คัดลอกมาบางส่วน
“ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี”
วลีนี้คงจะเป็นที่คุ้นเคยของผู้เรียนบาลีหรือพุทธศาสนิกชนทั่วไป
เพราะเมื่อกล่าวถึงการบำเพ็ญเพียรของพระโพธิสัตว์ในอดีตชาติ
พระเจ้าพรหมทัต แห่งกรุงพาราณสี จะปรากฏมาเสมอ นับตั้งแต่อดีต
พระเจ้าพรหมทัตยังคงอยู่ในใจของประชาชนชาวเมืองพาราณสี แคว้นกาสี จนมาถึงปัจจุบัน
ดุจดังสายน้ำคงคาที่ไหลผ่านเมืองนี้ พัดพารวมเอาประวัติศาสตร์ ความรุ่งเรือง ให้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
แคว้นกาสี มหารัฐแห่งความเจริญรุ่งเรือง
พระเจ้าพรหมทัต เป็นตำแหน่งมหาราชาที่ปกครองเมืองพาราณสี แคว้นกาสีมาโดยตลอด
ในพระไตรปิฎกและ อรรถกถาหลายแห่ง ได้ระบุถึงความยิ่งใหญ่ของแคว้นกาสีมาโดยตลอด แม้แต่พระพุทธศาสนาที่แผ่ขยายไปทั่วอินเดียในสมัยพุทธกาล
ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากแคว้นกาสี คือ ที่ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน
ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก อุโบสถสูตร
กล่าวถึงมหาชนบท (รัฐ) ที่ยิ่งใหญ่เจริญรุ่งเรืองในสมัยพุทธกาล ๑๖ แห่ง คือ
อังคะ
มคธะ
กาสี
โกสละ
วัชชี
มัลละ
เจตี
วังสะ
กุรุ
ปัญจาละ
มัจฉะ
สุรเสนะ
อัสสกะ
อวันตี
คันธาระ
กัมโพชะ
แคว้นกาสีก็เป็นหนึ่งในจำนวนแคว้นเหล่านั้น เป็นเส้นทางการค้าขายระหว่างรัฐต่างๆ มากมาย แคว้นกาสีมีความรุ่งเรืองด้านการผลิตผ้าไหมและเครื่องประทินโฉม
การเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์เพราะมีแม่น้ำคงคาไหลผ่าน ผู้คนก็มีจิตใจที่สูงส่ง เพราะแคว้นกาสีนี้ เป็นต้นกำเนิดของป่าสงวนแห่งแรกของโลก คือที่ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน
ความหมายของคำว่า กาสี
ในคัมภีร์อภิธานัปธาตุปทีปิกา ให้ความหมายไว้ดังต่อไปนี้
แคว้นที่เจริญรุ่งเรืองด้วยสมบัติมากมาย
(สัมปัตติยา กาสะตีติ กาสี, มาจาก กาสะ ธาตุ มีความหมายเท่ากับศัพท์ว่า ทัตติ คือ เจริญรุ่งเรือง)
ในคัมภีร์ฝ่ายสันสกฤต นั้น มีที่มาดังต่อไปนี้
๑. มาจาก กาสะ ธาตุ ในความสว่าง คือโมกขะหรือความหลุดพ้น
๒. มาจากพระเจ้ากาสะ ผู้ปกครองแคว้น ซึ่งเป็นภาคที่ ๑๒ ของพระเจ้ามนู
๓. มาจาก คำว่า หญ้ากาสะ ซึ่งมีเป็นจำนวนมากที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา
การสร้างแคว้นกาสี
มีการก่อสร้างมาตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธกาล
ดังปรากฏในมหาโควินทสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ ทีฆนิกาย ตอนหนึ่งว่า
ทันตปุรนคร เป็นมหานครของแคว้นกาลิงคะ
โปตนนคร เป็นมหานครของแคว้นอัสสกะ
มาหิสสตินคร เป็นมหานครของแคว้นอวันตี
โรรุกนคร เป็นมหานครของแคว้นโสจิระ
มิถิลานคร เป็นมหานครแห่งแคว้นวิเทหะ
