ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

พระอานนท์...พุทธอนุชา ตอนที่ ๓๐


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 1 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 MiraclE...DrEaM

MiraclE...DrEaM
  • Members
  • 1368 โพสต์

โพสต์เมื่อ 01 July 2006 - 11:25 AM

๓๐. พรหมทัณฑ์ และ ณ ชาตสระบนเส้นทางจาริก


เมื่อเวลานานถึง ๔๐ ปีหลังพุทธปรินิพพาน ที่พระพุทธอนุชาผู้ประเสริฐจาริกสู่คานานิคมชนบทและราชธานีต่างๆ เกือบทั่วชมพูทวีปเพื่อโปรดเวเนยนิกรชนแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ประทีปดวงใหญ่แห่งชมพูทวีปจะดับไปแล้ว แต่ประทีปดวงน้อยคือ พระพุทธอนุชายังมีอยู่ และส่องแสงเรืองรองเพื่อภารตวรรษต่อไป

บัดนี้ภารกิจอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระศาสดาและหน้าที่ในการทำลายกิเลสของท่านได้เสร็จสิ้นลงแล้ว เหลืออยู่เพียงอย่างเดียวคือ การอบรมสั่งสอนมหาชนให้หลีกจากทุจริต เดินเข้าสู่ครองแห่งสุจริตธรรม การปรากฏกายแห่งพระอานนท์ไม่ว่าในที่ใด ในสมาคมใด ประดุจการปรากฏขึ้นแห่งดวงจันทร์ในปูรณมีดิถี นำความชื่นบานเอิบอาบซานซ่านและสดใสมาสู่จิตใจของมหาชนในที่นั้น และสมาคมนั้น

เมื่อมหาสันนิบาตในการสังคายนาเสร็จสิ้นลงแล้ว พระพุทธอนุชาได้ละทิ้งเบญจคีรีนครไว้ เบื้องหน้ามุ่งสู่นครโกสัมพีเพื่อลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะพระหัวดื้อซึ่งพระศาสดารับสั่งไว้เมื่อจวนจะนิพพาน พระอานนท์ได้ประกาศให้สงฆ์ในโกสัมพีนครทราบว่า ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปพระฉันนะต้องการจะทำอย่างใด จะพูดอย่างใด และประพฤติอย่างใดก็ให้ทำได้ตามอัธยาศัย ภิกษุสามเณรไม่พึงว่ากล่าวตักเตือนพระฉันนะด้วยถ้อยคำใดๆ เลย นี่เรียกว่าพรหมทัณฑ์ คือการลงโทษที่หนักที่สุดแบบพระอริยะ

"ท่านทั้งหลาย!" พระอานนท์กล่าวในมหาสมาคมซึ่งมีภิกษุประชุมอยู่จำนวนพัน "พระบรมศาสดาเคยตักเตือนพระฉันนะมานับครั้งไม่ถ้วนแล้วว่า ขอให้เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย อย่าดื้อด้าน และดื้อดึง แต่พระฉันนะก็หาฟังไม่ ยังคงประพฤติตนตามใจชอบอยู่อย่างเดิม เมื่อจวนจะปรินิพพานทรงเป็นห่วงเรื่องพระฉันนะ จึงมีพุทธบัญชากับข้าพเจ้าไว้ว่าให้ลงโทษแก่พระฉันนะโดยวิธีพรหมทัณฑ์ ท่านทั้งหลาย! การลงโทษแบบนี้เป็นวิธีสุดท้ายที่พระอริยเจ้าจะพึงกระทำ ประดุจนายสารถีผู้ฝึกม้า จำใจต้องฆ่าม้าของตนที่เหลือฝึก เพื่อมิให้สืบพันธุ์ไม่ดีต่อไป

"ท่านทั้งหลาย! สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคทรงสนทนากับคนฝึกม้าผู้เชี่ยวชาญนามว่า เกสิ พระองค์ตรัสถามว่า 'ดูก่อนเกสิ ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการฝึกม้า ตถาคตอยากทราบว่า ท่านมีวิธีฝึกม้าอย่างไร?'
นายเกสิทูลตอบว่า 'ฝึกโดยวิธีละมุนละม่อมบ้าง โดยวิธีรุนแรงบ้าง โดยวิธีทั้งละมุนละไมและทั้งรุนแรงบ้าง'

