ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

Dhamma for the week 4/2007


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
ไม่มีการตอบกลับในกระทู้นี้

#1 ThDk

ThDk
  • Members
  • 259 โพสต์
  • Location:Struer, Denmark
  • Interests:จุดมุ่งหมายของการประพฤติพรรหมจรรย์ เพื่อสำรอกราคะ... เพื่อละสังโยชน์... เพื่อถอนอานุสัย.. เพื่อรู้รอบสังสารวัฎอันยืดยาว... เพื่อความสิ้นอาสวะ... เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผลคือ วิชชาและวิมมุติ... เพื่อญาณทัศนะ... เพื่อปรินิพพาน อันปราศจากอุปทาน.

โพสต์เมื่อ 19 January 2007 - 11:38 AM

21 มกราคม

วิธีปฏิบัติเมื่อถูกทำร้าย

พุทธสารีบุตรตอบ “.....ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากชนเหล่าอื่นจะพยายามทำร้ายภิกษุนั้น ด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ คือด้วยการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยการประหารด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยการประหารด้วยศัสตราบ้าง ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายนี้เป็นสภาพที่เป็นไปด้วยการประหาร ด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง.... ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศัสตราบ้าง อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในพระโอวาท อันเปรียบด้วยเลื่อยดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ว่าพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า พึงตัดทอนอวัยวะใหญ่น้อยทั้งหลายด้วยเลื่อยอันมีด้ามสองข้างไซร้ ภิกษุผู้ที่ยังใจให้ประทุษร้ายในโจร แม้พวกนั้นย่อมไม่เชื่อว่าทำตามคำสอนของเรา..... อนึ่ง ความเพียรอันเราปรารภแล้ว จักไม่ย่อหย่อน สติอันเราตั้งไว้มั่นแล้วจักไม่หลงลืม กายอันเราให้สงบแล้ว จักไม่กระวนกระวาย จิตอันเราตั้งไว้มั่นแล้ว จักมีอารมณ์อย่างเดียว การประหารด้วยฝ่ามือ.... ด้วย ก้อนดิน.... ด้วยท่อนไม้.... ด้วยศัสตราทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้เถิด คำสอนของพระพุทธเจ้า .... เราจะทำให้จงได้ดังนี้ ฯ ”




22 มกราคม

ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น

พุทธดำรัส ตอบ “.....ดูก่อนจอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้ว ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่ง ครั้นทราบชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี เธอย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความหน่าย พิจารณาเห็นความดับ พิจารณาเห็นความสละคืนในเวทนาทั้งหลายนั้น เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้น ย่อมไม่ยึดมั่นสิ่งอะไร ๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่นย่อมสะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตัว และทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูก่อนจอมเทพ กล่าวโดย่อด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้ว ในธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา มีความสำเร็จอันยิ่งยวด ถึงที่สุดอันยิ่งยวด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ ”




23 มกราคม

วิญญาณมีจริงหรือ

พุทธดำรัส ตอบ “.....ดูก่อนโมฆบุรุษ เธอรู้ธรรมอย่างนี้ที่เราแสดงแก่ใครเล่า ดูก่อนโมฆบุรุษ วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น เรากล่าวโดยปริยายเห็นอเนกมิใช่หรือ ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัยมิได้มี ดูก่อนโมฆบุรุษ ก็เมื่อเป็นดังนั้น เธอกล่าวตู่เราด้วย ขุดตนเสียด้วย จะประสบบาปมิใช่บุญมากด้วย เพราะทิฐิที่ตนถือชั่วแล้ว ดูก่อนโมฆบุรุษ ความเห็นของเธอจักเป็นไปเพื่อโทษไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิญญาณอาศัยปัจจัยใด ๆ เกิดขึ้น ก็ถึงความนับ (เรียกชื่อ) ด้วยปัจจัยนั้น ๆ วิญญาณอาศัยจักษุและรูปเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่าจักขวิญญาณ วิญญาณอาศัยโสตและเสียงเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่าโสตวิญญาณ วิญญาณอาศัยฆานะ และกลิ่นเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่าฆานวิญญาณ วิญญาณอาศัยชิวหาและรสเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่าชิวหาวิญญาณ วสิญญาณอาศัยมนะและธรรมารมณ์เกิดขึ้น ก็เรียกว่ามโนวิญญาณ เปรียบเหมือนไฟอาศัยเชื้อใด ๆ ติดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยเชื้อนั้น ๆ ไฟอาศัยไม้ติดขึ้น ก็ถึงความนับว่าไฟไม้ ไฟอาศัยป่าติดขึ้น ก็ถึงความนับว่าไฟป่า ไฟอาศัยหญ้าติดขึ้น ก็ถึงความนับว่าไฟหญ้า ไฟอาศัยมูลโคติดขึ้น ก็ถือความนับว่าไฟโคมัย ไฟอาศัยแกลบติดขึ้น ก็ถึงความนับว่าไฟแกลบ ไฟอาศัยหยากเยื่อติดขึ้น ก็ถึงความนับว่าไฟหยากเยื่อ ฉันใด “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย.....


