ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
* * * * * 1 คะแนน

สุขที่สัตว์ปรารถนาจะพึงได้ : โอวาทฯ หลวงปู่


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 6 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 ฟ้ายังฟ้าอยู่

ฟ้ายังฟ้าอยู่
  • Members
  • 2511 โพสต์

โพสต์เมื่อ 13 August 2007 - 01:46 PM

          แนบไฟล์  Luang_Phaw_Wat_Paknam___meditation_master.jpg   22.19K   68 ดาวน์โหลด

          สุขที่สัตว์ปรารถนาจะพึงได้


          เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนาพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
          เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2497




          นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
          นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
          นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ


          มตฺตาสุขปริจฺจาคา ปสฺเส เจ วิปุลํ สุขํ
          จเช มตฺตาสุขํ ธีโร สมฺปสฺสํ วิปุลํ สุขนฺติ
ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงธรรมิกถาแก้ด้วย สุขที่สัตว์ปรารถนาจะพึงได้พึงแสวงหา ยิ่งใหญ่นัก ไม่มีใครปฏิเสธทุกทั่วหน้า สุขนี้สมเด็จพระบรมศาสดารับสั่งด้วยพระองค์เอง เพื่อจะให้สัตว์แสวงหาสุขยิ่งขึ้นไป ไม่ใช่สุขเล็กๆ น้อยๆ ให้ละสุขเล็กน้อยเสีย ให้ยึดเอาความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป นี่เพราะเราท่านทั้งหลาย ทั้งคฤหัสถ์ บรรพชิต หญิงชายทุกทั่วหน้า เมื่อ เกิดมาเป็นมนุษย์ทุกทั่วหน้าด้วยกันแสวงหาสุขทุกหมู่เหล่า แม้สัตว์เดียรัจฉาน เล่าก็ต้องแสวงหาสุขเหมือนกัน หลีกเลี่ยงจากทุกข์ แสวงหาสุขอยู่เนืองนิตย์อัตรา เพราะว่าสุขจะพึงได้สมเจตนานั้น ผู้แสวงหาเป็นจึงจะได้ประสบสุขยิ่งใหญ่ไพศาล ถ้าแสวงหาไม่เป็นก็ได้รับสุขเล็กๆ น้อยๆ หาสมควรแก่อัตภาพที่เป็นมนุษย์ไม่

เหตุ นี้ตามวาระพระบาลีพระองค์ได้ทรงแสดงไว้ว่า มตฺตาสุขปริจฺจาคา ปสฺเส เจ วิปุลํ สุขํ แปลเนื้อความว่า ถ้าบุคคลพึงเห็นสุขอันไพบูลย์ เพราะละสุขอันน้อยเสีย หรือเพราะละสุขพอประมาณเสีย ผู้มีปัญญาเมื่อเห็นสุขอันไพบูลย์ ก็พึงละสุขพอประมาณเสีย นี่เนื้อความของพระบาลีคลี่ความเป็นสยามได้เนื้อเท่านี้

ต่อแต่นี้จะอรรถาธิบายขยายความเป็นลำดับไป สุขเล็กน้อย กับ สุขไพบูลย์นี้ เป็นใจความในพระคาถานี้


