ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

"พุทธศาสนาไทยกับความท้าทายใหม่"


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 3 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 บุญโต

บุญโต
  • Members
  • 2192 โพสต์
  • Gender:Female
  • Location:อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
  • Interests:ปฏิบัติธรรม

โพสต์เมื่อ 15 June 2006 - 04:05 PM

พุทธศาสนาไทยกับความท้าทายใหม่
นิธิ เอียวศรีวงศ์ มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 02 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 26 ฉบับที่ 1346

วลาดิมีร์ สเตห์ลิก ชาวออสเตรียนซึ่งทำงานอยู่ในสำนักประสานงานการพัฒนาแห่งออสเตรียประจำภูฐาน กล่าวถึงประเทศไทยไว้ในคำวิจารณ์ของเขาเกี่ยวกับเป้าหมาย "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" ของภูฐานว่า

"ในโลกที่ถูกครอบงำจากตะวันตกซึ่งมีพื้นฐานจากลัทธิบริโภคนิยมปัจเจกแบบชาวคริสต์ และมีกระบวนทัศน์ของเบรตตันวู้ดส์ เป็นแบบอย่าง ศาสนาพุทธจะค่อนข้างเปราะบางต่อการรุกรานของความมั่งคั่งทางวัตถุ ที่อยู่เหนือความจำเป็นพื้นฐาน อย่างน้อยก็ท้าทายต่อจิตวิทยาในบางส่วน เช่น การดำรงชีพ ในที่นี้ขอระบุให้ประเทศไทยเป็นตัวอย่างแห่งหนึ่ง ซึ่งจนปัจจุบันศาสนาพุทธก็ยังไม่สามารถรวบรวมคำตอบให้กับความท้าทายนี้ได้"

คนอื่นอ่านแล้วจะคิดอย่างไรไม่ทราบ แต่ผมอ่านแล้วยอมรับว่าจริงเลย โดยเฉพาะเมื่อนำสังคมไทย ไปเปรียบกับสังคมภูฐานหรือสังคมมุสลิมอีกหลายแห่ง

แต่ที่น่าเศร้ากว่านั้นก็คือ ผมไม่แน่ใจว่าองค์กรพระพุทธศาสนาในประเทศไทยปัจจุบันจะสามารถ "รวบรวมคำตอบให้กับความท้าทายนี้ได้" เพราะอยู่ในสถานะที่อ่อนแอเกินกว่าจะทำได้เสียแล้ว

ในการเผชิญการท้าทายจากอารยธรรมตะวันตกระลอกแรกคือนับตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์มาจนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งองค์กรและปัญญาชนไทยร่วมมือกันนิยามพระพุทธศาสนาเสียใหม่ ให้สอดคล้องกับอารยธรรมตะวันตก ตามความเข้าใจของยุคสมัยนั้น โดยเปลี่ยนจุดเน้นของคำสอน มาเป็นด้านโลกียธรรมเป็นหลัก ในขณะเดียวกันก็ทำให้อภิปรัชญาของพระพุทธศาสนาสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์

เรามักพูดกันถึงการตั้งธรรมยุติกนิกาย, หนังสือกิจจานุกิจของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์, การปฏิรูปองค์กรปกครองคณะสงฆ์ โดยการนำของพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ฯลฯ เป็นเหมือนตัวแทนของความเคลื่อนไหวทางศาสนา เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปล งซึ่งตะวันตกกดดันให้สังคมไทยต้องเผชิญ และเป็นความสำเร็จของไทย

ก็จริงในแง่ความสำเร็จ ตรงที่ทำให้เราทุกคนยังนับถือพระพุทธศาสนามาได้ถึงทุกวันนี้ โดยไม่รู้สึกอึดอัดขัดข้องใจกับความเป็นจริงที่เราต้องเผชิญกับโลกปัจจุบัน