"เกสิ! ถ้าม้าของท่านไม่รับการฝึก คือฝึกไม่ได้ ท่านจะทำอย่างไร?"
"พระองค์ผู้เจริญ! ถ้าม้าตัวใดฝึกไม่ได้ ข้าพระองค์ก็ฆ่าม้าตัวนั้นเสีย ทั้งนี้เพื่อมิให้เสียชื่อผู้ฝึก และมิให้ม้าตัวนั้นมีพืชพันธุ์ไม่ดีต่อไป พระองค์ผู้เจริญ! พระองค์มีชื่อเสียงปรากฏว่าเป็นยอดแห่งนักฝึกคนที่พอจะฝึกได้ ก็พระองค์มีวิธีฝึกคนอย่างไรเล่า?"

"ดูก่อนเกสิ!" พระศาสดาตรัส "เราก็ฝึกบุคคลที่ควรฝึกอย่างนั้นเหมือนกัน คือฝึกโดยวิธีละมุนละไมบ้าง โดยวิธีรุนแรงบ้าง ทั้งโดยวิธีรุนแรงและละมุนละไมบ้าง"
"ถ้าฝึกไม่ได้เล่าพระเจ้าข้า" นายเกสิทูลถาม "พระองค์จะทรงกระทำประการใด"
"ถ้าม้าฝึกไม่ได้เราก็ฆ่าเหมือนกัน" พระศาสดาทรงตอบ
"ก็พระองค์ไม่ทรงทำปาณาติบาตมิใช่หรือ เหตุไฉนจึงตรัสว่าทรงฆ่า"

"ดูก่อนเกสิ! การฆ่าของเราเป็นการฆ่าแบบอริยประหาร คือไม่ยอมว่ากล่าวสั่งสอนเลย ทำประดุจบุคคลผู้นั้นไม่มีอยู่ในโลก การลงโทษอย่างนี้รุนแรงที่สุด ผู้ถูกลงโทษได้รับผลที่น่ากลัวที่สุด"
"นายเกสิคนฝึกม้าทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาว่า แจ่มแจ้งดียิ่งนัก"

พระอานนท์กล่าวต่อไป "ท่านทั้งหลาย! แลแล้วเมื่อมีโอกาสประทับอยู่ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ได้ทรงนำเรื่องม้ามาเป็นบทประกอบพระธรรมเทศนา โอวาทภิกษุทั้งหลายมีใจความดังนี้

"ภิกษุทั้งหลาย! ม้าบางตัวเพียงเห็นเงาปฏักที่นายสารถียกขึ้นเท่านั้น ก็ทราบได้ว่า นายต้องการจะให้ตนทำอย่างไร แล้วสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องฉันใด บุคคลบางคนก็ฉันนั้น เพียงได้ยินข่าวว่าบุคคลโน้นอยู่บ้านโน้น แก่บ้าง เจ็บบ้าง ตายบ้าง ก็เกิดสังเวชสลดจิตน้อมเข้ามาหาตัวว่า แม้เราต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตายอย่างนั้นเหมือนกัน แล้วตั้งใจปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูง

"ภิกษุทั้งหลาย! ม้าบางตัวเพียงได้เห็นเงาปฏักเท่านั้นยังไม่อาจเข้าใจความหมายที่นายต้องการให้ทำ แต่เมื่อถูกแทงจนขนร่วงนั่นแหละจึงรู้สึก แล้วปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามที่นายต้องการฉันใด บุคคลบางคนก็ฉันนั้นเพียงได้ยินข่าวเจ็บ และข่าวตายของผู้อื่นเท่านั้นยังไม่เกิดสังเวชสลดจิต แต่เมื่อได้เห็นด้วยตนเองซึ่งคนแก่ คนเจ็บ และคนตาย จึงเกิดสังเวชสลดจิตแล้วตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุคุณธรรมเบื้องสูง

