ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

ความกตัญญูกับศีลห้า


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 9 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 nemo

nemo
  • Members
  • 77 โพสต์

โพสต์เมื่อ 13 November 2006 - 11:01 AM

อยากถามว่า ทำไมในศีลห้าจึงไม่มีเรื่องความกตัญญูล่ะครับ?
ศีลห้า เป็นคุณธรรมเบื้องต้นของมนุษย์ แล้วความกตัญญูไม่ใช่คุณธรรมเบื้องต้นของมนุษย์หรือครับ ?
ในเมื่อความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี อย่างโจรไปปล้น แล้วเอาเงินที่ปล้นมา มาเลี้ยงพ่อแม่ นี้ถือว่าเป็นคนดีไหมครับ
ช่วยไขข้อข้องใจหน่อยนะครับผม

#2 บุญโต

บุญโต
  • Members
  • 2192 โพสต์
  • Gender:Female
  • Location:อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
  • Interests:ปฏิบัติธรรม

โพสต์เมื่อ 13 November 2006 - 11:05 AM

จะเรียกว่ากตัญญูได้...ต้องคู่...คุณธรรม มังคะ

******************************
มงคลหมู่ที่ ๗

"คนตาบอดย่อมมองไม่เห็นโลก แม้ดวงอาทิตย์จะส่องสว่างอยู่ฉันใด คนบอด ย่อมไม่มีความกตัญญู แม้จะได้รับความเมตตากรุณาจากผู้มีอุปารคุณฉันนั้น"
ความกตัญญูคืออะไร ?

ความกตัญญู คือ ความรู้คุณ หมายถึงความเป็นผู้มีใจกระจ่าง มีสติ มีปัญญาบริบูรณ์ รู้อุปการคุณที่ผู้อื่นกระทำแล้วแก่ตน ผู้ใดก็ตามที่ทำคุณแก่ตนแล้ว ไม่ว่าจะมากก็ตาม น้อยก็ตาม เช่น เลี้ยงดูสั่งสอน ให้ที่พัก ให้งานทำ ฯลฯ

ย่อมระลึกถึงด้วยความซาบซึ้งอยู่เสมอ ไม่ลืมอุปการคุณนั้นเลย

อีกนัยหนึ่ง ความกตัญญู หมายถึง ความรู้บุญ หรือรู้อุปการะของบุญที่ตนทำไว้แล้ว รู้ว่าที่ตนเองพ้นจากภัยอันตรายทั้งหลายได้ดีมีสุขอยู่ในปัจจุบันก็เพราะบุญทั้งหลายที่เคยทำไว้ในอดีตส่งผลให้ จึงไม่ลืมอุปการะของบุญนั้นเลย และสร้างสมบุญใหม่ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

รวมความกตัญญู จึงหมายถึง การรู้จักบุญคุณ อะไรก็ตามที่เป็นบุญ หรือมีคุณต่อตน แล้วก็ตามระลึกนึกถึงด้วยความซาบซึ้งไม่ลืมเลย คนมีกตัญญูถึงแม้จะนัยน์ตาบอดมืดทั้งสองข้าง แต่ใจของเขาใสกระจ่างยิ่งกว่าดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ รวมกันเสียอีก
สิ่งที่ควรกตัญญู
สิ่งที่ควรแก่ความกตัญญูแบ่งได้เป็น ๕ ประการ ได้แก่
๑.กตัญญูต่อบุคคล คือ ใครก็ตามที่เคยมีพระคุณต่อเรา ไม่ว่าจะมากน้อยเพียงไร จะต้องกตัญญูรู้คุณท่าน ติดตามระลึกถึงเสมอด้วยความซาบซึ้งพยายามหาโอกาสตอบแทนคุณท่านให้ได้ โดยเฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสงฆ์ บิดามารดา ครู อุปัชฌาย์อาจารย์ พระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครองที่ทรงทศพิธราชธรรม จะต้องตามระลึกนึกถึงพระคุณของท่านให้จงหนัก
ให้ปฏิบัติตัวให้เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นศิษย์ที่ดีของครูอาจารย์ เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ และเป็นพุทธมามกะสมชื่อ

