ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

อิทธิพลของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 4 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 Dd2683

Dd2683
  • Members
  • 2477 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:กรุงเทพ มหานคร
  • Interests:ความรู้ในพระพุทธศาสนา-วิชชาธรรมกาย<br />ผลแห่งการปฏิบัติธรรม

โพสต์เมื่อ 11 January 2006 - 06:35 PM

คัดลอกมาจาก http://www.geocities.com/sakyaputto

อิทธิพลของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

๑. ด้านสังคมและวัฒนธรรม

๑.๑ พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย ด้านต่าง ๆ วิถีชีวิตของคนไทยได้เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาตั้งเกิดจนตาย เนื่องจากหลักคำสอนทางพุทธศาสนามีความสอดคล้องกับลักษณะอุปนิสัยคนไทย เช่นชอบความสงบ ความมีเมตตาอารีย์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

ชอบความอิสระเสรี และพุทธศาสนาก็อยู่คู่กับชาติไทยมาตั้งแต่โบราณกาล จึงมีอิทธิพลต่อสังคมไทยด้านต่าง ๆ ดังนี้

๑) ด้านภาษา
ภาษาไทยส่วนใหญ่มีรากฐานมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต ซึ่งเป็นภาษาที่ได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนา เนื่องจากพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทใช้ภาษาบาลี และฝ่ายมหายานใช้ภาษาสันสกฤตเป็นหลัก เมื่อพุทธศาสนาเข้ามาสู่ไทย คนไทยก็รับเอาวัฒนธรรมด้านภาษาด้วย ดังที่ภาษาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ทั้งชื่อคน ชื่อสถานที่ และชื่อเรียกสิ่งต่าง ๆ ล้วนมาจากศัพท์บาลีแทบทั้งสิ้น
เช่นคำว่า โทรศัพท์ โทรทัศน์ มหาวิทยาลัย ธนาคาร เกษตรกรรม รัฐบาล อดิศักดิ์ ศุภลักษณ์ วราพรรณ ธารินทร์ ทัศนศึกษา วิถี เป็นต้น และเป็นได้กลายเป็นภาษาไทยไปจนบางคนเข้าใจว่าเป็นภาษาไทยดั้งเดิม

๒) ด้านวรรณกรรม

วรรณคดีทั้งหลายได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนา และคัมภีร์พระพุทธศาสนายังเป็นที่มาแหล่งใหญ่ของบทประพันธ์และกวีนิพนธ์ต่าง ๆ ได้รับอิทธพลจากพระพุทธศาสนาทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

๓) ด้านศิลปกรรม
ประเทศไทยได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติ ว่าเป็นเมืองที่มีศิลปะงดงามยากที่จะหาชาติใดเหมือน ศิลปะที่ปรากฏล้วนแต่มีความประณีตสวยสดงดงาม ตรึงตาตรึงใจแก่ผู้พบเห็น ซึ่งศิลปกรรมเหล่านั้นได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนา เช่นวัดวาอารามต่าง ๆ สวยสดงดงาม ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม ละเอียดอ่อน เขียนเรื่องราวในพระพุทธศาสนา และชาดกต่าง ๆ นอกจากนั้นศิลปะทางดนตรีก็เนื่องอยู่ด้วยกันกับพระพุทธศาสนา วัดเป็นแหล่งกำเนิดและอนุรักษ์ศิลปะดนตรี ด้วยวัดเป็นศูนย์กลางชุมชน จึงเป็นแหล่งกำเนิดหรือปรากฎตัวของดนตรีในโอกาสงานต่าง ๆ ทั้งงานมงคลและอวมงคล

๔ ) ด้านการศึกษา
การศึกษาของไทยในอดีต มีวัดเป็นศูนย์กลางในการให้การศึกษา มีพระภิกษุเป็นครูสอนวิชาการความรู้ต่าง ๆ แก่ประชาชน ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงจัดการศึกษาแบบใหม่ขึ้นในหัวเมือง โปรดให้พระสงฆ์เป็นครูสอน และถือว่าคนที่ผ่านการบวชเรียนมาแล้วเป็นผู้ที่มีความรู้ จึงกำหนดให้คนที่จะเข้ารับราชการต้องผ่านการบวชเรียนมาก่อน จึงเกิดประเพณีบวชเรียนขึ้น

