ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

ธรรมะของเตี่ย


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 3 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 ตาล

ตาล
  • Members
  • 69 โพสต์
  • Location:ดุสิตบุรีวงบุญพิเศษ เขตของบรมโพธิสัตว์

โพสต์เมื่อ 17 June 2006 - 01:34 AM

“ธรรมะของเตี่ยนี้” เป็นการรวบรวมคำสั่งสอนและคำพูดของเตี่ยเกี่ยวกับหลักธรรมและการปฏิบัติที่เตี่ยได้ให้ลูก ๆ จดไว้ตามคำพูดของเตี่ยเอง และมีอยู่ ๒ บทที่เป็นร้อยกรองภาษาจีน ซึ่งเตี่ยได้แต่งเอาไว้ และได้ถอดความออกมาเป็นภาษาไทยเพื่อให้เป็นที่พอเข้าใจ ส่วนความหมายที่แท้จริงนั้น ก็อยู่ที่แต่ละคนจะนำเอาไปขบคิดและปฏิบัติเอาเอง

ก็โดยเหตุที่เตี่ยเป็นนักปฏิบัติอย่างแท้จริง ธรรมะของเตี่ยทั้งหมดเป็นสิ่งที่ได้รู้และเข้าใจมาจากการปฏิบัติ ปละเตี่ยก็ได้ใช้ภาษาง่าย ๆ ในการอธิบายเพื่อให้เป็นที่เข้าใจกันง่าย ๆ ไม่ต้องนำไปขบคิดมาก อย่างไรก็ดี เตี่ยพูดเสมอ ๆ ว่า

“ธรรมะของเตี่ย จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ปฏิบัติอย่างแท้จริงเท่านั้น สำหรับผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติก็อย่างนั้นเอง อย่างดีก็เพียงจะสามารถจดจำคำพูดเอาไว้ ไม่นานก็จะลืม และไม่มีทางที่จะเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งแท้จริงด้วยการขบคิด นอกจากนี้อาจหลงผิดไปด้วยอีกว่า ตัวเข้าใจดีแล้ว ทำให้เกิดหยิ่งว่า ตัวรู้ดีกว่าคนอื่น แล้วก็หลงงมงายไปกันใหญ่ กลับทำให้เกิดโทษ สู้อย่ารู้เลยจะดีกว่า “

เหมือนอย่างที่เตี่ยเคยพูดว่า “รู้ ก็ถูกตัวรู้ปิดบัง”



๑. เกิดความรู้สึก ขี้ข้ากับลูก ลูกก็ขี้ข้ากับหลาน เพราะอวิชชา เกิดมีความรู้สึก แต่งงานเกิดขึ้น ถึงจะต้องเป็นขี้ข้า ขี้ข้าไม่มีสิ้นสุด เพราะอย่างนี้ นักปฏิบัติต้องรู้สึก อะไรเรียกว่าเกิด เกิดมาจากอวิชชา ไม่ปฏิบัติก็ไม่ได้ ไม่ปฏิบัติก็เกิดอวิชชา ตายก็อวิชชา น่ากลัวจัง

๒. เป็น ๆ อยู่ไม่รู้สึก หลับไปยิ่งไม่รู้สึก ตายไปก็ยิ่งไม่รู้สึก ถ้าอย่างนี้เป็นผีแน่ ๆ อยากจะไม่เป็นผี ทุก ๆ ลมหายใจ อย่าขาดสติ

๓. พูดกันว่า “ศาสนาพุทธ” ไม่ถูกต้อง ต้องพูดว่า “วิชาพระ” เพราะศาสนาอย่างอื่นไม่ได้สอนให้พ้นทุกข์ เพราะอย่างนี้ เรียกว่าศาสนาพุทธไม่ถูกต้อง ต้องเรียกว่า “วิชาพระ”

๔. ทำอย่างไรจึงจะได้เห็นพระจริง ๆ มีแต่พระโลหะ พระไม้ พระรูปถ่าย พระสงฆ์ ลองหยุดอย่าคิดอะไรทั้งสิ้น ระหว่างนั้นจะได้เห็นพระจริง ๆ เขียนฝากต่อไปอีกสิบปี ร้อยปี พวกที่รู้ข่าว