"ภิกษุทั้งหลาย! ม้าบางตัวเพียงแต่เห็นเงาปฏักและถูกแทงจนขนร่วงก็ยังไม่รู้สึก เมื่อถูกแทนจนทะลุหนังเข้าไปจึงรู้สึก และพร้อมที่จะปฏิบัติตามนายฉันใด บุคคลบางคนก็ฉันนั้น เพียงเห็นคนแก่ คนเจ็บ หรือคนตาย และได้ยินได้ฟังข่าวเช่นนั้น ไม่ก่อให้เกิดความสังเวชสลดจิตได้ ต่อเมื่อญาติสายโลหิตมิตรสหายอันเป็นที่รักที่พึงใจเจ็บหรือตายลง จึงเกิดสังเวชสลดจิตแล้วตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุคุณธรรมเบื้องสูง

"ภิกษุทั้งหลาย! ม้าบางตัวเพียงได้เห็นเงาปฏักถูกแทงจนขนร่วง ถูกแทงจนทะลุผิวหนังเข้าไป ก็หาเข้าใจถึงสิ่งที่นายต้องการให้ทำไม่ ต่อเมื่อถูกแทงจนจดกระดูกจึงรู้สึก และเข้าใจในสิ่งที่นายต้องการให้ทำฉันใด บุคคลบางคนก็ฉันนั้น เพียงแต่ได้ยินได้ฟัง หรือเห็นญาติพี่น้องเจ็บและตายก็ไม่เกิดสังเวชสลดจิต ต่อเมื่อตนเจ็บเอง และเจ็บเจียนตายใกล้ต่อมรณสมัย จึงรู้สึกสังเวชสลดจิตแล้วตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุคุณธรรมเบื้องสูง"

แลแล้วพระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า "ภิกษุทั้งหลาย! ม้าซึ่งประกอบด้วยคุณลักษณะหรือคุณสมบัติ ๔ ประการ ควรเป็นม้าทรงของพระราชา ๔ ประการนั้นคือ มีความซื่อตรง มีเชาวน์ดี มีความอดทน และมีลักษณะสงบเรียบร้อย ภิกษุผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๔ ประการก็เหมือนกัน คือ มีความซื่อตรงไม่หลอกลวงไม่คดในข้องอในกระดูก มีเชาวน์ดีในการู้อริยสัจ มีความอดทนอย่างยิ่ง และมีการสำรวมตนสงบเสงี่ยมเรียบร้อย ไม่ประพฤติตนเอะอะโวยวายเยี่ยงนักเลงสุราบาน ก็สมควรเป็นทักขิเณยยบุคคล เป็นเนื้อนาบุญของโลก ภิกษุทั้งหลาย! เราเคยกล่าวไว้มิใช่หรือว่า ถ้าจะดูความเป็นบ้าในหมู่สงฆ์ ก็จงดูตรงที่เธอร้องรำทำเพลง ถ้าจะดูความเป็นเด็กในหมู่สงฆ์ ก็จงดูตรงที่เธอยิงฟันหัวเราะในลักษณะปล่อยตนเหมือนเด็กชาวบ้าน"

"ดูก่อนท่านทั้งหลาย!" พระอานนท์กล่าวต่อไป "พระพุทธองค์เคยตรัสกับข้าพเจ้าไว้ว่า 'อานนท์ เราจะไม่ทำกับพวกเธออย่างทะนุถนอม อย่างที่ช่างหม้อทำกับหม้อที่ยังเปียกยังดิบ อานนท์! เราจักขนาบแล้วขนาบเล่าให้หยุดหย่อน เราจักชี้ให้เห็นโทษของกิเลสบาปธรรมแล้วๆ เล่าๆ ไม่หยุดหย่อน อานนท์! ผู้ใดมุ่งหวังมรรคผลเป็นสำคัญในการประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ใดเป็นสาระมีประโยชน์ ผู้นั้นจึงจักอยู่ได้"