๒.กตัญญูต่อสัตว์ คือ สัตว์ที่มีคุณต่อเรา เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ที่ใช้งาน จะต้องใช้ด้วยความกรุณาปรานี ไม่เฆี่ยนตีมันจนเหลือเกิน อย่าใช้งานหนักจนเป็นการทรมาน และเลี้ยงดูให้อาหารอย่าให้อดอยากให้ได้กินได้นอนได้พักผ่อนตามเวลา ตัวอย่างในเรื่องกตัญญูต่อสัตว์นี้มีอยู่ว่า
ในสมัยก่อนพุทธกาล วันหนึ่ง พระเจ้ากรุงราชคฤห์ เสด็จประพาสอุทยาน และได้บรรทมหลับในอุทยานนั้น ขณะนั้นมีงูเห่าตัวหนึ่งเลื้อยเข้ามาและกำลังจะฉกกัดพระองค์ เผอิญมีกระแตตัวหนึ่งเห็นเข้าแล้วร้องขึ้น พระองค์จึงสะดุ้งตื่นและไล่งูหนีไปทัน ทรงระลึกถึงคุณของกระแตว่าเป็นผู้ช่วยชีวิตพระองค์ไว้ จึงรับสั่งให้พระราชทานเหยื่อแก่กระแตในอุทยานนั้นทุกวัน และห้ามไม่ให้ใครทำอันตรายแก่กระแตในอุทยานนั้น คนทั้งหลายจึงเรียกอุทยานนั้นว่า “เวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน” แปลว่า ป่าไผ่อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต ซึ่งต่อมาก็คือ “เวฬุวันมหาวิหาร” วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา

๓.กตัญญูต่อสิ่งของ คือ ของสิ่งใดก็ตามที่มีคุณต่อเรา เช่นหนังสือ ธรรมะ หนังสือเรียน สถานศึกษา วัด ต้นไม้ ป่าไม้ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการหาเลี้ยงชีพ ฯลฯ จะต้องปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ให้ดี ไม่ลบหลู่ดูแคลน ไม่ทำลาย
ตัวอย่าง เช่น ไม้คานที่ใช้หาบของขาย เมื่อเจ้าของตั้งตัวได้ ร่ำรวยขึ้นก็ไม่ทิ้ง ยังคิดถึงคุณของไม้คานอยู่ ถือเป็นของคู่ชีวิต ช่วยเหลือตนสร้างฐานะมา จึงเลี่ยมทองเก็บไว้เป็นที่ระลึก อย่างนี้ก็มี
มีกล่าวไว้ในเตมียชาดกว่า
“อย่าว่าถึงคนที่เราได้พึ่งพาอาศัยกันเลย แม้แต่ต้นไม้ที่ได้อาศัยร่มเงา ก็หาควรจะหักกิ่งลิดก้านรานใบของมันไม่ ผู้ใดพำนักอาศัยนั่งนอนใต้ร่มเงาของต้นไม้ใดแล้ว ยังขืนหักกิ่งลิดก้านรานใบ เด็ดยอดขุดรากถากเปลือก ผู้นั้นชื่อว่าทำร้ายมิตร เป็นคนชั่วช้าเลวทราม จะมีแต่อัปมงคลเป็นเบื้องหน้า"

๔.กตัญญูต่อบุญ คือ รู้ว่าคนเราเกิดมามีอายุยืนยาว ร่างกายแข็งแรง ผิวพรรณดี สติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความสุขความเจริญ มีความก้าวหน้า มีทรัพย์สมบัติมาก ก็เนื่องมาจากผลของบุญ จะไปสวรรค์หรือกระทั่งไปพระนิพพานได้ก็ด้วยบุญ กล่าวได้ว่า ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยบุญ ทั้งบุญเก่าที่ได้สะสมมาดีแล้ว และบุญใหม่ที่เพียรสร้างขึ้นประกอบกัน จึงมีความรู้คุณของบุญ มีความอ่อนน้อมในตัว ไม่ดูถูกบุญ ตามระลึกถึงบุญเก่าให้จิตใจชุ่มชื่น และไม่ประมาทในการสร้างบุญใหม่ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

