ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

สัมมาทิฏฐิ ( ๓ )


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 1 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 kuna

kuna
  • Members
  • 780 โพสต์
  • Gender:Male

โพสต์เมื่อ 26 December 2005 - 05:21 PM

[attachmentid=845]

ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว
คำสอนในพระพุทธศาสนา เป็นคำสอนที่นำไปสู่การปฏิบัติ ให้รู้แจ้งเห็นจริงด้วยตัวเอง เป็นคำสอนที่มุ่งสู่ความบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งมวล แม้เราจะศึกษาคำสอนมามากเพียงไร แต่ถ้าหากยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติ ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงธรรม ยังคงเป็นเพียงใบลานเปล่า คือ รู้แต่ภาคทฤษฎีเท่านั้น เพราะฉะนั้นการจะเป็นผู้ทรงธรรม และได้รับรสแห่งอมตธรรมอันยอดเยี่ยม ที่ท่านกล่าวไว้ว่า รสแห่งธรรมย่อมชนะรสทั้งปวงนั้น ต้องเริ่มจากการเจริญภาวนาฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง จนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกายกันทุกคน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ทุติยอัปปมาทสูตร ว่า
“ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว ดูก่อนอานนท์ ด้วยว่า อาศัยเราเป็นมิตรที่ดี สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความเกิดได้ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความแก่ได้ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความเจ็บป่วยได้ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความตายได้ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความเสียใจ และความคับแค้นใจเป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความโศก ความรํ่าไร ความทุกข์ ความเสียใจ และความคับแค้นใจได้”
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ได้ชื่อว่า เป็นสัญลักษณ์ของสุกกธรรม คือ ธาตุธรรมฝ่ายขาวที่มาปลดแอกสรรพสัตว์ให้พ้นจากกัณหธรรมอันเป็นธรรมดำ ขจัดให้หลุดร่อนออกจากใจของมวลมนุษยชาติ แม้พระพุทธองค์จะดับขันธปรินิพพานไปนานแล้ว แต่ด้วยความเป็นยอดกัลยาณมิตร ที่พระองค์ทรงประทานคำสอนไว้ให้ ทำให้โลกนี้ไม่ว่างจากบุคคลผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ เพราะผู้มีสัมมาทิฏฐิเพียงคนเดียว เมื่ออุบัติขึ้นในโลก ย่อมอุบัติขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นจำนวนมาก ทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะพระพุทธองค์ได้แนะนำให้ชาวโลกรู้จักสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเปรียบเสมือนแสงสว่างส่องนำทางสรรพสัตว์ให้พบหนทางอันประเสริฐ คือ อริยมรรค
*สมัยที่พระบรมศาสดาทรงเทศน์โปรดชฎิล ๓ พี่น้อง พร้อมด้วยบริวาร ๑,๐๐๐ คน ให้ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว ทรงตั้งพระทัยว่า จะเสด็จไปที่สวนตาลหนุ่ม เพื่อประสงค์จะทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับพระเจ้าพิมพิสาร ผู้เป็นราชาแห่งแคว้นมคธว่า หากพระองค์ได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จะกลับมาเทศน์โปรดให้พระเจ้าพิมพิสารได้ตรัสรู้ตามด้วย
สมัยนั้น ลัทธิบูชาไฟของชฎิล ๓ พี่น้อง ถือเป็นลัทธิที่มีชื่อเสียง และเป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวแคว้นมคธมาก ด้วยความเป็นผู้ฉลาดในการเทศน์สอน เมื่อต้องการจะเปลื้องมิจฉาทิฏฐิของชาวเมืองอีกเป็นเรือนแสน จำเป็นต้องเปลื้องความเห็นผิดของผู้นำให้ได้เสียก่อน ดังนั้นเมื่อพระพุทธองค์ทรงทำให้ชฎิล ๓ พี่น้อง ซึ่งเป็นเจ้าลัทธิ เปลี่ยนจากมิจฉาทิฏฐิให้มานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ทรงมีพุทธประสงค์จะไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารต่อไป อันที่จริง ชฎิล ๓ พี่น้อง ได้ตั้งความปรารถนาที่จะเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าตั้งแต่เมื่อ ๑๐๐,๐๐๐ กัปที่แล้ว คือ ท่านได้ถวายมหาทานแด่พระสงฆ์ ๑๐๐,๐๐๐ รูป มีพระปทุมุตตรพุทธเจ้าเป็นประมุข และตั้งความปรารถนาว่า ให้ได้เป็นสาวกผู้เลิศทางด้านมีบริวารมาก
ครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้เวียนว่ายตายเกิดในเทวโลกและมนุษยโลกเท่านั้น ไม่เคยตกไปในอบายภูมิ จึงทำให้ได้โอกาสในการสั่งสมบุญกุศลมาโดยตลอด
ในกัปที่ ๙๒ แต่กัปนี้ ท่านเคยเป็นอุปัฏฐากใหญ่ของพระผุสสพุทธเจ้า ครั้นอธิษฐานตอกย้ำซ้ำเดิมอีก ความปรารถนาที่ตั้งไว้ก็ชัดเจนมากขึ้น มาในชาตินี้ แม้ท่านจะมีความตั้งใจออกบวช เพื่อให้ได้เป็นพระอรหันต์ แต่วิธีการที่ถูกต้องนั้น ท่านยังไม่รู้ และก็ไม่มีใครบอก จึงหลงบูชาไฟอยู่หลายปี นี่เป็นข้อคิดว่า ความตั้งใจดีก็อย่างหนึ่ง แต่ถ้าขาดวิธีการที่ถูกต้องแล้ว ก็ยากที่จะสำเร็จได้ จนเมื่อได้ฟังธรรมที่มีชื่อว่า อาทิตตปริยายสูตร จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชฎิล ๓ พี่น้องพร้อมด้วยบริวาร ต่างดับไฟกิเลสในตัวได้ และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์กันทุกคน หลังจากบรรลุธรรมแล้ว ทั้งหมดพากันติดตามพระพุทธองค์เข้าสู่กรุงราชคฤห์ด้วย เมื่อพระเจ้าพิมพิสารสดับข่าวอันเป็นมงคลว่า เจ้าชายสิทธัตถะซึ่งบัดนี้ได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว กำลังมุ่งหน้าเสด็จมาโปรด ทรงตื่นเต้นดีใจ พระองค์พร้อมด้วยพุทธบริษัทประมาณ ๑๒ นหุต หรือราว ๑๒๐,๐๐๐ คน รีบเสด็จมาถวายบังคมพระพุทธองค์ด้วยจิตที่เลื่อมใส ขณะเดียวกัน พวกพราหมณ์คฤหบดีภายในราชบริษัท และชาวเมืองต่างสงสัยว่า ระหว่างพระพุทธเจ้ากับท่านอุรุเวลกัสสปะ ใครหนอจะมีอานุภาพมากกว่ากัน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงล่วงรู้ความคิดของชาวเมือง จึงตรัสถามท่านว่า “ดูก่อนกัสสปะ ท่านเคยเป็นอาจารย์สั่งสอน หมู่ชฎิลผู้ผ่ายผอมเพราะกำลังประพฤติพรต ท่านเห็นอะไรจึงได้ละไฟที่เคยบูชาเสียเล่า ท่านเห็นประโยชน์อะไรจึงมาประพฤติพรหมจรรย์กับเรา” พระเถระกราบทูลว่า “ยัญทั้งหลายย่อมกล่าวสรรเสริญ รูป เสียง กลิ่น รส และหญิงที่น่าใคร่ทั้งหลาย ข้าพระองค์รู้ว่า ของน่ารักน่าใคร่นั้นๆ เป็นมลทิน ตกอยู่ในอุปกิเลสทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงมิได้ยินดีในการเซ่นสรวงและการบูชาเพลิง ข้าพระองค์ได้เห็นธรรมอันระงับกิเลสแล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องเศร้าหมอง อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ติดข้องอยู่ในกามภพ มิใช่วิสัยที่ผู้ใดจะนำมาให้ผู้อื่นรู้ได้ ไม่แปรปรวนกลายเป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้นข้าพระองค์จึงไม่ยินดีในการเซ่นสรวงและการบูชาไฟ”
พระอุรุเวลกัสสปะกล่าวจบ ก็ซบศีรษะแทบพระบาทของพระตถาคต พร้อมประกาศขึ้น ๓ ครั้งว่า “ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า”
จากนั้นได้เหาะขึ้นกลางอากาศ ๗ ครั้ง ครั้งที่ ๑ สูงชั่วลำตาลแล้วลงมาถวายบังคม ครั้งที่ ๒ สูงชั่ว ๒ ลำตาล จนถึงครั้งที่ ๗ สูง ๗ ชั่วลำตาล แล้วลงถวายบังคมพระตถาคต จากนั้นนั่งประคองอัญชลีด้วยความนอบน้อม
มหาชนเห็นปาฏิหาริย์ดังนั้น ต่างกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณว่า “น่าอัศจรรย์จริงหนอ พระพุทธเจ้ามีอานุภาพมาก ธรรมดาผู้มีความเห็นผิดอย่างท่านอุรุเวลกัสสปะที่มีกำลังบริวารมากถึงเพียงนี้ ทั้งสำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์ แต่พระพุทธองค์สามารถทำลายข่าย คือ ทิฏฐิมานะได้”
พระผู้มีพระภาคเจ้าสดับดังนั้น จึงตรัสว่า “ดูก่อนอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย การที่เราได้บรรลุสัพพัญญุตญาณ ทรมานอุรุเวลกัสสปะและบริวารจนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ในกาลบัดนี้ ยังไม่น่าอัศจรรย์เท่ากับครั้งก่อน ในเวลาที่เรายังมีราคะ โทสะ และโมหะอยู่ ก็สามารถทำลายข่าย คือ ทิฏฐิ ช่วย ปิดประตูอบายให้เธอและหันกลับมาเป็นสัมมาทิฏฐิบุคคลได้”
ทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าให้พุทธบริษัทได้รับฟังกัน ส่วนเรื่องราวของท่านจะเป็นอย่างไรนั้น เราคงต้องศึกษากันในตอนต่อไป

