พรหมชาลสูตร (ควรค้นหาพระสูตรนี้มาอ่าน)
พระพุทธเจ้าทรง"ปฏิเสธโดยสิ้นเชิง" ในความเป็นอยู่ของพระเจ้า
พรหมชาลสูตร สูตรที่เปรียบเหมือนข่ายอันประเสริฐที่ครอบคลุมอย่างกว้างขวาง คือกล่าวถึงลัทธิ ศาสนาต่าง ๆ ที่มีในครั้งนั้น ที่เรียกว่าทิฎฐิ ๖๒ เป็นการชี้ให้เห็นว่า พระพุทธศาสนามีหลักธรรมแผกจาก ๖๒ ลัทธินั้นละเอียด.
พรหมชาลสูตร
สูตรว่าด้วยข่ายอันประเสริฐ
พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เดินทางอยู่ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาฬันทา มีปริพพาชก ( นักบวชนอกศาสนา) ชื่อสุปปิยะ พร้อมด้วยศิษย์ชื่อพรหมทัตมาณพ เดินทางมาข้างหลัง. สุปปิยะ ปริพพาชก ติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ศิษย์กล่าวสรรเสริญ . เมื่อถึงเวลากลางคืนภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันถึงเรื่องศิษย์อาจารย์กล่าวแย้งกันเรื่องสรรเสริญ ติเตียนพระรัตนตรัย พระผู้มีพระภาคทรงทราบจึงตรัสเตือนมิให้โกรธเมื่อมีผู้ติเตียนพระรัตนตรัย มิให้ยินดีหรือเหลิงเมื่อมีผู้สรรเสริญ ๒. แล้วตรัสว่า คนอาจกล่าวชมเชยพระองค์ด้วยศีล ๓ ชั้น คือศีลอย่างเล็กน้อย ศีลอย่างกลาง ศีลอย่างใหญ่.๓.
ศีลอย่างเล็กน้อย ( จูฬศีล)
๑. เว้นจากฆ่าสัตว์ , ลักทรัพย์, ประพฤติล่วงพรหมจรรย์.
๒. เว้นจากพูดปด, พูดส่อเสียด ( ยุให้แตกกัน) , พูดคำหยาบ ๆ , พูดเพ้อเจ้อ.
๓. เว้นจากทำลายพืชและต้นไม้.
๔. ฉันมื้อเดียว เว้นจากการฉันอาหารในเวลากลางคืน , เว้นการฉันในเวลาวิกาล, เว้นจากฟ้อนรำขับร้อง ประโคม และดูการเล่น, เว้นจากทัดทรง ประดับประดาร่างกายด้วยระเบียบดอกไม้ของหอม เครื่องทา เครื่องย้อมผัดผิวต่าง ๆ , เว้นจากที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่มีภายในใส่นุ่นหรือสำลี, เว้นจากการรับทองและเงิน.
๕. เว้นจากการรับข้าวเปลือกดิบ, เนื้อดิบ, เว้นจากการรับหญิง หรือหญิงรุ่นสาว, เว้นจากการรับทาสี ทาสา, เว้นจากการรับแพะ, แกะ, ไก่, สุกร, ช้าง, โค, ม้า, ลา, เว้นจากการรับนา, สวน.
๖. เว้นจากการชักสื่อ, การค้าขาย, การโกงด้วยตาชั่ง ด้วยเงินเหรียญ ( สำริด) และด้วยการนับ ( ชั่ง, ตวง, วัด,) . เว้นจากการใช้วิธีโกงด้วยให้สินบน หลอกลวงและปลอมแปลง, เว้นจากการตัด ( มือ , เท้า ) การฆ่า การมัด การซุ่มชิงทรัพย์ ( ในทาง ) การปล้น การจู่โจมทำร้าย.
ศีลอย่างกลาง ( มัชฌิมศีล )
๑. เว้นจากการทำลายพืช ๒. เว้นจากการสะสมอาหารและผ้า เป็นต้น
๓. เว้นจากการเล่นหลากชนิด เช่น ฟ้อนรำ เป็นต้น
๔. เว้นจากการพนันต่างชนิด ๕. เว้นจากที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่
๖. เว้นจากการประดับประดาตกแต่งร่างกาย
๗. เว้นจากการติรัจฉานกถา ( พูดเรื่องไร้ประโยชน์หรือที่ขัดกับสมณเพศ)
๘. เว้นจากการพูดแข่งดีหรือข่มขู่กัน ๙. เว้นจากการชักสื่อ
๑๐. เว้นจากการพูกปด, การพูดประจบ , การพูดอ้อมค้อม ( เพื่อหวังลาภ), การพูดกด, การพูดเอาลาภแลกลาภ ( หวังของมากด้วยของน้อย). ( ในแต่ละข้อนี้มีการแจกรายละเอียดออกไปมาก).
