ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

ธรรมะเพื่อการรู้เท่าทันสื่อ


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 3 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 Dd2683

Dd2683
  • Members
  • 2477 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:กรุงเทพ มหานคร
  • Interests:ความรู้ในพระพุทธศาสนา-วิชชาธรรมกาย<br />ผลแห่งการปฏิบัติธรรม

โพสต์เมื่อ 08 January 2006 - 10:42 PM

คัดลอกมา




ธรรมะเพื่อการรู้เท่าทันสื่อ

ธรรมะในพระพุทธศาสนามีบทบาทในการหล่อหลอมความรู้สึกนึกคิดของพุทธศาสนิกชนไทยมาเป็นเวลาช้านาน ยังความสงบสุขพอเพียงให้เกิดขึ้นจนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแบบชาวพุทธ แต่เมื่อโลกมีความเจริญทางวัตถุอย่างยิ่งยวด ความเสื่อมถอยของคุณธรรมในใจคนกลับเพิ่มพูนขึ้นอย่างทบเท่าทวีคูณ ธรรมะเป็นสิ่งที่ล้าสมัยในความคิดของคนบางกลุ่ม การกอบโกยเพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้องและปากท้องของตนเองเป็นสิ่งสำคัญ เมื่ออวิชชาเข้าครอบงำมากขึ้น จึงเกิดทุภาษิตมากมายที่สื่อสารและปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายในสังคมไทย เช่น ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป, รักดีกินถั่ว รักชั่วกินเหล้า รักทั้งดีรักทั้งชั่ว ก็กินถั่วแกล้มเหล้า, เรียนไปปวดหัว มีผัวดีกว่า, เอดส์ไม่กลัว กลัวอด (สำส่อนทางเพศ) ฯลฯ

ผู้ห่วงใยบางท่านสรุปว่า ทุกวันนี้สังคมเสื่อมทรามลงทุกขณะ แต่ในความเป็นจริงสภาวะเหล่านี้นับเป็นธรรมดาโลก มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ทุกยุคทุกสมัยย่อมมีทั้งคนดีคนชั่ว ปะปนกัน มีทั้งคนที่ประมาทและไม่ประมาทในการใช้ชีวิต มีทั้งเหตุการณ์เลวร้ายและสุขสงบคละเคล้ากันไปตามแต่มุมมองและการตีความของปัจเจกบุคคล การเปลี่ยนแปลงบุคคลรอบข้าง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวย่อมยากกว่าการหันกลับมาพิจารณาตนเองด้วยจิตสำนึกแห่งธรรม ธรรมะเป็นคำตอบสุดท้ายที่ช่วยสร้างอาวุธทางปัญญาให้ผู้เข้าถึงธรรมรู้จักประหารกิเลสนานาประการในทุกยุคสมัย ปัจจุบันก็เช่นเดียวกันหลาย คนเป็นห่วงว่าทุกข์จากค่านิยมผิดๆ จะแพร่กระจายในโลกอย่างรวดเร็วด้วยสื่อมวลชนและการสื่อสารไร้พรมแดน ทว่าหากเราตั้งสติตั้งใจศึกษาเพื่อรู้และเข้าใจธรรมชาติของสื่อมวลชน เราท่านทั้งหลายจะพบว่าธรรมะช่วยให้ผู้รับสารรู้เท่าทันสื่อ สื่อจะรู้เท่าทันธรรมมากขึ้น เมื่อทุกฝ่ายต่างมุ่งพัฒนาความรู้และจิตปัญญาของตน ความสุขสงบจะเริ่มก่อตัวจากระดับบุคคลแผ่ขยายไปสู่ระดับสังคมและกว้างไกลจนประมาณขอบเขตมิได้


ทำไมต้องรู้เท่าทันสื่อ

การเผยแผ่พุทธธรรมและการปลูกฝังค่านิยมที่พึงประสงค์ให้กับพุทธศาสนิกชน นักเรียน นักศึกษาและลูกหลานในยุคนี้ บุคลากรในสถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว และสถาบันต่างๆจำต้องเพิ่มความใส่ใจและแสวงหาความรู้เพื่อการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) เพราะเทคโนโลยีการสื่อสารก้าวไปเร็วมาก ก่อให้เกิดการปฏิวัติทางการสื่อสาร เราทุกคนเป็นผู้บริโภคสื่อ
เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันขึ้นอยู่กับสื่อ การรู้เรื่องสื่อนอกจากจะทำให้เราทันสมัย รู้จักวิเคราะห์แยกแยะประเด็นข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็นหรือเรื่องไร้สาระแล้ว ยังช่วยให้เราก้าวทันเกมหรือรู้เล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิงของกลุ่มผลประโยชน์ในสังคมอีกด้วย

นอกจากนี้เมื่อบุคลากรในสถาบันต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นรู้เท่าทันสื่อ ย่อมทำให้กระบวนการถ่ายทอดข่าวสารของตนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะทุกคนมีบทบาทการสื่อสารที่ไม่ ตายตัว เช่น เมื่อนาย ก. อยู่ในโรงเรียนมีบทบาทเป็นครู ต้องสื่อสารให้นักเรียนรู้และเข้าใจในบทเรียน เมื่ออยู่ในบ้านมีบทบาทเป็นพ่อที่ต้องดูแลอบรมบ่มนิสัยลูกให้เป็นสมาชิกที่ดีในครอบครัวและสังคม ต่อมาอุปสมบทเป็นภิกษุในบวรพุทธศาสนามีบทบาทในการเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัทให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม เป็นต้น

ดังนั้นบทบาทของผู้ส่งสารจึงมิได้จำกัดแต่เพียงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนเท่านั้น ทว่าทุกคนในสังคมล้วนต้องสื่อสารถึงกันตามบทบาทหน้าที่ของตน จึงทำให้มนุษย์เป็นสัตว์สังคมอย่างสมบูรณ์แบบ