และเมื่อรัฐได้นำเอาระบบการศึกษาแบบใหม่เข้ามา ทำให้บทบาทของวัดที่เคยเป็นศูนย์กลางลดน้อยลง แต่พระสงฆ์ก็ยังมีส่วนในการจัดการศึกษาชุมชน เช่นเป็นผู้อุปถัมภ์โรงเรียน ยกที่วัดให้ตั้งเป็นโรงเรียน จึงมีโรงเรียนที่ตั้งขึ้นในวัดมากมาย แม้โรงเรียนสำหรับประชาชนแห่งแรกก็ตั้งในวัด คือโรงเรียนวัดมหรรณพาราม

๕) ด้านสังคมสงเคราะห์
วัดเป็นสถานสงเคราะห์ประชาชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นว่า วัดเป็นศูนย์กลางชุมชน ให้การสงเคราะห์แก่ชุมชน เช่น เป็นที่ปรึกษาปัญหาชีวิตสำหรับคนมีปัญหาทางด้านจิตใจ มีพระเป็นจิตแพทย์ เป็นสถานพยาบาล แก่ผู้ป่วยไข้ แม้ปัจจุบัน วัดหลายแห่งกลายเป็นที่พึ่งพิงทั้งทางกายและทางใจของคนผู้ติดเชื้อเอดส์ วัดเป็นศาลไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของชาวบ้าน
วัดเป็นสถานบันเทิง รื่นเริงต่าง ๆ ของชุมชน เมื่อมีประเพณีต่าง ๆ

และที่สำคัญวัดเป็นสถานสงเคราะห์ที่สำคัญทางด้านจิตใจแก่ประชาชน ทุกระดับ เพราะพระพุทธศาสนา เป็นประดุจขุมทรัพย์ที่ทรงคุณค่ามหาศาล เป็นที่พี่งแก่คนตั้งแต่ระดับที่ต้องการความสุขใจสงบใจจากพิธีกรรม ความเชื่อ จนถึงผู้ที่ต้องการหลักธรรมแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา

๕) เป็นต้นกำเนิดพิธีกรรมและวันสำคัญต่าง ๆ
พิธีกรรมของไทยมาจากความเชื่อและเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาเป็นส่วนมาก เช่นพิธีลอยกระทง พิธีทำบุญวันสารทไทย พิธีสงกรานต์ เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วยังมีวันสำคัญต่าง ๆ เช่นวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬบูชา วันเข้าพรรษา ออกพรรษา เป็นต้น

๖) พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย
ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ร้อยละ ๙๕ นับถือพระพุทธศาสนา สามารถบอกกับชาวต่างชาติได้อย่างภาคภูมิใจว่าเมื่องไทยเราเป็นเมืองพุทธ ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ตรัสต้อนรับพระสันตปาปา จอห์น ปอล ที่ ๒ ประมุขแห่งศาสนจักรคาธอลิก ในคราวที่เข้าเฝ้า ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๗ มีความจำเพาะตอนนี้ว่า คนไทยเป็นศาสนิกที่ดีทั่วกัน ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติ"

นับว่าพระพุทธศาสนาเป็นมรดกสำคัญของชาวไทย จนเป็นที่รู้จักในสายตาชาวต่างประเทศว่าเมืองไทยเป็นเมืองแห่งผ้ากาสาวพัตร (ผ้าเหลือง) คือพุทธศาสนาอยู่คู่ชาติไทยมานาน ดังคำจารึกของพระเจ้าตากสินมหาราชว่า

อันตัวพ่อ ชื่อว่า พระยาตาก
ทนทุกข์ยาก กู้ชาติ พระศาสนา
ถวายแผ่นดิน ให้เป็น พุทธบุชา
แด่พระศาสนา สมณะ พระพุทธโคดม

ให้ยืนยง คงถ้วน ห้าพันปี
สมณะพราหมณ์ชี ปฏิบัติ ให้พอสม
เจริญสมถะ วิปัสสนา พ่อชื่นชม
ถวายบังคม รอยบาท พระศาสดา

