Jump to content


Photo
- - - - -

วิกฤตศรัทธาอาชีพ ‘แพทย์’


  • You cannot start a new topic
  • Please log in to reply
2 replies to this topic

#1 kuna

kuna
  • Members
  • 780 posts
  • Gender:Male

Posted 24 April 2008 - 03:24 PM

เกิดปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทย เมื่อการประกาศผลเอนทรานซ์ล่าสุด เด็กที่สอบติดคณะแพทยศาสตร์ สละสิทธิ์มากถึง 25% แถมมีนักศึกษาแพทย์ลาออกกลางคันตั้งแต่ปี 1 ถึง ปีที่ 9 ทั่วประเทศนับหมื่นคน รวมทั้งเด็กที่เรียนดีมากๆ หลายคนไม่เลือกแพทย์ เบนเข็มไปเลือกวิศวกรรม กฎหมาย บัญชี ศิลปศาสตร์ เพราะเหตุที่แพทย์เป็นอาชีพที่ทำงานหนัก เงินเดือนน้อย แถมยังเป็นอาชีพที่เสี่ยงกับการถูกฟ้องร้องสูงสุด


เป็นครั้งแรกที่วิกฤตศรัทธาในอาชีพแพทย์บ้านเราเริ่มมีปัญหา ถ้าเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ต้องแย่แน่ๆ เพราะปัจจุบันอาชีพแพทย์ก็ขาดแคลนไม่เพียงพออยู่แล้ว จำนวนแพทย์ต่อประชากรในประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับสภาวะเศรษฐกิจ โดยมองผ่านตัวเลขจีดีพี พบว่าอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก เมื่อเปรียบเทียบกับแพทยสภาที่มีประมาณ 3.3 หมื่นคนนั้น เมื่อพิจารณาแนวโน้มพบว่าเกือบคงที่ ในขณะที่ความต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ข้อมูลการสำรวจเกี่ยวกับอนามัยและสวัสดิการของประชาชนคนไทย พบว่า ในช่วงปี 2547 อัตราการใช้บริการแบบผู้ป่วยนอก (โอพีดี) เพิ่มขึ้นจาก 247 ล้านครั้ง เป็น 309 ล้านครั้ง หรือเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วคิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น 25% ภายใน 3 ปี ขณะที่อัตราการใช้บริการแบบผู้ป่วยในก็เพิ่มขึ้นในอัตราใกล้เคียงกัน คือประมาณ 20%

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกสมาคมแพทยสภา ให้ความเห็นว่า คงเป็นเรื่องของเด็กส่วนน้อย เพราะส่วนใหญ่เด็กที่เรียนดีก็ยังคงเลือกแพทย์อยู่ ได้สอบเข้าโดยตรงกับคณะแพทย์ไปแล้ว มีเป็นเพียงส่วนน้อยมากๆ ที่ได้แพทย์แล้วสละสิทธิ์ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะหากไม่มีใจรักจะมีปัญหาในการทำงานต่อไปในอนาคต เพราะอาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่ต้องทำงานหนัก ต้องทุ่มเททั้งกายและใจ ถ้าไม่มีใจรักเสียแต่เริ่มต้นอยู่ต่อไปก็จะมีปัญหา ถ้าไม่ชอบก็ไปเรียนในสิ่งที่เขาสนใจจริงๆ ดีกว่า หากมาเรียนเพราะพ่อแม่ขอร้องจะไม่เกิดผลดีกับใครเลย

“หมอต้องทำงานหนัก บางครั้งทำงานติดต่อกัน 24-36 ชั่วโมง มันล้าแล้ว ในอเมริกามีกฎออกมาแล้วว่าให้แพทย์ทำงานได้ไม่เกิน 10 ชั่วโมงต่อวัน ในออสเตรเลียประมาณ 16 ชั่วโมง ไม่อย่างนั้นเสี่ยงมาก ล่าสุดมีสถิติพบว่า แพทย์มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์เพราะการนอนไม่พอถึง 6 เท่า ซึ่งการเสียชีวิตของแพทย์อันดับ 3 คือ อุบัติเหตุรถชน รถคว่ำ”