ศีลอย่างใหญ่ ( มหาศีล)
๑. เว้นจากดำรงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ ด้วยติรัจฉานวิชา เช่น ทายนิมิต , ทายฝัน, ทายหนูกัดผ้า เป็นต้น.
๒. เว้นจากดำรงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ ด้วยติรัจฉานวิชา เช่น ดูลักษณะแก้วมณี , ลักษณะไม้ถือ, ลักษณะผ้า , ลักษณะศัสตรา เป็นต้น.
๓. เว้นจากดำรงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ ด้วยติรัจฉานวิชา เช่น ทายทักเกี่ยวกับพระราชา ด้วยพิจารณาดาวฤกษ์
๔. เว้นจากดำรงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ ด้วยติรัจฉานวิชา เช่น ทายจันทรุปราคา สุริยปราคา เป็นต้น.
๕. เว้นจากดำรงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ ด้วยติรัจฉานวิชา เช่น ทายฝนชุก ฝนแล้ง เป็นต้น.
๖. เว้นจากดำรงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ ด้วยติรัจฉานวิชา เช่น การบน , การแก้บน , การประกอบยา เป็นต้น.
( ในที่นี้มีคำว่า ติรัจฉานวิชา อย่างพิสดาร ฝรั่งใช้คำว่า low arts เมื่อพิสจารณาตามศัพท์ “ ติรัจฉาน” ซึ่งแปลว่า “ ไปขวาง” ก็หมายความว่า วิชาเหล่านี้ขวาง หรือไม่เข้ากับความเป็นสมณะ มิได้หมายความว่าเป็นวิชาของสัตว์ดิรัจฉาน เพราะฉะนั้น ถ้อยคำที่พระไม่ควรพูด จึงจัดเป็นติรัจฉานกถา คือถ้อยคำที่ขวาง หรือขัดกับสมณสารูป. วิชาที่พระไม่ควรเกี่ยวจึงจัดเป็นติรัจฉานวิชา คือวิชาที่ขวาง หรือขัดกับความเป็นพระ . ส่วนสัตว์ดิรัจฉานที่มีชื่ออย่างนั้น เพราะเพ่งกิริยาที่ไม่ตั้งตัวตรง เดินไปอย่างคน แต่เอาตัวลง เอาศีรษะไปก่อน เมื่อไม่ได้ไปตรง ก็ชื่อว่าไปขวาง).
ทิฏฐิ ๖๒ ประการ
ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงความคิดเห็น ๖๒ ประการของสมณพราหมณ์ในครั้งนั้น คือพวกที่มีความเห็นปรารภเบื้องตั้นของสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นมาอย่างไร ( ปุพพันตกัปปิกะ) ๑๘ ประเภท กับพวกที่มีความเห็นปรารภเบื้องต้นสิ่งต่าง ๆ ว่าจะลงสุดท้ายอย่างไร ( อปรัตกัปปิกะ) ๔๔ ประเภท ( รวมเป็น ๖๒ ) ดังต่อไปนี้:-
ความเห็นปรารภเบื้องต้น ๑๘
ทิฏฐิหรือความเห็นประเภทนี้ ( ปุพพันตกัปปิกะ) ที่มี ๑๘ นั้น แบ่งออกเป็น ๕ หมวด คือหมวดที่เห็นว่าเที่ยง ( สัสสตวาทะ) ๔, เห็นว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ( เอกัจจสัสสติกะ เอกัจจอสัสสติกะ) ๔, เห็นว่ามีที่สุดและไม่มีที่สุด ( อันตานันติกะ) ๔, พูดซัดส่ายไม่ตายตัวเหมือนปลาไหล ( อมราวิกเขปิกะ) ๔, เห็นว่าสิ่งต่าง ๆ มีขึ้นเองโดยไม่มีเหตุ ( อธิจจสมุปปันนะ) ๒ รวมเป็น ๑๘ ดังรายละเอียด คือ :-
(๑) หมวดเห็นว่าเที่ยง ( สัสสตวาทะ) ๔
๑. เห็นว่าตัวตน ( อัตตา) และโลกเที่ยง เพราะระลึกชาติได้ ตั้งแต่ชาติได้ ตั้งแต่ชาติเดียว จนถึงแสนชาติ.
