ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

Weekend-Dhamma


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
ไม่มีการตอบกลับในกระทู้นี้

#1 ThDk

ThDk
  • Members
  • 259 โพสต์
  • Location:Struer, Denmark
  • Interests:จุดมุ่งหมายของการประพฤติพรรหมจรรย์ เพื่อสำรอกราคะ... เพื่อละสังโยชน์... เพื่อถอนอานุสัย.. เพื่อรู้รอบสังสารวัฎอันยืดยาว... เพื่อความสิ้นอาสวะ... เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผลคือ วิชชาและวิมมุติ... เพื่อญาณทัศนะ... เพื่อปรินิพพาน อันปราศจากอุปทาน.

โพสต์เมื่อ 16 March 2007 - 12:10 PM

* ทางหนึ่งแสวงหาลาภ ทางหนึ่งไปนิพพาน รู้อย่างนี้แล้ว ภิกษุพุทธสาวก
ไม่ควรไยดีลาภสักการะ ควรอยู่อย่างสงบ

* พราหมณ์เอย ท่านจงพยายามหยุดกระแส (ตัณหา) และบรรเทากามทั้งหลายเสีย พราหมณ์เอย
เมื่อท่านรู้ความสิ้นไปแห่งสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย ท่านก็จะรู้สิ่งที่ไม่ปรุงแต่ง (นิพพาน)

* ผู้ที่ชื่อว่าพราหมณ์ เพราะละบาปได้ ชื่อว่าสมณะ เพราะมีจรรยาสงบ ชื่อว่าบรรพชิต เพราะละมลทินได้

* ผู้ที่ตัดชะเนาะ (ความโกรธ) เชือกหนัง (ตัณหา) เชือกป่าน (ความเห็นผิด) พร้อมทั้งอนุสัยกิเลส
ถอดลิ่มสลัก (อวิชชา) รู้แจ้งอริยสัจแล้ว เราเรียกว่า พราหมณ์



* ท่านผู้ใดควบคุมอินทรีย์คือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ ได้ เหมือนม้าที่สารถีควบคุมได้อย่างดี
ท่านผู้นี้หมดความไว้ตัว หมดกิเลส มั่นคง ย่อมเป็นที่โปรดปราน แม้กระทั่งของเทวดาทั้งหลาย



* ผู้ไม่มีความยึดถือทั้งเบื้องต้น (อดีต) ท่ามกลาง (ปัจจุบัน) ที่สุด (อนาคต)
ปราศจากความยึดมั่นถือมั่น เราเรียกว่า พราหมณ์



* ผู้ไม่เชื่อใครง่ายตนกว่าจะพิสูจน์ด้วยตนเอง ๑ ผู้รู้แจ้งพระนิพพาน ๑ ผู้หมดการเวียนว่ายตายเกิด ๑
ผู้หมดโอกาสที่จะทำดีหรือชั่ว ๑ ผู้หมดกิเลสที่ทำให้หวัง ๑ ห้าประเภทนี้แล เรียกว่า "ยอดคน"



* ผู้ใดละบุญละบาปทุกชนิด ครองชีวิตประเสริฐสุด อยู่ในโลกมนุษย์ด้วยปัญญา ผู้นี้แลเรียกว่า ภิกษุ



* พระสาวกของพระโคดมพุทธเจ้า ผู้รำลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ รำลึกถึงสภาพเป็นจริงของร่างกาย ผู้มีใจยินดีในความไม่เบียดเบียน ผู้มีใจยินดีในภาวนา เป็นนิจศีลทั้งกลางวัน กลางคืน ตื่นดีแล้วเสมอ



* การสละโลกียวิสัยออกบวช ก็ยาก การจะยินดีในเพศบรรพชิต ก็ยาก การครองเรือนไม่ดี เป็นทุกข์
การอยู่ร่วมกับผู้ไม่เสมอกัน ก็เป็นทุกข์ ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ ก็เป็นทุกข์
เพราะฉะนั้น ไม่ควรท่องเที่ยวในสังสารวัฏ และไม่ควรแส่หาความทุกข์ใส่ตน

