ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

พระพุทธโอวาท ๓ เดือนก่อนปรินิพพาน - ตอนที่ ๓


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 3 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 MiraclE...DrEaM

MiraclE...DrEaM
  • Members
  • 1368 โพสต์

โพสต์เมื่อ 13 July 2006 - 09:43 PM

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! คราวหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล ราชาแห่งแคว้นนี้ เข้าไปหาตถาคตและถามว่า บุคคลควรจะให้ทานในที่ใด เราตอบว่า ควรให้ในที่ที่เลื่อมใส คือเลื่อมใสบุคคลใด คณะใดก็ควรให้แก่บุคคลนั้น ในคณะนั้น พระองค์ถามต่อไปว่า ให้ทานในที่ใดจึงจะมีผลมาก เราตถาคตตอบว่า ถ้าต้องการผลมากแล้วละก็ควรจะให้ทานในท่านผู้มีศีล การให้แก่บุคคลผู้ทุศีล หามีผลมากอย่างนั้นไม่ สถานที่ทำบุญเปรียบเหมือนเนื้อนา เจตนาและไทยทานของทายก เปรียบเหมือนเมล็ดพืช ถ้าเนื้อนาดีคือบุคคลผู้รับเป็นคนดีมีศีลธรรมและประกอบด้วยเมล็ดพืช คือเจตนาและไทยทานของทายก บริสุทธิ์ทานนั้นย่อมมีผลมาก การหว่านลงในนาที่เต็มไปด้วยหญ้าแฝก และหญ้าคา ต้นข้าวย่อมขึ้นได้โดยยากฉันใด การทำบุญในคณะบุคคลผู้มีศีลน้อย มีธรรมน้อยก็ฉันนั้น คือย่อมได้บุญน้อย ส่วนการทำบุญในคณะบุคคลซึ่งมีศีลดี มีธรรมงาม ย่อมจะมีผลมากเป็นภาวะอันตรงกันข้ามอยู่ดังนี้ เพราะฉะนั้น บุคคลไม่ควรประมาทว่าบุญหรือบาปเพียงเล็กน้อยจะไม่ให้ผล หยาดน้ำที่ไหลลงทีละหยดยังทำให้แม่น้ำเต็มได้ฉันใดการสั่งสมบุญหรือบาปแม้ทีละน้อยก็ฉันนั้น ผู้สั่งสมบุญย่อมเปี่ยมล้นไปด้วยบุญ ผู้สั่งสมบาปย่อมเพียบแปร้ไปด้วยบาป"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! พรหมจรรย์นี้เราประพฤติมิใช่เพื่อหลอกลวงคน มิใช่เพื่อให้คนทั้งหลายมานับถือ มิใช่เพื่ออานิสงส์ลาภสักการะและความสรรเสริญ มิใช่จุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเจ้าลัทธิและแก้ลัทธิอย่างนั้นอย่างนี้ มิใช่เพื่อให้ใครรู้จักว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ที่แท้พรหมจรรย์นี้เราประพฤติเพื่อสังวระคือความสำรวม เพื่อปหานะคือความละ เพื่อวิราคะคือคลายความกำหนัดยินดี และเพื่อนิโรธะคือความดับทุกข์"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ลึกซึ้งเห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบประณีต มิใช่วิสัยแห่งสัตว์ คือคิดเอาไม่ได้ หรือไม่ควรลงความเห็นด้วยการเดา แต่เป็นธรรมที่บัณฑิตพอจะรู้ได้"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! จงดูกายอันนี้เถิด ฟันหัก ผมหงอก หนังเหี่ยวๆ ยานๆ มีอาการทรุดโทรมให้เห็นอย่างเด่นชัดเหมือนเกวียนที่ชำรุดแล้วชำรุดอีก ได้อาศัยแต่ไม้ไผ่มาซ่อมไว้ ผูกกระหน่ำคาบค้ำไว้ จะยืนนานไปได้สักเท่าไร การแตกสลายย่อมจะมาถึงเข้าสักวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงมีธรรมเป็นที่เกาะที่พึ่งเถิด อย่าคิดยึดสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย แม้ตถาคตก็เป็นแต่เพียงผู้บอกทางเท่านั้น"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! จงดูกายอันเปื่อยเน่านี้เถิด