“สุข มีสุขตั้งแต่สุขเล็กๆ น้อยๆ ไปเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงสุขที่สุด
สุขเล็กน้อย ก็สุขมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในสมัยทุกวันนี้เป็นสุขเล็กน้อย
สุขเทวดาก็สุขมากขึ้นไปเป็นชั้นๆ เป็นสุขใหญ่ขึ้นไป เทวดา ๖ ชั้นก็สุขขึ้นไปเป็นลำดับ
สุขมนุษย์ไม่เท่าสุขในจาตุมหาราช
สุขในจาตุมหาราชไม่เท่าสุขในดาวดึงส์
สุขในดาวดึงส์ไม่เท่าสุขในชั้นยามา
สุขในชั้นยามาไม่เท่าสุขในชั้นดุสิต
สุขในชั้นดุสิตไม่เท่าสุขในชั้นนิมมานรดี
สุขในชั้นนิมมานรดีไม่เท่าสุขในชั้นปรนิมมิตวสวัตตี
สุขในชั้นปรนิมมิตวสวัตตีไม่เท่าสุขในพรหมปาริสัชชา
สุขในชั้นพรหมปาริสัชชาไม่เท่าสุขในชั้นพรหมปุโรหิตา
สุขในชั้นพรหมปุโรหิตา ไม่เท่าสุขในชั้นมหาพรหมา
สุขในชั้นมหาพรหมา ไม่เท่าสุขในพรหมปริตตาภา
สุขในชั้นพรหมปริตตาภา ไม่เท่าสุขในชั้นอัปปมาณาภา
สุขในชั้นอัปปมานาภา ไม่เท่าสุขในชั้นอาภัสสรา
สุขในชั้นอาภัสสรา ไม่เท่าสุขในชั้นปริตตสุภา
สุขในชั้นปริตตสุภา ไม่เท่าสุขในชั้นอัปปมาณสุภา
สุขในชั้นอัปปมาณสุภา ไม่เท่าสุขในชั้นสุภกิณหา
สุขในชั้นสุภกิณหา ไม่เท่าสุขในชั้นเวหัปผลา
สุขในชั้นเวหัปผลา ไม่เท่าสุขในชั้นอสัญญีสัตตา
สุขในชั้นอสัญญีสัตตา ไม่เท่าสุขในชั้นอวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา
สุขในชั้นอกนิฏฐาไม่เท่าสุขในชั้นอากาสานัญจายตนะ
สุขในชั้นอากาสานัญจายตนะ ไม่เท่าสุขในชั้นวิญญาณัญจายตนะ
สุขในชั้นวิญญาณัญจายตนะ ไม่เท่าสุขในชั้นอากิญจัญญายตนะ
สุขในชั้นอากิญจัญญายตนะ ไม่เท่าสุขในชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ


นี่ว่าในภพ ๓ ยังไม่ถึง นิพพาน แต่ว่าสุขเป็นลำดับไปดังนี้ ผู้แสวงหาสุขเกลียดจากทุกข์ อยากได้สุข ผู้ที่อยากได้สุขนั้นต้องละสุข พอประมาณเสีย จึงจะพบสุขอันสมบูรณ์ยิ่งใหญ่ไพศาลเป็นลำดับขึ้นไป

“ละสุขเป็นประมาณเป็นไฉน มาเกิดเป็นในมนุษยโลก เป็นหญิงก็ดีเป็นชายก็ดี จงแสวงหาเถิด ความสุขอยู่ในทาน การให้ยิ่งใหญ่ไพศาล ความสุขอยู่ในทาน คือ การให้

หรือความสุขอยู่ในศีล รักษากาย วาจา ให้เรียบร้อยดีไม่มีโทษ

หรือสุขอยู่ในการเจริญภาวนา ให้เป็นเหตุลงไป เป็นสุขยิ่งใหญ่ไพศาล

ให้ อุตส่าห์ให้ทาน สมบัติเงินทองข้าวของที่เป็นวิญญาณกทรัพย์และอวิญญาณกทรัพย์ที่เราหาได้มา เก็บหอมรอมริบไว้หรือได้มรดกมาก็ดี สิ่งทั้งหลายนั้น เมื่อเรารักษาอยู่ เมื่อเรายังมีชีวิตเป็นอยู่ ก็เป็นของเราอยู่ แต่พอแตกกายทำลายขันธ์เท่านั้น สมบัติเหล่านั้นไม่ใช่ของเรา เสียแล้ว กลายเป็นของคนอื่นเสียแล้ว ไม่ใช่ของเราจริงๆ ในมนุษยโลกเราผ่านไปผ่านมาเท่านั้นเอง ไม่ใช่เป็นบ้านเมืองของเรา ไม่เป็นถิ่น ทำเลที่เราอยู่ เป็นทำเลที่สร้างบารมี มาบำเพ็ญทาน ศีล เนกขัมม์ ปัญญา วิริยะ อธิษฐาน ขันติ สัจจะ เมตตา อุเบกขา เท่านั้น นี่ข้อสำคัญรู้จักหลักนี้แล้ว ให้ละสุขอันน้อยเสีย

สุขอันน้อยนั่นคืออะไร รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่เราใช้สอยอยู่นี้ รูปที่ชอบใจ เสียงที่ชอบใจ กลิ่นที่ชอบใจ รสที่ชอบใจ สัมผัสที่ชอบใจ ติดอยู่ในกามภพ ที่ให้เราซบอยู่ในกามภพนี้โงศีรษะไม่ขึ้น ไอ้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนั่นแหละ เป็นสุขนิดเดียว สุขเล็กน้อยไม่ใช่เป็นสุขมาก สุขชั่วปรบมือกระพือปีกไก่เท่านั้น มันสุขน้อยจริงๆ ให้ละสุขน้อยนั้นเสีย ให้ละ ๕ อย่างนี้ คือ รูปที่ชอบใจ เสียงที่ชอบใจ กลิ่นที่ชอบใจ รสที่ชอบใจ สัมผัสที่ชอบใจ เมื่อละได้แล้วเรียกว่า จาคะ สละสุขที่ยินดีใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนั้นได้

ยินดีใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนั้นเป็นไฉน เงินทองข้าวของ วิญญาณกทรัพย์ อวิญญาณกทรัพย์ เหล่านี้ เรียกว่า รูปสมบัติ ที่เรายินดีในรูปสมบัตินั้นแหละ เรียกว่า ยินดีในรูป


เสียงยกย่องสรรเสริญ ยกยอสรรเสริญชมเชยต่างๆ เหล่านี้ ที่เป็นโลกธรรมเหล่านี้นั่นแหละ ยินดีในเสียง ถ้าเราไปยินดีติดอยู่ในเสียงสรรเสริญอันนั้นละก็ ทำให้เพลินซบเซาอยู่ในโลกเป็นทุกข์ เป็นสุขกับเขาไม่ได้

กลิ่นหอมเครื่องปรุงต่างๆ อันเป็นที่ชื่นเนื้อเจริญใจนั่นแหละ ยินดีในกลิ่น มัวยินดีในกลิ่นอยู่เถิด จะซบเซาอยู่ในมนุษยโลกในกามภพ ดุจคนสลบโงศีรษะไม่ขึ้น

ติดรส เปรี้ยวหวานมันเค็มอยู่นี่แหละ ยินดีในรส ถ้าว่าติดอยู่ในรสเช่นนั้นแล้วละก็ หรือติดรสอันใดก็ช่าง ความติดรสอันนั้นแหละ ทำให้โงหัวไม่ขึ้น

ยินดีในความสัมผัส ถูกเนื้อต้องตัว ถ้าเอาใจไปยินดีในสัมผัสถูกเนื้อต้องตัวเข้าแล้ว เข้าไปอยู่ในเปือกตมทีเดียว โงศีรษะไม่ขึ้นอีกเหมือนกัน

ห้าอย่างนี้ให้สัตวโลกจมอยู่ในวัฏสงสาร ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ติดอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รสสัมผัส ออกจากวัฏฏะไม่ได

กรรมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ กิเลสวัฏฏ์ออกไม่ได้ ออกจากภพสามไม่ได้ ออกจากกามไม่ได้ เพราะสละละสิ่งทั้งห้าไม่ได้ ถ้า สละละสิ่งทั้งห้าอันเป็นสุขน้อยนี้เสียได้แล้ว เมื่อสละละสิ่งทั้งห้าเสียได้แล้ว จะได้ประสบสุขอันไพบูลย์ ต้องประสบสุขอันไพบูลย์แท้ๆ อันไพบูลย์ยิ่งๆ ขึ้นไป ละของมนุษย์ได้แล้ว ต้องไปติดอยู่ในชั้นจาตุมหาราชของทิพย์อีก ก็ต้องติดอยู่แบบเดียวกัน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ก็ได้ชื่อว่าละไม่ได้ เพราะของเป็นทิพย์เสียอีก ละชั้นจาตุมหาราชก็จะไปติดชั้นดาวดึงส์อีก ชั้น ดาวดึงส์ก็ปล่อยเสียอีก ละเสียอีก จะเข้าถึงยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตตี ละได้ทั้งหมดนี้

“ใคร อุตส่าห์พยายามรักษาศีลมั่นจริง เมื่อสละพวกนี้ได้แล้ว ทำศีลให้มั่นขึ้น ศีลมั่นแล้วเจริญเป็นทางสมาบัติทีเดียว ให้เข้าสู่รูปฌานทั้งสี่ ให้ได้ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน จะได้ไปรับสุขยิ่งใหญ่ไพศาลไปกว่านี้ และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเข้าถึงฌานทั้งสี่แตกกายทำลายขันธ์ ก็ได้ไปบังเกิดในพรหม ๑๖ ชั้น ได้รับความสุขยิ่งขึ้นไปเป็นชั้นๆ จนกระทั่งถึงขนาด ถึงพรหมชั้นที่ ๑๑ หรือ ๑๒-๑๓-๑๔-๑๕-๑๖ ขึ้นไปก็ตามเถอะ แต่ว่าอย่าติดนะ ติดในชั้นพรหมไม่ได้ ละเสียได้เป็นสุข ให้ละสุขในรูปภพนี้เสีย แม้จะได้ไปครองสุขในอรูปภพต่อไปอีก ยึดเอาอะไรไปครองสุขในอรูปภพต่อไป อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ สุขแค่นั้นจะเพียงพอแล้วหรือ ถ้าเราต้องการประสบสุขอันไพบูลย์ใหญ่ไพศาลแล้วก็ ให้ละสุขในอรูปพรหมอีก อย่าติดสุขในอรูปภพนั้น ให้ไปถึงนิพพานทีเดียว เมื่อไปถึงนิพพานแล้วนั่นแหละ จะได้ประสบสุขอันไพบูลย์ และสุขอันนั้นเป็นสุข สำคัญ สุขอื่นสู้ไม่ได้”