* ผู้ที่มองเห็นโลก ว่าไม่จีรังและหาสาระอะไรมิได้ เช่นเดียวกับคนมองฟองน้ำและพยับแดด
คนเช่นนี้พญามารย่อมตามหาไม่พบ

* ความไม่ประมาท เป็นทางอมตะ ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย
ผู้ไม่ประมาท ไม่มีวันตาย ผู้ประมาท ถึงมีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนตายแล้ว

* ท่านผู้ฉลาดเหล่านั้น หมั่นเจริญกรรมฐาน มีความเพียรมั่นอยู่เป็นนิจศีล
บรรลุพระนิพพานอันเป็นสภาวะที่สูงส่ง อิสระจากกิเลสเครื่องผูกมัด

* ด้วยความขยัน ด้วยความไม่ประมาท ด้วยความสำรวมระวัง และด้วยการข่มใจตนเอง
ผู้มีปัญญาควรสร้างเกาะ(ที่พึ่ง)แก่ตนเอง ที่ห้วงน้ำ(กิเลส) ไม่สามารถท่วมได้

* ควรละความโกรธ และมานะ เอาชนะกิเลสเครื่องผูกมัดทุกชนิด
ผู้ที่ไม่ติดอยู่ในรูปนาม หมดกิเลสแล้ว ย่อมคลาดแคล้วจากความทุกข์

* ผู้ใดยับยั้งความโกรธที่เกิดขึ้นได้ทันที เหมือนสารถีหยุดรถที่กำลังแล่นไว้ได้
ผู้นั้นไซร้เราเรียกว่า "สารถี" ส่วนคนนอกนี้ได้ชื่อเพียง "ผู้ถือเชือก"

* พึงเอาชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ พึงเอาชนะความร้าย ด้วยความดี
พึงเอาชนะคนตระหนี่ ด้วยการให้ พึงเอาชนะคนพูดพล่อย ด้วยคำสัตย์




* อย่าติดอยู่ในสิ่งที่เรารัก หรือไม่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่เรารัก เป็นทุกข์ การพบเห็นแต่สิ่งที่ไม่รัก ก็เป็นทุกข์ * ที่ใดมีของรัก มีความรัก มีความยินดี มีความใคร่ มีความทะยานอยาก ที่นั่นมีโศก ที่นั่นมีภัย เมื่อไม่มีของรัก ไม่มีความรัก ไม่มีความยินดี ไม่มีความใคร่ ไม่มีความทะยานอยากเสียแล้ว โศก ภัย ก็ไม่มี

* ไม่มีไฟใดเสมอด้วยราคะ ไมีมีโทษใดเสมอด้วยโทสะ ไม่มี ข่ายดักสัตว์ใด เสมอโมหะ ไม่มี แม่น้ำใด เสมอตัณหา ไม่มีทุกข์ใดเสมอด้วยเบญจขันธ์ ไม่มีสุขใดเสมอด้วยความสงบ

* ความไม่มีโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง ความรู้จักพอ เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง ความไว้วางใจกัน เป็นญาติอย่างยิ่ง พระนิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง

* มารย่อมไม่สามารถทำลายบุคคล ผู้ไม่ตกเป็นทาสของความสวยงาม รู้จักควบคุมการแสดงออก
รู้ประมาณในโภชนาหาร มีศรัทธา และมีความขยันหมั่นเพียร เหมือนลมไม่สามารถพัดโค่นภูเขา

* จิตควบคุมยาก เปลี่ยนแปลงเร็ว ใฝ่ในอารมณ์ตามที่ใคร่ ฝึกจิตเช่นนั้นได้เป็นการดี
เพราะจิตที่ฝึกดีแล้ว นำความสุขมาให้

* ผู้มีสติตื่นตัวอยู่เนืองนิตย์ มีจิตเป็นอิสระจากราคะและโทสะ ละบุญและบาปได้ ย่อมไม่กลัวอะไร

* เราจักอดทนต่อคำเสียดสีของคนอื่น เหมือนพญาคชสาร ในสนามรบ
ทนลูกศรที่ปล่อยออกไปจากคันธนู เพราะว่าคนโดยมาก ทุศีล