มันอาดูรไม่สะอาด มีสิ่งสกปรกไหลเข้าไหลออกอยู่เสมอ ถึงกระนั้นก็ตาม มันยังเป็นที่พอใจปรารถนายิ่งนักของคนผู้ไม่รู้ความจริงข้อนี้ ภิกษุทั้งหลาย ร่างกายนี้ไม่นานนักหรอกคงจะนอนทับถมแผ่นดิน ร่างกายนี้เมื่อปราศจากวิญญาณครองแล้วก็ถูกทอดทิ้งเหมือนท่อนไม้ที่ไร้ค่า อันเขาทิ้งเสียแล้วโดยไม่ใยดี"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! อันร่างกายนี้สะสมไว้แต่ของสกปรก มีสิ่งปฏิกูลไหลออกจากทวารทั้งเก้า มีช่องหู ช่องจมูก เป็นต้น เป็นที่อาศัยแห่งสัตว์เล็กสัตว์น้อยเป็นป่าช้าแห่งซากสัตว์นานาชนิด เป็นรังแห่งโรค เป็นที่เก็บโรค อุปมาเหมือนถุงหนังซึ่งบรรจุเอาสิ่งโสโครกต่างๆ เข้าไว้แล้วซึมออกมาเสมอๆ เจ้าของกายจึงต้องชำระล้างขัดถูวันละหลายหลายครั้ง เมื่อเว้นจากการชำระล้างแม้เพียงวันเดียว หรือสองวันกลิ่นเหม็นก็ปรากฏเป็นที่รังเกียจเป็นของน่าขยะแขยง"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! อริยะมรรคประกอบด้วยองค์แปดเป็นทางอันประเสริฐ สามารถทำให้บุคคลเดินไปตามทางนี้ถึงซึ่งความสุขสงบเย็นเต็มที่ เป็นทางเดินไปสู่อมตะ"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุหรือใครๆ ก็ตาม พึงอยู่โดยชอบ ปฏิบัติดำเนินตามมรรคอันประเสริฐประกอบด้วยองค์แปดนี้อยู่ โลกก็จะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ใดเคารพหนักแน่นในพระศาสดาและพระธรรม มีความยำเกรงในสงฆ์ มีความเคารพหนักแน่นในสมาธิ มีความเพียรเรื่องเผาบาป เคารพในไตรสิกขาและเคารพในปฏิสันถารการต้อนรับอาคันตุกะ ผู้เช่นนั้นย่อมไม่เสื่อม ดำรงตนอยู่ใกล้พระนิพพาน"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ตราบใดที่พวกเธอยังหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ พร้อมเพรียงกันประชุม เคารพในสิกขาบทบัญญัติ ยำเกรงภิกษุผู้เป็นสังฆเถระสังฆบิดร ไม่ยอมตนให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งตัณหา พอใจในการอยู่อาศัยเสนาสนะป่า ปรารถนาให้เพื่อนพรหมจารีย์มาสู่สำนักและอยู่เป็นสุข ตราบนั้นพวกเธอจะไม่เสื่อมเลย มีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ตราบใดที่พวกเธอไม่หมกมุ่นกับการงานมากเกินไป ไม่พอใจด้วยการคุยฟุ้งซ่าน ไม่ชอบใจในการนอนมากเกินควร ไม่ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่เป็นผู้ปรารถนาลามก ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจแห่งความปรารถนาชั่ว ไม่คบมิตรเลว ไม่หยุดความเพียรพยายามเพื่อบรรลุคุณธรรมขั้นสูงขึ้นไปแล้ว ตราบนั้นพวกเธอจะไม่มีความเสื่อมเลย มีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! วาจาสุภาษิตย่อมไม่มีประโยชน์แก่ผู้ไม่ทำตาม เหมือนดอกไม้ที่มีสีสวย สัณฐานดีแต่หากลิ่นมิได้ แต่วาจาสุภาษิตจะมีประโยชน์อย่างมากแก่ผู้ทำตามเหมือนดอกไม้ที่มีสีสวยมีสัณฐานงามและมีกลิ่นหอม ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมที่เรากล่าวดีแล้วนั้น ย่อมไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์ไพศาลแก่ผู้ไม่ทำตามโดยเคารพ แต่จะมีผลมาก มีอานิสงส์ไพศาล แก่ผู้ซึ่งกระทำโดยนัยตรงกันข้าม มีการฟังโดยเคารพ เป็นต้น"

พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า "มาเถิดอานนท์ ! เราจักไปกุสินารานครด้วยกัน" พระอานนท์รับพุทธบัญชาแล้วประกาศให้ภิกษุทั้งหลายทราบพร้อมกัน แล้วเดินจากสถานที่นั้นมุ่งสู่กุสินารานคร ในระหว่างทางทรงเหน็ดเหนื่อยมากจึงแวะเข้าร่มพฤกษ์ใบหนาต้นหนึ่ง รับสั่งให้พระอานนท์ปูผ้าสังฆาฏิทำเป็นสี่ชั้น

"อานนท์ ! เราเหน็ดเหนื่อยเหลือเกินอาพาธก็มีอาการรุนแรงขึ้น เร็วเข้าเถิดรีบปูลาดสังฆาฏิลง เราจะนอนพักผ่อนและขอให้เธอไปนำน้ำมาดื่มพอแก้กระหาย"

"พระเจ้าข้า" พระอานนท์ทูล "เกวียนเป็นจำนวนมากเพิ่งผ่านพ้นลำน้ำไปสักครู่นี้เอง น้ำยังขุ่นอยู่ไม่สมควรที่พระองค์จะดื่ม ขอพระองค์ไปดื่ม ณ แม่น้ำกกุธานทีเถิด มีน้ำใสจืดสนิทเย็นดี"

"อย่าเลย อานนท์" พระคถาคต ตรัสเป็นเชิงวิงวอน "อย่าคอยจนไปถึงแม่น้ำกกุธานทีเลย เรากระหายเหลือเกิน ร่างกายร้อนคอแห้งผาก เธอจงรีบไปนำน้ำมาเถิด"

พระอานนท์รับพุทธบัญชาแล้ว ถือบาตรของพระตถาคตเจ้าไป ท่านมีอาการเศร้าซึมและวิตกกังวล เมื่อมาถึงริมแม่น้ำยังมองเห็นน้ำขุ่นอยู่ ท่านมีอาการเหมือนว่าจะเดินกลับ แต่ด้วยความเชื่อและห่วงใยในพระศาสดา จึงเดินลงไปอีก พอท่านทำท่าจะตักน้ำขึ้นมาเท่านั้น น้ำซึ่งมีสีขุ่นขาวเพราะรอยเกวียนและโค ก็ปรากฏเป็นน้ำใสสะอาดเหมือนกระจกเงา ท่านจึงตักน้ำนั้นมา แล้วรีบกลับน้อมบาตรน้ำเข้าไปถวายพระศาสดา

พระพุทธองค์ทรงดื่มด้วยความกระหาย พระอานนท์มองดูด้วยความชื่นชมในพุทธบารมีแล้วทูลว่า "พระพุทธเจ้าข้า อัศจรรย์จริง ! สิ่งที่ไม่เคยมีไม่เคยปรากฏ ได้มีได้ปรากฏแล้วเป็นเพราะพุทธานุภาพโดยแท้ เป็นบารมีธรรมสั่งสมแท้" แล้วท่านก็เล่าเรื่องน้ำที่ขุ่นกลับใสสะอาดโดยฉับพลันให้พระผู้มีพระภาคเจ้าสดับ พระจอมมุนีทรงประทับ สงบนิ่งด้วยอาการแห่งผู้เจนจบและเข้าใจในความเป็นไปทั้งปวง