จัมปานครสร้างในแคว้นอังคะ พาราณสีนคร เป็นมหานครแห่งแคว้นกาสี
พระนคร เหล่านี้ ท่านโควินทพราหมณ์สร้าง ฯ
พระราชาแห่งกาสีเป็นต้นกำเนิดของตระกูลศากยะและโกลิยะ
ตระกูลศากยะและโกลิยะของพระพุทธองค์ก็มีควมเกี่ยวข้องกับเมืองพาราณสี ยังเหนียวแน่น
[/color]
เมืองหลวงของแคว้นกาสี
เมืองหลวงของแคว้นกาสีในสมัยก่อนพุทธกาล ดังปรากฏในชาดก
คือเมืองพาราณสี เป็นเมืองที่มีความยิ่งใหญ่ รุ่งเรืองมั่งคั่ง
ดังปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒ โกสัมพีกขันธกะ
และทีฆีติโกสลชาดก อัฒฑวรรค มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ในพระนครพาราณสี ได้มีพระเจ้ากาสีพระนามว่าพรหมทัต
ทรงเป็นกษัตริย์มั่งคั่ง มีพระราชทรัพย์มาก มีพระราชสมบัติมาก มีรี้พลมาก
มีพระราชพาหนะมาก มีพระราชอาณาจักรใหญ่ มีคลังศัสตราวุธยุทธภัณฑ์ และคลังธัญญาหารบริบูรณ์
ส่วนพระเจ้าโกศลพระนามทีฆีติ ทรงเป็นกษัตริย์ขัดสน มีพระราชทรัพย์น้อย มีพระราชสมบัติน้อย
มีรี้พลน้อย มีพระราชพาหนะน้อย มีพระราชอาณาจักรเล็ก
มีคลังศัสตราวุธยุทธภัณฑ์และคลังธัญญาหารไม่สู้จะบริบูรณ์”
ในสมัยพุทธกาล เมืองหลวงของแคว้นกาสี คือ เมืองพาราณสี
ถึงแม้ว่าจะไม่ปรากฏว่ายิ่งใหญ่มีอำนาจมากเหมือนกับแคว้น ๕ แคว้น คือ
โกศล มคธ วัชชี วังสะ อวันตี
เพราะบางครั้งก็ถูกแคว้นโกศลและมคธปกครอง บางครั้งก็เป็นอิสระ
และมีชื่อเสียงเจริญรุ่งเรืองด้านการบำเพ็ญเพียรของพระโพธิสัตว์
มาแต่อดีตคือป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน
ความหมายของคำว่า พาราณสี
ก่อนสมัยพุทธกาล เมืองพาราณสี ได้มีชื่อหลายชื่อ ดังที่ปรากฏในชาดก ต่างๆ ดังนี้
๑. อุทัยชาดก (เรื่องที่ ๔) ในอรรถกถาชาดก ๖ เอกาทสก-ปกิณณกนิบาต ชื่อว่า สุรุนธนนคร
๒. จุลลโสมชาดก แห่งอรรถกถาชาดก ๗ วีสติ-จัตตาฬีสนิบาต ชื่อว่า สุทัสสนะนคร
๓. โสณนันทชาดก แห่งอรรถกถาชาดก ๘ ปัญญาส-สตตตินิบาตชื่อว่า พรหมวัฑฒนนคร
๔.จันทกุมารชาดก แห่งอรรถกถาชาดก ๑๐ มหานิบาตชื่อว่า ปุปฺผวตี
๕. สังขพราหมณชาดก แห่งอรรถกถาชาดก ๕ ฉักก-ทสกนิบาต ชื่อว่า โมลินี
๖. ยุธัญชยจริยาวัณณนา แห่งทุกนิบาต จริยาปิฎก (ปรมัตถทีปนี) ข้อ ๒๓๔ ชื่อว่า รัมมนคร
คำว่า พาราณสี เป็นภาษาบาลี แต่ภาษาสันสกฤตเรียกว่า วาราณสี (แต่เป็นเมืองเดียวกัน)
ในคัมภีร์ทั้งทางพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ได้ให้ความหมาย ดังต่อไปนี้
๑. อรรถกถาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (สัทธัมมปกาสินี ๒ )
ข้อ ๒๗๐ กล่าวไว้ว่า แม่น้ำสายหนึ่งชื่อว่า พาราณสา มีนครแห่งหนึ่งตั้งชื่อไม่ไกลจากแม่น้ำพาราณสานั้น
นครนั้นมีชื่อว่า พาราณสี
(สุตฺตนฺเต ตาว พาราณสิยนฺติ พาราณสา นาม นที, พาราณสาย อวิทูเร ภวา นครี พาราณสี)
๒. อรรถกถาขุททกนิกาย อปาทาน (วิสุทธชนวิลาสินี ๒) ข้อ ๓๑๕๔ กล่าวไว้ว่า