* มีเพื่อนตาย ก็มีความสุข ยินดีเท่าที่หามาได้ ก็มีความสุข
ทำบุญไว้ถึงคราวจะตายก็มีความสุข ละทุกข์ได้ทั้งหมด ก็มีความสุข

* ปฏิบัติชอบต่อมารดา ก็เป็นสุข ปฏิบัติชอบต่อบิดา ก็เป็นสุข
ปฏิบัติชอบต่อสมณะ ก็เป็นสุข ปฏิบัติชอบต่อพระผู้ประเสริฐ ก็เป็นสุข

* ศีลให้เกิดสุข ตราบเท่าชรา ศรัทธา ที่ตั้งมั่นแล้ว ให้เกิดสุข
ปัญญา ได้มาแล้ว ให้เกิดสุข การไม่ทำบาปทั้งหลาย ให้เกิดสุข

* กฤษณา หรือจันทน์ มีกลิ่นหอมน้อยนัก แต่กลิ่นหอมของท่านผู้ทรงศีลประเสริฐนัก
หอมฟุ้งกระทั่งถึงทวยเทพยดา

* ตนทำบาปเอง ตนก็เศร้าหมองเอง ตนไม่ทำบาปตนก็บริสุทธิ์เอง
ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน คนอื่นจะให้คนอื่นบริสุทธิ์แทนไม่ได้



* เมื่อรากยังแข็งแรง ไม่ถูกทำลาย ต้นไม้แม้ที่ถูกตัดแล้ว ก็งอกได้ใหม่ฉันใด
เมื่อยังทำลายเชื้อตัณหาไม่ได้หมด ความทุกข์นี้ก็ย่อมเกิดขึ้นได้เรื่อยไปฉันนั้น



* จงปล่อยวางทั้งอดีตอนาคตและปัจจุบัน และอยู่เหนือความมีความเป็น
เมื่อใจหลุดพ้นจากทุกอย่างแล้ว พวกเธอจักไม่เกิดไม่แก่อีกต่อไป

* พระอรหันตฺผู้ลุถึงจุดหมายปลายทางแล้ว หมดความสุดุ้ง หมดกิเลสตัณหาแล้ว
หักลูกศรคือกิเลสประจำภพแล้ว ร่างกายนี้เป็นร่างสุดท้ายของท่าน

* ธรรมทาน ชนะทานทุกอย่าง รสพระธรรม ชนะรสทุกอย่าง
ความยินดีในธรรม ชนะความยินดีทุกอย่าง ความสิ้นตัณหา ชนะทุกข์ทุกอย่าง




* ยอดแห่งมรรคา คืออัษฎางคิกมรรค ยอดแห่งสัจจะ คืออริยสัจสี่ประการ
ยอดแห่งธรรม คือความปราศจากราคะ ยอดแห่งมนุษย์ คือพระผู้เห็นแจ้ง

* "สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยงแท้" "สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์" "ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา" เมื่อใด บุคคลเห็นแจ้งด้วยปัญญาดังนี้ เมื่อนั้น เขาย่อมหน่ายในทุกข์ นี้เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์

* พึงระวังวาจา พึงสำรวมใจ ไม่พึงทำบาปทางกาย พึงชำระทางกรรมทั้งสามนี้ให้หมดจด

* ปัญญาเกิดมีได้ เพราะตั้งใจพินิจ เสื่อมไป เพราะไม่ได้ตั้งใจพินิจ
เมื่อรู้ทางเจริญและทางเสื่อมของปัญญาแล้ว ควรจะทำตนโดยวิถีทางที่ปัญญาจะเจริญ

* ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงถางป่า (ราคะ) แต่อย่าตัดต้นไม้ (จริงๆ) ภัยย่อมเกิดจากป่า (ราคะ)
พวกเธอทำลายป่า และพุ่มไม้เล็กๆ (ราคะ) ได้แล้ว จักเป็นผู้ไม่มีป่า (ราคะ)

* ตราบใดบุรุษยังตัดความกำหนัด ต่ออิสตรีแม้นิดหน่อยยังไม่ขาด
ตราบนั้น เขาก็ยังคงมีจิตผูกพันอยู่ในภพ เหมือนลุกโคยังไม่หย่านมติดแม่โคแจฉะนั้น