เมื่อรู้ ว่าสุขเช่นนั้นแล้ว ทำอย่างไรต่อไป วิธีจะละตั้งแต่มนุษย์นี่ จะละสุขในมนุษย์หละ เราจะละท่าไหน ต้องแก้ไขวิธีละทีเดียวต้อง ใช้ละด้วยกาย ละด้วยวาจา ละด้วยใจ ต้องใช้ ทาน ศีล ภาวนา เป็นฆราวาสครองเรือนให้หมั่นให้ทาน ให้ละสุขน้อยโดยการบริจาค ทาน ที่มีสมบัติยิ่งใหญ่ไพศาลในมนุษยโลกดังนี้ ถึงมีพอประมาณหรือมีเล็กน้อยก็ช่าง อุตส่าห์ละเถิด จงให้ทานให้ความสุขในภพนี้ และภพหน้าต่อไปนับภพไม่ถ้วน ให้อุตส่าห์ให้ทาน ทานนี่แหละเป็นข้อสำคัญนัก ท่านยืนยันตามตำรับตำราว่ามนุษย์จะได้รับความสุขในมนุษยโลก ก็เพราะอาศัยการให้ทานกัน

ด้วยเหตุ นี้ พระโพธิสัตว์เจ้าสร้างบารมีมาเกิดในมนุษย์โลกก็ย่อมให้ทานในเบื้องหน้า ท่านเป็นผู้เก็บหอมรอมริบ สนับสนุนอุปถัมภ์ค้ำชูแก่บริวารของท่านไม่แพ้ฝ่ายใด ท่านก็อุปถัมภ์ค้ำชูตลอด เพราะท่านเป็นผู้มีสมบัติยิ่งใหญ่ไพศาล ท่านบริจาคทานอย่างนี้ อัตราการให้ทานนี่แหละที่จะส่งเราให้ไปถึงสุขยิ่งใหญ่ไพศาล ถ้าไม่มีทานจะมีสุขอันยิ่งใหญ่ไพศาลไม่ได้ เพราะไม่มีผลทานส่งให้ จะ ถึงสุขยิ่งใหญ่ไพศาลไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดมาในมนุษยโลก ถ้าเป็นคนจนเสียแล้ว เราจะทำความดีให้เต็มส่วนเต็มที่ไม่ได้ เพราะว่าจะรักษาศีล ก็รักษาไม่ได้ จะเจริญภาวนาก็เจริญไม่ไหว เพราะเป็นคนจนเสียแล้ว ไม่ได้รักษาศีลเจริญภาวนาเพราะห่วงการงาน ต้องประกอบกิจการงาน การงานเหนี่ยวรั้งไว้ ให้ไปทำการงาน จิตที่จะทำให้ยิ่งใหญ่ไพศาลในศีลภาวนาก็ทำไม่ได้ ถ้าว่ามีสมบัติสมบูรณ์แล้ว จะรักษาศีลก็รักษาได้สมบูรณ์บริบูรณ์ จะเจริญภาวนาก็เจริญได้ ไม่มีห่วงหน้าห่วงหลัง จะบริจาคทานก็ทำได้สมความเจตนาทีเดียว มีสมบัติสมควรที่จะบริจาคทานแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เพราะอาศัยผลทานนั่นแหละเป็นข้อสำคัญของทานนะ ศีลก็ดี ภาวนาก็ดี ถ้าบริจาคทานแล้วมีผลลัพธ์

ทานมโย บุญคือความบริสุทธิ์สำเร็จด้วยทาน ฉกามาวจโร เป็นเหตุให้เกิดในกามาวจรหกชั้น ทานเป็นเหตุให้เกิดในกามาวจรหกชั้น ได้รับความสุขยิ่งใหญ่ไพศาลขึ้นไปเป็นลำดับเพราะทานส่งให้

สีลมโย บุญคือความบริสุทธิ์แล้วสำเร็จด้วยศีล ศีลสำเร็จแล้วเป็นเหตุให้เกิดในชั้นอกนิฏฐาภพ พรหมชั้นที่สิบหกโน้น ต้องวางหลัก อย่างนี้