ฉันนั้นเหมือนกันและวิญญาณอาศัยปัจจัยใด ๆ เกิดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยปัจจัยนั้น ๆ ”




24 มกราคม

ชื่อต่าง ๆ ของพระอริยบุคคล

พุทธดำรัส ตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย.... เหล่าอกุศลธรรมอันลามก อันนำให้เศร้าหมอง นำให้เกิดในภพใหม่ ให้มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ให้มีชาติ ชรา มรณะ ต่อไป อันภิกษุนั้นระงับเสียแล้ว อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า สมณะ
“.....เหล่าอกุศลธรรมอันลามกอันให้เศร้าหมอง... ให้มีชาติ ชรา มรณะ ต่อไป อันภิกษุนั้นลอยเสียแล้ว อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พราหมณ์.
“.....เหล่าอกุศลธรรมอันลามกอันให้เศร้าหมอง... ให้มีชาติ ชรา มรณะ ต่อไป อันภิกษุนั้นอาบน้ำล้างชำระแล้ว อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า นหาตกะ.
“.....เหล่าอกุศลธรรมอันลามกอันให้เศร้าหมอง... ให้มีชาติ ชรา มรณะ ต่อไป อันภิกษุนั้นรู้แจ้งแล้ว อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า เวทคู.
“.....เหล่าอกุศลธรรมอันลามกอันให้เศร้าหมอง... ให้มีชาติ ชรา มรณะ ต่อไป อันภิกษุนั้นให้หลับไปหมดแล้ว อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า โสตติยะ.
“.....เหล่าอกุศลธรรมอันลามกอันให้เศร้าหมอง... ให้มีชาติ ชรา มรณะ ต่อไป ห่างไกลจากภิกษุนั้น อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า อริยะ.
“.....เหล่าอกุศลธรรมอันลามกอันให้เศร้าหมอง... นำให้เกิดในภพใหม่ หมีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะ ต่อไป อันภิกษุนั้นกำจัดเสียแล้ว อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า อรหันต์....”