สื่อคุมใคร...ใครคุมสื่อ

สื่อมวลชนมีอำนาจอะไรอยู่ในตัวเองบ้าง และอำนาจนั้นจะสามารถตอบโต้หรือต่อรองกับอำนาจจากภายนอกได้อย่างไร Gallagher สำรวจว่า อำนาจของสื่อมวลชนจะมาจากแหล่ง ใดบ้างและพบคำตอบดังนี้

๑. อำนาจของสื่อมวลชนมาจากการเป็นสถาบันที่สามารถเข้าถึงและสามารถส่งสารให้ถึงกลุ่มคนได้ในปริมาณครั้งละมากๆ อย่างที่ไม่มีสถาบันอื่นในสังคมจะสามารถทำได้

๒. สื่อมวลชนมีอำนาจในฐานะผู้ยึดกุมช่องทางการเผยแพร่ข่าวสาร มีความชอบธรรมที่จะเข้าถึงแหล่งข่าวสารด้วยการยอมรับของสังคม เช่น นักข่าวมีสิทธิ์สัมภาษณ์บุคคลต่างๆ ในสังคม

๓. อำนาจที่จะทำให้เรื่องราวที่เคยอยู่ในปริมณฑลของเรื่อง “ส่วนตัว” (private) กลายเป็น “เรื่องของสาธารณะ” (public) และสามารถทำให้เรื่องของบุคคลที่ถูกนำมาเผยแพร่กลายเป็น “ประเด็นสาธารณะ” (public figure) เช่น เรื่องส่วนตัวของดารานักแสดงนักร้อง, นักการเมือง เป็นต้น

๔. อำนาจในการให้สถานภาพแก่บุคคล (Status Conferral) ในกรณีที่สื่อมวลชนได้รายงานข่าวข้อเท็จจริงไปแล้ว และต้องการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับข่าวสารนั้น สื่อมวลชนมักจะมีกลุ่มนักวิชาการหรือผู้สันทัดกรณีที่จะมาแสดงทัศนะ กลุ่มบุคคลเหล่านี้เป็นที่ยอมรับของสาธารณะ เนื่องจากเป็นกลุ่มบุคคลที่สื่อได้ให้หรือมอบหมายสถานภาพว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว ในกรณีของไทยอาจจะเห็นรูปแบบการให้สถานภาพแก่บุคคลในลักษณะที่สอดคล้องกับความเชื่อเดิมในสังคม เช่น การลงข่าวพระอาจารย์ดังที่มีคาถาเวทมนตร์หรือการให้สมญานาม “โหรตาทิพย์” แก่บรรดาหมอดูทางการเมือง เป็นต้น

องค์กรสื่อมวลชนมีธรรมชาติที่ประกอบด้วยลักษณะ ๒ อย่างที่ขัดแย้งกันในตัวเอง โดยเป็นองค์กรลูกผสมระหว่างระบบธุรกิจ (profit - making) กับระบบบริการสาธารณะ (public service) ทำให้เป้าหมาย ๒ อย่างที่ขัดแย้งกันเป็นตัวนำมาซึ่งความลักลั่นไม่ลงตัวในการปฏิบัติงานอยู่ตลอดเวลา หรือในอีกแง่มุมหนึ่ง ระบบการผลิตขององค์กรสื่อจะเป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรมที่มีการแบ่งงานกันทำอย่างชัดเจน แต่ต้องทำงานประสานกันอย่างเป็นทีม มีระบบและขั้นตอนที่แน่นอน มีการทำงานแบบงานประจำ (routine) ต้องควบคุมให้มีผลผลิตในเวลาที่กำหนด มีลักษณะตอบสนองและเอาใจตลาด (bureaucracy)
แต่ในอีกด้านหนึ่ง องค์กรเช่นนี้ก็เรียกร้องให้ปัจเจกบุคคลมีความคิดริเริ่ม มีผลงานที่สร้างสรรค์แปลกใหม่อยู่เสมอ (creative work) ลักษณะทั้งสองอย่างเป็นธรรมชาติที่ขัดแย้งกัน แต่ได้มาอยู่รวมกันในองค์กรสื่อ

โดยทั่วไปบทบาท (roles) และเป้าหมาย (goals) ขององค์กรสื่อมวลชนมักมีความขัดแย้งกันเนื่องมาจากการมีหลายบทบาทและเป้าหมาย ดังนี้คือ

๑) เป้าหมายทางธุรกิจ (Economic Goals) เนื่องจากธรรมชาติขององค์กรสื่อในยุคอุตสาหกรรมมีลักษณะเป็นธุรกิจอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง ดังนั้น การที่จะอยู่รอดได้ในระบบนี้จำเป็นต้องประสบความสำเร็จทางธุรกิจภายใต้บรรยากาศที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด

๒) เป้าหมายขององค์กร (Organization Goals) ในฐานะองค์กรหนึ่งที่ต้องดำเนินงานอยู่ภายใต้แรงกดดันของปัจจัยแวดล้อมภายนอก เช่น การขึ้นลงของตลาด นโยบายของรัฐ รสนิยมของผู้อ่าน การปรับตัวของคู่แข่ง ฯลฯ องค์กรสื่อทุกองค์กรจึงต้องมีเป้าหมาย นโยบาย ทิศทาง และวิธีการปฏิบัติของตน เช่น จะขยายธุรกิจหรือจะรักษาขนาดเดิมเอาไว้ จะทุ่มทุนหรือประหยัด เป็นต้น

๓) เป้าหมายทางวิชาชีพ (Professional Goals) งานสื่อสารมวลชนเป็นวิชาชีพประเภทหนึ่ง มีผลงานปรากฏต่อสาธารณชน ดังนั้นบุคคลที่ทำงานทางด้านนี้จึงจำเป็นต้องมีเป้าหมายทางวิชาชีพมาเป็นกรอบในการทำงานด้วย

บทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนในแต่ละสังคม แต่ละบริบท แต่ละช่วงเวลา มีความหลากหลายอย่างยิ่ง หน้าที่ของสื่อมวลชนตามหลักทฤษฎี คือสื่อที่รัฐเป็นผู้อำนวยการผลิต จะเน้นให้การศึกษา ข่าวสารความรู้ หากสื่อที่เอกชนเป็นผู้อำนวยการผลิตจะเน้น ให้ความบันเทิง หน้าที่ของสื่อมวลชนในโลกแห่งความเป็นจริง คือ ระดมความคิดเห็น ตีแผ่ความจริง ตรวจสอบนักการเมือง ให้การศึกษา ฝึกอบรม ติวนักเรียนสอบเอนทรานซ์ ปลูกฝังจิตสำนึกทางการเมือง จัดหาคู่ครอง ทำนายโชคชะตา มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจ เกลี้ยกล่อมชักจูงใจ สร้างมติสาธารณะ ฯลฯ

McQuail ได้สรุปปัจจัยที่เข้ามามีผลต่อการทำงานขององค์กรสื่อ ทำให้มองเห็นภาพว่าสื่อมวลชนตกอยู่ใต้อิทธิพลของปัจจัยใด และใครเป็นผู้ควบคุมสื่อ ในแต่ละองค์กรของสื่อมวลชนจะประกอบด้วย ๒ ส่วนใหญ่ๆ คือ

๑. องค์ประกอบภายในขององค์กร แบ่งเป็นระบบย่อยได้ ๓ ระบบ คือ ระบบเทคโนโลยี ระบบการบริหารจัดการ และระบบบุคลากร

๒. องค์ประกอบแวดล้อมขององค์กร เนื่องจากองค์กรสื่อมวลชนเป็นสถาบันสังคมย่อยๆ สถาบันหนึ่ง ดังนั้น การทำงานขององค์กรสื่อหนึ่งๆ จึงต้องโยงใยอยู่กับปัจจัยแวดล้อมภายนอก เช่น การควบคุมจากฝ่ายการเมืองและกฎหมาย การควบคุมจากเจ้าของทุนหรือ เจ้าของสินค้าที่ลงโฆษณาในสื่อ การควบคุมจากสถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา การควบคุมจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม การควบคุมจากคู่แข่งขัน องค์กรด้านข่าวสารข้อมูล สภาพเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา และการควบคุมจากความต้องการ หรือ ความสนใจของผู้รับข่าวสาร ฯลฯ



สื่อสารไร้พรมแดน

ในปัจจุบันเป็นยุคสังคมข่าวสารหรือสารสนเทศ (Information Age) เกิดปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ การไหลเวียนข่าวสารระหว่างประเทศต่างๆ ดำเนินไปอย่างขนานใหญ่ รวดเร็วและหลากหลาย จึงเกิดคำกล่าวเปรียบเทียบว่าเป็น “ระบบทางด่วนข้อมูล ข่าวสาร” (Information Super-highway) นอกจากนี้ยังเรียกยุคนี้ว่า “ยุคโลกาภิวัตน์” (Globalization) ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดเรื่อง “หมู่บ้านโลก” (Global Village) ของ Mc Luhan เสนอในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๖๐ หรือ พ.ศ. ๒๕๐๓ กล่าวคือโลกกลมๆ ใบใหญ่ที่มนุษย์อาศัยอยู่จะมีขนาดเล็กลงเปรียบเหมือนหมู่บ้านเล็กๆ และปราศจากอาณาเขตหรือพรมแดนใดๆ มาขวางกั้นระหว่างประเทศต่างๆ ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นเพราะการสื่อสาร “ดาวเทียม” ที่ลอยอยู่บนท้องฟ้าทำหน้าที่เหมือน “เครื่องส่งทวนสัญญาณ” เพื่อรับและถ่ายทอดข่าวสารจากที่หนึ่งแพร่หลายไปทั่วโลก ทำให้ประชาชนในที่ต่างๆ สามารถรับข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วพร้อมกันและมีความรู้สึกใกล้ชิดเหมือนอยู่ในชุมชนเดียวกัน


สื่อสารมวลชนแหล่งเร่งวัฒนธรรมกระพี้

ไทยเรากำลังอยู่ในวังวนของกระแสโลกาภิวัตน์ แม้จะเต็มไปด้วยสิทธิเสรีภาพของข่าวสารโดยปราศจากพรมแดนขวางกั้นก็จริง แต่ประเด็นที่น่าคิดคือ “เสรีภาพทางข่าวสาร” (Freedom of information) ชนิดไร้พรมแดนนี้เอื้อประโยชน์ต่อใครกันแน่? ในกระแสโลกาภิวัตน์ที่เชี่ยวกรากนี้ ปลาใหญ่ย่อมกินปลาเล็ก ผู้รับสารที่ไม่รู้เท่าทันสื่อ ไม่รู้จักพิจารณาแยกแยะเลือกรับข่าวสารด้วยสติปัญญาทั้งทางโลกและทางธรรม ย่อมตกเป็นทาสของความคิดความรู้ที่พรั่งพรูมาจากซีกโลกตะวันตก และเป็นผู้พร้อมเก็บตกวัฒนธรรมเปลือกกระพี้ซึ่งเป็นกากขยะที่โลกตะวันตกก็มิได้ชื่นชม เช่น การนิยมบริโภคอาหารจานด่วน หรือที่บางคนแปลอย่างเผ็ดร้อนว่า “อาหารแดกด่วน” (Fast Food)

