ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

Dhamma for the week 13 / 2007


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
ไม่มีการตอบกลับในกระทู้นี้

#1 ThDk

ThDk
  • Members
  • 259 โพสต์
  • Location:Struer, Denmark
  • Interests:จุดมุ่งหมายของการประพฤติพรรหมจรรย์ เพื่อสำรอกราคะ... เพื่อละสังโยชน์... เพื่อถอนอานุสัย.. เพื่อรู้รอบสังสารวัฎอันยืดยาว... เพื่อความสิ้นอาสวะ... เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผลคือ วิชชาและวิมมุติ... เพื่อญาณทัศนะ... เพื่อปรินิพพาน อันปราศจากอุปทาน.

โพสต์เมื่อ 03 March 2007 - 01:12 AM

25 มีนาคม

ยาอายุวัฒนะ

พุทธดำรัส ตอบ “มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้มา ย่อมมีเวทนาเบาบาง เขาย่อมแก่ช้า ครองอายุได้ยืนนาน”




* อย่าดูหมิ่นสตรี

เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่ง ขณะที่พระเจ้าปเสนทิโกศลกำลังประทับนั่งเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ ราชบุรุษได้เข้ามาทูลว่า พระราชินีประสูติพระราชธิดาออกมา พระราชาทรงผิดหวังมาก เพราะพระองค์ต้องการโอรส เช่นเดียวกับชาวอินเดียทั้งหลาย ที่อยากได้บุตรชายมากว่าบุตรหญิง ?
พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนมหาบพิตร ผู้เป็นใหญ่ยิ่งกว่าปวงชน แท้จริงแม้สตรีบางคนก็เป็นผู้ประเสริฐ พระองค์จงชุบเลี้ยงไว้ สตรีที่มีปัญญา มีศีลปฏิบัติพ่อผัว แม่ผัวดังเทวดา จงรักสามี ฯ
“บุรุษที่เกิดจากสตรีนั้น ย่อมเป็นคนแกล้วกล้า เป็นเจ้าแห่งทิศได้บุตรของภริยาที่ดีเช่นนั้น แม้ราชสมบัติก็ครอบครองได้”





26 มีนาคม

ประหยัดให้ถูกทาง

พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนมหาบพิตร อสัตบุรุษได้โภคะอันโอฬารแล้วไม่ยังตนให้ได้รับความสุข ให้ได้รับความอิ่มหนำเลย ไม่ยังมารดาบิดาให้ได้รับความสุข..... ความอิ่มหนำ ไม่ยังบุตรและภริยาให้ได้รับความสุข..... ความอิ่มหนำ ไม่ยังมิตรและอำมาตย์ให้ได้รับความสุข..... ความอิ่มหนำ ไม่ยังทาสกรรมกรให้ได้รับความสุข..... ความอิ่มหนำ ไม่ยังทักษิณา อันมีผลในเบื้องบน มีอารมณ์ดี มีวิบากเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ ให้ตั้งอยู่ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย โภคะเหล่านั้นของเขา ที่มิได้ใช้สอยโดยชอบอย่างนี้พระราชาทั้งหลายย่อมนำไปบ้าง โจรทั้งหลายย่อมนำไปบ้าง ไฟย่อมไหม้เสียบ้าง น้ำย่อมพัดไปเสียบ้าง ทายาททั้งหลายผู้ไม่เป็นที่รักย่อมนำไปบ้างฯ
“ดูก่อนมหาบพิตร เมื่อเป็นเช่นนี้ โภคะที่มิได้ใช้สอยโดยชอบของเขาเหล่านั้น ย่อมถึงความหมดสิ้นไป โดยมิได้รับการบริโภค