คิดถึงพ่อ พ่ออยู่คู่ กับเจ้า
ชาติของเรา คงอยู่ คู่พระศาสนา
พระพุทธศาสนา อยู่ยง คู่องค์กษัตรา
พระศาสดา ฝากไว้ ให้คู่กัน ฯ



ดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งเสด็จขึ้นครองราชย์ว่า

ตังใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา
ป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี ฯ



๒. ด้านการเมืองการปกครอง

- พระพุทธศาสนาได้มีอิทธิพลต่อการปกครองอย่างมาก โดยเฉพาะในอดีต สมัยที่มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช อันมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงใช้อำนาจในการปกครองบ้านเมืองโดยเด็ดขาด แต่ด้วยทรงมั่นคงต่อหลักธรรมทางพุทธศาสนา ทรงปกครองบ้านเมืองโดยธรรม ทรงประกอบด้วยทศพิธราชธรรม ทรงสนพระทัยในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและทรงเป็นพุทธมามกะทุกพระองค์ จึงสามารถใช้ธรรมะปกครองอย่างสงบร่มเย็น

ในบางคราวที่บ้านเมืองอยู่ในความระส่ำระสาย ด้วยเหตุสงครามกับข้าศึก พระพุทธศาสนาก็เข้ามามีบทบาทต่อการกู้ชาติบ้านเมือง เช่นใช้วัดเป็นที่ฝึกอาวุธทหาร มีพระสงฆ์เป็นผู้ให้ขวัญและกำลังใจแก่ทหารและชาวบ้านก่อนออกศึก ดังกรณีชาวบ้านบางระจัน ได้รับขวัญและกำลังใจจากหลวงพ่อธรรมโชติ สามารถเอาชนะข้าศึกได้

- ปัจจุบัน การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงมีพระราชศรัทธาในบวรพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน ทรงเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวไทย พระองค์ทรงใช้หลักธรรมทางพุทธศาสนามาปฏิบัติในพระจริยาวัตรของพระองค์ และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนชาวไทย ยามที่บ้านเมืองประสบปัญหาภาวะวิกฤต ก็ทรงเป็นห่วงบ้านเมือง ดังเช่นเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทรงแนะนำให้ประชาชนหันมาปฏิบัติตามหลักธรรมทางพุทธศาสนา ด้วยการมีชีวิตอยู่อย่างพอดี เศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย

- พระสงฆ์เป็นสื่อกลางระหว่างรัฐ กับประชาชน เนื่องจากพระสงฆ์เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน เป็นที่เชื่อถือของประชาชน ดังนั้นวัดจึงเป็นศูนย์กลางระหว่างประชาชนกับรัฐ เมื่อมีกิจการต่าง ๆ ของรัฐ เช่นการประชุม การเลือกตั้ง ก็ใช้วัดเป็นสถานที่ราชการชั่วคราว และพระสงฆ์ยังเป็นสื่อในการสร้างความเข้าในเรื่องการปกครองแก่ประชาชน เช่นการเผยแพร่ข่าวสารเรื่องประชาธิปไตยแก่ประชาชน เรื่องรัฐธรรมนูญ ในโอกาสต่าง ๆ เช่นในการเทศนาสั่งสอนมักจะสอดแทรกความรู้ทางการเมืองการปกครองแก่ประชาชนด้วย



๓. ด้านเศรษฐกิจ

พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่มากมาย ได้ชี้แนะวิธีการการดำรงชีพอยู่อย่างถูกต้องและมีนำมาซึ่งความสุข แก่บุคคลและสังคมได้ พระพุทธศาสนาได้สอนเกี่ยวกับหลักการดำเนินชีวิตด้วยสัมมาอาชีวะ ได้แก่การประกอบการงานอาชีพที่สุจริตและประกอบด้วยหลักธรรมที่ทำให้ประสบความสำเร็จในกิจกรรมดังกล่าว เช่น

๑) การรู้ประมาณในการบริโภค ใช้จ่าย ไม่ฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย (โภชเน มัตตัญญุตา) มีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อของประชาชนอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นปัจจุบัน

๒) หลักการทำงานที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ ได้แก่ ทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์ หรือหัวใจเศรษฐี ได้แก่