การนิยมเสรีภาพทางเพศโดยเปลี่ยนคู่นอนแลกคู่ควง ทดลองใช้ชีวิตคู่แบบรัก-เลิก-ร้าง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด การนิยมแฟชั่นโป๊เปลือย การนิยมความหรูหราฟุ้งเฟ้อ การนิยมใช้สินค้าฟุ่มเฟือยจากต่างประเทศ การนิยมเสพสิ่งเสพติดให้โทษ การนิยมเลียนแบบดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย ฯลฯ ข่าวสารและวัฒนธรรมเปลือกกระพี้ที่มากับเสรีภาพไร้พรมแดนเหล่านี้กำลังจะกลืนกินวัฒนธรรมที่ดีงามของอารยธรรมตะวันออกและกัดเซาะศาสนธรรมในใจคนให้ผุกร่อนโดยอ้างเหตุแห่งความถูกต้องตามสมัยนิยม สถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง

เนื่องจากอานุภาพอันทรงพลังของสื่อมวลชน (Mass Media) โดยเฉพาะในยุคนี้ยังซ้อนทับกับยุคสมัยแห่งทุนนิยม วัตถุนิยม และบริโภคนิยม ผู้รับสาร (Audience) จึงจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อเข้าใจธรรมชาติของสื่อมวลชนอย่างถูกต้อง จะได้ทราบว่าสื่อมวลชนมีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์เช่นเดียวกับคมดาบที่ต้องใช้อย่างถูกวิธีและมีสติ ไม่ตกเป็นเหยื่อของสื่อที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม สามารถเลือกรับข่าวสารที่เป็นประโยชน์ เกื้อกูลต่อการใช้สติปัญญาของตนและบุคคลรอบข้างตลอดจนสังคมโลก

ดังนั้น “การรู้เท่าทันสื่อ” (Media Literacy) จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องส่งเสริมให้บุคคลทุกระดับในสังคมเรียนรู้อย่างเป็นระบบ จัดการศึกษาแบบต่อเนื่อง (Continuing Education) และเรียนรู้ตลอดชีวิต


สื่อสารธรรมช่วยสร้างสรรค์สื่อ
อย่างไรก็ตามหากนำธรรมะในพุทธศาสนามาใช้เป็นแบบแผนในการศึกษาเพื่อให้รู้เท่าทันสื่อย่อมเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด เพราะธรรมะจะช่วยกล่อมเกลาปลูกจิต ถอนพิษร้ายจากโลภะ โทสะ โมหะในใจของผู้ส่งสารหรือสื่อมวลชน และทำให้ผู้รับสารหรือผู้ชมผู้ฟังตื่นจากภวังค์ของโลกมายาซึ่งถูกสร้างและฉาบทาด้วยการดำเนินบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยหารู้ไม่ว่าบางโอกาส “สาร” (Message) ที่ตนเองสื่อจะก่อให้เกิดโทษจนกลายเป็นบาปบริสุทธิ์ที่สื่อมวลชนเองก็ไม่ได้มีเจตนาจะมอมเมาประชาชน แต่จะเรียกว่าเป็น “ความบกพร่องโดยสุจริต” ก็หาควรไม่ เพราะทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารยังไม่เปิดโอกาสให้ตนได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างถ่องแท้ เพื่อสร้างสังคมที่สันติสุข ลดทอนความเบียดเบียนในใจกายของกันและกัน เข้าถึงเสรีภาพหรือความเป็นอิสระจากเครื่องร้อยรัดจิตวิญญาณทั้งปวง ดังนั้นหากทุกฝ่ายต่างมุ่งสร้างงานและเสพงานสื่อมวลชนตามกรอบกติกาของคุณธรรมและจริยธรรม การสื่อสารธรรมย่อมช่วยสร้างสรรค์สื่อด้วยประการฉะนี้


เรียนให้รู้เท่าทันธรรม

เมื่อผู้อ่านผู้ฟังและผู้ชมเกิดความรู้ความเข้าใจต่อสื่อมวลชนในระดับหนึ่งแล้ว ผู้นั้นพึงศึกษาและทำความเข้าใจธรรมะในพระพุทธศาสนาเพื่อให้รู้เท่าทันธรรม จะได้ทราบว่าธรรมะช่วยเกื้อกูลสรรพชีวิตอย่างไร ธรรมะช่วยให้ผู้บริโภครู้เท่าทันสื่อจริงหรือไม่ ลองพิจารณาจากข้อเขียนต่อไปนี้
Bruce Evans กล่าวว่า ธรรมะในพระพุทธศาสนาเป็นคำสอนสายกลาง สอนความพอดี สอนแนวทางความประพฤติตามหลักสัจธรรมที่เป็นอกาลิโก ว่าด้วยประโยชน์สุขที่พึงได้อันเกิดจากการอยู่ร่วมสัมพันธ์กันโดยใช้ปัญญา ด้วยเมตตากรุณา และพร้อมกันนั้นก็มุ่งให้บรรลุถึงอิสรภาพทางจิตปัญญาที่เป็นจุดหมายสูงสุดถึงขั้นที่ทำให้อยู่ในโลกได้โดยไม่ติดโลกหรืออยู่เหนือโลก
คนปัจจุบันจำนวนมากมองชีวิตทุกวงการเป็นการต่อสู้ระหว่างผลประโยชน์ที่ขัดกัน เกิดเป็นฝ่ายนายจ้างกับลูกจ้าง รัฐบาลกับราษฎร คนมีกับคนจน และแม้แต่หญิงกับชาย หรือลูกกับพ่อแม่