"ท่านทั้งหลาย! ด้วยประการฉะนี้แล ข้าพเจ้าจึงขอประกาศลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ เพื่อเธอจะได้สำนึกตนและปฏิบัติตนในทางที่ชอบต่อไป" พระอานนท์กล่าวจบ สงฆ์ทั้งสิ้นเงียบ เป็นการยอมรับประกาศนั้นด้วยอาการดุษณี

พระฉันนะได้ทราบว่า บัดนี้สงฆ์ได้ประกาศลงพรหมทัณฑ์แก่ตนแล้ว เกิดสังเวชสลดจิตกลับประพฤติตนดีมีสัมมาคารวะ และเชื่อฟังพระเถระทั้งหลาย ในไม่ช้าก็สำเร็จพระอรหัตตผล

จากโกสัมพี ราชธานีแห่งแคว้นวังสะ พระพุทธอนุชาผู้ประเสริฐ ได้เดินทางเลียบลำน้ำยมุนาขึ้นไปตอนบนสู่แคว้นกุรุ ซึ่งมีนครอินทปัตถ์เป็นเมืองหลวง และจาริกไปในแคว้นต่างๆ อีกหลายแคว้น จนกระทั่งหวนกลับมาสู่ลุ่มแม่น้ำคงคา วนเวียนอยู่ ณ ลุ่มแม่น้ำคงคาตอนบนแห่งแคว้นปัญจาละ ซึ่งมีนครหัสตินาปุระหรือหัสดินบุรีเป็นราชธานี

อันว่าแคว้นปัญจาละนี้ มีแคว้นโกศลอยู่ทางทิศตะวันออก มีแคว้นกุรุอยู่ทางทิศตะวันตก มีหิมาลัยบรรพตอยู่ทางทิศเหนือ และแม่น้ำคงคาอยู่ทางทิศใต้ เป็นแคว้นที่มั่งคั่งพรั่งพร้อมด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากหลาย มีทุ่งสาลีเกษตรเหลืองอร่าม มองดูสุดสายตาประดุจปูด้วยหนังโคสีแดง มีดงมะพร้าวเรียงรายยาวเหยียด บางแห่งพื้นที่ประดับด้วยต้นชงโคดอกสีแสดเข้มบานสะพรั่งเรืองอุไรเย็นตา ทัศนาการไปทางทิศเหนือจะเห็นทิวเขาหิมาลัยสูงตระหง่านเสียดฟ้า บางยอดถูกปกคลุมด้วยหิมะตลอดเวลา หิมาลัยบรรพตแดนเกิดแห่งนิยายและเป็นที่รื่นรมย์อย่างยิ่งของผู้สละโลกีย์ มุ่งแสวงหาสันติวรบท

มองไปทางด้านใต้ จะเห็นแม่น้ำคงคาไหลเอื่อยเป็นเส้นเลือดใหญ่ของชมพูทวีป เป็นจุดรวมใจของชาวภารตะ แทบจะทุกคนมอบความไว้วางใจไว้ให้พระแม่คงคาเป็นผู้กำชีวิตของตน ทั้งด้านชำระมลทินภายใน และด้านเกษตรกรรม

ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคาตอนเหนือ มีชงโคขึ้นระดะ แม้ไม่สู้จะเป็นระเบียบนัก แต่ดอกอันงามเย็นตาของมันก่อให้เกิดความเย็นใจเมื่อได้เห็น เป็นสถานที่ร่มรื่นสงบไม่ใช่ทางสัญจร จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับสมณะผู้แสวงหาวิเวก

วันนั้นพระพุทธอนุชา จาริกเพียงผู้เดียวด้วยจุดประสงค์ คือ แสวงหาที่วิเวกเพื่อพักผ่อน เมื่อผ่านมาเห็นชงโคมีดอกงามบานสะพรั่ง และดูบริเวณเป็นที่รื่นรมย์จึงแวะเข้าพักผ่อนใต้ต้นชงโค ซึ่งมีใบหนาเงาครึ้มต้นหนึ่ง ตรงเบื้องหน้าของท่านมีสระซึ่งเกิดเองตามธรรมชาติ (ชาตสระ) มีปทุมชูดอกสลอน น้ำใสเย็นและจืดสนิทดี ท่านได้ดื่มและล้างหน้าเพื่อระงับความกระหายแล้วนั่งพักอยู่ ณ ที่นั้น