แต่เราไม่ค่อยพูดถึงจุดอ่อนบางอย่างของการตอบสนอง ซึ่งกลายเป็นความอ่อนแอในภายหลัง เช่น กลุ่มที่นำการเคลื่อนไหวเพื่อนิยามพุทธธรรมกันใหม่ เป็นกลุ่มที่มีความปึกแผ่นภายในอย่างแน่นแฟ้น โดยมีผู้นำทางการเมืองเป็นผู้นำ ผลในแง่ดีก็คือ การ "ปฏิรูป" ศาสนาไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคม แต่นั่นย่อมหมายความว่า ทั้งแนวคิดและแนวทางที่ผลิตออกมาย่อมแข็งทื่อ ไม่อาจปรับเปลี่ยนได้ง่ายๆ

แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงจะถาโถมเข้ามาในลักษณะอื่นๆ ที่แตกต่างออกไปจากเดิมสักเพียงไรก็ตาม การที่ไม่มีแนวคิดและแนวทางที่เป็นปรปักษ์ก็คือไม่มีทางเลือกอื่นนั่นเอง

ร้ายไปกว่านั้น แนวคิดและแนวทางที่กลุ่มปัญญาชนเหล่านี้ผลิตขึ้น ยังถูกนำเอาไปรับใช้เป้าหมายทางการเมืองในสมัยต่อมาด้วย กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่นจุดยืนของคณะสงฆ์ที่สนับสนุนการนำประเทศเข้าสู่สงครามในสมัย ร.6 โดยตีความศานติธรรมของพระพุทธศาสนาให้เอื้อต่อการรบราฆ่าฟัน หากเป้าหมายคือประโยชน์ของชาติ ตลอดจนการที่พระภิกษุในพระพุทธศาสนา "เจิม" อาวุธยุทธภัณฑ์ของกองทัพในปัจจุบัน

ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่านั้น ผมคิดว่า "ความท้าทาย" ของอารยธรรมตะวันตกที่สังคมไทยต้องเผชิญเมื่อก่อน และหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้น แตกต่างกันมาก แม้มีรากเหง้ามาจากคติอันเดียวกันก็จริง ฉะนั้น การตอบสนองต่อความท้าทายนั้นในทางศาสนาของกลุ่มปัญญาชนดังกล่าว จึงมีข้อจำกัดมากเมื่อนำมาใช้กับกระแสอารยธรรมตะวันตกที่ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ปัญญาชนกลุ่มนั้นเลือกที่จะเผชิญกับ "ความท้าทาย" ด้วยการตีความว่าพุทธธรรมกับวิทยาศาสตร์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยที่ปัญญาชนไทยไม่ได้ระแวงว่าวิทยาศาสตร์ตะวันตกนั้นตั้งอยู่บนระบบคุณค่าบางอย่าง ซึ่งเป็นอริกับศาสนธรรมของทุกศาสนา

เช่น การผลักให้สิ่งที่ไม่อาจอธิบายหรือเข้าใจได้เพราะไม่เป็นวัตถุวิสัย ให้พ้นไปจากวิทยาศาสตร์ (ซึ่งเกือบจะเท่ากับว่าไม่มีอยู่จริง หรือถึงมีอยู่จริงก็ไม่ใช่ "ความรู้" เพราะรู้ไม่ได้)

และด้วยเหตุดังนั้น วิทยาศาสตร์จึงมีนัยยะว่า สิ่งสำคัญที่สัมพันธ์กับเราอยู่ในโลกนี้เท่านั้น พ้นจากนี้ไปไม่เกี่ยวกับเรา จุดมุ่งหมายในชีวิตจึงเหลือเพียงแต่ละคนแสวงหาความสุขกับการเสพสิ่งที่วิทยาศาสตร์ประดิษฐ์มาให้ ซึ่งก็คือความสะดวกสบายในชีวิตนี้นั่นเอง

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม วิทยาศาสตร์จึงเปิดทางให้แก่ลัทธิบริโภคนิยม ยิ่งวิทยาศาสตร์กลายเป็นแกนหลักของลัทธิพาณิชยนิยมอย่างปัจจุบัน วิทยาศาสตร์ก็ยิ่งส่งเสริมการบริโภค แบบปัจเจกอย่างที่ฝรั่งออสเตรียนคนนั้นพูดถึง มากเข้าไปอีก

และในแง่นี้แหละครับที่พุทธศาสนาไทยหมดพลังที่จะตอบสนอง "ความท้าทาย" ของโลกปัจจุบันไปเสียแล้ว