เมื่อคนถือเอาทรัพย์และอำนาจเป็นจุดหมายของชีวิตสังคมก็กลายเป็นสนามต่อสู้ระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวที่ขัดกัน เราก็เลยต้องเที่ยวหาจริยธรรมสำหรับมาปกป้องผลประโยชน์เหล่านั้น นี่คือ “จริยธรรมเชิงลบ” กล่าวคือ สังคมยึดหลักผลประโยชน์แบบเห็นแก่ตัวโดยถือสิทธิของแต่ละคนที่จะแสวงหาความสุข แล้วเราก็เลยต้องหาจริยธรรมดังเช่น “สิทธิมนุษยชน” มาคอยกีดกั้นกันและกันเอาไว้ ไม่ให้คนมาเชือดคอหอยกันในระหว่างที่กำลังวิ่งหาความสุขนั้น

หลักธรรมะในพระพุทธศาสนาเป็น “จริยธรรมเชิงบวก” ประโยชน์สุขคือจุดหมาย หาใช่ทรัพย์และอำนาจไม่ พระพุทธศาสนาถือว่าสังคมเป็นสื่อกลางที่ช่วยให้ทุกคนมีโอกาสอันเท่าเทียมกันในการพัฒนาตนเอง และเข้าถึงประโยชน์สุขได้มากที่สุด โดยนำเอาจริยธรรมมาใช้เพื่อเกื้อหนุนจุดหมายที่กล่าวนี้



มาตรฐานชีวิตของชาวพุทธ

มาตรฐานชีวิตของชาวพุทธ ๑๐ แบ่งออกเป็น ๒ หมวด คือ

หมวด ๑ ) เป็นธรรมะระดับพื้นฐานชีวิต ช่วยจัดระเบียบชีวิตและระบบความสัมพันธ์ในสังคมให้เป็นพื้นฐานที่มั่นคง แบ่งเป็น ๓ กฎ คือ
กฎ ๑ เว้นชั่ว ๑๔ ประการ ได้แก่ เว้นกรรมกิเลส(กรรมที่ทำให้มัวหมอง) ๔, เว้นอคติ(ความลำเอียง/ประพฤติคลาดธรรม) ๔, เว้นอบายมุข(ช่องทางเสื่อมทรัพย์อับชีวิต) ๖

กฎ ๒ เตรียมทุนชีวิต ๒ ด้าน ได้แก่
๑) เลือกเสวนาคน เพื่อนำชีวิตไปในทางแห่งความรุ่งเรืองและสร้างสรรค์โดยหลีกเว้นมิตรเทียม คบหาแต่มิตรแท้
๒) จัดสรรทุนทรัพย์ คือขยันหมั่นหาหมั่นทำหมั่นเก็บออมโดยธรรม ให้ทรัพย์เพิ่มพูน ดุจน้ำผึ้งสร้างรังหรือตัวปลวกก่อจอมปลวกและวางแผนการใช้จ่าย

กฎ ๓ รักษาความสัมพันธ์ ๖ ทิศ ได้แก่
ก) ไหว้ทิศรอบตัว โดยปฏิบัติหน้าที่ต่อบุคคลที่สัมพันธ์กับตนให้ถูกต้องตามฐานะ ไม่ว่าจะเป็นในฐานะที่เป็นบุตรธิดา พึงเคารพบิดามารดาผู้เปรียบเสมือนทิศเบื้องหน้า, ในฐานะที่เป็นศิษย์ พึงแสดงความเคารพนับถืออาจารย์ ผู้เปรียบเสมือนทิศเบื้องขวา, ในฐานะที่เป็นสามี/ภรรยา พึงให้เกียรติบำรุงภรรยา/สามี ผู้เปรียบเสมือนทิศเบื้องหลัง, ในฐานะที่เป็นมิตรสหาย พึงปฏิบัติต่อมิตรสหาย ผู้เปรียบเสมือนทิศเบื้องซ้าย, ในฐานะที่เป็นนายจ้างพึงบำรุงคนรับใช้และคนงาน ผู้เปรียบเสมือนทิศเบื้องล่าง ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน พึงแสดงความเคารพนับถือต่อพระภิกษุสงฆ์ ผู้เปรียบเสมือนทิศเบื้องบน

ข) ช่วยเหลือทั่วทุกคน โดยร่วมสร้างสรรค์ประสานสังคมให้ดีงาม สามัคคีมีเอกภาพตามหลักสังคหวัตถุ ๔ คือ ทาน (เผื่อแผ่แบ่งปัน), ปิยวาจา (พูดอย่างรักกัน), อัตถจริยา (ทำประโยชน์แก่เขา), สมานัตตตา (เอาตัวเข้าสมาน)


หมวด ๒ ) เป็นธรรมะระดับจุดหมายชีวิต ดำเนินชีวิตให้บรรลุอัตถะ คือประโยชน์ที่เป็นจุดหมายของชีวิต ๓ ขั้นดังนี้

ขั้นที่ ๑ ทิฏฐธัมมิกัตถะ จุดหมายขั้นตาเห็น หรือประโยชน์ปัจจุบัน ประกอบด้วย

ก) มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ไร้โรค งามสง่า อายุยืน
ข) มีเงินมีงาน มีอาชีพสุจริต พึ่งตนได้ทางเศรษฐกิจ
ค) มีสถานภาพดี เป็นที่ยอมรับนับถือในสังคม
ง) มีครอบครัวผาสุก ทำวงศ์ตระกูลให้เป็นที่นับถือ

ขั้นที่ ๒ สัมปรายิกัตถะ จุดหมายขั้นเลยตาเห็นหรือประโยชน์เบื้องหน้า ประกอบด้วย
ก) ความอบอุ่นซาบซึ้งสุขใจ ด้วยศรัทธา มีหลักใจ
ข) ความภูมิใจในชีวิตสะอาดที่ได้ประพฤติโดยสุจริต
ค) ความอิ่มใจในชีวิตที่มีคุณค่าที่ได้เสียสละทำประโยชน์
ง) ความแกล้วกล้ามั่นใจที่มีปัญญาแก้ปัญหานำชีวิตได้
จ) ความโล่งจิตมั่นใจว่าได้ทำกรรมดี มีทุนประกันภพใหม่