25 มกราคม

ทำอย่างไรจะเข้าถึงแก่นพระศาสนา

พุทธดำรัส ตอบ “.....กุลบุตรบางคนในโลกนี้คิดเห็นว่าเราเป็นผู้อันความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อันโศกแลความร่ำไรแลทุกข์และความเสียใจความคับแค้ทั้งหลายครอบงำแล้ว.... เป็นผู้ออกจากเรือนบวชแล้ว ในธรรมวินัยด้วยศรัทธา.... ครั้นบวชแล้วอย่างนั้น ให้ลาภสักการะความสรรเสริญเกิดขึ้นอยู่ เธอก็เป็นผู้มีความยินดีเต็มความดำริ ด้วยลาภสักการะความสรรเสริญนั้น ย่อมยกตนข่มผู้อื่น ..... ว่าเราเป็นผู้มีลาภสักการะ แลความสรรเสริญ ส่วนภิกษุเหล่าอื่นเป็นผู้ลี้ลับมีศักดานุภาพน้อย ดังนี้ เธอไม่ให้เกิดความพอใจ ไม่พากเพียร เพื่อทำให้แจ้งธรรมทั้งหลายอันยิ่งกว่าประณีตกว่าลาภสักการะความสรรเสริญนั้น.... เรากล่าวบุคคลนี้ว่า เปรียบดังบุรุษต้องการแก่นไม้... เมื่อไปถึงต้นไม้ใหญ่ มีแก่นตั้งอยู่ กระพี้ เปลือกสะเก็ดเสีย เด็ดเอาใบอ่อนที่กิ่งด้วยเข้าใจว่าแก่นถือเอาไป กิจซึ่งควรทำด้วยแก่นไม้ของบุรุษนั้น ก็จักไม่สำเร็จประโยชน์ได้
“.....กุลบุตรอีกคนหนึ่ง เห็นทุกข์อย่างนั้นเหมือนกัน เป็นผู้ออกจากเรือนบวชในธรรมวินัย.... ให้ลาภสักการะสรรเสริญเกิดข้นอยู่อย่างนั้น แต่ไม่เป็นผู้มีใจยินดีด้วยลาภสักการะสรรเสริญนั้น.... เธอให้ความถึงพร้อมด้วยศีลเกิดขึ้นอยู่ ครั้นให้ความถึงพร้อมด้วยศีลเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นผู้มีใจยินดี เต็มความดำริด้วยความถึงพร้อมด้วยศีลนั้น ไม่พากเพียรเพื่อทำให้แจ้งธรรมทั้งหลายที่ประณีตกว่าศีล เรากล่าวบุคคลนี้ว่าเปรียบดังบุรุษต้องการแก่นไม้..... เมื่อไปถึงต้นไม้ใหญ่.... ล่วงแก่นกระพี้ เปลือกเสียถากเอาสะเก็ดเข้าใจว่าแก่ถือเอาไปกิจที่ควรทำด้วยแก่นไม้ ของบุรุษนั้นก็จักไม่สำเร็จประโยชน์ได้
“.....ผู้หนึ่งครั้นบวชแล้ว ให้ลาภสักการะความสรรเสริญเกิดขึ้นอยู่ให้ความถึงพร้อมด้วยศีล เกิดขึ้นอยู่.... แต่ไม่เต็มความดำริด้วยความถึงพร้อมด้วยศีลนั้น เธอให้ความถึงพร้อมด้วยสมาธิเกิดขึ้น ครั้นให้ความถึงพร้อมด้วยสมาธิเกิดขึ้นแล้ว เธอก็มีใจยินดีเต็มความดำริด้วยความถึงพร้อม ด้วยสมาธินั้น ยกตนข่มผู้อื่นเพราะความถึงพร้อมด้วยสมาธินั้น .... ไม่พากเพียรเพื่อทำให้แจ้งธรรมอื่น ซึ่งประณีตกว่าความถึงพร้อมด้วยสมาธิ เรากล่าวบุคคลนี้ว่า เปรียบดังบุรุษต้องการแก่นไม้.... เมื่อไปถึงต้นไม้ใหญ่ล่วงแก่นกระพี้เสีย ถากเอาเปลือกเข้าใจว่าแก่นถือเอาไป กิจซึ่งควรทำด้วยแก่นไม้ของบุรุษนั้น ก็จักไม่สำเร็จประโยชน์ได้
“.....ผู้หนึ่งครั้นบวชแล้ว ให้ลาภสักการะความสรรเสริญเกิดขึ้นอยู่ให้ความถึงพร้อมด้วยศีล พร้อมด้วยสมาธิเกิดขึ้นแล้ว.... แต่ไม่เต็มความดำริด้วยความถึงพร้อมด้วยศีลนั้น เธอให้ญาณทัสสนะคือ ความรู้ความเห็นเกิดขึ้นได้ ครั้นให้ญาณทัสสนะเกิดขึ้นแล้ว เธอก็มีใจยินดี..... ย่อมยกตนข่มผู้อื่นด้วย ญาณทัสสนะ นั้น .... ไม่พากเพียรเพื่อทำให้แจ้งธรรมทั้งหลายอื่น ซึ่งประณีตกว่า..... เรากล่าวบุคคลนี้ว่า เปรียบดังบุรุษต้องการแก่นไม้....เมื่อไปถึงต้นไม้ใหญ่ ล่วงแก่นกระพี้เสีย ถากเอาเปลือกเข้าใจว่าแก่นถือเอาไป กิจซึ่งควรทำด้วยแก่นไม้ของบุรุษนั้น ก็จักไม่สำเร็จประโยชน์ได้
“.....กุลบุตรบางคนในโลกนี้ ครั้นบวชแล้ว ให้ลาภสักการะสรรเสริญเกิดขึ้นอยู่ .... ให้ความถึงพร้อมด้วยศีลแลสมาธิแล ญาณทัสสนะเกิดขึ้นอยู่ เธอก็ไม่เป็นผู้มีใจยินดี.... พากเพียรอยู่เพื่อทำให้แจ้งธรรมทั้งหลายอื่นอันประณีตกว่าญาณทัสสนะ ธรรมที่ยิ่งกว่าประณีตกว่าญาณทัสสนะเป็นไฉน