สำหรับที่หลายคนมองว่าเป็นประเด็นหลักที่ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งสละสิทธิ์ ก็คือ เรื่องการฟ้องร้องแพทย์ ซึ่งนายกสมาคมแพทยสภา บอกว่า ขณะนี้ปัญหาการฟ้องร้องก็เริ่มน้อยลงจากเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว มีปีละ 300 กว่าคดี ปัจจุบันนี้เหลือเพียง 100 กว่าคดี เพราะแพทย์เองก็มีการปรับตัว เรียนรู้ และระมัดระวังมากขึ้นในการทำงาน และการสื่อสารเพื่อให้เข้าถึงคนไข้ ในขณะที่แพทยสภาเองก็ถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรงในการพูดคุยกับคณบดีคณะแพทยศาสตร์
ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้บรรจุหลักสูตรการสอนเรื่องปัญหาการฟ้องร้องไว้โดยเฉพาะ เพื่อมีขบวนการแก้ไข เฝ้าระวังไม่ให้เกิดปัญหา และเมื่อมีปัญหาแล้วจะมีการรับมืออย่างไรให้เกิดการประนีประนอมกันให้มากที่สุด โรงพยาบาลต่างๆ ก็มีการปรับตัวเรื่องปัญหาเวชระเบียน การเปิดเผยข้อมูลคนไข้ การสื่อสารพูดคุยกับคนไข้ต้องมีมากขึ้น ในการรักษาต่างๆ ต้องแจ้งให้คนไข้ทราบอย่างละเอียดว่า แนวทางการรักษามีอะไรบ้าง ถ้าเลือกทางที่ 1 จะเป็นอย่างไร ถ้าเลือกทางที่ 2 จะได้ผลอย่างไร ในแต่ละกรณีจะมีปัจจัยเสี่ยงอย่างไรบ้าง ผลดี ผลเสีย แตกต่างกันอย่างไร แล้วตัดสินใจเลือกร่วมกันกับคนไข้ ต่างจากสมัยก่อนแพทย์จะไม่ค่อยอธิบายแล้วตัดสินใจให้คนไข้เลยว่าทางนี้ดีกว่า แต่เดี๋ยวนี้ให้แพทย์ให้ข้อมูลการตัดสินใจ คนไข้จะเลือกเอง

เรียกว่าดูแลทั้งทางร่างกายและจิตใจ การพูดจาสื่อสารจะดีขึ้นให้เวลากับคนไข้ให้มากขึ้น

“แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจว่า ในโรงพยาบาลรัฐหมอต้องตรวจคนไข้วันละเกือบร้อยคน ซึ่งคนไข้จะมีเวลาคุยกับหมอเพียง 1-2 นาที ตอนนี้พยายามให้หมอมีเวลาคุยกับคนไข้ให้ได้ 5-10 นาทีต่อคนก็ยังยาก แต่ก็พยายามจะทำให้ได้ ในประเทศที่เจริญแล้วหมอมีเวลาคุยกับคนไข้ถึง 30 นาที แต่บ้านเราหมอไม่เพียงพอจริงๆ เราเห็นถึงปัญหาและพยายามแก้ไขอยู่ มิได้นิ่งนอนใจ” ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยความหนักใจ

ทางด้านหมอหน้าใหม่หน้าตาสวยหล่อ ที่มีงานอดิเรกในวงการบันเทิง เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี เขาและเธอเหล่านั้น กลับรู้สึกสบายๆ ไม่กังวล เพราะเชื่อว่าการทำงานให้เต็มที่ด้วยความรักความเข้าใจ ทุกอย่างจะเป็นเครื่องป้องกันที่ดีที่สุด

หมอเบิร์ท พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลศรีธัญญา ให้ความเห็นว่า สำหรับตัวเองอาชีพแพทย์ยังเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีประโยชน์ เป็นที่น่าภาคภูมิใจ เรื่องการถูกฟ้องร้องเสียหายนั้นคงเป็นเพียงส่วนน้อย เพราะแพทย์โดยส่วนใหญ่ก็ยังตั้งใจทำงานและทำงานหนักกัน โดยเฉพาะแพทย์ชนบท หากทำงานด้วยความทุ่มเทระมัดระวังก็คงช่วยแก้ปัญหาเรื่องการฟ้องร้องได้ระดับหนึ่ง สำหรับตัวเองทุกครั้งที่รักษาคนไข้ก็มุ่งหวังให้คนไข้หายป่วยอาการดีขึ้น ทำงานอย่างเต็มที่ด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาท ก็ช่วยให้ปัญหาลดน้อยลงไป