๕. อะไรเรียก “กูเอง” สังขารเลือดเนื้อไม่ใช่มีแต่ขันธ์ห้า บ้างก็เรียกอายตนะภายนอก อายตนะภายใน บ้างก็เรียกวิญญาณ บ้างก็เรียกความรู้ บ้างก็เรียกปัญญา รู้ที่ใจไม่ถูก รู้สึกว่างเปล่าไม่ถูก รู้สึกบริสุทธิ์ไม่ถูก ที่เหลืออยู่นั่นแหละ “หน้าตาจริง ๆ “ อย่างนั้นเอง

๖. พระพุทธเจ้าทำไมต้องสอนสมถะ ทำไมต้องสอนวิปัสสนา ทำไมไม่สอนทีเดียวให้พ้นทุกข์ ถ้าทีปัญญาดี กับปัญญาไม่ดี มีเวรมากหรือเวรน้อย เพราะอย่างนี้ พระคุณท่านสอนด้วยความจำเป็น ไม่ใช่สอนด้วยใจจริง ๆ ใจจริง ๆของพระคุณท่านอยากจะสอนทีเดียวให้พ้นทุกข์เลย

๗. สมถะข้างต้น ทิ้งสมถะ เอาอะไรเข้าไปเรียนวิปัสสนา เอา ความอดทน เข้าไปต่อสู้กับกิเลส นี่แหละวิปัสสนา

๘. พระพุทธเจ้าบอก ไม่มีเกิด ไม่มีตาย มนุษย์ทำไมมีเกิดมีตาย เพระมนุษย์มีกิเลส พระคุณท่านไม่มีกิเลส

๙. มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ตกอยู่ในเงียบเฉย มีปัญญาไม่มีสมาธิกายเป็นเผอเรอ พูดเก่งไปด้วย สมาธิก็ยากไปด้วย ปัญญาก็ยาก ปฏิบัติอย่างดีที่สุด ต้องสมาธิควบปัญญาถึงจะดี ความจริงไม่มีอะไร ปฏิบัติอาศัยสมถะกับวิปัสสนามาล้างผลาญกิเลสให้หมดสิ้น ไม่ใช่อาศัยที่เห็นนี่เห็นโน่น เข้าใจว่าวิปัสสนา ที่เขียนอย่างนี้ นอกจากคนที่รู้ข่าว ไม่ก็เท่ากับพูดส่งเดช ไม่ได้เกี่ยวกับอะไรเลย

๑๐. ไม่ปฏิบัติก็ไม่รู้ ยังปฏิบัติอยู่ก็ไม่ดี ถ้าหมดกิเลสแล้วยังจะปฏิบัติอะไรเล่า ข้ามฝั่งแล้วทิ้งเรือ แบกเรือจะดีหรือ ?

๑๑. ปฏิบัติทางไหนถึงจะดี ตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ กัมมัฏฐานสี่สิบอย่าง ทุก ๆ อย่างสุดต่อนิสัยของใคร ชอบอย่างไหน อย่างไหนฟันกิเลสคล่อง ชนะกิเลสง่าย ใช้อย่างไหนก็ดี ดีที่ชนะกิเลสง่าย อย่างนี้แล้วอย่างไหนถึงจะดีเล่า ทุก ๆ อย่างสุดต่ออุปนิสัยของใคร

๑๒. อะไรเรียก “หน้าตาดั้งเดิม” ระหว่างคิดก็ไม่ใช่ ระหว่างคิดชั่วก็ไม่ใช่ ก่อนที่ยังไม่ได้คิดดีคิดชั่ว ไม่ใช่เฉย ๆ ไม่ใช่ว่างเปล่า ไม่ใช่บริสุทธิ์ อารมณ์ธรรมชาติ นี่แหละ “หน้าตาดั้งเดิม”