ขั้นที่ ๓ ปรมัตถะ จุดหมายสูงสุดหรือประโยชน์อย่างยิ่ง ประกอบด้วย
ก) ไม่หวั่นไหวไปตามความผันผวนปรวนแปรต่างๆ
ข) ไม่ผิดหวังเศร้าบีบคั้นจิตเพราะความยึดติดถือมั่น
ค) ปลอดโปร่ง สงบ ผ่องใส สดชื่น เบิกบานใจตลอดเวลา
ง) เป็นอยู่และทำการด้วยปัญญาซึ่งมองที่เหตุปัจจัย

จุดหมายหรือประโยชน์ ๓ ขั้นนี้ แยกเป็น ๓ ด้าน คือ

๑. อัตตัตถะ จุดหมายเพื่อตนหรือประโยชน์ตน คือประโยชน์ ๓ ขั้นข้างต้น ซึ่งพึงทำให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง หรือพัฒนาชีวิตของตนให้ลุถึงประโยชน์ที่สูงขึ้น

๒. ปรัตถะ จุดหมายเพื่อผู้อื่นหรือประโยชน์ผู้อื่น คือประโยชน์ ๓ ขั้นข้างต้น ซึ่งพึงช่วยเหลือให้ผู้อื่นหรือเพื่อนมนุษย์ได้บรรลุถึง ด้วยการชักนำสนับสนุนให้เขาพัฒนาชีวิตของเขาเองขึ้นไปจนเข้าถึงตามลำดับ

๓. อุภยัตถะ จุดหมายร่วมกันหรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือ ประโยชน์สุขและความดีงามร่วมกันของชุมชนหรือสังคม รวมทั้งภาวะและจิตใจแวดล้อมต่างๆ ซึ่งพึงช่วยกันสร้างสรรค์บำรุงรักษา เพื่อเกื้อหนุนให้ทั้งตนและผู้อื่นก้าวไปสู่จุดหมาย ๓ ขั้นข้างต้น



ธรรมนูญชีวิต : พุทธจริยธรรมเพื่อชีวิตที่ดีงาม

ธรรมนูญชีวิต ๑๑ แบ่งเป็น ๕ หมวด คือ
หมวดนำ ว่าด้วยเรื่อง คนกับความเป็นคน เเบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ

ส่วนที่ ๑ คนผู้เป็นสัตว์ประเสริฐ (สมาชิกในสังกัดมนุษยชาติพึงมีคุณสมบัติที่เป็นต้นทุน ๗ ประการ คือ

๑. กัลยาณมิตตตา (มีกัลยาณมิตร) แสวงแหล่งปัญญาและแบบอย่างที่ดี คืออยู่ร่วมหรือใกล้ชิดกัลยาณชน รู้จักคบคนและเข้าร่วมสังคมกับกัลยาณมิตรที่จะมีอิทธิชักนำและชักชวนกันให้เจริญงอกงามในการพัฒนาพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา โดยเฉพาะให้เรียนรู้และพัฒนาการสื่อสารสัมพันธ์กันกับเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา มีศรัทธาที่จะดำเนินตามแบบอย่างที่ดี และรู้จักใช้ปัจจัยภายนอก ทั้งที่เป็นบุคคล หนังสือ และเครื่องมือสื่อสารทั้งหลาย ให้เป็นประโยชน์ในการแสวงหาความรู้และความดีงาม เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาชีวิต แก้ปัญหาและทำการสร้างสรรค์
๒. สีลสัมปทา (ทำศีลให้ถึงพร้อม) มีวินัยเป็นฐานของการพัฒนาชีวิต คือรู้จักจัดระเบียบความเป็นอยู่ กิจกรรมกิจการและสิ่งแวดล้อมให้เอื้อโอกาสแก่การพัฒนาชีวิต อย่างน้อยมีศีลขั้นพื้นฐาน คือมีพฤติกรรมที่ถูกต้องในความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม

๓. ฉันทสัมปทา (ทำฉันทะให้ถึงพร้อม) มีจิตใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ คือเป็นผู้มีพลังแห่งการใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่ทำ ใฝ่สร้างสรรค์ ใฝ่สัมฤทธิ์ ใฝ่ความเป็นเลิศ อยากช่วยทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนประสบเกี่ยวข้องให้เข้าถึงภาวะที่ดีงาม ไม่หลงติดอยู่แค่คิดจะได้จะเอาและเพียงหาความสุขจากการเสพบริโภค

๔. อัตตสัมปทา (ทำตนให้ถึงพร้อม) มุ่งมั่นฝึกตนจนเต็มสุดภาวะที่ความเป็นคนจะถึงได้ คือระลึกอยู่เสมอถึงความจริงแท้แห่งธรรมชาติของมนุษย์ผู้เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และต้องฝึก มีจิตสำนึกในการพัฒนาตนยิ่งขึ้นไปจนเต็มสุดแห่งศักยภาพ ด้วยการพัฒนาที่พร้อมทุกด้านทั้งพฤติกรรม จิตใจและปัญญา

๕. ทิฏฐิสัมปทา (ทำทิฏฐิให้ถึงพร้อม) ถือหลักเหตุปัจจัยมองอะไรๆตามเหตุและผล คือตั้งอยู่ในหลักความคิดความเชื่อที่ดีงามมีเหตุผล รู้เท่าทันความเป็นไปได้ภายในขอบเขตของเหตุปัจจัยที่มีและที่ทำ ถึงสำเร็จก็ไม่เหลิงลอย แม้พลาดก็ไม่หงอยเหงา ดำรงจิตผ่องใสเป็นอิสระได้ ไม่วู่วามโวยวายเอาแต่ใจตน ตลอดจนไม่ปล่อยตัวเลื่อนไหลไปตามกระแสความตื่นข่าวและค่านิยม

