบหาสมาคมด้วย มีแต่ความเสื่อมเสีย ตั้งแต่เสียชื่อเสียง ทรัพย์สินเงินทอง การงาน ญาติมิตร และคุณงามความดีทั้งหลาย เขายังพลอยติดเชื้อพาล จากที่เคยเป็นคนดีก็พลอยกลายเป็นคนพาลไปด้วย ดังเช่นเรื่องในอดีตกาล ที่กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นปุโรหิต คืออำมาตย์ที่ปรึกษาของพระราชาพระนามว่า พระเจ้าพรหมทัต พระองค์มีช้างมงคลเชือกหนึ่ง ชื่อ มหิฬามุข เป็นช้างใจดี ไม่เกะกะเกเร ไม่เคยทำร้ายใคร
วันหนึ่ง มีโจรกลุ่มใหญ่ หลังจากปล้นชิงทรัพย์สินของชาวบ้านแล้ว ตกกลางคืนก็มาชุมนุมกันที่ข้างโรงช้างของพระราชา เพื่อปรึกษาหารือ นัดแนะกันว่า พรุ่งนี้จะไปทำการตัดช่อง ย่องเบาที่ไหน ปล้นชิงอย่างไร ขุดอุโมงค์ตรงไหน จะทำร้าย เจ้าทรัพย์ด้วยวิธีใดจึงจะไม่มีใครต่อสู้ได้ และสอนวิชาโจรให้ กันว่า เราเป็นโจร ไม่ต้องมีมารยาท ไม่ต้องมีความเมตตา ต้องทำใจให้แข็งกระด้างเข้าไว้ ไม่ต้องสงสารใคร ต้องดุร้าย หยาบคาย ถึงจะทำงานในอาชีพโจรได้สำเร็จ พวกโจรมาปรึกษาหารือกันแบบนี้ทุกคืน ช้างมหิฬามุขได้ยินบ่อยจนเข้าใจว่า เขาสอนให้ตนเองทำแบบนั้น คือ สอน ให้เป็นโจร ให้ดุร้าย ให้ทำร้ายผู้อื่น ช้างมงคลจึงอาละวาด คนเลี้ยงช้างที่มาโรงช้างแต่เช้าตรู่ ก็เอางวงจับเขาฟาดพื้น จนตาย เห็นใครผ่านมาก็ฆ่าเขาตายหมด จนใครๆ เข้าใจว่า ช้างมหิฬามุขเป็นบ้าไปแล้ว พากันไปกราบทูลพระราชา พระราชาทรงส่งพระโพธิสัตว์ไปสืบหาต้นสายปลายเหตุของการเปลี่ยนแปลง ว่าทำไมช้างมงคลถึงกลายเป็นช้างดุร้าย ปรากฏว่า ช้างไม่ได้เป็นอะไรเลย พระโพธิสัตว์ท่านเป็นบัณฑิต มีปัญญา ตรึกตรองดูแล้วสันนิษฐานว่า คงจะมีใครมาพูดอะไรให้ช้างได้ยินเป็นแน่ จึงถามคนเลี้ยงช้างว่า ตอนกลางคืน เคยเห็นใครมาสนทนาหรือมาปรึกษาหารือให้ช้างได้ยินบ้างหรือไม่ ได้รับคำตอบว่า มีพวกโจร มาปรึกษาหารือกันอยู่ใกล้ๆ โรงช้างหลายคืนติดต่อกันมาแล้ว พระโพธิสัตว์ฟังแล้ว เข้าใจทันทีว่า ช้างมงคลกลายเป็นช้างดุร้าย เพราะได้ฟังพวกโจรแล้วเข้าใจผิด คิดว่าเขาสอนให้ตนเองทำตัวดุร้ายแบบนั้น ท่านจึงไปกราบทูลพระราชาว่า ช้างไม่ได้เป็นบ้า ไม่ได้ป่วย แต่ที่เป็นอย่างนี้ เพราะฟังถ้อยคำของพวกโจร พลางแนะนำว่า ถ้าจะแก้ไขให้เป็นช้างใจดีเหมือนเดิม ต้องนิมนต์สมณพราหมณ์ผู้มีศีล มาพูดธรรมะ พูดเรื่องศีล เรื่องมารยาทให้ช้างฟัง พระราชาทรงเห็นด้วย รับสั่งให้ทำตามนั้น พระโพธิสัตว์จึงนิมนต์สมณพราหมณ์ผู้มีศีลทั้งหลาย ให้มานั่งสนทนาเรื่องศีล ในโรงช้างเพื่อให้ช้างได้ยิน