ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

สาวัตถี นครแห่งคนดี


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 3 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 Dd2683

Dd2683
  • Members
  • 2477 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:กรุงเทพ มหานคร
  • Interests:ความรู้ในพระพุทธศาสนา-วิชชาธรรมกาย<br />ผลแห่งการปฏิบัติธรรม

โพสต์เมื่อ 21 March 2006 - 10:58 PM

พระมหาสุวิทย์ ธัมมสิริ

คัดลอกมาบางส่ว

บรรดาพุทธสถานที่มีอยู่มากมายในอินเดีย นอกจากสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่งแล้ว ยังมีพุทธสถานอีกแห่งหนึ่งซึ่งนับเป็นสถานที่ที่พุทธศาสนิกชน
ผู้มีศรัทธาอย่างหนักแน่นต่อพระพุทธองค์ควรไปนมัสการให้ได้สักหนึ่งครั้งในชีวิต
เพราะสถานที่แห่งนี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ถึง ๒๕ พรรษา ตรัสพระธรรมเทศนาและแสดงธรรมแก่ภิกษุและพุทธบริษัทให้บรรลุอมตธรรมเป็นจำนวนมาก มีพระอรหันตสาวกอยู่จำพรรษานับพันนับหมื่นองค์ อุบาสกอุบาสิกาก็เป็นเลิศกว่าใครในแผ่นดิน พระราชาก็ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างดียิ่ง


สถานที่แห่งนี้ก็คือ “สาวัตถี” นครแห่งคนดี

สาวัตถีในสมัยพุทธกาล

เมืองสาวัตถีเป็นเมืองหนึ่งในจำนวน ๖ เมืองที่ยิ่งใหญ่และเจริญรุ่งเรืองที่สุด เป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศล
ซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งในจำนวน ๑๖แคว้นในสมัยพุทธกาล และเป็นแคว้นที่ยิ่งใหญ่อีกแคว้นหนึ่งใน ๔ แคว้น แคว้นโกศลมีความยิ่งใหญ่ในด้านการปกครอง เป็นศูนย์กลางในการติดต่อกับแคว้นต่างๆ ทางตอนเหนือเช่น
มคธ กาสี กุรุ วัชชี ต่อมาแคว้นโกศลได้ผนวกแคว้นกาสีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง
รวมทั้งยังปกครองแคว้นสักกะซึ่งเป็นเมืองพุทธบิดาอีกด้วย


พระบรมศาสดาได้เสด็จจาริกสู่เมืองสาวัตถี
เพื่อโปรดมหาชนเป็นครั้งแรกเมื่อท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีทูลนิมนต์และถวายวัดพระเชตวันมหาวิหารในปีที่ ๓
หลังจากตรัสรู้ และจำพรรษาครั้งแรกที่สาวัตถี คือ พรรษาที่ ๑๔ หลังจากนั้นก็เสด็จไปจำพรรษาในที่อื่นๆ และเสด็จกลับมาประทับจำพรรษาที่เมืองสาวัตถีตั้งแต่พรรษาที่ ๒๑ ถึงพรรษาที่ ๔๔ รวมระยะเวลา ๒๕ พรรษา

ทรงประทับอยู่จำพรรษาในวัดพระเชตวันมหาวิหารมหาวิหารของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ๑๙ พรรษา
และวัดบุพพารามของนางวิสาขา ๖ พรรษา
ทั้งนี้เป็นเพราะเศรษฐีและนางวิสาขาศรัทธาเลื่อมใสพระพุทธศาสนา และมีอุปการะคุณต่อพระภิกษุสงฆ์นานับประการ

สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงเลือกประทับอยู่ที่กรุงสาวัตถีถึง ๒๕ พรรษา เพราะเหตุการณ์ในเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ซึ่งพระองค์เลือกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาครั้งแรกนั้น พระเจ้าพิมพิสารถูกพระโอรสคือพระเจ้าอชาตศัตรู
แย่งชิงราชสมบัติ เพราะหลงเชื่อพระเทวทัต บ้านเมืองไม่อยู่ในภาวะปกติ

ประกอบกับพระพุทธองค์ได้รับความอุปถัมภ์จากพระเจ้าปเสนทิโกศลกษัตริย์แห่งกรุงสาวัตถี
และพระนางมัลลิกาเอกอัครมเหสี ทั้งสองพระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธองค์อย่างยิ่ง และพระพุทธองค์ได้บุคคลผู้เป็นกำลังสำคัญที่สุดในฝ่ายอุบาสกคือ
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้บริจาคทรัพย์ ๕๔๐ ล้านสร้างวัดพระเชตวันมหาวิหาร
และฝ่ายอุบาสิกาคือ นางวิสาขามหาอุบาสิกา ผู้บริจาคทรัพย์ ๒๗๐ ล้านสร้างวัดบุพพาราม