ก่อนหน้านี้เพียงเล็กน้อย เมื่อพระองค์ผ่านมาทางเมืองปาวา ประทับ ณ สวนมะม่วงของนายจุนทะบุตรแห่งนายช่างทอง นายจุนทะ ทูลอาราธนาพระพุทธองค์รับภัตตาหาร ณ บ้านแห่งตน แล้วจัดแจงขาทนียโภชนียาหารอย่างประณีต รุ่งขึ้นได้เวลาแล้วอาราธนาพระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์เพื่อเสวย พระพุทธองค์ทอดทัศนาการเห็นสูกรมัทวะ อาหารชนิดหนึ่งซึ่งย่อยยาก จึงรับสั่งให้ถวายแด่พระองค์แต่เพียงผู้เดียวมิให้ถวายแก่ภิกษุรูปอื่น เมื่อพระองค์เสวยแล้วก็รับสั่งให้ฝังเสีย

ดูเถิด ! พระมหากรุณาแห่งพระองค์มีถึงปานนี้ สำหรับพระองค์นั้นมิได้ห่วงใยในชีวิตอีกแล้ว เพราะถึงอย่างไรก็ต้องนิพพานในคืนวันนี้แน่นอน ทรงเป็นห่วงภิกษุสาวกจะลำบากถ้าฉันอาหารที่ย่อยยากชนิดนั้น ประหนึ่งมารดาหรือบิดาผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมในบุตรของตน ทราบว่าอะไรจะทำให้บุตรธิดาลำบาก ย่อมพร้อมที่จะรับความลำบากอันนั้นเสียเอง

สูกรมัทวะให้ผลในทันที อาการประชวรของพระองค์ทรุดหนักลงอย่างน่าวิตก มีพระบังคนเป็นโลหิต แต่ถึงกระนั้นก็ยังเสด็จด้วยพระบาทเปล่าจากปาวาสู่กุสินารานครดังกล่าวแล้ว

พระองค์ต้องหยุดพักเป็นระยะๆ หลายครั้งก่อนจะถึงกุสินารา ราชธานีแห่งมัลลกษัตริย์ ณ ใต้ร่มพฤกษ์ใบหนาแห่งหนึ่ง ขณะที่พระองค์หยุดพัก มีบุตรแห่งมัลลกษัตริย์นามว่าปุกกุสะ เคยเป็นศิษย์ของอาฬารดาบส กาลามโคตร เดินทางจากกุสินารา เพื่อไปยังปาวานคร ได้เห็นพระภาคแล้วเกิดความเลื่อมใส จึงน้อมนำผ้าคู่งาม ซึ่งมีสีเหมือนทองสินทบเข้าไปถวาย รับสั่งให้ถวายแก่พระองค์ผืนหนึ่ง แก่พระอานนท์ผืนหนึ่ง

พระอานนท์เห็นว่าผ้านั้นไม่สมควรแก่ตน จึงน้อมนำผ้านั้นเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคอีกผืนหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงนุ่งและห่มแล้ว ผ้านั้นสวยงามยิ่งนัก ปรากฏประดุจถ่านเพลิงปราศจากควัน และเปลวพระฉวีของพระองค์เล่า ก็ช่างผุดผ่องงดงามเกินเปรียบ ท่านได้เห็นเหตุการณ์ดังนั้นจึงกราบทูลพระพุทธองค์ว่า

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐ ! ข้าพระองค์สังเกตเห็นพระฉวีของพระองค์ผุดผ่องยิ่งนัก เกินที่จะเปรียบด้วยสิ่งใดเปล่งปลั่งมีรัศมี พระองค์ผู้ประเสริฐ ! บัดนี้พระองค์ทรงมีพระชนม์มายุถึงแปดสิบแล้ว อยู่ในวัยชราเต็มที่ เหมือนผลไม้สุกจนงอม อนึ่งเล่าเวลานี้พระองค์ทรงพระประชวรหนัก ร่างกายเป็นผู้มีโรคเบียดเบียน แต่เหตุใดผิวพรรณของพระองค์จึงผุดผ่องยิ่งนัก"