๒. เห็นว่าตัวตน และโลกเที่ยง เพราะระลึกได้เป็นกัปป์ ๆ ตั้งแต่กัปป์เดียวถึง ๑๐ กัปป์.
๓. เห็นว่าตัวตน และโลกเที่ยง เพราะระลึกชาติได้มากกัปป์ ๆ ตั้งแต่ ๑๐ กัปป์ถึง ๔๐ กัปป์.
๔. นักเดา เดาตามความคิดคาดคะเนว่า โลกเที่ยง.
(๒) หมวดเห็นว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ( เอกัจจสัสสติกะ เอกัจจอสัสสติกะ) ๔
๑. เห็นว่าพระพรหมเที่ยง แต่พวกเราที่พระพรหมสร้างไม่เที่ยง.
๒. เห็นว่าเทวดาพวกอื่นเที่ยง พวกที่มีโทษเพราะเล่นสนุกสนาน ( ขิฑฑาปโทสิกา) ไม่เที่ยง.
๓. เห็นว่าเทวดาพวกอื่นเที่ยง พวกที่มีโทษเพราะคิดร้ายผู้อื่น ( มโนปโทสิกา) ไม่เที่ยง.
๔. นักเดา เดาตามความคิดคาดคะเนว่า ตัวตนฝ่ายกายไม่เที่ยง ตัวตนฝ่ายจิตเที่ยง.
(๓) หมวดเห็นว่ามีที่สุดและไม่มีที่สุด ( อัตตานันติกะ) ๔
๑. เห็นว่าโลกมีที่สุด. ๒. เห็นว่าโลกไม่มีที่สุด.
๓. เห็นว่าโลกมีที่สุด เฉพาะด้านบนกับตัวล่าง ส่วนด้านกว้างหรือด้านขวางไม่มีที่สุด.
๔. นักเดา เดาตามความคาดคิดคะเนว่า โลกมีที่สุดก็ไม่ใช่ ไม่มีที่สุดก็ไม่ใช่.
(๔) หมวดพูดซัดส่ายไม่ตายตัวแบบปลาไหล ( อมราวิกเขปิกะ) ๔
๑. เกรงว่าจะพูดปด จึงพูดปฏิเสธว่า อย่างนี้ก็ไม่ใช่, อย่างนั้นก็ไม่ใช่ , อย่างอื่นก็ไม่ใช่ , มิใช่ ( อะไร) ก็ไม่ใช่.
๒. เกรงว่าจะยึดถือ จึงพูดปฏิเสธแบบข้อ ๑.
๓. เกรงว่าจะถูกซักถาม จึงพูดปฏิเสธแบบข้อ ๑ .
๔. เพราะโง่เขลา จึงพูดปฏิเสธแบบข้อ ๑ และไม่ยอมรับหรือยืนยันอะไรเลย.
(๕) หมวดเห็นว่าสิ่งต่าง ๆ มีขึ้นเอง ไม่มีเหตุ ( อธิจจสมุปปันนะ ) ๒
๑. เห็นว่าสิ่งต่าง ๆ มีขึ้นเองโดยไม่มีเหตุ เพราะเคยเกิดเป็นอสัญญีสัตว์.
๒. นักเดา เดาเอาตามความคิดคาดคะเนว่า สิ่งต่าง ๆ มีขึ้นเองโดยไม่มีเหตุ.
ความเห็นปรารภเบื้องปลาย ๔๔
ทิฏฐ หรือความเห็นปรารภเบื้องปลาย ( อปรันตกัปปิกะ) ที่มี ๔๔ นั้น แบ่งออกเป็น ๕ หมวด หมวดที่เห็นว่ามีสัญญาความจำได้หมายรู้ (สัญญีวาทะ) ๑๖ , หมวดที่เห็นว่าไม่มีสัญญา ( อสัญญีวาทะ) ๘, หมวดที่เห็นว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ( นวสัญญีนาสัญญีวาทะ) ๘. หมวดที่เห็นว่าขาดสูญ ( อุจเฉทวาทะ) ๗, หมวดที่เห็นว่าสภาพบางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน ( ทิฏฐิธัมมนิพพานวาทะ) ๕ รวมเป็น ๔๔ ดังรายละเอียด คือ :-
(๑) หมวดเห็นว่ามีสัญญา ( สัญญีวาทะ) ๑๖
๑. ตนมีรูป ๒. ตนไม่มีรูป
๓. ตนทั้งมีรูป ทั้งไม่มีรูป ๔. ตนมีรูปก็มิใช่ ไม่มีรูปก็มิใช่
๕. ตนมีที่สุด ๖. ตนไม่มีที่สุด
๗. ตนทั้งมีที่สุด ทั้งไม่มีที่สุด ๘. ตนมีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่
๙. ตนมีสัญญา ( ความจำได้หมายรู้) เป็นอันเดียวกัน
๑๐. ตนมีสัญญาต่างกัน ๑๑. ตนมีสัญญาเล็กน้อย
๑๒. ตนมีสัญญาหาประมาณมิได้ ๑๓. ตนมีสุขโดยส่วนเดียว
๑๔. ตนมีทุกข์โดวยส่วนเดียว ๑๕. ตนมีทั้งสุขทั้งทุกข์
๑๖. ตนไม่มีทุกข์ไม่มีสุข
ตนทั้งสิบหกประเภทนี้ ตายไปแล้ว ก็มีสัญญา คือความจำได้หมายรู้ทั้งสิ้น.