๖. อัปปมาทสัมปทา (ทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม) ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท คือมีจิตสำนึกในความไม่เที่ยง มองเห็นตระหนักถึงความไม่คงที่ ไม่คงทน และไม่คงตัว ทั้งของชีวิตและสิ่งทั้งหลายรอบตัว กระตือรือร้นขวนขวายเร่งศึกษาและป้องกันแก้ไขเหตุปัจจัยของความเสื่อม และเสริมสร้างเหตุปัจจัยของความเจริญงอกงามโดยใช้เวลาทั้งคืนวันที่ผ่านไปให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

๗. โยนิโสมนสิการสัมปทา (ทำโยนิโสมนสิการให้ถึงพร้อม) ฉลาดคิดแยบคายให้ได้ประโยชน์และความจริง คือรู้จักคิด รู้จักพิจารณา มองเป็นคิดเป็น เห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นไปในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยโดยใช้ปัญญาพิจารณาสอบสวน สืบค้นวิเคราะห์วิจัย (สังยุตตนิกาย มหาวารวัคค ๑๙/๑๒๙-๑๓๖/๓๖-๓๗)

ส่วนที่ ๒ คนสมบูรณ์แบบ(สมาชิกแบบอย่างของมนุษยชาติ)

ผู้สามารถนำหมู่ชนและสังคมไปสู่สันติสุขและความสวัสดี พึงมีสัปปุริสธรรม คือธรรมของคนดีหรือคนที่แท้ซึ่งมีคุณสมบัติของความเป็นคนที่สมบูรณ์ ๗ ประการ คือ

๑. ธัมมัญญุตา รู้หลักและรู้จักเหตุ คือรู้หลักการและกฎเกณฑ์ของสิ่งทั้งหลายที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องในการดำเนินชีวิต ในการปฏิบัติกิจหน้าที่และดำเนินกิจการต่างๆ

๒. อัตถัญญุตา รู้ความมุ่งหมายและรู้จักผล คือรู้ความหมายและความมุ่งหมายของหลักการที่ตนปฏิบัติ เข้าใจวัตถุประสงค์ของกิจการที่ตนกระทำ รู้ว่าที่ตนทำอยู่อย่างนั้น ดำเนินชีวิตอย่างนั้นเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร หรือควรจะได้บรรลุถึงผลอะไร

๓. อัตตัญญุตา รู้ตน คือรู้ตามเป็นจริงว่า ตัวเรานั้นมีฐานะ ภาวะ เพศ กำลัง ความรู้ ความถนัด ความสามารถ และคุณธรรมมากน้อยเพียงใด แล้วประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสมตลอดจนแก้ไขปรับปรุงตนให้เจริญงอกงามถึงความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป

๔. มัตตัญญุตา รู้ประมาณ คือรู้จักพอดี เช่น รู้จักประมาณในการบริโภค ในการใช้จ่ายทรัพย์รู้จักความพอเหมาะพอดีในการพูด การปฏิบัติกิจ และทำการต่างๆตลอดจนการพักผ่อนนอนหลับและการสนุกสนานรื่นเริงทั้งหลาย ทำการทุกอย่างด้วยความเข้าใจวัตถุประสงค์เพื่อผลดีแท้จริงที่พึงต้องการ

๕. กาลัญญุตา รู้กาล คือรู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่พึงใช้ในการประกอบกิจ ทำหน้าที่การงาน ปฏิบัติการต่างๆและเกี่ยวข้องกับผู้อื่น

๖. ปริสัญญุตา รู้ชุมชน คือรู้จักถิ่น รู้จักที่ชุมนุมและชุมชน รู้การอันควรประพฤติปฏิบัติในถิ่นที่ชุมชนและต่อชุมชน

๗. ปุคคลัญญุตา รู้บุคคล คือรู้จักและเข้าใจความแตกต่างแห่งบุคคล ไม่ว่าจะเป็นอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม ว่า ใครยิ่งหรือหย่อนอย่างไร รู้จักปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ด้วยดี รู้จักพิจารณาว่าบุคคลนั้นควรคบหรือไม่ ได้คติอย่างไร จะสัมพันธ์เกี่ยวข้อง จะใช้ จะยกย่อง จะตำหนิหรือจะแนะนำสั่งสอนอย่างไรจึงจะได้ผลดี เป็นต้น (อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๒๓/๖๕/๑๑๔)




ธรรม ๔ หมวดต่อไปนี้มีเนื้อหาที่ละเอียดปลีกย่อยมาก จึงขอนำเสนอเพียงหัวข้อเพื่อให้ผู้อ่านมองเห็นภาพรวมของ “ธรรมนูญชีวิต” เพื่อจะได้ใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาให้เกิดความเข้าใจว่า ธรรมะช่วยให้รู้เท่าทันสื่อและรู้เท่าทันโลกธรรมได้อย่างไร ?

หมวดหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องคนกับสังคม แบ่งเป็น ๕ ส่วน คือ
ส่วนที่ ๑ คนมีศีลธรรม (สมาชิกในหมู่อารยชน) ประกอบด้วย มีสุจริตทั้งสาม ประพฤติตามอารยธรรม อย่างต่ำมีศีล ๕
ส่วนที่ ๒ คนมีคุณแก่ส่วนรวม (สมาชิกที่ดีของสังคม) ประกอบด้วย มีพรหมวิหาร บำเพ็ญการสงเคราะห์
ส่วนที่ ๓ คนผู้เป็นส่วนร่วมที่ดีของหมู่ชน (ที่สมาชิกที่ดีของชุมชน) ประกอบด้วย พึ่งตนเองได้ อยู่ร่วมในหมู่ด้วยดี
ส่วนที่ ๔ คนมีส่วนร่วมในการปกครองที่ดี (สมาชิกที่ดีของรัฐ) ประกอบด้วย รู้หลักอธิปไตย มีส่วนร่วมในการปกครอง
ส่วนที่ ๕ ผู้นำรัฐ (พระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครองบ้านเมือง)
ประกอบด้วย ทรงทศพิธราชธรรม บำเพ็ญกรณียของจักรพรรดิ ประกอบราชสังคหะ ละเว้นอคติ