"อานนท์ !" พระศาสดาตรัสตอบ "เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าที่เป็นอย่างนี้ ในคราวจะตรัสรู้คราวหนึ่ง และก่อนที่จะนิพพานอีกคราวหนึ่ง ผิวพรรณแห่งตถาคตย่อมปรากฏงดงามประดุจรัศมีแห่งสุริยาเมื่อแรกรุ่นอรุณและจวนจะอัสดง ดูกรอานนท์ ! ในยามสุดท้ายแห่งราตรีนี้ ตถาคตจะต้องปรินิพพานในระหว่างต้นสาละทั้งคู่ซึ่งโน้มกิ่งเข้าหากัน มีใบใหญ่หนา มีดอกเป็นช่อชั้น" ตรัสดังนั้นแล้ว จึงเสด็จนำพระอานนท์ไปสู่ฝั่งน้ำกกุธานที เสด็จลงทรงสำราญตามพระพุทธอัธยาศัย แล้วเสด็จขึ้นจากกกุธานที ไปประทับ ณ อัมพวัน รับสั่งให้พระจุนทะ น้องชายพระสารีบุตร ปูลาดสังฆาฏิเป็นสี่ชั้น แล้วบรรทมด้วยสีหะไสยา คือตะแคงขวาเอาพระหัตถ์รองรับพระเศียร ซ้อนพระบาทให้เหลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ ตั้งพระทัยว่าจะลุกขึ้นในไม่ช้า

ขณะนั้นเอง ความปริวิตกถึงนายจุนทะผู้ถวายสูกรมัทวะก็เกิดขึ้น จึงตรัสกับพระอานนท์ว่า "อานนท์ ! เมื่อเรานิพพานไปแล้วอาจมีผู้กล่าวโทษจุนทะว่าถวายอาหารที่เป็นพิษ จนเป็นเหตุให้เราปรินิพพาน หรือมิฉะนั้นจุนทะอาจจะเกิดวิปปฏิสารเดือดร้อนใจตัวเองว่าเพราะเสวยสูกรมัทวะอันตนถวาย พระตถาคตจึงนิพพาน ดูกรอานนท์ ! บิณฑบาตทานที่อานิสงส์มาก มีผลไพศาล มีอยู่สองคราวด้วยกันคือ เมื่อนางสุชาดาถวายเราก่อนจะตรัสรู้ครั้งหนึ่ง และอีกครั้งหนึ่งที่จุนทะถวายนี้ ครั้งแรกเสวยอาหารของสุชาดาแล้วตถาคตก็ถึงซึ่งกิเลสนิพพาน คือการดับกิเลส ครั้งหลังนี้เสวยอาหารของจุนทะบุตรนายช่างทองแล้วเราก็นิพพานด้วยขันธนิพพานคือ ดับขันธ์ อันเป็นวิบากที่ยังเหลืออยู่ ถ้าใครๆ จะพึงตำหนิจุนทะ เธอพึงกล่าวให้เขาเข้าใจตามนี้ ถ้าจุนทะจะพึงเดือดร้อนใจ เธอพึงกล่าวปลอบใจให้เขาคลายวิตกกังวลเสีย อาหารของจุนทะเป็นอาหารมื้อสุดท้ายสำหรับเรา"

ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะมีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวารเสด็จข้ามแม่น้ำหิรัญวญวดีถึงกรุงกุสินารา เสด็จเข้าสู่สาละวโนทยานคืออุทยานซึ่งสะพรึกพรั่งด้วยต้นสาละ รับสั่งให้พระอานนท์จัดแท่นบรรทมระหว่างต้นสาละ ซึ่งมีกิ่งโน้มเข้าหากัน ให้หันพระเศียรไปทางทิศอุดร

ครั้งนั้นมีบุคคลเป็นจำนวนมาก จากสารทิศต่างๆ เดินทางมาเพื่อเฝ้าพระพุทธสรีระเป็นปัจฉิมกาล แผ่เป็นปริมณฑลกว้างออกไปสุดสายตา สมเด็จพระมหาสมณะทรงเห็นเหตุการณ์ดังนี้แล้ว จึงตรัสกับพระอานนท์เป็นเชิงปรารภว่า