๑. อุฏฐานสัมปทา ความขยันหมั่นเพียรในการทำงาน

๒. อารักขสัมปทา การประหยัดอดออมทรัพย์ที่ได้มา โดยใช้จ่ายแต่จำเป็น

๓. กัลยาณมิตตตา การรู้จักคบคนดี ไม่คบคนชั่วคนพาลอันจะนำพาให้ ทรัพย์สินฉิบหายวอดวาย

๔. สมชีวิตา การรู้จักสภาพทางเศรษฐกิจ รู้ฐานะทางการเงินของตน ใช้จ่ายแต่พอดี

อีกประการหนึ่ง พระพุทธศาสนาได้มีบทบาทอย่างสูง ในการแก้ไขปัญหาแก่ประชาชนในยามที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ดังจะเห็นว่าประเทศไทยของเราได้ประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรง แต่ก็ยังอยู่กันอย่างสงบสุข คนที่เคยทำงานตำแหน่งหน้าที่ดี ๆ เมื่อตกงานก็ปลงใจได้ และพร้อมที่จะทำอาชีพอื่น แม้จะเป็นอาชีพที่มีรายได้น้อย ไม่มีเกียรติก็ตาม ไม่มีการต่อต้านรัฐบาลไม่มีการปล้นสะดมภ์ หรือก่อความวุ่นวายเหมือนประเทศอื่น พร้อมกันนั้นก็พยายามหาทางออกอย่างถูกต้อง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ประเทศไทยเรามีพื้นฐานดี อันได้แก่พื้นฐานทางสังคม และวัฒนธรรมดี หรือที่บางท่านเรียกว่าทุนทางสังคม อันได้แก่มีฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคง

โดยเฉพาะการเกษตร ฐานทางทรัพยากรธรรมชาติก็มั่นคง เรามีทรัพยากรของประเทศมากมาย มีดินดี น้ำดี เหมาะแก่การเพาะปลูก และฐานทางวัฒนธรรมแข่งแกร่ง คือเรามีพระพุทธศาสนาเป็นวัฒนธรรมทางด้านจิตใจ สามารถแก้ปัญหาในยามวิกฤตได้ วัฒนธรรมแบบพุทธได้โอบอุ้มสังคมไทยให้สงบร่มเย็นได้ ด้วยองค์ประกอบ ๒ ประการ คือ

ประการแรก
องค์กรทางพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งของสังคมในยามวิกฤต ดังเช่นปัจจุบันวัดหลาย ๆ แห่ง กลายเป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือชาวบ้าน ด้วยการใช้วัดเป็นสถานสงเคราะห์ ฝึกอาชีพ และกิจกรรมต่าง ๆ แก่ผู้ตกงาน วัดในชนบทหลายแห่ง กลายเป็นที่พึ่งสำหรับผู้ตกงาน เป็นสนามกีฬาสำหรับเยาวชน (ในโครงการลานวัด ลานใจ ลานกีฬา ) โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำ ในการส่งเสริมอาชีพแก่ประชาชน

ประการที่ ๒

หลักธรรมทางพุทธศาสนาที่แทรกซึมอยู่ในจิตใจของผู้คนที่สามารถประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม แต่ก็มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนไทย ทำให้ไม่เกิดความวุ่นวายระส่ำระสายเกิดขึ้น หลักธรรมเหล่านั้น อันได้แก่

(๑) ความเมตตาปราณี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มีการช่วยเหลือคนตกงานด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ดูถูกซ้ำเติม เช่นช่วยจัดหางานให้ จัดโรงทานอาหารฟรีให้ และให้กำลังใจในการต่อสู้ชีวิต ทั้งจากการแนะนำของผู้ใกล้ชิดและจากสื่อมวลชนต่าง ๆ

(๒) ให้อภัย และโอนอ่อนผ่อนตาม เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น เช่นปัญหาระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง หรือระหว่างหน่วยงานเอกชนกับรัฐที่ต้องปิกกิจการ ก็ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ด้วยการใช้ถ้อยทีถ้อยอาศัย ผ่อนปรนต่อกันได้

(๓) ความสันโดษ แม้จะถูกออกจากงานที่ทำ ก็ยินดี เต็มใจที่จะทำงานอื่น แม้จะมีรายได้น้อยกว่าก็ยินดีทำ เคยเป็นผู้จัดการบริษัทมาก่อน แต่มาขับรถแทรกซี่ก็ทำได้ เคยเป็นพนักงานธนาคารแล้วมาขายกล้วยทอดก็ทำได้