๕.กตัญญูต่อตนเอง คือ รู้ว่าร่างกายของเรานี้เป็นอุปกรณ์สำคัญที่เราจะได้อาศัยใช้ในการทำความดี ใช้ในการสร้างบุญกุศลนานาประการเพื่อความสุข ความเจริญก้าวหน้า แก่ตนเองต่อไป จึงทะนุถนอมดูแลร่างกายรักษาสุขภาพให้ดี ไม่ทำลายด้วยการกินเหล้าเสพสิ่งเสพย์ติด เที่ยวเตร่ดึกๆ ดื่นๆ และไม่นำร่างกายนี้ไปประกอบความชั่ว เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เจ้าชู้ อันเป็นการทำลายตนเอง
ความกตัญญูจำเป็นอย่างไรในการสร้างความดี
การที่คนเราจะมีความคิดใฝ่ดี ตั้งใจทำความดีสร้างสมคุณธรรมให้เกิดขึ้นในตัว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ที่ยากยิ่งกว่านั้นก็คือ ทำอย่างไรจึงจะรักษาความตั้งใจที่ดีนั้นไว้ โดยไม่ท้อถอยไม่เลิกกลางคัน เพราะในการทำความดีย่อมมีอุปสรรค มีปัญหาขัดขวางมากมาย ไหนจะปัญหาภายนอกจากคนรอบข้างจากสิ่งแวดล้อม ไหนจะปัญหาภายในจากกิเลส รุมล้อมประดังกันเข้ามา เราจะเอาตัวรอด ยืนหยัด สู้ปัญหาทั้งหลายที่เข้ามาผจญได้ โดยไม่ท้อถอย ก็ต้องมีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวใจไว้ นั่นคือความกตัญญู

ไปโรงเรียน เรียนหนังสือ แม้จะยากแสนยาก ท้อถอยจะเลิกเสียก็หลายครั้ง เพื่อนฝูงบางคนชวนไปเที่ยวเตร่เฮฮา ดูน่าสนุกกว่ามากแต่เมื่อนึกถึงคุณพ่อคุณแม่ คิดว่าท่านอุตส่าห์ทะนุถนอมเลี้ยงดูเรามาจนเติบใหญ่ ท่านฝากความหวังไว้กับตัวเรา อยากเห็นตัวเราได้ดีเพียงใดพอคิดเท่านี้ ความกตัญญูเกิดขึ้น ก็มีแรงสู้ แม้จะยากแสนยาก แม้จะเหนื่อยแสนเหนื่อย ก็กัดฟันสู้ มุมานะตั้งใจเรียนให้ดีให้ได้ ไม่ยอมประพฤติตัวไปในทางเสื่อมเสียแก่วงศ์ตระกูลให้คุณพ่อคุณแม่ ครูบาอาจารย์ ได้อายโดยเด็ดขาด

แม้ในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรม ผู้ตั้งใจจะทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนาแน่นอนว่า ในการทำงานนั้น จะต้องมีการกระทบกระทั่งกัน คนเราหลายคนก็หลายความเห็น ต่างคนก็ต่างตั้งใจดีกันทั้งสิ้น แต่ความคิดความอ่านความสามารถอาจไม่เท่ากัน และบางครั้งก็เกิดจากทิฐิมานะคิดไปว่า “ถึงแกจะหนึ่ง แต่ฉันก็แน่เหมือนกัน” ทำให้ไม่ยอมกัน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะต่างก็กำลังฝึกฝนตนเองอยู่ กิเลสในตัวก็ยังมียังไม่ได้หมดดังนั้นถ้าไม่รู้จักควบคุมให้ดี จึงมีโอกาสขัดใจกันได้ หรือบางทีออกไปทำงานเผยแผ่ธรรมะ ก็พบกับคนที่ยังไม่เข้าใจ ไม่เห็นด้วย พูดนินทาว่าร้าย เยาะเย้ยถากถางเอาบ้าง