หมวดสอง ว่าด้วยเรื่อง คนกับชีวิต แบ่งเป็น ๕ ส่วน คือ
ส่วนที่ ๑ คนมีชีวิตอยู่อย่างมั่นใจ (ชีวิตที่เลิศล้ำสมบูรณ์) ประกอบด้วย นำชีวิตสู่จุดหมาย ภายในทรงพลัง ตั้งตนบนฐานที่มั่น
ส่วนที่ ๒ คนประสบความสำเร็จ (ชีวิตที่ก้าวหน้าและสำเร็จ) ประกอบด้วย หลักความเจริญ หลักความสำเร็จ หลักเผล็ดโพธิญาณ
ส่วนที่ ๓ คนรู้จักทำมาหาเลี้ยงชีพ (ชีวิตที่เป็นหลักฐาน) ประกอบด้วย ขั้นหาและรักษาสมบัติ ขั้นแจงจัดสรรทรัพย์ ขั้นจับจ่ายกินใช้
ส่วนที่ ๔ คนครองเรือนที่เลิศล้ำ (ชีวิตบ้านที่สมบูรณ์) ประกอบด้วย มีความสุขสี่ประการ เป็นชาวบ้านแบบฉบับ กำกับชีวิตด้วยธรรมสี่ รับผิดชอบชีวิตที่เกี่ยวข้อง ครองตนเป็นพลเมืองที่ดี
ส่วนที่ ๕ คนไม่หลงโลก (ชีวิตที่ไม่ถลำพลาด) ประกอบด้วย รู้ทันโลกธรรม ไม่มองข้ามเทวทูต คำนึงสูตรแห่งชีวิต

หมวดสาม
ว่าด้วยเรื่อง คนกับคน แบ่งเป็น ๕ ส่วน คือ
ส่วนที่ ๑ คนร่วมชีวิต (คู่ครองที่ดี) ประกอบด้วย คู่สร้างคู่สม คู่ชื่นชมคู่ระกำ คู่ศีลธรรมคู่ความดี คู่ถูกหน้าที่ต่อกัน พ่อบ้านเห็นใจภรรยา
ส่วนที่ ๒ คนรับผิดชอบตระกูล (หัวหน้าครอบครัวที่ดี) ประกอบด้วย รักษาตระกูลให้ คงอยู่ บูชาคนที่เหมือนไฟ ใส่ใจบุตรธิดา ทำหน้าที่ผู้มาก่อน เป็นราษฎรที่มีคุณภาพ
ส่วนที่ ๓ คนสืบตระกูล (ทายาทที่ดี) ประกอบด้วย เปิดประตูสู่ความเจริญก้าวหน้า ปิดช่องทางที่เข้ามาของความเสื่อม เชื่อมสายสัมพันธ์กับบุรพการี มีหลักประกันของชีวิตที่พัฒนา
ส่วนที่ ๔ คนที่จะคบหา (มิตรแท้-มิตรเทียม) ประกอบด้วย มิตรเทียม มิตรแท้ มิตรต่อมิตร
ส่วนที่ ๕ คนงาน - นายงาน (ลูกจ้าง-นายจ้าง) ประกอบด้วย นายจ้างพึงบำรุงคนรับใช้และคนงาน คนรับใช้และคนงานมีน้ำใจช่วยเหลือนาย

หมวดสี่ ว่าด้วยเรื่อง คนกับมรรคา แบ่งเป็น ๕ ส่วน คือ
ส่วนที่ ๑ คนผู้สั่งสอนหรือให้การศึกษา (ครู อาจารย์ หรือผู้แสดงธรรม) ประกอบด้วย เป็นกัลยาณมิตร ตั้งใจประสิทธิ์ความรู้ มีลีลาครูครบทั้งสี่ มีหลักตรวจสอบสาม ทำหน้าที่ครูต่อศิษย์
ส่วนที่ ๒ คนผู้เล่าเรียนศึกษา (นักเรียน นักศึกษา นักค้นคว้า) ประกอบด้วย รู้หลักบุพภาคของการศึกษา มีหลักประกันของชีวิตที่พัฒนา ทำตามหลักเสริมสร้างปัญญา ศึกษาให

#2 ไชยานุภาพ ปราบหงสาวดี

ไชยานุภาพ ปราบหงสาวดี

    "ความเพียรเครื่องเผากิเลสพึงกระทำเสียแต่วันนี้"

  • Members
  • 2171 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:ราชอาณาจักรสยามประเทศ
  • Interests:ADVANCE MEDITATION

โพสต์เมื่อ 09 January 2006 - 09:22 AM

สมัยนี้ ถ้าเจอสื่อที่ดีมีจรรยาบรรณก็ดีไป แต่ถ้าต้องเจอกับสื่อที่ไม่ดี จะว่าไปก็เหมือนกับ "ไซดักมนุษย์" นะครับ

#3 ชัยรัตน์

ชัยรัตน์
  • Members
  • 19 โพสต์

โพสต์เมื่อ 10 January 2006 - 01:01 AM

เป็นบทความที่น่าสนใจมากครับ

#4 ปัจเจกชน บนทางสายกลาง

ปัจเจกชน บนทางสายกลาง
  • Members
  • 4109 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:จ. สงขลา

โพสต์เมื่อ 17 April 2007 - 08:08 AM

ขอกราบอนุโมทนาบุญด้วยครับ สาธุ