๑๓. หินก้อนหนึ่งตรงกลางซ่อนมีเพชร ต้องอาศัยเจียระไน ขุด ขัด เพชรจึงจะชัดเจนขึ้นมา จิตเราก็เหมือนกัน ความจริงแล้ว จิตดั้งเดิมก็ส่วนจิตดั้งเดิม กิเลสก็ส่วนกิเลส ก่อนที่ยังไม่รู้ ก็เอากิเลสมาพอกกับจิตดั้งเดิม เหมือนอย่างเปลือกหินมาพอกกับเพชร นี่แหละเรียก “อวิชชา” เมื่อจิตดั้งเดิมโผล่ขึ้นแล้ว ก็ได้รู้สึกกิเลสกับจิตดั้งเดิมเป็นคนละอย่าง ถ้าไม่มีกิเลสก็ไม่มีธรรมะ จะเรียนรู้กิเลส คือวิปัสสนา ผู้ที่บรรลุธรรมคือบรรลุกิเลส จิตดั้งเดิมรู้ชัดเจนแล้ว ระหว่างนั้น ความจริงก็ไม่มีอะไร แต่มาถึงตรงนี้ อันตรายสุดขีด ต้องให้รู้สึกพยายาม อย่าขาดสติ อย่าให้กิเลสกลับเข้ามาอีก พระพุทธเจ้าสอนไว้ เรียกเป็นว่า “อาชีพชอบ” อย่าเข้าใจว่า ไม่ต้องปฏิบัติแล้ว - ไม่มีอะไรจะต้องปฏิบัติต่อไปอีก – สิ้นสุดแล้ว ให้ปฏิบัติต่อไปอีก ต้องให้ชำนาญคล่องแคล่วจึงวางใจได้ สมกับ “พุทโธ อรหันต์”

๑๔. “เอาอารมณ์ไว้ที่ไหน ?” พูดคำนี้เกิดขึ้นความหมายมี ๔ อย่าง อย่างหนึ่งว่า “รู้แล้ว” อย่างหนึ่งว่า “ไม่รู้” อย่างหนึ่งก็ “ขาดสติ” อย่างหนึ่งก็ “มีสติ” ผู้คนพูดอย่างนี้ ยังไม่รู้จักต้นทาง ถ้ารู้แล้วไม่ถามอย่างนี้ ตัวเองเข้าใจถามว่า “อารมณ์ไว้ที่ตรงไหนจึงจะถูก” ความจริงยังถูกตัวรู้ปิดบังยังไม่รู้เลย วางกิเลสหมดก็เบา เบาก็เกิดสุข มีกิเลสอยู่ก็เกิดหนัก หนักก็เกิดทุกข์ พอสุขเกิดขึ้นก็ติดสุข เชือกสุขก็มัดเรา มีกิเลสก็เกิดหนัก หนักก็เกิดทุกข์ เชือกทุกข์ก็มัดเรา อารมณ์เกิดบริสุทธิ์ เชือกบริสุทธิ์ก็มามัดเรา อารมณ์เกิดว่างเปล่า เชือกว่างเปล่าก็มามัดเรา จะใช้อารมณ์บริสุทธิ์ อารมณ์บริสุทธิ์ยังคู่กับอารมณ์สกปรก ต้องใช้อารมณ์บริสุทธิ์จนไม่บริสุทธิ์ผุดขึ้น คือ อารมณ์ธรรมชาติ นี่แหละต้นทาง

๑๕. มนุษย์เราเดี๋ยวนี้มีเกิดมีตาย พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ ไม่มีเกิด ไม่มีตาย ถ้าเห็นต้นทางแล้วต้องยกมือไหว้ พระพุทธเจ้าท่านมีจิตเมตตา ไว้มีธรรมะให้คนทีหลังได้เรียน อ้อ ไม่มีเกิด ไม่มีตายจริง ๆ

๑๖. “กัมมัฏฐานสี่สิบอย่าง” เปรียบในโลกแล้ว เท่ากับ “อาชีพสี่สิบอย่าง” ชำนาญอย่างไหนก็ทำอยู่อย่างนั้น ความจริงปฏิบัติกัมมัฏฐานเพื่อว่าต่อสู้กับกิเลส พอมีสมาธิหน่อย เห็นนี่เห็นโน่น ทำของก็ขลัง ตัวเองก็เข้าใจว่าได้ธรรมแล้ว แท้ที่จริงพอทิ้งกิเลส กลับไปฉวย กิเลสกัมมัฏฐาน ขึ้นมาเป็นกิเลสอีก ถ้ารู้ตรงนี้ “สาธุพุทธะ” หน้าตากัมมัฏฐานอย่างนี้เอง