จนตะวันรอนแดดอ่อนลง ส่องลอดใบไม้ลงมาเป็นรูปต่างๆ งามน่าดู เสียงนกเล็กๆ บนกิ่งชงโคร้องทักทายกันอย่างเพลิดเพลิน แสดงถึงจิตใจที่ชื่นบาน มันมีความสุขตามประสาสัตว์ ความสุขเป็นสิ่งหาได้ในที่ทุกแห่งและทุกฐานะ เว้นแต่บุคคลจะไม่รู้จักมองหาเท่านั้น พระพุทธองค์เคยตรัสไว้ว่าบุคคลผู้มีปัญญา สามารถจะหาความสุขได้แม้ในสถานะที่น่าทุกข์ ตรงกันข้ามกับคนเขลา แม้จะอยู่ในฐานะที่น่าจะสุขก็มีแต่ความทุกข์ร้อนเศร้าหมองเสียร่ำไป ถ้าเราฝึกใจให้อดได้ ทนได้อยู่เสมอๆ เราจะมีความสุขสบายขึ้นอีกมาก โลกนี้มีคนร้ายและเรื่องร้ายมาก ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนและในฐานะใด ย่อมจะต้องพบคนร้ายและเรื่องร้ายทุกหนทุกแห่ง ถ้าสามารถกลับเรื่องร้ายให้กลายเป็นดีได้นั้นเป็นเรื่องประเสริฐ แต่ถ้าไม่สามารถกลับเรื่องร้ายให้เป็นดีได้ในทันที ก็ลองอดทนดูเป็นการศึกษาสถานการณ์และศึกษาบุคคลพร้อมๆ กันไป นานๆ เข้าเรื่องที่เขาเข้าใจว่าร้ายในเบื้องต้นอาจจะเป็นผลดีแก่เรามากในบั้นปลาย

จงดูเถิดขยะมูลฝอยที่ใครๆ ทิ้งลงๆ แต่พื้นดินก็สามารถรับขยะมูลฝอยนั้นกลายเป็นปุ๋ย ที่ดินตรงนั้นกลายเป็นดินดีมีคนต้องการมีราคามาก ปลูกพืชผักอะไรลงก็ขึ้นเร็วและสวยงาม คนที่ฝึกตนให้อดได้ ทนได้ มักจะเป็นคนดีมีค่าแก่สังคมอย่างมาก สถานที่จำกัด ทรัพยากรธรรมชาติมีน้อย แต่คนเพิ่มมากขึ้นนานวันไปมนุษย์ยิ่งจะต้องแย่งกันอยู่แย่งกันกินมากขึ้น ความบากบั่นอดทนก็จะต้องใช้มากขึ้น นอกจากนี้ในสังคมมนุษย์มีทั้งคนดีและคนเลว มีอัธยาศัยประณีตและอัธยาศัยทราม ยิ่งผู้น้อยที่ต้องอยู่ร่วมกับผู้ใหญ่ที่มีอัธยาศัยทราม เห็นแก่ตัว และโหดร้ายด้วยแล้ว เขาจะต้องกระทบกระเทือนใจและอดทนสักเพียงใด ลองให้ผู้ใหญ่เลวๆ อย่างนั้นไปอยู่ใต้บังคับบัญชาของคนอื่นดูบ้างซิ เขาจะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่เลวหรือไม่ แต่ก็มีอยู่บ้างเหมือนกัน หรือบางทีก็มีอยู่เสมอๆ ที่ทำให้เราต้องประหลาดใจว่า เหตุไฉนคนเลวๆ อย่างนี้จึงเป็นใหญ่เป็นโตขึ้นมาได้ มันเป็นเรื่องของกรรมที่สลับซับซ้อนสุดที่จะแยกแยะให้ถี่ถ้วนด้วยปัญญาสามัญ

บัดนี้ พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว ทิ้งไว้แต่ร่องรอยแห่งแสงสว่างเพียงรางๆ เสมือนดรุณีวัยกำดัดยิ้มด้วยความเบิกบานใจ เมื่อหยุดยิ้มแล้วรอยแห่งความร่าเริงก็ยังเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย ฉะนั้น