"อานนท์ ! พุทธบริษัททั้ง สี่ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำสักการะบูชาเราด้วยเครื่องบูชาสักการะทั้งหลายอันเป็นอามิส เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น หาชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอันยิ่งไม่ อานนท์ เอ๋ย ! ผู้ใด ปฏิบัติตามธรรมปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมอันเหมาะสม ผู้นั้นแลชื่อว่าสักการะบูชาเราด้วยการบูชาอันยอดเยี่ยม"

พระอานนท์ทูลว่า "พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อก่อนนี้ออกพรรษาแล้ว ภิกษุทั้งหลายต่างพากันเดินทางมาจากทิศานุทิศเพื่อเฝ้าพระองค์ ฟังโอวาทจากพระองค์ บัดนี้พระองค์จะปรินิพพานเสียแล้ว ภิกษุทั้งหลาย จะพึงไป ณ ที่ใด ?"

"อานนท์ ! สถานที่อันเป็นเหตุให้ระลึกถึงเราก็มีอยู่คือ สถานที่ที่เราประสูติแล้วคือ ลุมพินีวันสถาน สถานที่ที่เราตั้งอาณาจักรแห่งธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก คือป่าอิสิปตนะมิคทายะแขวงเมืองพาราณสีสถานที่ที่เราตรัสรู้อนุตตรสัมมาโพธิฐาณ บรรลุความรู้อันประเสริฐทำกิเลสให้สิ้นไป คือ โพธิมณฑล ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม และสถานที่ที่เราจะปรินิพพาน ณ บัดนี้ คือป่าไม้สาละ ณ นครกุสินารา อานนท์เอ๋ย ! สถานที่ทั้งสี่แห่งนี้เป็นสังเวชนียสถาน สารานียสถาน สำหรับให้ระลึกถึงเราและเดินตามรอยพระบาทแห่งเรา"

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ! ในพรหมจรรย์นี้มีสุภาพสตรีเป็นอันมากเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ในฐานะต่างๆ เป็นมารดาบ้าง เป็นพี่หญิงน้องหญิงบ้าง เป็นเครือญาติบ้างและเป็นผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัยบ้างภิกษุจะพึงปฏิบัติต่อสตรีอย่างไร?"

"อานนท์ ! การที่ภิกษุจะไม่ดูไม่แลสตรีเพศเสียเลยนั้นเป็นการดี"
"ถ้าจำเป็นต้องดูต้องเห็นเล่าพระเจ้าข้า" พระอานนท์ทูลซัก
"ถ้าจำเป็นต้องดูต้องเห็น ก็อย่าพูดด้วย อย่าสนทนาด้วยนั้นเป็นการดี" พระศาสดาตรัสตอบ
"ถ้าจำเป็นต้องสนทนาด้วยเล่าพระเจ้าข้า จะปฏิบัติอย่างไร"
"ถ้าจำเป็นต้องสนทนาด้วยก็จงมีสติไว้ ควบคุมสติให้ดี สำรวมอินทรีย์วาจาให้เรียบร้อย อย่าให้ความกำหนัดยินดี หรือความหลงไหลครอบงำจิตใจได้ อานนท์ ! เราล่าวว่าสตรีที่บุรุษเอาใจเข้าไปเกาะเกี่ยวนั้น เป็นมลทินของพรหมจรรย์"
"แล้วสตรีที่บุรุษมิได้เอาใจเข้าไปเกี่ยวเกาะเล่าพระเจ้าข้า จะเป็นมลทินของพรหมจรรย์หรือไม่ ?"
"ไม่เป็นซิอานนท์ ! เธอระลึกได้อยู่หรือ เราเคยพูดไว้ว่าอารมณ์อันวิจิตร สิ่งสวยงามในโลกนี้มิใช่กาม แต่ความกำหนัดที่เกิดขึ้น เพราะการดำริต่างหากเล่าเป็นกามของคนเมื่อกระชากความพอใจออกเสียได้แล้ว สิ่งวิจิตรสวยงามก็อยู่อย่างเก้อๆ ทำพิษอะไรมิได้อีกต่อไป"