๑๗. อวิชชาไม่รู้ทันเขา กายวาจาก็ปรุงแต่งขึ้นเมื่อที่ปรุงแต่งเกิดขึ้นก็เกิดทำขึ้น เมื่อที่ทำเกิดขึ้น ก็ได้รู้ดีชั่วผิดถูก หลงอยู่อย่างนี้ ตายแล้วก็เกิด เกิดแล้วก็ตาย เกิด ๆ ตาย ๆ ไม่มีสิ้นสุด เมื่อปลงตกอย่างนี้แล้ว เริ่มบังเกิดเชื่อกัมมัฏฐาน ปฏิบัติไปจริง ๆ ถึงจะเชื่อจริง ๆ ถ้าไม่อย่างนี้ก็เท่ากับ เชื่อเขาดีก็ตามดี ชั่วก็ตามชั่ว เลยกลายเป็นไม่รู้จะปฏิบัติอะไรเลย นี่แหละสมถะ นี่แหละ วิปัสสนา ปลดเปลื้องให้หมด กิเลสก็ไม่เอา กัมมัฏฐานก็ไม่เอา วิปัสสนาก็ไม่เอา อ้อ นี่ต้นทาง

๑๘. เรื่องอะไรต่าง ๆ ที่เคยผ่านแล้วไม่ได้เอากลับมาคิด อารมณ์ที่เหลืออยู่อันนั้นเรียกว่า “ใจ” ใจไม่มีเปลี่ยนแปลงก็เรียกว่า “พระ” ปรากฏที่เห็นอะไรต่าง ๆ นานาเกิดขึ้นเป็นที่ใจ ละอะไรต่าง ๆ ที่เห็นเหลืออยู่เรียกว่า “พระ” รู้แล้วจะให้ทำอย่างไร ? ง่ายนิดเดียว จิตอย่าสร้างความดี จิตอย่าสร้างบาป จิตคิดขึ้นให้ตัดเสีย จิตอย่าสงสัย อารมณ์ที่เหลืออยู่ “หน้าตาดั้งเดิมของท่าน” อ้อ ต้นทางอยู่ตรงนี้เอง

๑๙. เรื่องราวเริ่มเห็นสิ่งหนึ่งเรียกว่า “รูป” เมื่อมีรูปเกิดขึ้นแล้ว “มโน” ก็ทำงาน ก็ได้รู้ว่าสิ่งของนี้เรียกอะไร ตอนนี้เรียกว่า “นาม” ไม่ใช่ชื่อเรียกว่า นาม ตอนที่เราบังเกิดใจ ตอนนั้นเรียกว่า “นาม” นักปฏิบัติปลงตก รูปนามต้องรู้ ไม่ใช่เกิดอยู่ข้างนอก แท้ที่จริงเป็นอยู่ที่จิตของเราแยกออกไป นักปฏิบัติรู้ตรงนี้แล้ว เรียกว่า “เริ่มรู้ธรรม” ถ้าไม่รู้ก็ตามรูปตามนาม หลงใหลงมงายไม่มีสิ้นสุด อย่าลืม ยังมีจิตดั้งเดิม