พระพุทธอนุชาตั้งใจจะถือเอาโคนชงโคเป็นที่พักกายในราตรีนี้ แต่พอท่านเอนกายลงพิงโคนชงโคนั่นเองได้เหลือบเห็นชายหญิงคู่หนึ่งเดินมา ถือหม้อมาคนละใบมุ่งตรงมาสู่สระ เมื่อได้มองเห็นสมณะนั่งพิงโคนชงโคอยู่เขาจึงเดินอ้อมสระมา พอเห็นชัดว่าเป็นสมณะศากยบุตรเข้าจึงนั่งละไหว้ แล้วชายผู้นั้นก็กล่าวขึ้นว่า

"ข้าแต่สมณะ! ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่มาเป็นเวลานานไม่เคยได้พบเห็นสมณะผู้ใดมาเยือนสถานที่นี้เลย ข้าพเจ้าทั้งสองแม้จะมิใช่เจ้าของถิ่นโดยแท้จริงก็เหมือนเป็นเจ้าของถิ่น ข้าพเจ้าขอต้อนรับท่านสมณะผู้เป็นอาคันตุกะด้วยความรู้สึกเป็นมิตร และถือเป็นโชคดีที่ได้พบท่านผู้สงบ"

"ดูก่อนผู้มีใจอารี" พระพุทธอนุชากล่าวตอบ "ข้าพเจ้าขอขอบใจในไมตรีจิตของท่านทั้งสอง และถือเป็นโชคดีเช่นกันที่ได้พบท่าน ซึ่งข้าพเจ้ามิได้คาดหวังว่าจะได้พบในป่าเปลี่ยวเช่นนี้"

ชายหญิงทั้งสองแสดงอาการพอใจต่อคำกล่าวที่ไพเราะ และแสดงความเป็นมิตรของพระพุทธอนุชา แล้วกล่าวว่า "ท่านผู้ประเสริฐ! เวลานี้ก็จวนค่ำแล้ว ท่านมีที่พำนัก ณ แห่งใดเป็นที่ประจำ หรือท่านเป็นนักพรตผู้จาริก ไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง?"

"ข้าพเจ้าเป็นนักพรตผู้จาริกไปตามอัธยาศัย ไม่ติดที่ หรือยึดถือที่ใดที่หนึ่งเป็นแหล่งของตน ข้าพเจ้าพอใจการกระทำเช่นนี้" พระอานนท์ตอบ

"ข้าแต่สมณะ! ถ้าอย่างนั้นข้าพเจ้าใคร่ขอเชิญท่านพำนัก ณ กระท่อมของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีกระท่อมอยู่สองหลัง หลังหนึ่งเพื่อข้าพเจ้าและภรรยาอยู่อาศัย อีกหลังหนึ่งเพื่อเก็บของเล็กๆ น้อยๆ ถ้าท่านไม่รังเกียจ และยินดีรับคำเชื้อเชิญของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะเก็บของเล็กๆ น้อยๆ ไว้อีกมุมหนึ่ง ส่วนอีกมุมหนึ่งพอเป็นที่พักของท่านได้อย่างสบาย มีประตูหน้าต่างเปิดปิดได้สะดวก มีลมพัดเย็น ถ้าท่านรับคำเชื้อเชิญข้าพเจ้าจะยินดีมาก ข้าพเจ้าจะได้สนทนากับท่านผู้ประเสริฐให้เป็นที่เอิบอิ่มใจ ข้าแต่อาคันตุกะ! ข้าพเจ้าเคยสดับมาว่าการได้เห็น การได้เข้าใกล้ และการได้สนทนากับสมณะนั้นเป็นมงคล ข้าพเจ้าต้องการมงคลเช่นนั้นด้วยเหมือนกัน" เขากล่าวจบหันมามองดูภรรยาเหมือนเป็นเชิงปรึกษาสตรีผู้นั้นจึงกล่าวขึ้นว่า