ทั้งพระราชาและชาวเมืองได้ถวายความอุปถัมภ์แก่พระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์ในด้านอื่น ๆ อีกหลายประการ
และชาวเมืองที่มีจำนวน ๗๐ ล้านคน เป็นพุทธบริษัทถึง ๕๐ ล้านคน
พระพุทธศาสนาจึงตั้งมั่นแพร่หลายในแคว้นโกศล เพราะพระราชาและชาวเมืองเป็นผู้มีศรัทธาเต็มเปี่ยม


ความหมายและที่มาของคำว่า สาวัตถี
๑. สาเหตุที่เมืองนี้ได้ชื่อว่า “สาวัตถี” เพราะที่ตรงนี้เคยเป็นที่อยู่ของท่านมหาฤาษีสาวัตถะ มาก่อน สืบเนื่องมาจากกษัตริย์ต้นราชวงศ์ได้พาชาวเมืองอพยพมาตั้งบ้านเมืองใหม่ มาถึงที่อยู่ของท่านฤาษี เห็นภูมิประเทศที่เหมาะตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำแม่น้ำอจิระวดี เหมาะแก่การสร้างเมือง
จึงขอที่ตรงนั้นสร้างเมือง ท่านฤาษีอนุญาต เมื่อสร้างเมืองเสร็จจึงตั้งชื่อเมืองว่า
“สาวัตถี”เพื่อเป็นที่ระลึกและอนุสรณ์แก่ท่านฤาษี


๒. ในอรรถกถาสัพพาสวสูตร มัชฌิมนิกาย ปปัญจสูทนี มูลปัณณาส์ อธิบายไว้ว่า
คำว่า”สาวัตถี” เกิดจากการสมาส(เชื่อม)คำ สองคำ คือ สพฺพํ และ อตฺถิ
เพราะมีเครื่องอุปโภคบริโภคทุกอย่าง สำหรับมนุษย์
( ยํ กิญฺจิ มนุสฺสานํ อุปโภคปริโภคํ สพพเมตฺถ อตฺถีติ สาวตฺถี สตฺถสมาโยโค)
เนื่องจากเมืองนี้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในเทือกเขาหิมาลัย
และเป็นเมืองที่มั่งคั่งเจริญรุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์ที่สุดแคว้นหนึ่ง จึงมีพ่อค้าและกองคาราวานเกวียนจากเมืองต่างๆ นำสินค้ามาขายและมาซื้อเป็นประจำ
เมื่อกองเกวียนมาถึงผู้คนก็จะถามว่า มีอะไรมาขายผู้คนก็จะตอบไปว่า
มีทุกอย่าง คำว่า มีทุกอย่าง แปลเป็นภาษาบาลีว่า สพฺพํ อตฺถิ
คำว่า สพฺพํ แปลว่า ทุกอย่าง อตฺถิ แปลว่า มีอยู่ จึงกลายเป็น สาวตฺถี (สาวัตถี)
(กึ ภณฺฑํ อตฺถิ ปุจฺฉิเต สพฺพมตฺถิ วจนมุปาทาย สาวตฺถี)


ส่วนหลักฐานทางสันสกฤตมีว่า กษัตริย์พระนามว่า สราวัสตะ ซึ่งเป็นพระโอรสของพระศิวะ เป็นผู้สร้างเมืองนี้ ดังนั้นจึงสถาปนาชื่อเมืองตามพระนามของพระองค์ คือ สราวัสตี

สาวัตถีภายหลังพุทธกาล
สิ้นสมัยของพระเจ้าปเสนทิโกศล อำนาจของแคว้นโกศลเริ่มถดถอย ถึงรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช วัดพระเชตวันมหาวิหารมหาวิหารยังคงเป็นสำนักที่ใหญ่โตและรุ่งเรือง
เมื่อหลวงจีนฟาเหียนมาถึงสาวัตถี (พ.ศ.๙๔๔–๙๕๓)
เมืองกลายเป็นเมืองร้าง มีประชากรราว ๒๐๐ ครอบครัว
แต่วัดพระเชตวันมหาวิหารยังคงเป็นสถานที่สำคัญอยู่ และท่านได้บันทึกถึงวัดพระเชตวันตอนหนึ่งว่า