เพราะเหตุนี้ จึงมีนักปฏิบัติธรรม นักเผยแผ่ธรรมะ รวมทั้งผู้ที่ตั้งใจทำงานเพื่อสังคมส่วนรวม หลายๆ คนเบื่อหน่าย ท้อถอย และเลิกราไปกลางคันอย่างน่าเสียดาย

แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความกตัญญูเป็นพื้นใจแล้ว เมื่อความท้อถอย ความเบื่อหน่ายเอือมระอาเกิดขึ้น เพียงแต่นึกว่า ที่เราได้มีโอกาสเรียนรู้ธรรมะรู้การสร้างบุญกุศล รู้วิธีการดำเนินชีวิตอันประเสริฐ รู้บุญรู้บาปอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ได้ทรงเสียสละอุทิศชีวิตทุ่มเทค้นคว้าจนตรัสรู้หลักอริยสัจ คือ ความจริงอันประเสริฐทั้งหลายมาสอนเรา ได้คิดถึงชีวิต เลือดเนื้อ ความเพียรพยายามที่พระองค์ได้ทรงทุ่มเทลงไปตลอดระยะเวลาที่ทรงบำเพ็ญบารมีอยู่นานถึง ๔ อสงไขยกับแสนกัปว่ามากมายมหาศาลเพียงใด (เวลากัปหนึ่งอุปมาได้กับมีภูเขาหินรูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ กว้าง ๑๖ กิโลเมตร ยาว ๑๖ กิโลเมตร สูง ๑๖ กิโลเมตร ทุก ๑๐๐ ปี มีเทวดาเอาผ้าทิพย์บางเบา มาลูบครั้งหนึ่ง เมื่อใดภูเขาลูกนี้สึกหมด เรียบเสมอพื้นดินระยะเวลานั้นเท่ากับกัปหนึ่ง ๑ อสงไขย = ๑๐^๑๔๐ คือ จำนวนที่มีเลข ๑ และมีเลข ๐ ต่อท้าย ๑๔๐ ตัว) ตลอดจนคิดถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ท่านอุตส่าห์ถ่ายทอดคำสอนชองพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อๆ กันมา และอบรมสั่งสอนให้เราได้ทราบได้รู้ถึงคำสอนของพระองค์ โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก คิดเพียงเท่านี้ ความท้อถอยก็หาย ความเหนื่อยหน่ายก็คลาย แม้ความตายก็ไม่หวั่น เกิดกำลังใจที่จะทำความดีต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

ความกตัญญูจึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง ที่จะประคองใจของเราให้ดำรงมั่นอยู่ในคุณธรรมอันยิ่งๆ ขึ้นไป
อานิสงส์การมีความกตัญญู
๑.ทำให้รักษาคุณความดีเดิมไว้ได้
๒.ทำให้สร้างคุณความดีใหม่ได้อีก
๓.ทำให้เกิดสติ ไม่ประมาท
๔.ทำให้เกิดหิริโอตตัปปะ
๕.ทำให้เกิดขันติ
๖.ทำให้จิตใจผ่องใส มองโลกในแง่ดี
๗.ทำให้เป็นที่สรรเสริญของคนดี
๘.ทำให้มีคนอยากคบหาสมาคม
๙.ทำให้ทั้งมนุษย์และเทวดาอยากช่วยเหลือ
๑๐.ทำให้ไม่มีเวรไม่มีภัย
๑๑.ทำให้ลาภผลทั้งหลาย เกิดขึ้นโดยง่าย
๑๒.ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย

#3 SmilingCat

SmilingCat
  • Members
  • 1209 โพสต์

โพสต์เมื่อ 13 November 2006 - 11:15 AM

ความกตัญญูเป็นความดีเป็นบุญเมื่อสะสมก็คือเมตตาบารมี มีสุขคติเป็นที่ไป
ตัวอย่างจากเรื่องสุวรรณสามชาดก

ส่วนเรื่องศีลเป็นข้อห้าม ที่กระทำแล้วต้องมี ทุกขคติ อบายภูมิ ลองรับ นั่นคือบาปนั่นเอง


บุญกับบาปเมื่อทำแล้ว ตัวไหนมีกำลังแรงกว่าก็ต้องไปรับผลกรรมนั้นก่อน
หยุดคือตัวสำเร็จ

#4 บุญโต

บุญโต
  • Members
  • 2192 โพสต์
  • Gender:Female
  • Location:อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
  • Interests:ปฏิบัติธรรม

โพสต์เมื่อ 13 November 2006 - 11:23 AM

ข้อมูลเรื่องของศีล 5 จากคุณgiogia
http://www.dmc.tv/fo....php/t2738.html

ศีล
ศีลเป็นที่ตั้งแห่งความดีงาม
ชีวิตที่ดีงามย่อมเป็นที่ปรารถนาของทุกคน เพราะเป็นชีวิตที่มีความสุข เป็นชีวิตที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคม แต่คุณงามความดีจะมีขึ้นได้ ต้องเริ่มจากกาย วาจา ใจที่สะอาดบริสุทธิ์ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน ดังนั้นชีวิตที่ดีงาม จึงเริ่มต้นที่การรักษาศีลนั่นเอง

ศีลคืออะไร
ศีล แปลว่าปกติ
ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีลักษณะที่เป็นปกติของมันเอง เช่น ปกติของม้าต้องยืนไม่มีการนอน ถ้าม้านอนเป็นการผิดปกติ แสดงว่าม้าป่วย ฤดูฝนตามปกติจะต้องมีฝนตก ถ้าฤดูฝนกลับแล้ง ฝนไม่ตกแสดงว่าผิดปกติ
อะไรคือปกติของคน

๑.ปกติของคนจะต้องไม่ฆ่า ศีลข้อ๑ จึงเกิดขึ้นมา
๒.ปกติของคนจะต้องไม่ลักขโมย ไม่แย่งชิง ไม่คดโกง ไม่ทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น ศีลข้อ๒ จึงเกิดขึ้นมา
๓.ปกติของคนจะพอใจเฉพาะคู่ครองของตน ถ้าใครไปแย่งเข้าถือว่าผิดปกติ ศีลข้อ๓ จึงเกิดขึ้นมา
๔.ปกติแล้วคนเราพูดตรงไปตรงมาเสมอ ใครโกหกหลองลวงก็ถือว่าผิดปกติ ศีลข้อ๔ จึงเกิดขึ้นมา
๕.ปกติแล้วคนต้องมีสติอันแจ่มใส แต่ถ้าดื่มสุราก็จะขาดสติ ทำสิ่งที่ไม่ดีได้ง่าย ศีลข้อ๕ จึงเกิดขึ้นมา

( ศีล๕ ได้มีก่อนพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับเข้ามาในพระพุทธศาสนา และทรงชี้แจงถึงความจำเป็นของการมีศีลให้ทราบ ) ดั้งนั้นในการรักษาศีล เราจึงควรศึกษาทำความเข้าใจในเรื่ององค์วินิจฉัยศีล ซึ่งเป็นหลักในการวินิจฉัยว่า ศีลขาดหรือไม่
องค์วินิจฉัยเป็นอย่างไร

๑ การฆ่าสัตว์ต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
๑.๑ สัตว์นั้นมีชีวิต
๑.๒ รู้อยู่ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
๑.๓ มีจิตคิดจะฆ่าสัตว์นั้น
๑.๔ มีความพยายามจะฆ่าสัตว์นั้น
๑.๕ สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