“ที่ศรีธัญญาเบิร์ทตรวจคนไข้วันละ 50 คน พอนอกเหนือเวลางาน หมอคนอื่นอาจจะไปทำงานที่คลินิกต่อ แต่เบิร์ทอยากทำอย่างอื่นบ้าง โชคดีที่เบิร์ทได้ไปอ่านข่าว ถ้าไม่ได้อ่านข่าวก็อาจจะไปเปิดร้านขายต้นไม้ ร้านขายรูปภาพ ร้านกาแฟ ร้านหนังสือ ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่เบิร์ทรัก แล้วทำให้รู้สึกว่าชีวิตเรามีสมดุลมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้ชีวิตที่มีความสุข ไม่เครียด ไม่กดดันเกินไป ก็จะได้งานที่มีคุณภาพ”

น้องเจี๊ยบ ลลนา ก้องธรนินทร์ นางสาวไทยประจำปี 2549 และนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า รู้ว่าแพทย์เป็นอาชีพที่งานหนัก เสี่ยงต่อการติดโรค เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง เวลาเรียนก็หนักเพราะต้องสอบอยู่ตลอดเวลา เมื่อจบแล้วก็ต้องเรียนรู้เพิ่มอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน แต่เธอก็ยังอยากเรียน เพราะคิดว่าเป็นอาชีพที่มีประโยชน์ มีเกียรติ

“เวลาสอบบ่อยๆ ก็มีท้อบ้าง เดี๋ยวสอบอีกแล้ว ต้องดูหนังสือหนักตลอดเวลา แต่ไม่ถอย ถ้ารู้สึกเครียดก็ไปเล่นโยคะ เลี้ยงสัตว์ ดูการ์ตูน หางานอดิเรกที่ชอบทำ เดินหน้าต่อไป พร้อมที่จะทำงานภายใต้ความกดดันเสมอ อาจารย์หมอสอนไว้เสมอว่าให้รักษาทั้งคน รักษาทั้งไข้ ให้ดูแลทั้งกายและดูแลทั้งใจ ถ้าทำดีจริงเราจะผ่านอุปสรรคปัญหาไปได้ โชคดีที่บ้านเจี๊ยบมีธุรกิจทั้งคุณพ่อคุณแม่ เจี๊ยบไม่ต้องกดดันเรื่องการสร้างเนื้อสร้างตัว เพราะพ่อแม่เตรียมไว้ให้พร้อม เจี๊ยบจึงทำงานได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องมีข้อกังวลใดๆ”

ส่วนจิตแพทย์น้องใหม่ อย่าง หมอเอิ้น พญ.พิยะดา หาชัยภูมิ จิตแพทย์ฝึกหัดโรงพยาบาลรามาธิบดี และนักแต่งเพลงให้หนังดังหลายเรื่อง และกำลังจะออกผลงานเพลงในช่วงปลายปีนี้ ทุกวันนี้หมอเอิ้นเริ่มรักษาคนไข้แล้ว และแน่นอนว่าอาชีพหลักก็คือการเป็นจิตแพทย์ ส่วนงานเพลงนั้นเป็นยามว่างในชีวิตที่ชอบไม่แพ้กัน

“สมัยก่อนเด็กเรียนเก่งมีทางเลือกน้อย ต้องเป็นหมอเป็นวิศวกรเท่านั้น แล้วพ่อแม่ก็จะอยากให้ลูกเป็นหมอ ลูกก็เรียนเพื่อเอาใจพ่อแม่โดยที่ตัวเองไม่ได้ชอบจริงๆ แต่สมัยนี้เด็กที่เรียนเก่งมีทางเลือกมากขึ้น ไปเรียนอย่างอื่นที่ทำรายได้ดีและมั่นคงอย่างด้านคอมพิวเตอร์ เป็นเชฟ เป็นผู้เขียนบท หรือเข้าวงการบันเทิง แล้วพ่อแม่ก็ไม่ฝืนใจลูก ให้เลือกทำในสิ่งที่ลูกชอบจริงๆ เด็กตอนนี้จึงมีโอกาสเลือกมากขึ้น