“…..จากประตูเมือง(สาวัตถี)ไปทางทิศใต้เป็นระยะ ๑,๒๐๐ ก้าว เศรษฐีสุทัตตะ
ได้สร้างวิหารไว้หลังหนึ่ง หันหน้าไปทางทิศใต้ และเมื่อเปิดประตูออก ภายในด้านหนึ่ง
จะแลเห็นเสาหินต้นหนึ่ง มีรูปพระธรรมจักรอยู่บนยอด เป็นด้านซ้าย
และด้านขวาเป็นเสาหินต้นหนึ่งมีรูปโคตัวหนึ่ง ทั้งด้านซ้ายและขวาของวิหารมีสระน้ำอันใสสะอาด
เดียรดาษไปด้วยต้นไม้หนาทึบเสมอกัน ต่างชูดอกออกช่อเป็นสีต่างๆ มากมายเหลือที่จะคณานับ เป็นที่ประกอบไปด้วยสิ่งอันน่ารักเจริญตา….”


“….พระเชตวันนั้น แต่เดิมที่เดียวมี ๗ ชั้น บรรดากษัตริย์และประชาชนแห่งนครต่างๆ โดยรอบ ต่างประกวดกันจัดหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาถวายเป็นเครื่องสักการะบูชา
เบื้องบนโดยรอบแขวนห้อยด้วยธงราวที่ทำด้วยไหม และผ้าที่ดาดเพดานก็เต็มไปด้วยยพวงดอกไม้
เบื้องล่างบูชาด้วยของหอม และแสงสว่างของตะเกียง(โคมไฟ)
ซึ่งติดไว้ในเวลากลางคืนสว่างดุจกลางวัน ต่างกระทำอยู่เช่นนี้ทุกๆ วัน โดยปราศจากการงดเว้น….”


เมื่อหลวงจีนยวนฉาง(พระถังซัมจั่ง) มาอินเดีย ประมาณ พ.ศ.๑๑๗๓–๑๑๘๖
ได้บันทึกถึงเมืองสาวัตถีและแคว้นโกศลไว้ดังนี้

“….แคว้นโกศล ซึงมีอาณาเขตโดบรอบประมาณ ๖,๐๐๐ ลี้ มีอารามหลายร้อยแห่ง และพระสงฆ์หลายพันรูป ล้วนศึกษาในนิกายสัมมติยะ…ภายในนครหลวงยังปรากฏฐานร้างแห่งพระราชวัง…
ห่างจากเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ ๕-๖ ลี้ เป็นเขตเชตวันคือสวนของอนาถบิณฑิกะ
ครั้งโบราณในที่นี้เป็นที่ตั้งอาราม แต่บัดนี้ปรักหักพังไปเสียสิ้นแล้ว
เบื้องซ้ายและขวาของประตู(สวน)ด้านตะวันออก มีเสาศิลาข้างลำต้น สูงกว่า ๗๐ เฉียะ
เป็นของพระเจ้าอโศกสร้างไว้ สถานที่ภายในนั้นชำรุดรกร้าง เหลือเพียงกุฏิก่อด้วยอิฐแห่งเดียว…
ด้านตะวันออก ห่างจากอารามนั้นประมาณ ๑๐๐ ก้าว มีหลุมใหญ่และลึกซึ่งพระเทวทัตต์ถูกแผ่นดินสูบลงไปสู่นรกทั้งเป็น(เพราะพยายาม)ปองร้ายพระพุทธเจ้าด้วยยาพิษ
ถัดจากหลุมนี้ไปทงใต้ มีหลุมใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งภิกษุโกกาลิกะต้องลงนรกทั้งเป็น ด้วยโทษที่กล่าวร้ายพระพุทธเจ้า
ถัดจากหลุมนี้ทางทิศใต้ประมาณ ๘๐๐ ก้าว เป็นที่ซึ่งนางพราหมณีกิญจมาณวิกาพูดให้ร้ายพระพุทธเจ้า
จึงต้องลงนรกทั้งเป็น หลุมทั้งสามนี้มองลงไปไม่เห็นก้นหลุม….”