“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุฌานที่แรก..... ธรรมนี้ยิ่งกว่าประณีตกว่าญาณทัสสนะ
“อีกข้อหนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้บรรลุฌานที่สาม.... ได้บรรลุฌานที่สี่ ...... บรรลุอากาสานัญจายตนอรูปฌาน.... บรรลุวิญญาณัญจายตนอรูปฌาน....บรรลุอากิญจัญญายตนอรูปฌาน.... บรรลุเนวสัญญานาสัญญานอรูปฌาน.... บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ.... อาสวะทั้งหลายของภิกษุนั้นสิ้นไปแล้วเพราะเห็นด้วยปัญญา แม้ธรรมนี้ก็ยิ่งกว่า ประณีตกว่าญาณทัสสนะ เรากล่าวบุคคลนี้ว่า เปรียบเหมือนบุรุษต้องการแก่นไม้.... เมื่อไปถึงต้นไม้ใหญ่รู้จักว่าแก่น ตัดเอาแต่แก่นเท่านั้นถือเอาไป กิจที่ควรทำด้วยแก่นไม้ของบุรุษนั้น ก็จักสำเร็จประโยชน์ได้ ดังนี้
“พรหมจรรย์นี้มิใช่มีลาภสักการะความสรรเสริญเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความถึงพร้อมด้วยศีลและสมาธิ แลญาณทัสสนะเป็นอานิสงค์




พรหมจรรย์นี้มีเจโตวิมุตติ ความที่จิตพ้นวิเศษอันไม่กำเริบนี้แลเป็นประโยชน์ พรหมจรรย์นี้มีวิมุตินั้นเป็นแก่นสาร มีวิมุตินั้นเป็นที่สุดรอบ ๙”




26 มกราคม

โทษของกาม

พุทธดำรัส ตอบ “..... ดูก่อนคหบดี เปรียบเหมือนสุนัขอันความเพลียเพราะความหิวเบียดเบียนแล้ว พึงเข้าไปยืนอยู่ใกล้เขียงของนายโคฆาต นายโคฆาตหรือลูกมือของนายโคฆาตผู้ฉลาด พึงโยนร่างกระดูที่เชือดชำแหลออกจนหมดเนื้อแล้วเปื้อนแต่เลือดไปยังสุนัข ฉันใด....
“..... ดูก่อนคหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเปรียบด้วยร่างกระดูก มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง
“..... ดูก่อนคหบดี เปรียบเหมือนแร้งก็ดี นกตะกรุมก็ดี เหยี่ยวก็ดี พาชิ้นเนื้อบินไป แร้งทั้งหลาย หรือนกตะรุมทั้งหลาย หรือเหยี่ยวทั้งหลายจะพึงโผเข้ารุมจิกแย่งชิ้นเนื้อนั้น ฉันใด....
“..... ดูก่อนคหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยชิ้นเนื้อ มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง
“..... ดูก่อนคหบดี เปรียบเหมือนบุรุษพึงถือคบเพลิงหญ้าอันไฟติดทั่วแล้ว เดินทวนลมไปฉันใด.....