"ความท้าทาย" ของโลกปัจจุบันที่คุกคามการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ เท่าที่มีนักปราชญ์พูดถึงกันมากได้แก่

1. การใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั่งยืน จนมีสัญญาณบ่งชี้อย่างชัดเจนแล้วว่าอาจทำให้ดาวโลกไม่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ หรืออารยธรรมของมนุษย์ได้อีกต่อไป

2. ความเหลื่อมล้ำในทุกทางของมนุษย์ ทั้งระหว่างสังคมและแม้ภายในสังคมเดียวกัน เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่โลกาภิวัตน์ทำให้เราทุกคนเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันหมด นี่คือความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกิด

3. ความรุนแรงทางกายภาพและทางวัฒนธรรมกระจายไปทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ผมเชื่อว่า พระพุทธศาสนา (และศาสนาอื่นๆ) มีคำตอบแก่ "ความท้าทาย" นี้อย่างแน่นอน และก็มีนักการศาสนาจำนวนไม่น้อยในโลก ได้พยายามประยุกต์ศาสนธรรมในศาสนาที่ตัวนับถือเข้ามาตอบ "ความท้าทาย" นี้อยู่มาก แต่ไม่มีคำตอบจากองค์กรพุทธศาสนาไทย

ที่เรียกว่าคำตอบนั้นไม่จำเป็นต้องออกมาในรูปของความคิด หรือข้อเสนอเสมอไป อาจออกมาในรูปกิจกรรมหลากหลายประเภทได้ เช่น อาจสะท้อนออกมาในการศึกษาของพระสงฆ์ (ทุกระดับ), ออกมาในศาสนกิจและศาสนพิธี, ออกมาในรูปของการจัดองค์กรของวัดหรือแม้แต่ของคณะสงฆ์ทั้งหมด ฯลฯ เป็นต้น

และทั้งหมดเหล่านี้เราไม่พบในความเคลื่อนไหวทางศาสนาของคณะสงฆ์ไทย

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีพระภิกษุไทยบางรูปที่ตอบสนอง "ความท้าทาย" ใหม่นี้ อย่างชนิดที่มีพลังพอจะเป็นอิทธิพลหนึ่งในโลก เพราะมีงานแปลนิพนธ์ของท่านออกเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น ท่านพุทธทาสภิกขุ, ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ หรือสำนักอาจารย์ชา เป็นต้น

แต่การตอบสนองของท่านเหล่านั้นกระทำกันขึ้นอย่างเป็นอิสระจากองค์กรคณะสงฆ์ แม้ได้รับการยอมรับขององค์กรคณะสงฆ์ในภายหลัง แต่ก็ไม่ได้นำเอาการตอบสนองของท่านเหล่านั้นไปประยุกต์ใช้ในการอื่นได้อีก

สำนักสันติอโศกยิ่งแล้วใหญ่ เพราะถูกอัปเปหิออกจากคณะสงฆ์ไทยไปเลย

ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ การตอบสนองต่อ "ความท้าทาย" ดังกล่าวในเมืองไทยเวลานี้ ส่วนใหญ่แล้วอยู่นอกองค์กรทางศาสนาที่เป็นทางการเกือบทั้งนั้น และมักเป็นการดำเนินการของฆราวาส

ใครอยากรับการศึกษาที่มีฐานอยู่ที่ศาสนธรรมของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ไปเรียนมหามงกุฏฯ หรือมหาจุฬาฯ แต่ต้องไปเรียนที่เสมสิกขาลัย

คนชั้นกลางที่อยากเรียนรู้การดำรงชีวิตในโลกปัจจุบันที่สอดคล้องกับพุทธธรรม นับตั้งแต่เรื่องสุขภาพไปถึงเรื่องการครัว ต้องไปร่วมการอบรมต่างๆ กับอาศรมวงศ์สนิท พุทธธรรมที่เป็นฐานให้แก่ "เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งทำได้จริงอยู่ในไร่นาของท่านผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม หรือผู้ใหญ่ผาย สร้อยสระกลาง