* หญ้าคา ที่จับไม่ดี ย่อมบาดมือได้ ฉันใด พรหมจรรย์ที่ประพฤติไม่ดี ย่อมลากลงสู่นรก ฉันนั้น

* ขันติคือความอดทน เป็นตบะอย่างยอด นิพพาน ท่านผู้รู้กล่าวว่าเป็นยอด
ผู้ที่ยังทำร้ายผู้อื่นอยู่ ไม่จัดว่าเป็นบรรพชิต ผู้ที่ยังเบียดเบียนคนอื่นอยู่ ไม่จัดว่าเป็นสมณะ



* ไม่ว่าร้ายใคร ไม่กระทบกระทั่งใคร ระมัดระวังในปาติโมกข์ บริโภคพอประมาณ อยู่ในสถานสงัด
ฝึกหัดจิตให้สงบ นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

* ถึงแม้เงินตราจะไหลมาดังห่าฝน ความอยากของคนก็หาอิ่มไม่ กามวิสัยทั้งหลายมีความสุขจริงๆน้อย
เต็มไปด้วยความทุกข์สารพัด รู้ชัดดังนี้แล้ว สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ย่อมไม่ยินดีในกามารมณ์แม้ที่เป็นทิพย์ หากแต่ยินดีในทางสิ้นกิเลสตัณหา



* ผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ย่อมเห็นอริยสัจด้วยปัญญาชอบ คือ
ทุกข์, เหตุของทุกข์, ความดับทุกข์ และ อริยมรรคมีองค์แปด อันเป็นทางดับทุกข์ นั่นแลคือที่พึ่งอันปลอดภัย นั่นคือที่พึ่งอันสูงสุด คนเราอาศัยที่พึ่งชนิดนั้น ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

* การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าทั้งหลายให้เกิดสุข การแสดงพระสัทธรรมให้เกิดสุข
ความพร้อมเพรียงของหมู่ให้เกิดสุข ความพยายามของหมู่ที่พร้อมเพรียงกันให้เกิดสุข

* ภิกษุผู้ไปสู่ที่สงัด มีใจสงบ เห็นแจ้งพระธรรมโดยชอบ ย่อมได้รับความยินดี ที่สามัญมนุษย์ไม่เคยได้ลิ้มรส

* ความเสื่อมของมนตรา อยู่ที่การไม่ทบทวน ควาามเสื่อมของเรือน อยู่ที่ไม่ซ่อมแซม
ความเสื่อมของความงาม อยู่ที่เกียจคร้านตบแต่ง ความเสื่อมของนายยาม อยู่ที่ความเผลอ

* ไม่มี รอยเท้าในอากาศ ไม่มี สมณะนอกศาสนานี้ ไม่มี สังขารที่เที่ยงแท้ ไม่มี ความหวั่นไหวสำหรับพระพุทธเจ้า

* ถึงจะแต่งกายแบบใด ๆ ก็ตาม ถ้าใจสงบระงับ ควบคุมตัวได้
มั่นคง บริสุทธิ์ ไม่เบียดเบีนคนอื่น เรียกว่า พราหมณ์ สมณะ หรือ ภิกษุ




* บุคคลย่อมข้ามห้วงน้ำได้ด้วย ศรัทธา

ย่อมข้ามมหาสมุทรได้ด้วย ความไม่ประมาท

ย่อมล่วงทุกข์ได้ด้วย ความเพียร

ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วย ปัญญา.



* จุดมุ่งหมายของการประพฤติพรรหมจรรย์ เพื่อสำรอกราคะ.... เพื่อละสังโยชน์.... เพื่อถอนอานุสัย.... เพื่อรู้รอบสังสารวัฎอันยืดยาว.... เพื่อความสิ้นอาสวะ.... เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชาและวิมมุติ.... เพื่อญาณทัศนะ.... เพื่อปรินิพพานอันปราศจากอุปทาน....












โลกอยู่ภายใต้การครอบงำของชรา ก้าวเข้าไปสู่ชรา ไม่ยั่งยืน

โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่มีผู้เป็นใหญ่

โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวง

โลกพร่องอยู่เป็นนิจ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา.

- สละโลกได้ ก็พ้นทุกข์ได้