๒๐. รูป แปลว่า ร่างกายของเราเอง

เวทนา แปลว่า เรารับว่าชอบหรือไม่ชอบ

สัญญา แปลว่า ทุกวันที่เรานึกคิด

สังขาร แปลว่า คิดไม่ยอมหยุด เกิดใหม่ก็ไม่ยอมทิ้ง

วิญญาณ แปลว่า ที่เรารู้ผิดหรือถูก

๕ อย่างนี้เรียกว่า “ขันธ์ห้า” ปลงตกรูป นั่งลงไปแล้ว หลับตาก็สว่าง ลืมตาก็สว่าง ปลงตกเวทนา ทิ้งร่างกายได้จะขึ้นสวรรค์หรือลงนรกไปได้โดยสะดวก ปลงตกสัญญา นึกคิดหยุด ปลงตกสังขาร ได้เห็นนิพพานจริง ๆ ปลงตกวิญญาณ อายตนะภายนอก-ภายในเชื่อมติดเป็นแผ่น ไม่มีอะไรขัดขวาง มาถึงอย่างนี้แล้ว นักปฏิบัติทุกคนเข้าใจว่า “ว่าง” ถึงจะพูดกันบ่อย ๆ นิพพานแปลว่า “ว่าง” ความจริงแล้วไม่ใช่ว่าง คืนสภาพดั้งเดิมของเราเอง ถ้าได้จริง ๆ แล้วก็ได้อภิญญาหก ถ้ายังไม่ได้จริงอย่าเข้าใจผิดว่าได้ธรรมแล้ว หลอกตัวเองด้วย หลอกคนอื่นด้วย “ข้ามฝั่งแล้วทิ้งเรือ” ถ้าได้จริง ๆ เท่าที่กล่าวไว้ เรือทิ้งได้ ถ้ายังไม่ได้ ให้แจวต่อไปอีกเถิด

๒๑. ก่อนที่เรายังไม่มาเกิด สังขารก็นำมาก่อน นักปฏิบัติให้เปลี่ยนอันนี้เป็นความรู้ ลองไปยืนอยู่หน้ากระจกออกมาแล้ว รูปจะติดอยู่ในกระจกไหม ถ้าไม่ติด นี่แหละ “ธรรม”

๒๒. นึกคิดไม่หยุด ก็ปรุงแต่งเกิดใหม่ไม่มีสิ้นสุด ไม่ทิ้งตัวนี้นำมาก่อน เมื่อจุติอยู่ในท้องแม่แล้วเรียกว่า “รูป” เมื่อมีรูปแล้วก็เกิด “อายตนะหก” เมื่อมีอายตนะหกแล้วก็รับเข้าอายตนะภายใน อย่างนี้ก็เรียกว่า “เกิดตัวกู” เมื่อมีตัวกูเกิดแล้ว กูต้องกิน กูต้องนุ่งห่ม ลูกเมียชื่อเสียงอำนาจเงินทองมันก็หมุนอยู่ คิดอยู่ เกิดใหม่ก็ปรุงแต่งอยู่ไม่มีสิ้นสุดคิด ไม่มีสิ้นสุดทำ ทำจนวันสุดท้าย รูปหยุดทำงาน แตกดับก็เรียกว่า “ตาย” ก็ตัวตาย ใจก็ยังคิดไม่หยุด เกิดใหม่ก็ไม่ทิ้ง ทีนี้เกิด ๆ ตาย ๆ ตาย ๆ เกิด ๆ ไม่มีสิ้นสุด เกิดตายนี่แหละเรียกว่า “อวิชชา”

นักปฏิบัติถ้ารู้ว่าอวิชชาแล้ว สมถกัมมัฏฐานวิปัสสนา เปรียบแล้วเป็นมีดวิเศษอันหนึ่ง เผื่อว่าฟันกิเลสให้หมดไปตามที่เขาว่า “ว่าง ๆ “ อนัตตาความจริงก็ว่าง กิเลสที่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นวิปัสสนากิเลสทั้งนั้น ถ้าอยากจะรู้จริง ๆ ก็เลิกคิดดี เลิกคิดชั่ว ที่เหลืออยู่เรียกว่า “หน้าตาดั้งเดิม” ว่างก็ว่างแต่กิเลส มีก็มีจิตดั้งเดิม มาถึงตรงนี้สำคัญที่สุด

๒๓. ยังไม่รู้ก็ตามกิเลส รู้แล้วก็ติดตัวรู้ เปลี่ยนตัวรู้เป็นปัญญา เหมือนอย่าง ปัญญากระจก จิตใจไม่ให้มีอะไรขัดขวาง มาถึงตอนนี้เหมือนอย่างเส้นผมบังภูเขา สุดขีดแล้ว รู้ก็อนัตตา ไม่รู้ก็อนัตตา ปัญญาก็อนัตตา ไม่ปฏิบัติอย่างนี้ก็ไม่มีทางไป ปฏิบัติอย่างนี้ก็ละเอียดสุดขีด พูดแล้วคนที่ไม่เข้าใจอย่าพูดกันดีกว่า พูดก็เท่านั้นเอง

