ผลแห่งการถวายประทีป
ของพระเอกทีปิยเถระ
***การถวายประทีปนั้น เป็นการถวายทานอีกประเภทหนึ่งซึ่งอยู่ในอุปนิสัยของผู้ที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน ในพระไตรปิฎกจึงได้มีบันทึกเกี่ยวกับการถวายประทีปในอดีตกาลของพระเถระหลายรูปด้วยกัน ดังในเรื่องราวของ พระเอกทีปิยเถระ
ในอดีต พระเอกทีปิยเถระได้สั่งสมกุศลกรรมไว้ในสมัยของพระชินเจ้าผู้ประเสริฐพระองค์ก่อน ๆ ทุกภพนั้นจะสั่งสมแต่บุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานเป็นประจำเสมอ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ นี้ก็เช่นกัน ท่านได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานอีกครั้ง ซึ่งบุญในภพชาตินั้นที่ท่านทำไว้ก็คือ การถวายประทีป
ครั้งนั้น พระเถระเกิดในตระกูลคฤหบดี โดยอาศัยผลจากการทำทานเช่นเดียวกับนักสร้างบารมีคนอื่น ๆ เมื่อเจริญวัยแล้ว มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ได้บูชาประทีปดวงหนึ่งไว้ที่ไม้สนอันเป็นไม้ตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ โดยการเริ่มตั้งน้ำมันและไส้ประทีปเป็นการถาวร เพื่อบูชาด้วยประทีปดวงหนึ่งเป็นประจำ เมื่อบูชาแล้วมีใจผ่องใสเบิกบานในบุญที่ได้กระทำ
จะสังเกตเห็นว่า การบูชาประทีปนั้น ตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ มา อาจบูชากับสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ โดยมีจิตมุ่งตรงต่อพระพุทธองค์ด้วยจิตเลื่อมใสศรัทธา แม้เกิดในสมัยพระพุทธเจ้าก็มิได้ถวายโดยตรงต่อท่าน แต่บุญจากการบูชาเลื่อมใสนั้นก็ก่อให้เกิดผลบุญอย่างจะนับจะประมาณมิได้ เทียบเท่ากับการถวายแด่พระพุทธองค์ เป็นการสืบทอดการบูชาที่มีมาแต่ครั้งพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ
ในอดีตของพระเอกทีปิยเถระ ได้ทำการบูชาด้วยประทีป ผลบุญจึงได้ส่งให้แก่ท่านดังต่อไปนี้คือ
ท่านได้ถือกำเนิดใน ๒ ภพภูมิคือ ท่องเที่ยวไปในเทวโลก และมนุษยโลก เป็นผู้รุ่งเรืองในที่ทุกแห่ง
เป็นผู้มีดวงตาแจ่มใส เสวยสุขในโลกทั้งสอง สมดังพุทธภาษิตที่ว่า ผู้ให้ประทีปชื่อว่าให้ดวงตา จึงทำให้เป็นผู้มีดวงตาแจ่มใสไม่พิการ
เมื่อเกิดในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เกิดในตระกูลที่ดีสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติในกรุงสาวัตถี บรรลุนิติภาวะแล้ว มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย บวชในพระพุทธศาสนา ไม่นานนักก็บรรลุคุณวิเศษ มีปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ รู้แจ้งแทงตลอดในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าถึงอรหัตผลในไม่ช้านี้ก็เนื่องมาจากการที่ได้ถวายประทีปเป็นพุทธบูชา ซึ่งอานิสงส์ให้เป็นผู้มีดวงตาธรรมอันแจ่มใส สามารถรู้แจ้งเห็นแจ้งในธรรมได้โดยง่ายนั่นเอง
แม้ในระหว่างภพชาติที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในกัปที่ ๑๖,๐๐๐ แต่กัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิถึง ๔ ครั้ง ทรงพระนามว่า จันทาภา มีพละมาก
จากบุพกรรมของพระเอกทีปิยเถระนี้ จะเห็นว่าท่านได้บูชาประทีปถวายเป็นพุทธบูชาของท่าน มีความต่อเนื่อง มีจิตเลื่อมใสศรัทธาเป็นสำคัญ มีความยินดีโสมนัส อานิสงส์นั้นได้เกิดแก่ท่านอย่างต่อเนื่องซ้ำ ๆ กัน เช่นเป็นพระเจ้าจักรพรรดิถึง ๔ ครั้ง แม้ในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อได้นึกถึงบุพกรรมแต่ครั้งก่อน ท่านก็ได้นำมาประกาศเรื่องราวด้วยความปีติโสมนัสอีก
การทำความดีนั้น เมื่อได้ตามระลึกถึงในครั้งใด ก็สามารถสร้างความปีติใจให้แก่ผู้สร้างความดีนั้น ฉะนั้นการสร้างความดีจึงต้องทำอย่างสม่ำเสมอ และทำให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
การจุดโคมมาฆประทีปเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา แม้ว่าเราเคยทำมาแล้วในปีก่อน ๆ แต่การทำซ้ำ ๆ ก็จะได้ชื่อว่า เราได้สั่งสมบุญอย่างเดิมเป็นประจำได้อย่างหนึ่ง ผลบุญนั้นเกิดขึ้นเป็นทวีคูณและสามารถตามระลึกถึงได้อย่างง่ายดาย การทำบุญครั้งใหม่สามารถเป็นเครื่องเตือนให้เราระลึกนึกถึงบุญในครั้งเก่าได้ ด้วยอานิสงส์ที่เกิดจากการระลึกถึงบุญหลังทำ ก็จะเกิดแก่เราอีกส่วนหนึ่ง บุญจะเกิดขึ้นใน ๓ วาระ คือ ก่อนทำ ขณะทำ และหลังจากทำ แล้วตามระลึกถึงบุญอยู่เสมอ จิตย่อมเป็นกุศลบ่อย ๆ บุญจึงเกิดขึ้นทุกครั้งที่ตามระลึกถึงคุณความดีที่ได้สั่งสมมา