๒ การลักทรัพย์ต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
๒.๑ ทรัพย์หรือสิ่งของนั้นมีเจ้าของหวงแหน
๒.๒ รู้อยู่ว่าทรัพย์นั้นมีจ้าของหวงแหน
๒.๓ มีจิตคิดจะลักทรัพย์นั้น
๒.๔ มีความพยายามลักทรัพย์นั้น
๒.๕ ลักทรัพย์ได้ด้วยความพยายามนั้น

๓ การประพฤติผิดในกามประกอบด้วยองค์ ๔ คือ
๓.๑ หญิงหรือชายที่ไม่ควรละเมิด ( หญิงหรือชายที่มีเจ้าของแล้ว )
๓.๒ มีจิตคิดจะเสพเมถุน
๓.๓ ประกอบกิจในการเสพเมถุน
๓.๔ ยังอวัยวะเพศให้ถึงกัน

๔ การพูดเท็จต้องประกอบด้วยองค์ ๔ คือ
๔.๑ เรื่องไม่จริง
๔.๒ มีจิตคิดจะพูดให้ผิดไปจากความจริง
๔.๓ พยายามที่จะพูดให้ผิดไปจากความจริง
๔.๔ คนฟังเข้าใจตามความหมายที่พูดนั้น

๕ การดื่มน้ำเมาต้องประกอบด้วยองค์ ๔ คือ
๕.๑ น้ำที่ดื่มเป็นน้ำเมา
๕.๒ มีจิตคิดจะดื่ม
๕.๓ พยายามดื่ม
๕.๔ น้ำเมานั้นล่วงพ้นลำคอลงไป

#5 เคยเข้าวัด

เคยเข้าวัด
  • Members
  • 1296 โพสต์
  • Interests:สร้างบุญบารมีอย่างยวดยิ่ง ตราบเท่าชีวีหมดอายุขัย

โพสต์เมื่อ 13 November 2006 - 11:58 AM

อยากให้คุณเจ้าของกระทู้เข้าใจนะครับ คือหลักของพุทธศาสนานั้นคือมุ่งเน้นที่ตัวเองเป็นหลักให้บรรลุมรรคผลนิพพานก่อน แล้วจึงค่อยกระจายไปสู่ผู้อื่น หรือให้แก่ผู้อื่นทีหลัง ศีล5นั้นมุ่งเน้นตัวเองเป็นหลักครับ คือทำตัวเองให้บริสุทธิ์ก่อนจึงค่อยส่งต่อให้ผู้อื่นบริสุทธิ์ตาม ศีล5เป็นเครื่องกลั่นกาย วาจา ใจให้กับตัวเราเองเป็นหลัก เมื่อเราบริสุทธิ์ในระดับนึงแล้วถึงค่อยส่งต่อให้ผู้อื่นบริสุทธิ์ตาม

ส่วนความกตัญญูนั้นคือการขัดเกลาตัวเราเองแต่มุ่งเน้นเพื่อคนอื่นด้วยครับ คือขัดเกลาจิตใจเราให้มีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นโดยส่งผลให้ผู้อื่นได้เห็นด้วย หรืออีกนัยหนึ่ง ความกตัญญูเป็นองค์ประกอบในการขัดเกลาตัวเราเอง

หากคุณเจ้าของกระทู้พิจารณาดุให้ดี จริงๆแล้วศีล5เป็นหลักใหญ่ ถ้าให้แตกออกมาเป็นหัวข้อย่อย จะมีความกตัญญูอยู่ในศีล5อยู่แล้วครับ เพียงแค่มันแฝงอยู่ในหัวข้อใหญ่เท่านั้น หากไม่คิดให้ลึกซึ้งล่ะก็หลายคนคงมองข้าม ที่ผมว่าความกตัญญูเป็นหัวข้อย่อยในศีล5เพราะอะไรเรามาดูกัน