ภาวนามโย บุญคือความบริสุทธิ์สำเร็จด้วยการเจริญภาวนา อมตผโล เป็นผลที่จะให้บรรลุถึงชั้นนิพพาน สำเร็จภาวนาแล้วเป็นผล จะให้มนุษย์ถึงชั้นนิพพาน

ทานให้ สำเร็จในสวรรค์หกชั้น ศีลให้สำเร็จในพรหมสิบหกชั้น ภาวนาให้สำเร็จนิพพาน ให้สำเร็จผลนิพพานทีเดียว นี่ต้องวางหลักไว้อย่างนี้ เมื่อได้รู้หลักอย่างนี้เป็นข้อสำคัญ ทาน ศีล ภาวนา เหล่านี้ เป็นข้อสำคัญนักให้ถึงสุขอันไพบูลย์ได้ สุขอันเป็นส่วนเต็มที่ได้ เพราะทานก็จะต้อง ส่งผลไปถึงแค่สวรรค์ เมื่อถึงแค่สวรรค์แล้ว ศีลก็ต้องส่งผลให้ไปถึงแค่ชั้นอกนิฏฐาภพ รูปพรหม ส่วนภาวนาก็ส่งผลให้ถึงนิพพาน เมื่อถึงนิพพานแล้ว ก็จะได้รับสุขอันวิเศษไพศาลทีเดียว นี่เป็นชั้นๆ ไปดังนี้

Source:
http://www.dhammakay...k_th.php?id=166


"เกิดมาว่าจะมาหาแก้ว พบแล้วไม่กำจะเกิดมาทำไม
อ้ายที่อยากมันก็หลอก อ้ายที่หยอกมันก็ลวง ทำให้จิตเป็นห่วงเป็นใย.."
พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร)


#2 suppy001

suppy001
  • Members
  • 2210 โพสต์

โพสต์เมื่อ 13 August 2007 - 02:24 PM

ขออนุโมทนาบุญกับคุณฟ้าร้างและทุกๆท่านด้วยนะครับ...สาธุ

#3 ปัจเจกชน บนทางสายกลาง

ปัจเจกชน บนทางสายกลาง
  • Members
  • 4109 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:จ. สงขลา

โพสต์เมื่อ 13 August 2007 - 02:46 PM

ขอกราบอนุโมทนาบุญกับคุณฟ้าร้้างด้วยนะครับ สาธุ

#4 Doctor 072

Doctor 072
  • Members
  • 96 โพสต์

โพสต์เมื่อ 13 August 2007 - 06:00 PM

เยี่ยมครับ
happy.gif happy.gif happy.gif happy.gif happy.gif happy.gif happy.gif happy.gif happy.gif


#5 วัดในดวงใจ

วัดในดวงใจ
  • Members
  • 1199 โพสต์

โพสต์เมื่อ 13 August 2007 - 07:22 PM

ขอกราบอนุโมทนาบุญกับคุณฟ้าร้้างด้วยนะครับ สาธุ

พระพุทธเจ้ารู้
และท่านก็ตรัสสรุป
ว่าทางเดียวที่จะรู้ตามท่าน
ตลอดจนหยุดตามท่าน
คือการมองเข้าข้างใน
และการหยั่งรู้สรรพสิ่งออกมาจากภายใน
คือสัญลักษณ์สำคัญของพุทธแท้
พุทธแท้จะรู้ว่าการพยายามมองออกข้างนอก
เป็นวิธีที่ไม่ทำให้รู้จักประโยชน์สูงสุด
อันพึงมีพึงได้จากความเป็นมนุษย์

#6 Dd2683

Dd2683
  • Members
  • 2477 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:กรุงเทพ มหานคร
  • Interests:ความรู้ในพระพุทธศาสนา-วิชชาธรรมกาย<br />ผลแห่งการปฏิบัติธรรม

โพสต์เมื่อ 13 August 2007 - 07:58 PM

อนุโมทนา สาธุการ ในพระธรรมเทศาสนาและคุณฟ้าร้้างด้วยนะครับ สาธุ
ใจหยุดที่สุดแห่งบุญ มุ่งสู่ที่สุดแห่งธรรม

#7 bkk072

bkk072
  • Members
  • 16 โพสต์

โพสต์เมื่อ 15 August 2007 - 06:36 AM

nerd_smile.gif อนุโมทนาบุญด้วยค่ะ สำหรับข้อความดีๆ ที่คุณฟ้าร้างนำมาลง