อย่างเอิ้นพ่อแม่ไม่บังคับ เอิ้นเลือกเองเพราะอยากเป็นหมอ แต่อยากเป็นคนแต่งเพลงด้วย เอิ้นแบ่งเวลาได้จึงเลือกทำทั้งสองอย่าง แต่งานหลักคือหมอ จึงมีความสุขในทั้งสองอย่าง และเชื่อว่าอะไรที่ทำด้วยความสุขเราจะทำได้ดี”

ร.ต.นพ.สุริยา สุบุญ หรือ หมอก้อง แพทย์ทั่วไปประจำโรงพยาบาลปราจีนบุรี พระเอกละครเรื่องดาวจรัสฟ้า และพริกไทยกับใบข้าว และผู้ประกาศข่าวบันเทิงของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 กล่าวว่า เรื่องโดนฟ้องไม่กังวล เนื่องจากหากเราทำหน้าที่ด้วยความตั้งใจและเต็มใจก็ยากที่ปัญหาจะเกิดขึ้น ที่สำคัญก็คือต้องทำงานด้วยความเอาใจคนไข้มาใส่ใจเรา ดูด้วยว่าคนไข้เขาคิดอย่างไร ถ้าเป็นเราๆ จะคิดอย่างนั้นทำอย่างนั้นไหม พยายามมีความเห็นอกเห็นใจและมีเมตตาธรรม

“สำหรับผมงานในวงการบันเทิงถือว่าเป็นงานอดิเรก แต่อาชีพหลักก็คือการเป็นหมอ เพราะเป็นอาชีพที่ผมรักและผมเลือกเอง และภูมิใจในการตัดสินใจครั้งนี้ ไม่ว่าอาชีพใดก็ตามหากทำด้วยความรักความเข้าใจทุ่มเท ก็เชื่อว่าผลจะออกมาดี หากจะมีการผิดพลาดบ้างคงน้อยมาก”

ธัญชนก ธารีบุตร ผู้สอบติดคณะแพทยศาสตร์อันดับ 1 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไม่ห่วงกังวลในเรื่องนี้ เพราะคิดว่าถ้าจบไปเป็นแพทย์จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

“จริงๆ แล้ว คงไม่มีใครอยากฟ้องหมอ และหมอก็ไม่อยากถูกฟ้อง ถ้าทำงานด้วยความรักความเข้าใจ เปิดใจให้ข้อมูลกับคนไข้อย่างเต็มที่ เชื่อว่าปัญหาต่างๆ คงไม่เกิดขึ้น”





#2 apisom

apisom
  • Members
  • 34 posts

Posted 26 April 2008 - 06:58 PM

สำหรับหมอใจบุญ เชิญร่วมบุญกับชมรมรัตนเวชนะคร๊าบ ติดต่อ ได้ที่ศูนย์พยาบาล ทุกวันครับ หรือ วัน อาทิตย์ ที่เสา E 19 ชั้นล่าง ของสภาธรรมกายสากลนะครับ

#3 วัดในดวงใจ

วัดในดวงใจ
  • Members
  • 1,199 posts

Posted 30 April 2008 - 09:05 AM

อนุโมทนาบุญด้วยครับ
พระพุทธเจ้ารู้
และท่านก็ตรัสสรุป
ว่าทางเดียวที่จะรู้ตามท่าน
ตลอดจนหยุดตามท่าน
คือการมองเข้าข้างใน
และการหยั่งรู้สรรพสิ่งออกมาจากภายใน
คือสัญลักษณ์สำคัญของพุทธแท้
พุทธแท้จะรู้ว่าการพยายามมองออกข้างนอก
เป็นวิธีที่ไม่ทำให้รู้จักประโยชน์สูงสุด
อันพึงมีพึงได้จากความเป็นมนุษย์