ฉะนั้น หากบางครั้งเราอยากปฏิบัติธรรม เพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ แต่ถ้าไม่รู้วิธีการที่ถูกต้อง อันจะนำไปสู่การดับทุกข์อย่างแท้จริงแล้ว วิธีการที่ไม่สมบูรณ์นั้น ย่อมก่อให้เกิดอันตรายใหญ่หลวงต่อชีวิตในสังสารวัฏได้ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องเข้าหาครูอาจารย์ผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิครบถ้วนบริบูรณ์ โดยให้สำรวจกฎเกณฑ์จากหลักสัมมาทิฏฐิเบื้องต้น ๑๐ ประการ ที่ได้กล่าวไว้ในตอนแรกแล้ว ชีวิตของเราจะได้ไม่ผิดพลาด แม้หากยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ย่อมจะเป็นอุปนิสัยติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ ทำให้เราดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัย จนกว่าจะถึงที่สุดแห่งธรรมกันทุกคน
*มก. เล่ม ๖๔ หน้า ๒๓๐, เล่ม ๗๒ หน้า ๓๐๐

ไฟล์แนบ

  • แนบไฟล์  MO1_23__.jpg   35.71K   33 ดาวน์โหลด


#2 **ธรรมจักร**

**ธรรมจักร**
  • Guests

โพสต์เมื่อ 02 January 2006 - 12:34 PM

อนุโมทานสาธุ ในธรรมทานครับ