๒๔. “มีกัมมัฏฐานมีตัวกู มีกัมมัฏฐานไม่มีตัวกู ไม่มีกัมมัฏฐานไม่มีตัวกู” มีกัมมัฏฐานมีตัวกู ยังอยู่ในขั้นเฮงซวย มีกัมมัฏฐานไม่มีตัวกู พอใช้ได้ ไม่มีกัมมัฏฐานไม่มีตัวกูขั้นต้นเรียนจบ ทีนี้จะไปอย่างไรต่ออีก มาถึงขั้นปฏิบัติทางใจ เรียกว่า “วิปัสสนา” พิจารณาให้รู้ว่า เกิดมาจากไหน ตายแล้วจะไปยังไง ถ้ารู้ว่าเกิดมาจากไหนแล้ว ย่อมได้รู้ “อวิชชา”

๒๕. รู้แล้วต้องรู้ “ขันธ์ห้า” ต้องรู้ “ปัญญาขั้นต้น” อายตนะหกสู่เข้าอายตนะภายใน ใจเรารู้เท่าทันกับเขา ไม่มีกระเทือนหวั่นไหว เรียกว่า “อุเบกขา” อย่าเข้าใจผิดว่า อุเบกขาแปลว่า เฉย ๆ เฉยไม่มีความรู้สึกเหมือนอย่างต้นไม้ เฉยจะได้เรื่องอะไร ต่อไปแล้วจะทำอย่างไร กลางวันไม่ตามกิเลส กลางคืนไม่มีงง จิตใจผ่องใส สว่าง ขอให้ทำได้ มีตายที่ไหนเล่า เขียนก็เท่ากับเขียนส่งเดช ไม่รู้เมื่อไหร่ อาจจะสิบปี ร้อยปี อาจที่จะพบรู้ข่าว

๒๖. จดหมายฉบับหนึ่ง เกิดมีคนสองคน ต่างเขียนได้ ต่างคนต่างอ่านออก ถ้าคนหนึ่งรู้ความหมาย คนหนึ่งไม่รู้ความหมาย คนรู้เกิดเมตตาจิต สอนให้คนไม่รู้ ก็เกิดรู้แจ้งเห็นจริง สอนกัมมัฏฐานก็เช่นกัน ถ้าคนไม่รู้ความหมาย สอนลูกศิษย์แล้ว ถึงทำได้ก็ไม่รู้ความหมาย ไม่รู้ความหมายเกิดขึ้น สงสัยก็ตามมา อยู่ในกัมมัฏฐานสงบ ออกกัมมัฏฐานก็ฟุ้งซ่าน ถ้ารู้ความหมาย อยู่ในกัมมัฏฐานกับออกกัมมัฏฐานเหมือน ๆ กัน ระหว่างจะเรียน ระหว่างจะสอนให้พิจารณาก่อน ไม่ใช่เขาพูดเราก็ตามเขา ผิดถูกไม่รู้เหมือนอย่างคนเสียสติ บ้าอยู่จนไม่รู้สึกตัว

๒๗. เรียนกัมมัฏฐาน ระหว่างเรียนต้องบังเกิด ใจ ก่อน ข้อนี้ให้ระวังที่สุด เมื่อเกิดใจแล้ว ก็เกิดเป็นสอง คือ รู้ กับ ไม่รู้ เหมือนอย่างเราทุกวันนี้ เข้าใจว่ารู้ แท้ที่จริงขาดสติตลอดชีวิตเลย อีกอย่างหนึ่ง ควรเข้าใจว่า รู้แล้วก็หลงตามกับที่เรารู้ไป ก็ขาดสติเช่นเดียวกัน เมื่อเริ่มแรกเรียนกัมมัฏฐาน เรียนวิธีหนึ่งชนะคนอื่น อีกวิธีหนึ่งชนะตนเอง เหมือนอย่างเดี๋ยวนี้ เรียนนักธรรมเอกได้แล้ว ก็เรียนบาลี จบ ป. ๙ เริ่มมีความรู้ดีกว่าคนอื่น เราชนะคนอื่นก็ได้ปกครองคนอื่น ถ้าขาดสติแล้ว นึกว่ากูเองเป็นคนวิเศษวิโส ชื่อเสียงเงินทองข้าวของอำนาจ เล่นให้เราหลงงอมแงมไปเลย ถ้าไม่ระวัง ตกอยู่เช่นนี้แล้วหลงตลอดชีวิตเหมือนกัน ระหว่างตายยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย ถึงอารมณ์สุดท้ายพอดีจะตายแล้วปรับทุกข์กับใครไม่ได้ อย่างนี้ดีชั่วผิดถูก นักปฏิบัติให้รู้เอง เรียนวิชาอะไรต่าง ๆ นานาสุดขีดแล้วก็เหมือนอย่างนี้ นักปฏิบัติพิจารณาเอาเอง น่ากลัว