อย่างศีลข้อที่1 ละเว้นจากการเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น หากเราไม่เบียดเบียนชีวิตผู้อื่น แน่นอนผู้ที่มีพระคุณกับเราย่อมต้องปลอดภัยด้วยจริงไหมครับ ยกตัวอย่าง หากเราฆ่าคนจนติดเป็นนิสัยจนเป็นความปกติ แน่นอนย่อมเดือดร้อนถึงผู้มีพระคุณแก่เราด้วยใช่ไหมครับ บางทีเราอาจจะทำอันตรายแก่ผู้มีพระคุณของเราด้วยซํา เช่น ลูกไปฆ่าคนย่อมต้องนำความเดือดร้อนมาสู่ผู้เป็นพ่อแม่ ต้องวิ่งเต้นหาทางช่วยลูกไม่ให้ติดคุกติดตะราง หรือพ่อแม่แค่ดุด่าอบรมสั่งสอนลูก ด้วยใจที่เคยฆ่าคนบางทีลูกอาจคิดถึงขั้นทำร้ายพ่อแม่เลยทีเดียวจริงไหมครับ นี่มันส่งผลกับความกตัญญูแบบนี้

อ่ะ อย่างศีลข้อที่3 ไม่ประพฤติผิดในกาม หากเราผิดลูกผิดเมียผู้อื่นจนเป็นปกติวิสัย บางทีอาจส่งผลให้ผู้มีพระคุณของเราเดือดร้อน เช่นไปทำคนอื่นเขาท้อง พ่อแม่เราต้องเสียหน้า ทำให้พ่อแม่เสียหน้าถือเป็นความอกตัญญูใช่ไหมครับ อ่ะหรืออย่างมีเพศตรงข้ามมาช่วยเหลือเรา ถือว่าเขามีพระคุณต่อเราจริงไหมครับ หากผู้มาช่วยเหลือเราเป็นเพศตรงข้าม ความเจ้าชู้ของเราอาจจะทำให้เราคิดไม่ดีต่อผู้มีพระคุณจริงไหมครับ อย่างสมมุติว่าญาติเราให้ความอุปการะเลี้ยงดูเราแทนพ่อแม่ และญาติเรามีครอบครัวแล้ว แต่เรากลับไปเจ้าชู้กับญาติเรา ทำให้ครอบครัวเขาต้องทะเลาะกันด้วยเราเป็นสาเหตุ แบบนี้ก็ถือเป็นความอกตัญญูจริงไหมครับ ซึ่งเรื่องแบบนี้มีบ่อยในสังคมปัจจุบัน

ดังนั้น ศีล จึงเป็นตัวกำหนดจิตใจเรา และช่วยพลักดันให้เราเกิดความกตัญญูอยู่แล้วครับ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับความกตัญญูเพิ่มเข้าไป ยังไงยังงั้นแหละครับ เหอๆๆ
1) พระปัญญาธิกพุทธเจ้า สร้างบารมีรวม 20 อสงไขย กับอีก แสนมหากัป (รวมระยะเวลาสร้างบารมีหลังรับพุทธพยากรณ์ คือ 4 อสงไขย กับ แสนมหากัป) เช่น พระสัมมาพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน คือ พระสมณโคมสัมมาสัมพุทธเจ้า (อย่างน้อยที่สุด)
2) พระศรัทธาธิกพุทธเจ้า สร้างบารมีรวม 40 อสงไขย กับอีก แสนมหากัป (รวมระยะเวลาสร้างบารมีหลังรับพุทธพยากรณ์ คือ 8 อสงไขย กับ แสนมหากัป) (อย่างน้อย)
3) พระวิริยาธิกพุทธเจ้า สร้างบารมีรวม 80 อสงไขย กับอีก แสนมหากัป (รวมระยะเวลาสร้างบารมีหลังรับพุทธพยากรณ์ คือ 16 อสงไขย กับ แสนมหากัป) เช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป คือ พระศรีอาริยเมตไตรยสัมมาสัมพุทธเจ้า (เป้าหมาย