อยากหาทุนทำอะไรที่นำเอาพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบัน ต้องไปขอทุนกับ สสส. (ซึ่งเป็นที่รังเกียจของมุสลิม เพราะไปเอาเงินของสิ่งที่ต้องห้าม เช่น เหล้า บุหรี่ มาใช้) ไม่ใช่มูลนิธิของวัดใด หรือกองทุนใดๆ ของคณะสงฆ์

ย้อนกลับไปที่คำวิจารณ์ของฝรั่งข้างบน ในแง่หนึ่งก็ต้องยอมรับว่าจริง แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ต้องปฏิเสธว่าไม่จริง เพราะหากมองสังคมไทยในวงกว้างแล้ว ก็จะพบว่ามีความเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนอง "ความท้าทาย" ดังกล่าวอยู่ไม่น้อย เพียงแต่ยากที่จะเป็นพลังสำคัญแก่สังคมได้ เพราะขาดการจัดองค์กรที่จะทำให้เกิดพลังในสังคมได้ ฉะนั้น หากดูสังคมไทยโดยรวมก็เป็นอย่างที่ฝรั่งวิจารณ์

แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีชาวพุทธไทยมองเห็น "ความท้าทาย" ที่ว่า แล้วพยายามตอบสนองเสียเลย

#2 ชาร์ป

ชาร์ป
  • Members
  • 985 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:ปทุมธานี

โพสต์เมื่อ 15 June 2006 - 04:38 PM

หยุดเป็นตัวสำเ็ร็จ . . .

ปล.ไม่รู้จะตอบยังไงเหมือนกัน

#3 อ้วน บ่อโยก

อ้วน บ่อโยก
  • Members
  • 646 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:rayong

โพสต์เมื่อ 15 June 2006 - 06:22 PM

ต้องหยุดเท่านั้น
แก้ปัญหาได้ทุกอย่างครับผม


#4 light mint

light mint

    ขออนุโมทนาบุญค่ะ

  • Members
  • 1423 โพสต์
  • Gender:Female
  • Location:THAILAND
  • Interests:ธรรมะ

โพสต์เมื่อ 16 June 2006 - 11:51 AM

QUOTE
ศาสนาพุทธจะค่อนข้างเปราะบางต่อการรุกรานของความมั่งคั่งทางวัตถุ ที่อยู่เหนือความจำเป็นพื้นฐาน อย่างน้อยก็ท้าทายต่อจิตวิทยาในบางส่วน เช่น การดำรงชีพ

พระพุทธศาสนา และหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ไม่ได้เปราะบาง
แต่ผู้ที่ยังไม่เข้าใจคำสอนในศาสนาฯ นั้นยังมีความเปราะบางต่อความเย้ายวนทางวัตถุ มีความมั่งคั่ง เป็นต้น ซึ่งชาวไทยหลายคนเป็นเช่นนี้

QUOTE
ผมไม่แน่ใจว่าองค์กรพระพุทธศาสนาในประเทศไทยปัจจุบันจะสามารถ "รวบรวมคำตอบให้กับความท้าทายนี้ได้" เพราะอยู่ในสถานะที่อ่อนแอเกินกว่าจะทำได้เสียแล้ว

บางครั้ง ใครสักคนพูดอะไร คนอื่นบางคนอาจไม่ได้ยินก็ได้ เมื่อไม่รู้-ไม่ได้ยิน แล้วก็เข้าใจไปเอง

QUOTE
ทั้งองค์กรและปัญญาชนไทยร่วมมือกันนิยามพระพุทธศาสนาเสียใหม่ ให้สอดคล้องกับอารยธรรมตะวันตก ตามความเข้าใจของยุคสมัยนั้น โดยเปลี่ยนจุดเน้นของคำสอน มาเป็นด้านโลกียธรรมเป็นหลัก

ไม่รู้จักเรื่องราวที่เป็นเรื่องจริง แล้วมานิยามกันใหม่ เพื่อเอาไว้พูดคุยกันเองในหมู่พวกเขา เอาไว้ฟังกันเอง
แต่ของแท้เป็นอย่างไรพวกเขาหาได้สนใจไม่ แต่ชอบที่จะพูดไปเรื่อย ตามความคิดเท่าที่ตนเองจะคิดได้