"ข้าแต่สมณะ! ถ้าท่านยังไม่มีกิจกังวลเรื่องอื่นหรือไม่เป็นการรบกวนความวิเวกสงัดของท่าน ก็โปรดรับคำอาราธนาของข้าพเจ้าทั้งสองด้วยเถิด"

พระพุทธอนุชาดำริว่าสามีภรรยาทั้งสองนี้ดูท่าทีเป็นผู้มีตระกูลและได้รับการศึกษาสูง แต่เหตุไฉนจึงมาซ่อนตัวเองอยู่ในป่าเปลี่ยว ดูวัยก็ยังหนุ่มสาว คงจะมีอะไรอยู่เบื้องหลังที่น่าสนใจบ้างกระมัง การสนทนากับผู้เช่นนี้คงไม่ไร้ประโยชน์เป็นแน่แท้ คิดดังนี้แล้วท่านจึงกล่าวว่า "ดูก่อนผู้ใจอารี! ข้าพเจ้ายินดีรับคำเชื้อเชิญของท่าน"

สามีภรรยาทั้งสองแสดงอาการพอใจอย่างยิ่ง แล้วชวนกันลงตักน้ำในสระคนละหม้อ แล้วเดินนำพระพุทธอนุชาไปสู่กระท่อมน้อย จัดของเล็กๆ น้อยๆ ไว้มุมหนึ่ง ปัดกวาดเช็ดถูเสนาสนะจนสะอาดเรียบร้อย แล้วเชื้อเชิญพระพุทธอนุชาให้นั่ง นำน้ำมันมานวดเท้า ส่วนภรรยาของเขากลับไปกระท่อมอีกหลังหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างกันเพียงเล็กน้อย

"ดูก่อนผู้มีใจอารี!" พระอานนท์ "กระท่อมของท่านนี้แม้จะอยู่ป่า แต่ก็ปลูกสร้างอย่างดีน่าอยู่อาศัย สะอาดเรียบร้อย เป็นการแสดงถึงอัธยาศัยประณีตแห่งเจ้าของ"

"ข้าแต่อาคันตุกะ! ข้าพเจ้าขอขอบคุณในคำกล่าวของท่าน อนึ่งป่าชงโคนี้เป็นสวรรค์ของข้าพเจ้า เป็นที่ๆ ข้าพเจ้าพอใจเป็นที่สุด ข้าพเจ้าอาศัยอยู่อย่างสงบสุข ข้าพเจ้ากล่าวว่า "สงบสุข" เป็นความถูกต้องโดยแท้ คือทั้งสงบและสุขรวมอยู่ในกระท่อมน้อย และในป่าชงโคนี้" เขากล่าวแล้วยิ้มอย่างภาคภูมิใจ

"ดูก่อนผู้มีใจอารี! เหตุไฉนท่านจึงพอใจป่าชงโคนี้เป็นหนักหนา ดูท่านยังอยู่ในวัยหนุ่ม และภรรยาของท่านก็ยังอยู่ในวัยสาว คนหนุ่มสาวน่าจะพอใจในแสงสีแห่งนครหลวงมากกว่าจะยินดีในที่สงัดเปล่าเปลี่ยวเช่นนี้ ท่านถือกำเนิดหรือภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่นี้หรือ?"
"หามิได้ ท่านสมณะ ข้าพเจ้าเกิดแล้วในท่ามกลางพระนครหลวงทีเดียว" เขาตอบ

"คำกล่าวของท่านยิ่งทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจมากขึ้น" พระอานนท์กล่าว
"เป็นของน่าประหลาดเกินไปหรือท่าน" ชายหนุ่มกล่าว "ที่คนหนุ่มอย่างข้าพเจ้ามาพอใจในวิเวกดำเนินชีวิตอย่างสงบ"
"ประหลาดมากทีเดียว" พระอานนท์รับ
"เพราะเหตุใดหรือ?" ชายหนุ่มถาม
"เพราะคนส่วนใหญ่หรือโดยมาก ในวัยท่านนี้ย่อมพอใจในความสนุกเพลิดเพลินอีกแบบหนึ่ง คือแบบที่คนส่วนมากเขานิยมกัน คลุกคลีอยู่ด้วยหมู่คณะและอารมณ์เย้ายวนต่างๆ แต่ท่านไม่เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ท่านเป็นชายหนุ่มที่ประหลาด มีเหตุการณ์อะไรกระทบกระเทือนใจท่านอย่างรุนแรงหรือ หรือท่านมีอัธยาศัยน้อมไปในวิเวกตั้งแต่ยังเยาว์?"