(๒) หมวดเห็นว่าไม่มีสัญญา ( อสัญญีวาทะ) ๘
เห็นว่าตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๘ ข้างต้น คือตนมีรูป จนถึงตนมีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่ ทั้งแปดประเภทนี้ ตายไปแล้ว ก็ไม่มีสัญญา คือไม่มีความจำได้หมายรู้.
(๓) หมวดเห็นว่ามีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ( เนวสัญญีวาทะ) ๘
เห็นว่าตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๘ ข้างต้น คือตนมีรูป จนถึงตนมีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่ ทั้งแปดประเภทนี้ ตายไปแล้ว มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่.
ทั้งสามหมวดนี้ รวมเรียกว่า อุทธมาฆตนิกา แปลว่า พวกที่มีความเห็นเกี่ยวกับสภาพเมื่อตายไปแล้วจเป็นอย่างไร.
(๔) หมวดเห็นว่าขาดสูญ ( อุจเฉทวาทะ) ๗
๑. ตนที่เป็นของมนุษย์และสัตว์ ๒. ตนที่เป็นของทิพย์ มีรูป กินอาหารหยาบ
๓. ตนที่เป็นของทิพย์ มีรูป สำเร็จจากไป ๔. ตนที่เป็นอากาสนัญจายตนะ ๔.
๕. ตนที่เป็นวิญญาณัญจายตนะ ๖. ตนที่เป็นอากิจจัญญายตนะ
๗. ตนที่เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนะ
ทั้งเจ็ดประเภทนี้ เมื่อสิ้นชีพแล้ว ก็ขาดสูญ ไม่เกิดอีก.
(๕) หมวดเห็นสภาพบางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน ( ทิฏฐิธัมมนิพพาน) ๕
๑. เห็นว่าการเพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ เป็นนิพพานอย่างยอดในปัจจุบัน. ๒, ๓, ๔, ๕ เห็นว่าการเพียบพร้อมด้วยฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เป็นนิพพานอย่างยอดในปัจจุบัน.
สรูป ในที่สุดได้ตรัสสรูปว่า สมณพราหมณ์ทุกพวกที่ทิฏฐิความเห็นความเห็นต่าง ๆ รวม ๖๒ ประการเหล่านี้ ย่อมได้เสวยอารมณ์ เพราะอาศัยอายตนะสำหรับถูกต้อง ๖ อย่าง ( คือตา, หู , จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ,), เพราะเหตุที่เสวยอารมณ์จึงเกิดตัณหาความทะยานอยาก, เพราะเหตุที่มีความทะยานอยาก จึงมีความยึดมั่นถือมั่น, เพราะเหตุที่มีความยึดมั่นถือมั่น จึงมีภพ คือความมีความเป็น, เพราะเหตุที่มีความมีความเป็น ( ภพ) จึงมีชาติ คือความเกิด , เพราะเหตุที่มีความเกิด จึงมีความแก่ ความตาย ความเศร้าโศก คร่ำครวญ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ และความคับแค้นใจ. สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมติดอยู่ในข่ายแห่งความเห็นทั้งหกสิบสองนี้เหมือนปลาติดข่ายฉะนั้น.
ส่วนตถาคตเป็นผู้ถอนตัญหาอันจะนำให้เวียนอยู่ในภพได้แล้ว กายยังดำรงอยู่ตราบใด ก็มีผู้แลเห็นเมื่อกายทำลายไปแล้ว ก็ไม่มีผู้แลเห็น.
พรหมชาลสูตร ปฏิเสธ"ความเป็นอยู่ของพระเจ้า"
เริ่มโดย ลูกพระพุทธ, Sep 05 2008 04:46 PM
มี 2 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้