จากการขุดค้นสำรวจในยุคหลัง ได้พบหลักฐานแสดงชัดว่า วัดพระเชตวันมหาวิหารได้รับการบูรณะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ หลังการมาของหลวงจีนฮวนฉางไม่นาน ก็ได้เป็นพุทธสถานที่สำคัญเรื่อยมา
จนถูกพวกมุสลิมเติร์กทำลายในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ จนเหลือเพียงซากในปัจจุบัน


สาวัตถีในปัจจุบัน

เมืองสาวัตถีในปัจจุบัน มีฐานะเป็นอำเภอหนึ่ง ทางภาคตะวันออกของรัฐอุตรประเทศ
ห่างจากสถานีรถไฟบาลรัมปูร์(Balrampur) ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ๑๘ กิโลเมตร ห่างจากลัคเนาว์ (Luknow) เมืองหลวงของรัฐอุตรประเทศ ประมาณ ๑๕๑ กิโลเมตร
เดิมเรียกกันว่า สาเหต-มาเหต เป็นซากโบราณสถานที่มีความกว้างใหญ่หลายร้อยไร่
และได้มีการขุดสำรวจโดยกรมโบราณคดีของอินเดีย
จากการขุดค้น ได้พบหลักฐานบอกให้ทราบแน่ชัดว่า ซากที่เรียกว่า สาเหต คือวัดพระเชตวันมหาวิหาร


วัดที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในสมัยพระพุทธกาล และที่เรียกว่า มาเหต ได้แก่ตัวเมืองสาวัตถี
ทั้งสองแห่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน ซากตัวเมืองตั้งอยู่บนฝั่งด้านทิศใต้ของแม่น้ำราปติ (Rapti)
หรืออจิราวดีในพุทธกาล ซากวัดพระเชตวันมหาวิหารตั้งอยู่ทางใต้ของตัวเมือง
ห่างจากกำแพงเมืองตอนที่อยู่ใกล้ที่สุดประมาณ ๑ กิโลเมตร
ซากของสาเหตุหรือวัดพระเชตวันมหาวิหารมหาวิหารมีเนื้อที่ประมาณ ๘๐ ไร่
ได้มีการขุดค้นสำรวจพบซากกุฏิน้อยใหญ่ วิหาร สถูปเจดีย์ ศาลาราย สระน้ำ
ศาลาธรรมสภา และอื่น ๆ อีกมากมาย และมีต้นโพธิ์เรียกว่า “อานันทโพธิ์”
ซึ่งนำเมล็ดมาจากต้นโพธิ์ที่พุทธคยา มาปลูกไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า
เมื่อพระองค์ไม่ประทับอยู่ที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร
ส่วนตัวเมืองสาวัตถี มีเนื้อที่มากกว่านั้น แต่การขุดสำรวจยังทำได้ไม่มาก

ส่วนวัดบุพพารามนั้น ไม่มีซากปรักหักพังให้เห็น
เพราะตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำจึงถูกแม่น้ำอจิรวดีพัดพังจมน้ำไปหมด
ปัจจุบันไม่นิยมเรียกว่า สาเหต-มาเหต แต่เรียกตามชื่อในอดีตว่า ศราวัสติ (Sravasti)
ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต และเรียกตามภาษาบาลีว่า “สาวัตถี”
ตามนโยบายฟื้นฟูพุทธศาสนาของรัฐบาลอินเดียของ ฯพณฯ ยาวหรลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย
เมื่อคราวฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ (พุทธชยันตี ๒๕ ศตวรรษ) พ.ศ.๒๔๙๙
(อินเดียและศรีลังกานับพุทธศักราชเร็วกว่าไทย ๑ ปี คือนับต้นปีที่พระองค์ปรินิพพานเป็น พ.ศ. ๑ แต่ไทยนับปลายปี)


เพราะพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่กรุงสาวัตถีเป็นจำนวน ๒๕ พรรษา คือ
วัดพระเชตวันมหาวิหาร ๑๙ พรรษา
วัดบุพพาราม ๖ พรรษา
จึงได้ตรัสพระธรรมเทศนาแก่ภิกษุสงฆ์และพุทธบริษัทจำนวน ๘๗๑ สูตร
พระสูตรที่สำคัญมี มงคลสูตร อัคคัญสูตร องคุลิมาลสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร
อัมพัฏฐสูตร มหาทุกขักขันธสูตร สาเลยยกสูตร อปัณณกสูตร เจโตขีลสูตร
อลคัททูปมสูตร วัมมิกสูตร เตวิชชสูตร เวรัญชกสูตร ปิยชาติกสูตร อัคคิวัจฉโคตตสูตร คือ
ตรัสที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร ๘๔๔ สูตร
วัดบุพพาราม ๒๓ สูตร
ภายในเมืองสาวัตถี ๔ สูตร
แยกเป็นทีฆนิกาย ๖ สูตร
มัชฌิมนิกาย ๗๕ สูตร
อังคุตรนิกาย ๕๔ สูตร
สังยุตนิกาย ๗๓๖ สูตร
และตรัสพระธรรมเทศนาในขุททกนิกาย ธรรมบทคาถา ที่มีเนื้อความสั้น ง่าย อีกจำนวน ๑๙๐ เรื่อง
คือที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร ๑๖๙ เรื่อง
วัดบุพพาราม ๕ เรื่อง
ภายในเมืองสาวัตถี ๑๕ เรื่อง
ภายในแคว้นโกศล ๑ เรื่อง


