ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

คำสอนของพ่อ


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
ไม่มีการตอบกลับในกระทู้นี้

#1 ThDk

ThDk
  • Members
  • 259 โพสต์
  • Location:Struer, Denmark
  • Interests:จุดมุ่งหมายของการประพฤติพรรหมจรรย์ เพื่อสำรอกราคะ... เพื่อละสังโยชน์... เพื่อถอนอานุสัย.. เพื่อรู้รอบสังสารวัฎอันยืดยาว... เพื่อความสิ้นอาสวะ... เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผลคือ วิชชาและวิมมุติ... เพื่อญาณทัศนะ... เพื่อปรินิพพาน อันปราศจากอุปทาน.

โพสต์เมื่อ 10 February 2007 - 02:24 PM



ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นทางเดียวที่จะทำให้เหล่าสัตว์บริสุทธิ์ได้ ล่วงพ้นความโศกและความรำพันคร่ำครวญได้ ดับทุกข์และโทมนัสได้ บรรลุอริยมรรคเพื่อเห็นแจ้งพระนิพพานได้ หนทางนี้คือสติปัฏฐาน 4 ประการ

4 ประการนั้นมีอะไรบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระศาสนานี้… - พิจารณาเห็นกายในกายอยู่เสมอ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ เป็นประการหนึ่ง
- พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่เสมอ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ นี้เป็นอีกประการหนึ่ง
- พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เสมอ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ นี้เป็นอีกประการหนึ่ง
- พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่เสมอ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ นี้เป็นอีกประการหนึ่ง


ดูกรอานนท์ ก็ภาวนาย่อมมีเพราะไม่ตั้งจิตไว้ในภายนอกอย่างไร? ดูกรอานนท์ ภิกษุมิได้ตั้งจิตไว้ในภายนอก ย่อมรู้ชัดว่าจิตอันเรามิได้ตั้งไว้ในภายนอก ในลำดับนั้นเธอย่อมรู้ชัดว่าจิตของเราไม่ได้ฟุ้งซ่านไปข้างหลังและข้างหน้า พ้นแล้ว มิได้แช่เฉย ก็แลในกาลนั้น เธอย่อมรู้ชัดว่าเรากำลังพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ เห็นเวทนาในเวทนาอยู่ เห็นจิตในจิตอยู่ เห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ เป็นผู้มีความสุข ดังนี้


ดูกรภิกษุ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอจงยังเบื้องต้นในกุศลธรรมให้บริสุทธิ์ก่อน เบื้องต้นของกุศลธรรมคืออะไร? คือศีลที่บริสุทธิ์ดี (ศีลวิสุทธิ์) และความเห็นตรง (ทิฏฐิวิสุทธิ์) เมื่อใดศีลของเธอจักบริสุทธิ์ดี ความเห็นของเธอจักตรง เมื่อนั้นเธออาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้วพึงเจริญสติปัฏฐาน 4 โดยส่วน 3 (คือเจริญอย่างมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ)






สมถะมีในสมัยนั้นเป็นไฉน? ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ ในสมัยนั้นอันใด นี้ชื่อว่าสมถะมีในสมัยนั้น วิปัสสนามีในสมัยนั้นเป็นไฉน? ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาสตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ ในสมัยนั้นอันใด นี้ชื่อว่าวิปัสสนามีในสมัยนั้น




ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม 2 อย่างเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ธรรม 2 อย่างเป็นไฉน คือ สมถะหนึ่ง วิปัสสนาหนึ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมถะที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมจิต จิตที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละราคะได้ วิปัสสนาที่อบรมแล้วย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมปัญญา ปัญญาที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละอวิชชาได้


ดูกรวัจฉะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงเจริญธรรมทั้งสอง คือสมถะและวิปัสสนาให้ยิ่งขึ้นไปเถิด ดูกรวัจฉะ ธรรมทั้งสองคือสมถะและวิปัสนานี้ เธอเจริญให้ยิ่งขึ้นไปแล้ว จักเป็นไปเพื่อแทงตลอดในธาตุหลายประการ


มีศรัทธาบ่อยๆ ก็มีความเพียรบ่อยๆ
มีความเพียรบ่อยๆ ก็มีความตั้งใจบ่อยๆ
มีความตั้งใจบ่อยๆ ก็มีการพิจารณาธรรมบ่อยๆ
มีการพิจารณาธรรมบ่อยๆ ปัญญาก็เกิดขึ้นบ่อยๆ
ปัญญเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรที่น่าเข้าไปยึดมั่นถือมั่น
เพราะ สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งใดสิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา
ทุกสิ่งเข้าถึงความดับไม่มีอะไรเหลือ

เป็นอยู่อย่างมีสติ
มี แต่ไม่ยึดว่านั่นเป็นเรา หรือของเรา.
ได้ แต่ก็ปล่อยได้ เป็นอิสระจากสิ่งที่เราได้.
เป็น แต่ก็รู้ว่าเป็นเพียงสมมุติ.

จิตที่เป็นอิสระ คือ จิตที่หลุดพ้น
จิตที่ไม่หลุดพ้น จะไม่เป็นอิสระ
จิตที่ไม่เป็นอิสระ ย่อมวนเวียนอยู่ในสังสารวัฎ
จิตที่หลุดพ้น ย่อมดับเย็น

สังสารวัฎ เปรียบเสมือน ลูกไฟที่ลุกโพรงอยู่ตลอดเวลา ระคนด้วย ราคะ โทสะ และ โมหะ
คราใดที่ใจระคนกับ ราคะ โทสะ โมหะ ครานั้น จิตก็สุกไหม้
คราใดที่ใจปลอดจาก ราคะ โทสะ โมหะ ครานั้น จิตก็สุขเย็น

ถ้ายังไม่สามารถหลุดพ้นจากสังสารวัฎ
ก็ขอให้สัมผัสกับมัน(ราคะ โทสะ โมหะ) น้อยที่สุด
และเอาใจอิงแอบ นิพพาน (จิตที่สุขเย็น - จิตที่ปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ) บ่อยที่สุดและมากที่สุด
เมื่อเรา ตื่น เราจะรู้ และเมื่อ เรารู้ เราก็จะเป็น *ผู้ตื่น*
ทำความรู้สึกตัวให้ตื่นบ่อยๆนะคะ

ขอความเจริญในธรรมบังเกิดแก่ผู้ที่ศรัทธาในพระรัตนตรัยทุกท่าน.



โลกอยู่ภายใต้การครอบงำของชรา ก้าวเข้าไปสู่ชรา ไม่ยั่งยืน

โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่มีผู้เป็นใหญ่

โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวง

โลกพร่องอยู่เป็นนิจ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา.

- สละโลกได้ ก็พ้นทุกข์ได้