สมณพราหมณ์เหล่านั้นสนทนากันว่า คนดี จะต้องมีศีล มีมารยาทดีงาม อ่อนโยน ไม่ควรด่าใคร ไม่ควรทำร้ายใคร จะต้องมีขันติ มีความเมตตา เอื้อเฟื้อเอ็นดูเพื่อนมนุษย์และ สรรพสัตว์ทั้งหลาย ช้างฟังดังนั้น ก็เข้าใจว่า สมณพราหมณ์ เหล่านี้สอนเรา ต่อแต่นี้ไป เราควรเป็นช้างที่มีศีล ตั้งแต่นั้นมา ช้างมหิฬามุขจึงกลับเป็นช้างใจดี สุภาพอ่อนโยนเหมือนเดิม พระราชาทรงโสมนัส และชื่นชมพระโพธิสัตว์ว่า เป็นบัณฑิต มีปัญญามาก เข้าใจแม้กระทั่งอัธยาศัยของสัตว์เดียรัจฉาน จึงได้พระราชทานยศใหญ่ให้แก่พระโพธิสัตว์ จะเห็นได้ว่า การคบคนพาลนั้นไม่ดี แม้แต่ช้างเพียงแค่ได้ฟังคำพูดของคนพาลบ่อยๆ ยังกลายเป็นช้างพาล สามารถทำบาปกรรมไปไม่รู้ตัว แต่ครั้นได้ฟังคำของผู้มีศีล ก็กลับสำรวม มารยาทงาม กลายเป็นช้างที่ดีเหมือนเดิม พวกเราก็เช่นเดียวกัน อย่าไปคบหาสมาคม ทำความ คุ้นเคย หรือเกี่ยวข้องกับคนพาลในทางใดทางหนึ่ง เพราะถ้าหากตัวเรายังไม่หนักแน่นในคุณธรรม เพียงแค่ฟังคนพาลพูดบ่อยๆ เราอาจรับความคิดเห็นของเขาเข้ามาไว้ในใจทีละนิดโดยไม่รู้ตัว อันจะทำให้เราพลอยมีความเห็นผิดพลาดไปจากความเป็นจริง ส่งผลให้คำพูดและการกระทำของเราผิดพลาดไปด้วย เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ใครเป็นคนพาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงให้ข้อสังเกตง่ายๆ ว่า คนพาล คือ คนที่มักจะคิดไม่ดี พูดไม่ดี และทำไม่ดี เช่น คิดอยากได้ของคนอื่น พยาบาทปองร้าย หรือมีความเห็นผิดทำนองคลองธรรม ชอบพูดโกหก พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และเพ้อเจ้อไร้สาระไม่มีประโยชน์ ชอบฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เหล่านี้เป็นต้น และเมื่อตัวเราเริ่มคิด พูด หรือทำอย่างนี้ ให้รู้ตัวว่า เริ่มมีเชื้อพาลอยู่ในตัวแล้ว ต้องรีบแก้ไข โดยทำตัวของเราให้มีบุญมากๆ ด้วยการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา หมั่นทำใจหยุดใจนิ่ง ให้เข้าถึงคนดีที่ แท้จริงภายในตัว คือพระธรรมกายให้ได้ เพราะนั่นเป็นแหล่งแห่งความดีงาม สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ทำให้เรารู้เห็นทุกสิ่ง ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง รักการสร้างความดี และในที่สุดเชื้อแห่งความเป็นคนพาลจะหมดไปจากกาย วาจา ใจ ฉะนั้น ขอให้ทุกท่านอย่าได้ประมาท หมั่นปฏิบัติธรรมให้สม่ำเสมอ ทุกๆ วัน
*มก. มูลเหตุเกิดมงคลปัญหา อรรถกถามงคลสูตร เล่มที่ ๓๙ หน้า ๑๖๓