“..... ดูก่อนคหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยคบเพลิง มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง
“..... ดูก่อนคหบดี เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิงลึกกว่าชั่วบุรุษหนึ่ง เต็มด้วยถ่านเพลิงอันปราศจากเปลว ปราศจากควัน บุรุษผู้รักชีวิต ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ พึงมา บุรุษมีกำลังสองคนช่วยกันจับแขนบุรุษนั้นข้างละคน ฉุดเข้าไปยังหลุมถ่านเพลิง ฉันใด....
“..... ดูก่อนคหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบเหมือนหลุมถ่ายเพลิง มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง
“..... ดูก่อนคหบดี เปรียบเหมือนบุรุษพึงฝันเห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าอันน่ารื่นรมย์ ภาคพื้นอันน่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ บุรุษนั้นตื่นขึ้นแล้ว ไม่พึงเห็นอะไร ฉันใด....
“..... ดูก่อนคหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยความฝัน มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง


“..... ดูก่อนคหบดี เปรียบเหมือนบุรุษพึงยืมโภคสมบัติ มีแก้วมณีและกุณฑลอย่างดีบรรทุกยานไป เขาแวดล้อมด้วยทรัพย์สมบัติที่ตนยืมมา พึงเดินไปภายในตลาด คนเห็นเขาเข้าแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญบุรุษผู้นี้มีโภคสมบัติหนอ ได้ยินว่าชนทั้งหลายผู้มีโภคสมบัติ ย่อมใช้สอยโภคสมบัติอย่างนี้ดังนี้ พวกเจ้าของพึงพบบุรุษนั้น ณ ที่ใด ๆ พึงนำเอาของตนคืนไปในที่นั้น ๆ ฉันใด....
“..... ดูก่อนคหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยของยืม มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง
“..... ดูก่อนคหบดี เปรียบเหมือนราวป่าใหญ่ที่ไม่ไกลบ้านหรือนิคม ต้นไม่ ในราวป่านั้น พึงมีผลรสอร่อย ทั้งมีผลดก แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว บุรุษผู้ต้องการผลไม้ พึงมาเที่ยวเสาะแสวงหาผลไม้ เขาแวะยังราวป่านั้น เห็นต้นไม้อันมีผลรสอร่อย มีผลดกนั้น เขาพึงคิดอย่างนี้ว่าต้นไม้นี้มีผลรสอร่อย มีผลดก แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว แต่เรารู้เพื่อขึ้นต้นไม้ ไฉนหนอ เราพึงขึ้นต้นไม่นี้แล้วกินพออิ่ม และห่อพกไปบ้าง เราขึ้นต้นไม้นั้นแล้ว กินจนอิ่มและห่อพกไว้ ลำดับนั้นบุรุษคนที่สองต้องการผลไม้ ถือขวานอันคมเที่ยวมาเสาะแสวงหาผลไม้เขาแวะยังราวป่านั้นแล้ว เห็นต้นไม้มีผลรสอร่อย มีผลดกนั้น เขาพึงคิดอย่างนี้ว่า ต้นไม้นี้มีผลรสอร่อย แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว และเราก็ไม่รู้เพื่อขึ้นต้นไม้ ไฉนหนอ เราพึงตัดต้นไม้นี้แค่โคนต้นแล้วกินพออิ่ม และห่อพกไปบ้าง เขาพึงตัดต้นนั้นแค่โคนต้น ฉันใด....
“..... ดูก่อนคหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยผลไม้ มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง.....”






27 มกราคม

กินเนื้อสัตว์บาปหรือไม่

พุทธดำรัส ตอบ “..... ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่าไม่ควรเป็นของบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ เนื้อที่ตนเห็น เนื้อที่ตนได้ยิน เนื้อที่ตนรังเกียจ ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของไม่ควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่าเป็นของควรบริโภค ด้วยเหตุ ๓ ประการคือ เนื้อที่ตนไม่ได้เห็น เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน เนื้อที่ตนไม่ได้รังเกียจ ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล.....”


โลกอยู่ภายใต้การครอบงำของชรา ก้าวเข้าไปสู่ชรา ไม่ยั่งยืน

โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่มีผู้เป็นใหญ่

โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวง

โลกพร่องอยู่เป็นนิจ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา.

- สละโลกได้ ก็พ้นทุกข์ได้