พระผู้มีพระภาคบรรทมสงบนิ่ง พระอานนท์ก็พลอยนิ่งตามไปด้วย ดูเหมือนท่านจะตรึกตรองพุทธวจะนะที่ตรัสจบลงสักครู่นี้
ความเงียบสงัดปกคลุมอยู่ครู่หนึ่ง แล้วพระอานนท์ก็ทูลว่า
"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ! เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้วจะปฏิบัติเกี่ยวกับพุทธสรีระอย่างไร"
"อย่าเลยอานนท์ ! " พระศาสดาทรงห้าม "เธออย่ากังวลกับเรื่องนี้เลย หน้าที่ของพวกเธอคือคุ้มครองตนด้วยดี จงพยายามทำความเพียรเผาบาป ให้เร่าร้อนอยู่ทุกอิริยาบถเถิด สำหรับเรื่องสรีระของเราเป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ที่จะพึงทำกัน กษัตริย์ พราหมณ์ และคหบดีเป็นจำนวนมากที่เลื่อมใสตถาคตก็มีอยู่ไม่น้อย เขาคงทำกันเองเรียบร้อย"
"พระเจ้าข้า" พระอานนท์ทูล "เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ก็จริงอยู่ แต่ถ้าเขาถามข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะพึงบอกเขาอย่างไร"
"อานนท์ ! ชนทั้งหลายเมื่อปฏิบัติต่อสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ์อย่างไร ก็พึงปฏิบัติต่อสรีระแห่งตถาคตอย่างนั้นเถิด"
"ทำอย่างไรเล่า พระเจ้าข้า"
"อานนท์ ! คืออย่างนี้ เขาจะพันสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ์ ด้วยผ้าใหม่ และซับด้วยสำลี แล้วมัดด้วยผ้าใหม่อีก ทำอย่างนี้ถึงห้าร้อยคู่ หรือห้าร้อยชั้น แล้วนำวางในรางเหล็กซึ่งเต็มไปด้วยน้ำมัน แล้วปิดครอบด้วยรางเหล็กเป็นฝา แล้วทำจิตกาธานด้วยไม้หอมนานาชนิด แล้วถวายพระเพลิง เสร็จแล้วเชิญพระอัฐิธาตุแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ์นั้น ไปบรรจุสถูปซึ่งสร้างไว้ ณ ทางสี่แพร่ง สรีระแห่งตถาคตก็พึงทำเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อผู้เลื่อมใสจักได้บูชาและเป็นประโยชน์สุขแก่เขาตลอดกาลนาน"
สิ่งอัศจรรย์ ปรากฏ บนผืนหล้า
มหาวิหาร จรัสฟ้า ค่ายิ่งใหญ่
รูปทอง ผ่องผุด ดุจยองใย
สะท้อนถึง ห้วงดวงใจ สุดบูชา

*********************

รักษ์ร่างพอสร่างร้าย ..... รอดตน
ยอดเยี่ยม "ธรรมกาย" ผล ..... ผ่องแผ้ว

เลอเลิศล่วงกุศล ..... ใดอื่น
เชิญท่านถือเอาแก้ว ..... ก่องหล้าเรืองสกล


คำสอนของเดชพระคุณหลวงพ่อ
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย

#2 poupee

poupee
  • Members
  • 18 โพสต์

โพสต์เมื่อ 18 July 2006 - 09:01 AM

ขอบคุณค่ะ ชอบจังเลย ไม่เคยรู้ละเอียดอย่างงี้เลยค่ะ

#3 magick

magick
  • Members
  • 5 โพสต์

โพสต์เมื่อ 18 July 2006 - 12:51 PM

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทนา..

#4 ปัจเจกชน บนทางสายกลาง

ปัจเจกชน บนทางสายกลาง
  • Members
  • 4109 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:จ. สงขลา

โพสต์เมื่อ 21 March 2007 - 10:43 AM

ขอกราบอนุโมทนาบุญกับคุณ MiraclE...DrEaM ด้วยครับ สาธุ