“เมืองนั้นเต็มด้วยจำนวนคน ๑๒ คน เหมือนคำว่า มนุษย์ ๑๒ คน, ฤาษี
และพระปัจเจกพุทธเจ้าเหาะมาจากภูเขาคันธมาท แล้วลงมา เดินไป เข้าไปในเมืองนั้นจนเต็ม
เมืองนั้นจึงชื่อพาราณสี ฯ อีกอย่างหนึ่ง นครเป็นที่ข้ามลงเพื่อประโยชน์แก่การประกาศธรรมจักรให้หมุนไป
ของพระพุทธเจ้าหลายร้อยพระองค์ เปลี่ยนคำว่า พารส ให้เป็นอิตถีลิงค์
ด้วยการเดิมปัจจัยให้เป็นอิตถิลิงค์ จึงเป็นพาราณสี
( ตทา หิ พาราณสิยนฺติ "พารส มนุสฺสา"ติอาทีสุ วิย พารส ทฺวาทสราสี หุตฺวา ปุรา,
หิมวนฺตโต อิสโย จ ปจฺเจกมุนิสงฺขาตา อิสโย จ คนฺธมาทนโต อากาเสนาคนฺตฺวา
เอตฺถ คจฺฉนฺติ โอตรนฺติ ปวิสนฺตีติ พาราณสี, อถ วา สมฺมาสมฺพุทฺธสงฺขาตานํ
อเนกสตสหสฺสานํ ธมฺมจกฺกปฺปวตฺ-ตนตฺถาย โอตรฏฺฐานํ นครํ ลิงฺควิปลฺลาสํ กตฺวา
อิตฺถิลิงฺควเสน พาราณสีติ วุจฺจติ,)
๓. ในคัมภีร์ฝ่ายสันสกฤต คือ คัมภีร์ปูรณะและ อรรถรเวท กล่าวไว้ดังต่อไปนี้
๓.๑ เพราะเมืองตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำ ๒ สาย คือ แม่น้ำวรุณ และแม่น้ำอสี
จึงเรียกตามแม่น้ำทั้งสอง จึงกลายเสียงเป็น วาราณสี
๓.๒ ภายในเมืองมีป่ามาก และภายในป่านั้น มีต้นวรุณ (ต้นกุ่ม) เป็นจำนวนมาก
ขึ้นอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เมืองและแม่น้ำสายนั้น จึงได้ชื่อว่า วาราณสี
(มาจากศัพท์ วารุณะ แปลว่า ต้นกุ่ม, วาสี ป่า รวมเป็นวาราณสี)
๓.๓ เมืองตั้งอยู่ในป่าต้นวรุณ จึงเรียกว่า วารุณวนะ วาสี
(วรุณ ต้นกุ่ม, วนะ ป่า, วสิ อยู่ รวมเป็น วารุณวนะ วาสี
นักวิชาการบางท่าน ได้ให้ที่มาว่า มาจากคำว่า วรณะ (คิ้ว) และนาสิ (จมูก)
ซึ่งหมายถึงอวัยวะที่ตั้งอยู่ระหว่างคิ้วและจมูก คือ ตา ซึ่งหมายถึงการดำรงอยู่ของพระพรหม
ในปัจจุบัน แม่น้ำพาราณสา แม่น้ำวรุณ แม่น้ำวาราณสี ก็คือแม่น้ำสายเดียวกัน
มีชื่อเรียกในปัจจุบันว่า แม่น้ำวรุณะ ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากทะเลสาบ ภูลปูร (Phoolpur)
ระหว่างเขตแดนอำเภออัลลาฮาบาด (Allahabad)
และอำเภอไมซาปูร (Mizapur) รัฐอุตรประเทศ
ชาวเมืองเชื่อกันว่าน้ำจากแม่น้ำวรุณสามารถขับไล่พิษของพญางูใหญ่ได้
ถึงแม้ว่าจะมีหลายชื่อ ตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล จนถึงยุคปัจจุบันนี้ เมืองพาราณสี
ก็ยังคงรักษาชื่อเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น แม้จะถูกเปลี่ยนโดยเหตุผลทางการเมือง ดังต่อไปนี้
๑. ในสมัยพระเจ้าออรังคเซฟ กษัตริย์มุสลิม องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์โมกุล
ได้ยกทัพมาตีเมืองพาราณสี ทำลาย วัดทอง (กาสีวิศนารถเก่า) ที่ท่าทศอัศวเมธ
ซึ่งเป็นวัดฮินดูที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งเมืองพาราณสี และได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น มะหะหมัดบาด