"ข้าแต่อาคันตุกะ! ชายหนุ่มกล่าว "ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ทุกคนน่าจะมีหัวเลี้ยวแห่งชีวิตที่สำคัญที่สุดสักครั้งหนึ่งในชีวิตของแต่ละคน และหัวเลี้ยวนั้นเองจะเป็นสาเหตุให้เขาดำเนินชีวิตที่ยืดยาวไปจนกว่าชีวิตจะจบลง ข้าพเจ้ามีหัวเลี้ยวชีวิตอยู่ตอนหนึ่งซึ่งทำให้ข้าพเจ้าเลี้ยวมาทางนี้ และเข้าใจว่า ข้าพเจ้าจะดำเนินชีวิตแบบนี้ต่อไป จนสิ้นลมปราณ"

"ดูก่อนผู้พอใจในวิเวก" พระอานนท์กล่าว "ถ้าไม่เป็นการรบกวนเวลาของท่าน ข้าพเจ้าปรารถนาจะรับฟังความเป็นมาแห่งท่านพอเป็นเครื่องประดับความรู้ เวลานี้ปฐมยามแห่งราตรีก็ยังไม่สิ้น ถ้าท่านไม่ขัดข้องหรือไม่ถือเป็นความลับก็ขอได้โปรดเล่าเถิด"

ลมปราณปฐมยามพัดแผ่วเข้ามาทางหน้าต่างรำเพยเอากลิ่นดอกไม้ป่าบางชนิดติดตามด้วย หอมเย็นระรื่น ความอบอ้าวของอากาศเมื่อทิวากาลได้ปลาสนการไปแล้ว บรรยากาศในยามนี้เย็นสบาย แสงโสมสาดส่องเข้ามาทางหน้าต่าง ต้องผิวหน้าของชายหนุ่มดูสดใสแต่แฝงไว้ซึ่งแววเศร้าอย่างลึกซึ้ง เขาขยับกายเล็กน้อยก่อนจะกล่าวว่า

"ข้าแต่ท่านผู้ทรงพรต! ถ้าท่านยินดีรับฟังเรื่องราวความเป็นมาแห่งข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ยินดีเล่าสู่ท่านฟัง เรื่องของข้าพเจ้ามีทั้งความสุขและความเศร้า มีทั้งความหวานชื่นและขื่นขม มีสาระบ้างไม่มีสาระบ้าง"

เมื่อพระอานนท์แสดงอาการว่าพร้อมแล้ว ชายหนุ่มจึงเริ่มเล่าดังนี้
สิ่งอัศจรรย์ ปรากฏ บนผืนหล้า
มหาวิหาร จรัสฟ้า ค่ายิ่งใหญ่
รูปทอง ผ่องผุด ดุจยองใย
สะท้อนถึง ห้วงดวงใจ สุดบูชา

*********************

รักษ์ร่างพอสร่างร้าย ..... รอดตน
ยอดเยี่ยม "ธรรมกาย" ผล ..... ผ่องแผ้ว

เลอเลิศล่วงกุศล ..... ใดอื่น
เชิญท่านถือเอาแก้ว ..... ก่องหล้าเรืองสกล


คำสอนของเดชพระคุณหลวงพ่อ
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย

#2 ปัจเจกชน บนทางสายกลาง

ปัจเจกชน บนทางสายกลาง
  • Members
  • 4109 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:จ. สงขลา

โพสต์เมื่อ 21 March 2007 - 10:14 AM

ขอกราบอนุโมทนาบุญกับคุณ MiraclE...DrEaM ด้วยครับ สาธุ
เริ่มสนุกแล้ว ชายหนุ่มจะเล่าว่าอย่างไร