๒๘. สังขารเริ่มต้นที่จะรู้เป็นอวิชชา ลักษณะอวิชชา คือ กาย วาจา ปรุงแต่ง เรารู้ไม่ทันกับเขา ผิดเข้าใจว่าถูก ไม่ดีเข้าใจว่าดี เมื่อทำผิดแล้วไม่รู้ ที่ทำไว้คิดไว้เก่า ก็พยายามรวบรวม ใหม่ก็พยายามสะสม ขาดสติตลอดชีวิตเลย เมื่อตายแล้ว วิญญาณตามที่ทำไว้นำไปเกิด เพราะเราเองตกอยู่ในสังขารเช่นนี้ พ่อแม่เราก็เช่นนี้ เข้าพวกกันได้ เมื่อจุติในท้องแม่ของเรา เกิดมีอายตนะหก คลอดออกมาแล้ว ตอนนี้มีชื่อ ชื่ออันนี้ ตามในตำราเรียกว่า “รูป” เมื่อมีรูป ก็เกิดอายตนะหกสู่เข้าอายตนะภายใน กายวาจาปรุงแต่งเกิดขึ้น เหมือนในชาติก่อน ทีนี้ก็ตายอีก ตายแล้วก็เกิด เกิด ๆ ตาย ๆ ไม่มีวันสิ้นสุด เกิดรู้แล้ว นักปฏิบัติที่มีปัญญาชั้นหนึ่ง พบจิตที่แท้ เห็นทางปฏิบัติของเขาเอง ที่มีปัญญาชั้นสอง ก็ต้องตามกัมมัฏฐานสี่สิบ เมื่อรู้แจ้งว่า สังขารเล่นกลกับเรา วางก็ไม่ลง ทิ้งก็ไม่ได้ ก็ต้องใช้สมถกัมมัฏฐานกับวิปัสสนา ซึ่งเปรียบแล้วเหมือนอาวุธคมชนิดหนึ่งใสช่วยฟันกิเลสให้หมด นักปฏิบัติเริ่มเรียนกัมมัฏฐานให้เรียนรู้ว่า ขันธ์ห้าเล่นกลกับเราอย่างไร เราจะป้องกันได้อย่างไร รู้แจ้งอันนี้แล้ว เรียกว่า “เรียนกัมมัฏฐาน” ต่อไปก็ “เข้ากัมมัฏฐาน” เหมือนกับคนหนึ่งเรียนหนังสือ เรียนรู้หลักแล้วก็ลงมือทำจริง ๆ จึงจะไม่พลาด จะเข้ากัมมัฏฐาน ต้องหยุดนึกคิดปรุงแต่ง มีนึกคิดปรุงแต่งตกอยู่ภายในสังขาร หยุดนึกคิดปรุงแต่งได้ ไม่ใช่ว่าง ๆ ไม่ใช่บริสุทธิ์ ไม่ใช่รู้ที่ใจ ที่เหลืออยู่เป็นอารมณ์ธรรมชาติ อารมณ์อันนี้ ทำไม่ถึงจะเรียกว่าอารมณ์ธรรมชาติ เปรียบได้กับเรามีเสื้อขาวตัวหนึ่ง ไม่ต้องให้เราบังเกิดใจมาคิดว่า เสื้อนี้ขาว เมื่อพื้นขาวแล้ว ไม่พูดก็ขาว ไม่ต้องให้เราพูดอีก สรุปแล้ว เอาอารมณ์ธรรมชาติควบกับกัมมัฏฐานสี่สิบอย่างที่ถูกกับนิสัยของเรา เมื่อเข้ากัมมัฏฐานก็ให้มีความอดทนปฏิบัติไป ฉะนั้น เริ่มต้นเข้ากัมมัฏฐานก้าวแรกถูก ปลายทางก็ถูกด้วย ก้าวแรกผิด ปลายทางก็ผิดหมด สำเร็จหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง ขอก้าวแรกให้ถูก สาธุด้วย