(บาด เป็นภาษาอูรดู แปลว่า เมือง จึงแปลว่า เมืองแห่งพระมะหะหมัด)
แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่นานนัก ชาวเมืองก็เรียกว่า วาราณสีเหมือนเดิม
๒. ในยุคที่อังกฤษปกครองอินเดีย ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น
บานารัส บ้าง เบนารัส บ้าง
แต่ชาวเมืองก็ยังเรียกว่า วาราณสี ตามเดิม
ความรุ่งเรืองของพาราณสีสมัยพุทธกาล
เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว
ทรงเสด็จมาโปรดปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เมืองพาราณสี
และทรงแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก คือ
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
และในที่สุดพระสงฆ์รูปแรกของโลก คือ พระอัญญาโกณทัญญะ ก็เกิดขึ้นในโลก
และในวันนั้นเอง พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ครบถ้วนบริบูรณ์
และพระพุทธองค์ก็ทรงประกาศพระศาสนาและส่งพระสาวกชุดแรกจำนวน ๖๐ รูป
ออกไปประกาศพระพุทธศาสนาแก่ชาวโลก
พาราณสียังมีความเจริญรุ่งเรือง เพราะแม้ตอนพระพุทธองค์จะปรินิพพานที่กุสินารา
พระอานนท์กราบทูลให้ปรินิพพานในเมืองใหญ่เมืองใดเมืองหนึ่ง คือ
เมืองจัมปา เมืองราชคฤห์ เมืองสาวัตถี เมืองสาเกตุ เมืองโกสัมพี เมืองพาราณสี เพราะกษัตริย์ ประชาชนผู้ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธองค์นั้นมีมาก
(มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อ ๑๓๗ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐)
พาราณสีในปัจจุบัน
ชื่ออย่างเป็นทางการของพาราณสีที่ราชการประกาศใช้ คือ วาราณสี (VARANASI)
ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจำนวน ๘๕ อำเภอของรัฐอุตรประเทศ (U.P)
ซึ่งมีลักเนาว์เป็นเมืองเหลวง ตั้งอยู่ในรัฐยูพีตอนตะวันตกเฉียงใต้ มีทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๒
และทางหลวงของรัฐอีกหลายสาย และทางรถไฟสายหลักผ่านมี ๒ ชุมทางใหญ่คือ
ชุมทางพาราณสี ในเมืองพาราณสี
และชุมทาง มงคลสาร่าย (Monkul Sarai Jn.)
ห่างกันประมาณ ๑๐ กิโลเมตร สามารถเดินทางไปได้เกือบทั่วประเทศอินเดีย
และมีสนามบินประจำเมืองสามารถเดินทางไปยังเมืองใหญ่ได้ เช่น
กัลกัตต้า เดลลี ลัคเนาว์ เนปาล และอีกหลายเมืองทั่วประเทศ
มีแม่น้ำคงคาที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งไหลผ่านตัวเมืองด้านทิศตะวันออก
เป็นเมืองที่สามารถผสมผสานความเชื่อเก่าๆ และเทคโนโลยี่สมัยใหม่ได้อย่างลงตัว
เพราะมีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงตั้งอยู่ ๒ แห่ง คือ
๑. มหาวิทยาลัยเมืองพาราณสี (Banaras Hindu University = B.H.U.)
๒. มหาวิทยาลัยสันสถฤต ที่สอบเข้าและเรียนด้วยภาษาสันสกฤตเป็นหลัก
.....