เหตุการณ์ที่สำคัญที่เกิดขึ้นในกรุงสาวัตถี
๑. ทรงชนะจอมโจรองคุลิมาลเป็นชัยชนะลำดับที่ ๔ ในชัยชนะ ๘ อย่างที่ยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ในชัยมงคลคาถา

๒. ทรงชนะสาวกเดียรถีย์ที่กล่าวตู่พระองค์ เป็นชัยชนะลำดับที่ ๔ ในชัยชนะ ๘ อย่างที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์ในชัยมงคลคาถา

๓. แผ่นดินสูบพระเทวทัต พระเทวทัตถูกลาภสักการะครอบงำ ต้องการปกครองคณะสงฆ์
จึงยุยงให้พระเจ้าอชาตศัตรูฆ่าพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นบิดา ส่วนท่านเองจะฆ่าพระพุทธเจ้า
พระเจ้าอชาตศัตรูฆ่าพ่อตาย ภายหลังเกิดสำนึกผิด
หันมานับถือพระพุทธศาสนาและได้ฟังธรรม บำรุงพระพุทธศาสนาต่อมา

๔. พระเถรีปฏาจารา สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า
เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายทางด้านทรงพระวินัย

๕. นางยักษิณีถวายสลากภัตร มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ......
นางจึงนำอาหารเหล่านั้นไปถวายพระตามสลาก จนเป็นบุญถวายสลากภัตรจนถึงทุกวันนี้

๖. พวกเดียรถีย์ใส่ความพระพุทธองค์และสาวก

๗. ทรงแสดงยมกปาฏิหารย์ ทำลายทิฏฐิของเหล่าเดียรถีย์ เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงราชคฤ

ปัจจุบันถึงแม้ว่า นครสาวัตถี วัดพระเชตวันมหาวิหาร วัดบุพพาราม วัดราชิการาม จะเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา จนเหลือแต่ซากปรักหักพังแล้วก็ตาม ถึงกระนั้นก็ยังเป็นเครื่องเตือนใจให้ชาวพุทธที่ได้ไปเยือน
น้อมระลึกถึงศรัทธา อันแรงกล้าของท่านผู้สร้าง และน้อมถึงพระบรมศาสดา
และภิกษุสาวกสงฆ์ ผู้ได้พำนัก ณ เมืองแห่งนี้
น้อมระลึกถึงพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง อันเป็นผลให้ผู้ฟังจำนวนมาก
ได้เข้าถึงสวรรค์ และมรรคผลนิพพาน เป็นอริยสาวก ของพระผู้มีพระภาคเจ้า
สถานที่นี้เป็นสิ่งที่ชาวพุทธทุกท่านต้องไปให้ได้สักครั้งในชีวิต
เพื่อระลึกนึกถึงนครแห่งนี้


นครแห่งพระพุทธเจ้า นครแห่งคนดี นครสาวัตถี

ไฟล์แนบ



#2 *ผู้มาเยือน*

*ผู้มาเยือน*
  • Guests

โพสต์เมื่อ 22 March 2006 - 10:54 AM

สาธุคุณ dangdee ด้วย ที่ทำให้กระจ่าง
เคยสงสัยเหมือนกันว่า วัดเวฬุฯเป็นวัดแห่งแรก แต่ทำไมพระพุทธองค์เสด็จมาจำพรรษาที่วัดเชตวันฯเป็นเวลานานกว่า

#3 ปัจเจกชน บนทางสายกลาง

ปัจเจกชน บนทางสายกลาง
  • Members
  • 4109 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:จ. สงขลา

โพสต์เมื่อ 19 March 2007 - 04:52 PM

กราบอนุโมทนาบุญครับ สาธุ

#4 *ผู้มาเยือน*

*ผู้มาเยือน*
  • Guests

โพสต์เมื่อ 14 December 2010 - 05:09 AM

กราบอนุโมทนาบุญค่ะ สาธุ ...