#6 น้ำฝน มัชฌิมหญิงรุ่น14

น้ำฝน มัชฌิมหญิงรุ่น14

    เราคือ นักรบกล้าอาสาสมัคร กองทัพธรรม

  • Members
  • 1961 โพสต์
  • Gender:Female
  • Interests:ช่วยงานบุญที่วัด ให้ถึงที่สุดกำลัง ตราบวันที่ชีวิตจะสิ้นลมหายใจ

โพสต์เมื่อ 13 November 2006 - 11:59 AM

สาธุค่ะพี่บุญโต
"ด้วยใจกล้าอาสา พัฒนาไม่หยุดยั้ง"

น้ำฝนลูกพระธัมฯ

#7 บุญโต

บุญโต
  • Members
  • 2192 โพสต์
  • Gender:Female
  • Location:อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
  • Interests:ปฏิบัติธรรม

โพสต์เมื่อ 13 November 2006 - 12:14 PM

สาธุค่ะ คุณคนเคยเข้าวัด

#8 glouy.

glouy.
  • Members
  • 605 โพสต์

โพสต์เมื่อ 13 November 2006 - 10:35 PM

ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี ถูกต้องน่ะครับ

อย่างที่ พี่ บุญโต พูดแหละ ครับ

สาธุ

ลูกพระธรรม

#9 JJ.

JJ.
  • Members
  • 129 โพสต์
  • Location:คลอง4 ปทุมธานี
  • Interests:สมาธิ ความสงบ โลกหน้า

โพสต์เมื่อ 14 November 2006 - 02:31 AM

QUOTE
โจรไปปล้น แล้วเอาเงินที่ปล้นมา มาเลี้ยงพ่อแม่ นี้ถือว่าเป็นคนดีไหมครับ

โจรไปปล้นคือลักทรัพย์โดยชึ่งหน้าและมีอาวุธอาจมีการทำร้ายร่างกายและเสียชีวิต แค่นี้ก็ผิดเกินพอ การเลี้ยงพ่อแม่เป็นหน้าที่ของบุตรคนละส่วนกัน ทำไมต้องเลี้ยงชีวิตด้วยการเป็นโจร
...โปรดพิจารณา...นี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว... ถ้าผิดพลาดประการใด...วอนผู้รู้ หรือ คิดแตกต่างช่วยแก้ไขให้ด้วย _/I\_ ขอบคุณครับ

#10 light mint

light mint

    ขออนุโมทนาบุญค่ะ

  • Members
  • 1423 โพสต์
  • Gender:Female
  • Location:THAILAND
  • Interests:ธรรมะ

โพสต์เมื่อ 15 November 2006 - 10:01 PM

QUOTE
โจรไปปล้น แล้วเอาเงินที่ปล้นมา มาเลี้ยงพ่อแม่ นี้ถือว่าเป็นคนดีไหมครับ

โจรคนนี้ทำทั้งความชั่วคือการปล้น ทำทั้งความดีคือกตัญญูเลี้ยงดูพ่อแม่

ก็จะได้รับผลบุญจากกรรมดี และต้องรับบาปจากกรรมชั่ว
ต้องแยกกันให้ชัดเจน คนดีชั่วอยู่ที่การกระทำกรรม
คนดีที่ดีเป็นปกติ เมื่อเผลอไปทำชั่วเข้า ก็เรียกว่าได้ทำบาป
คนชั่วที่ทำชั่วเป้นนิสัย นึกกลับใจชั่วขณะไปทำความดีได้ ก็เรียกว่าทำบุญ

ความชั่วแม้เพียงเล็กน้อย ใครๆ ก็ไม่ควรทำเลย เพราะมีแต่โทษ มีทุคติเป็นที่ไป มีความทุกข์ทรมานเป็นผล
ส่วนการทำความดี เมื่อได้ทำแล้วไม่ควรหยุดยั้ง ไม่ควรคิดว่าทำความดีแค่นี้ก็พอแล้ว แต่ควรเพิ่มพูนการทำความดีให้มากยิ่งๆขึ้นไป
ขออนุโมทนาบุญนะคะ สาธุ