QUOTE
เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลง ซึ่งตะวันตกกดดันให้สังคมไทยต้องเผชิญ และเป็นความสำเร็จของไทย

เป็นเรื่องการเมืองการปกครอง สถานการณ์ของประเทศ ที่เป็นไปแล้วเช่นนั้น

QUOTE
แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงจะถาโถมเข้ามาในลักษณะอื่นๆ ที่แตกต่างออกไปจากเดิมสักเพียงไรก็ตาม การที่ไม่มีแนวคิดและแนวทางที่เป็นปรปักษ์ก็คือไม่มีทางเลือกอื่นนั่นเอง

ไม่ทราบว่า ตั้งใจหมายความว่าอย่างไร?

QUOTE
"เจิม" อาวุธยุทธภัณฑ์ของกองทัพ

ไม่ใช่พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา

QUOTE
วิทยาศาสตร์ตะวันตกนั้นตั้งอยู่บนระบบคุณค่าบางอย่าง ซึ่งเป็นอริกับศาสนธรรมของทุกศาสนา

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ ใครๆ ก็มาพิสูจน์ด้วยตนเองได้ ดุจทองคำแท้ที่ไม่กลัวไฟ

QUOTE
จุดมุ่งหมายในชีวิตจึงเหลือเพียงแต่ละคนแสวงหาความสุขกับการเสพสิ่งที่วิทยาศาสตร์ประดิษฐ์มาให้ ซึ่งก็คือความสะดวกสบายในชีวิตนี้นั่นเอง

เป็นความสุขทางโลก ที่ต้องใช้วัตถุมาประกอบ แต่เศรษฐีที่นอนป่วยเป็นอัมพาต หรือใกล้เสียชีวิตอยู่ที่โรงพยาบาล จะต้องการอะไร หรือคนหนุ่มสาวที่แข็งแรง มีเงินมากมาย มีบ้านใหญ่โต แม้จะอยู่ห้องหรูหราแอร์เย็นฉ่ำ อุปกรณ์ไฮเทคคอยอำนวยความสะดวกมากมาย มีคนคอยรับใช้ ก็ยังต้องการความสุขอีก แสดงว่าความสุขทางวัตถุนั้นไม่ใช่ความสุขแท้จริง ที่เป็นคำตอบสุดท้ายของชีวิต

QUOTE
1. การใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั่งยืน จนมีสัญญาณบ่งชี้อย่างชัดเจนแล้วว่าอาจทำให้ดาวโลกไม่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ หรืออารยธรรมของมนุษย์ได้อีกต่อไป

พระพุทธศาสนา สอนให้คนไม่เบียดเบียน ทั้งตนเองและผู้อื่น และไม่สุรุ่ยสุร่าย แต่สอนให้ประหยัด

QUOTE
2. ความเหลื่อมล้ำในทุกทางของมนุษย์ ทั้งระหว่างสังคมและแม้ภายในสังคมเดียวกัน เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่โลกาภิวัตน์ทำให้เราทุกคนเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันหมด นี่คือความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกิด

3. ความรุนแรงทางกายภาพและทางวัฒนธรรมกระจายไปทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

คนพูดคงยังไม่เคยมาวัดฯ เลยยังไม่เคยเห็นภาพที่สมัครสมานสามัคคีของชาวพุทธทั่วโลกจำนวนมากที่มาชุมนุมกันสร้างบุญที่วัดพระธรรมกายอย่างยิ้มแย้ม สงบเรียบร้อย

อย่างไรเสีย ถ้าพบใครกล่าวเนื้อหาอย่างในกระทู้ ที่ไม่เข้าใจศาสนา ควรชวนมาปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรมในพระพุทธศาสนากันให้รู้ปริยัติ ปฏิบัติ ปฎิเวธ ว่าเป็นอย่างไร
เพราะหากเอาแต่พูดกันแต่ทฤษฎีที่คาดเอา หรือเดาเอา ก็จะได้แต่พูด ไปนานๆ แต่เขาก็จะสูญเสียเวลาของชีวิตไปยาวนานเช่นกัน

ขออนุโมทนาบุญนะคะ สาธุ