๒๙. นึกคิดปรุงแต่งหยุด กายหยุด ใจหยุด หายใจไม่มีเข้าออก เริ่มเข้าสมาธิได้ เขาถือเอาอารมณ์บริสุทธิ์เป็นสุดทาง พุทธเอาอารมณ์ธรรมชาติมาเข้ากัมมัฏฐาน อารมณ์ธรรมชาติไม่มีอะไรให้ผุดขึ้น ไม่มีแม้นอารมณ์ธรรมชาติ ไม่มีแม้นไม่มีอารมณ์ธรรมชาติ สมมุติเรียก อารมณ์ธรรมชาติ

๓๐. คล้าย ๆ ฝัน ไม่ใช่ฝัน คล้าย ๆ หลับไม่ใช่หลับ คล้าย ๆ ตาย ไม่ใช่ตาย นี่แหละ “พวกหนอ” คล้ายรู้ไม่ใช่รู้ กับ ไม่รู้ก็ไม่ใช่ รู้ก็ไม่ใช่ ใช้คำพูดไม่ถูก ใช้แกกาเขียนก็เขียนถูก นักปฏิบัติมาถึงตอนนี้หมดหนทาง เพราะยังมีอย่างนี้ พระพุธเจ้าถึงได้บอกว่า “นักปฏิบัติให้รู้เอง”

๓๑. แบกของอยู่เรียกว่า “ไม่ว่าง” วางของลงก็เรียกว่า “ว่าง” แล้วก่อนที่ยังไม่ได้แบกล่ะ เรียกว่าอะไร ยังจะมี แบก กับ ไม่แบก ว่าง กับ ไม่ว่าง อยู่อีกหรือ ?

๓๒. พระพุธเจ้าถามพระอานนท์ว่า “ใจไม่ใช่อยู่ข้างนอก ไม่ใช่อยู่ข้างใน และไม่ใช่อยู่กลาง อย่างนั้นใจอยู่ที่ไหน ? จะใช้ใจดวงไหนดีเล่า ?” ตอบได้ว่า เมื่อยังมี ตัวกู อยู่ ใจก็ยังมีอยู่ จะเป็นข้างนอก ข้างใน หรือ ตรงกลางก็แล้วแต่ เมื่อหมด ตัวกู แล้ว ใจจะอยู่ที่ไหนเล่า

๓๓. พูดว่าง คิดว่าง

พูดบริสุทธิ์ คิดบริสุทธิ์

เดิมไม่มีย้อมติด

ไม่พูดนั่นแหละรู้

http://www.dharma-ga...asok-soo-21.htm ที่มา





#2 SmilingCat

SmilingCat
  • Members
  • 1209 โพสต์

โพสต์เมื่อ 17 June 2006 - 07:33 AM

อ่านดูแล้วเหมือน "เตี่ย" มีความเข้าใจธรรมะชั้นสูงจึงได้พูดอย่างนั้นได้
ใช้ภาษาง่าย ๆ อธิบายทำให้ใจเรา คือคนอ่านมีความรู้สึก ปล่อยวาง สงบลง
แปลกดีเหมือนกัน
หยุดคือตัวสำเร็จ

#3 niwat

niwat
  • Members
  • 1420 โพสต์
  • Gender:Male

โพสต์เมื่อ 17 June 2006 - 07:39 AM

บทความสอดแทรกคติธรรมดีครับ

#4 ชาร์ป

ชาร์ป
  • Members
  • 985 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:ปทุมธานี

โพสต์เมื่อ 17 June 2006 - 01:02 PM

work work