อีกประการหนึ่งคือการรู้ประมาณในการบริโภคในการใช้จ่าย มุ่งให้ประหยัด ทำให้เกิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง

(๔) ความสมานสามัคคี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนในชาติในอันที่จะพร้อมใจกันกอบกู้เศรษฐกิจให้กลับมาอยู่ดีกินดี แม้จะเสียสละเงินทองบริจาคช่วยชาติก็เต็มใจที่จะบริจาค

ดังที่กล่าวมาจะเห็นว่าพุทธศาสนามีบทบาทต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมากมาย ทั้งในอดีต และปัจจุบัน แม้ว่าพุทธศาสนาไม่ได้เข้าไปมีบาทในทางเศรษฐกิจโดยตรง แต่ก็มีบทบาทและอิทธิในทางอ้อม โดยเฉพาะทางด้านจิตใจ อันเป็นพื้นฐานสำคัญ

สรุป

สังคมไทยมีความผูกพันกับพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง จนไม่สามารถแยกออกจากวิถีชีวิตประจำวันได้ มีอิทธิพลต่อบุคคล สังคม และวัฒนธรรม ของไทยเป็นอย่างมาก พระพุทธศาสนาเป็นสถาบันหลัก ใน ๓ สถาบัน ของชาติ ควบคู่กับสถาบันชาติ และพระมหากษัตริย์ เป็นศาสนาประจำชาติ เป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทยด้านต่าง ๆ เช่นด้านภาษา วรรณกรรม ศิลปกรรม จิตรกรรม การศึกษา การสงเคราะห์ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยดั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน


เอกสารอ้างอิง (ทุกๆยุคสมัย)

นนท์ ธรรมสถิตย์. พระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ไทย. กรุงเทพฯ ; โรงพิมพ์ เอดิสัน. 2532.
พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). พุทธศาสน์กับชาติไทย. กรุงเทพฯ; มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ๒๕๓๖
พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). พุทธศาสนากับสังคมไทย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง. พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๓๒.
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พระพุทธศาสนาในอาเซีย. กรุงเทพฯซ ธรรมสภา, ๒๕๔๐.
พระราชธรรมนิเทศ,(ระแบบ ฐิตญาโณ). ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ. มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๓๖.
เสถียร โพธินันทะ. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ฉบับมุขปาฐะ เล่ม ๒ กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย. ๒๕๓๕.


#2 LiL' Faery

LiL' Faery
  • Members
  • 1160 โพสต์
  • Location:@ Time : Europe
  • Interests:Basic and Advance Meditation;วิชชา ธรรมกาย<br />Birth Day : 19 January

โพสต์เมื่อ 14 January 2006 - 08:20 PM

Splendid kah!! thanks for sharing =)
คุณครูไม่ใหญ่ บอกว่า :
1. อดีตที่ผิดพลาด ลืมให้หมด 2. บาปทุกชนิดไม่ทำเพิ่มเด็ดขาด 3. หมั่นนึกถึงบุญอย่างสม่ำเสมอ
4. บุญทุกบุญทำให้เข้มข้นทับทวี 5. ปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกาย

ขออนุโมทนาบุญด้วยนะค่ะ _/|\_ สาธุ สาธุ สาธุ ^_^ ด้วยรักจากใจ ด้วยห่วงใย จากใจจริง

#3 ปัจเจกชน บนทางสายกลาง

ปัจเจกชน บนทางสายกลาง
  • Members
  • 4109 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:จ. สงขลา

โพสต์เมื่อ 17 March 2007 - 02:44 PM

กราบอนุโมทนาบุญครับ สาธุ

#4 *กชษมนณกร*

*กชษมนณกร*
  • Guests

โพสต์เมื่อ 07 January 2011 - 12:15 PM

ขอบคุณที่ให้ข้อมูลได้เขียนรายงานส่งชะที

#5 *เจนนี่*

*เจนนี่*
  • Guests

โพสต์เมื่อ 23 September 2011 - 05:13 PM

ข้อมูลดีมากเลยค่ะ ได้แนวไปอ่านสอบซะที ขอบคุณมากนะคะ