27 มีนาคม

ทานที่มีผลมาก

พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนมหาบพิตร แม้หากว่า กุลบุตรออกจากเรือนตระกูลไร ๆ เป็นผู้บวชหาเรือนมิได้ และกุลบุตรนั้น เป็นผู้มีองค์ ๕ อันละได้แล้วเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ทานที่ให้แล้วในกุลบุตรนั้น ย่อมเป็นทานมีผลมากองค์ ๕ อันกุลบุตรนั้นละได้แล้วเป็นไฉน กามฉันทะอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว พยาบาทอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว ถีนมิทธะอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว อุทธัจจกุกกุจจะอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว วิจิกิจฉาอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว องค์ ๕ เหล่านี้อันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว
“กุลบุตรนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นไฉน กุลบุตรนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ เป็นผู้ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นของพระอเสขะเป็นผู้ประกอบด้วยวิมุติขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ เป็นผู้ประกอบด้วยวิมุติญาณทัสสนะขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ กุลบุตรนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ ทานที่ให้แล้วในกุลบุตรผู้มีองค์ ๕ อันละได้แล้ว ผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ดังนี้ ย่อมมีผลมาก.....
“ศีลปะการยิงแม่น กำลังเข้มแข็ง และความกล้าหาญมีอยู่ในชายหนุ่มใด พระราชาผู้มีพระประสงค์ด้วยการยุทธ์ พึงทรงชุบเลี้ยงชายหนุ่มเช่นนั้น ไม่พึงทรงชุบเลี้ยงชายหนุ่มผู้ไม่กล้าหาญ เพราะเหตุแห่งชาติฉันใด ธรรมคือขันติและโสรัจจะตั้งอยู่แล้วในบุคคลใด บุคคลพึงบูชาบุคคลนั้น ผู้มีปัญญา มีความประพฤติเยี่ยงพระอริยะ แม้มีชาติทรามฉันนั้นเหมือนกัน


“พึงสร้างอาศรมอันเป็นที่รื่นรมย์ ยังผู้พหูสูตร ทั้งหลายให้สำนักอยู่ ณ ที่นั้น พึงสร้างบ่อน้ำไว้ในป่าที่กันดารน้ำ และสะพานในที่เป็นหล่ม พึงถวายข้าวน้ำ ของเคี้ยว ผ้า และเสนาสนะในท่านผู้ซื่อตรงทั้งหลาย ด้วยน้ำใจอันผ่องใส เมฆมีสายฟ้าแลบแปลบปลาบ มียอดตั้งร้อย กระหึ่มอยู่ยังแผ่นดินให้ชุ่มโชกแล้ว ย่อมยังที่ดอนและที่ลุ่มให้เต็มฉันใด ทายกผู้มีศรัทธาเป็นบัณฑิตได้ฟังแล้ว ย่อมจัดหาโภชนาหารมาเลี้ยงวณิพก ด้วยข้าวน้ำให้อิ่มหนำ.... ธารแห่งบุญอันไพบูลย์นั้น ย่อมยังทายกผู้ให้ ให้ชุ่มชื่น”

28 มีนาคม ใครเป็นผู้สร้าง

มารเป็นผู้ถาม: รูปนี้ใครเป็นผู้สร้าง ผู้สร้างรูปอยู่ที่ไหน รูปบังเกิดในที่ไหน รูปดับไปในที่ไหน ?

เสลาภิกษุณีตอบ “รูปนี้ไม่มีใครสร้าง อัตตภาพนี้ไม่มีใครก่อ รูปเกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุ ดับไปเพราะเหตุดับ
“พืชชนิดใดที่บุคคลหว่านลงในนา ย่อมงอกขึ้นเพราะอาศัยเหตุ ๒ ประการ คือ รสในแผ่นดิน และยางในพืช ฉันใด ขันธ์ ธาตุ และอายตนะ ๖ เหล่านี้ ก็เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุ ดับไปเพราะเหตุดับฉันนั้น”


* ทุกข์ทั้งนั้น

มารเป็นผู้ถาม: สัตว์นี้ใครเป็นผู้สร้าง ผู้สร้างสัตว์อยู่ที่ไหน สัตว์บังเกิดในที่ไหน สัตว์ดับไปในที่ไหน ?

วชิราภิกษุณีตอบ “ดูก่อนมาร เพราะเหตุไรหนอ ความเห็นของท่านจึงหวนกลับมาว่าสัตว์ ในกองสังขารล้วนนี้ ย่อมไม่ได้นามว่าสัตว์ เหมือนอย่างว่าเพราะคุมส่วนทั้งหลายเข้า เสียงว่ารถย่อมมีฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายยังมีอยู่ การสมมติว่าสัตว์ย่อมมีฉันนั้น ความจริงทุกข์เท่านั้นย่อมเกิด ทุกข์ย่อมตั้งอยู่ และเสื่อมสิ้นไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ”




29 มีนาคม อายุของพรหม
ตามศาสนาฮินดู พรหมเป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้สร้างสิ่งทั้งปวง มีอยู่ชั่วนิรันดร พระผู้มีพระภาคทรงเห็นอย่างไรในเรื่องนี้ ?

พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนพะกะพรหม ท่านสำคัญอายุใดว่ายาว ก็อายุนั้นสั้น ไม่ยาวเลย ดูก่อนพรหม เรารู้อายุหนึ่งแสนนิรัพพุท (คือเลข ๑ ตามด้วยเลขศูนย์ ๖๘ ตัว) ของท่านได้ดี”


* พระพุทธเจ้าทรงเคารพอะไร

พุทธดำรัส ตอบ “.... บุคคลผู้ไม่มีที่เคารพ ที่ยำเกรง ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เราจะพึงสักการะเคารพอาศัยสมณะ หรือพราหมณ์ใครผู้ใดอยู่หนอ ?
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้มีพระดำริว่า “เราควรสักการะเคารพสมณะหรือพราหมณ์อื่นแล้วอาศัยอยู่ เพื่อความบริบูรณ์แห่งศีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่ว่า เรายังไม่เห็นสมณหรือพราหมณ์อื่นที่ถึงพร้อมด้วยศีลยิ่งกว่าตนในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ซึ่งเราควรสักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่
“เราควรสักการะเคารพสมณะหรือพราหมณ์อื่นแล้วอาศัยอยู่ เพื่อความบริบูรณ์แห่งสมาธิที่ยังไม่บริบูรณ์.... เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์.... เพื่อความบริบูรณ์แห่งวิมุติขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์.... เพื่อความบริบูรณ์ แห่งวิมุติญาณทัสสนะขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่ว่าเรายังไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่น ที่ถึงพร้อมด้วยสมาธิ.... ที่ถึงพร้อมด้วยปัญญา.... ที่ถึงพร้อมด้วยวิมุติ..... ที่ถึงพร้อมด้วยวิมุติญาณทัสสนะยิ่งกว่าตนในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ซึ่งเราควรสักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่
“อย่างกระนั้นเลย เราควรสักการะเคารพธรรมที่เราตรัสรู้นั่นแหละ แล้วอาศัยอยู่”


30 มีนาคม กระบวนการปรินิพพาน

“.... ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตตุถฌาน ออกจากจตุตถฌาน ทรงเข้าอากาสานัญจายตนฌาน.... ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน..... ทรงเข้าอากิญจัญญายตนฌาน....ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน....
ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ.... ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้ว ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน..... ทรงเข้าอากาสานัญจายตนฌาน.... ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน..... ทรงเข้าอากาสานัญจายตนฌาน.... ทรงเข้าจตตุถฌาน ทรงเข้าตติยฌาน..... ทรงเข้าปฐมฌาน..... ทรงออกปฐมฌาน.... แล้วทรงเข้าทุติฌาน.... ทรงเข้าตติยฌาน.... ทรงเข้าจตตุถฌาน พระผู้มีพระภาคออกจากจตตุถฌาน แล้ว เสด็จปรินิพพานในลำดับนั้น”




31 มีนาคม ฆ่าได้แล้วเป็นสุข

พราหมณ์ภารทวาชโคตรทูลถาม: บุคคลฆ่าอะไรได้ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าอะไรได้ย่อมไม่เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม พระองค์ย่อมชอบใจการฆ่า ธรรมอะไร เป็นธรรมอันเอก ?

พุทธดำรัส ตอบ “ บุคคลฆ่าความโกรธได้ ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าความโกรธได้ย่อไม่เศร้าโศก ดูก่อนพราหมณ์ พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมสรรเสริญการฆ่าความโกรธอันมีมูลเป็นพิษ มีปลายหวาน เพราะว่าบุคคลฆ่าความโกรธนั้นได้แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก”



โลกอยู่ภายใต้การครอบงำของชรา ก้าวเข้าไปสู่ชรา ไม่ยั่งยืน

โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่มีผู้เป็นใหญ่

โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวง

โลกพร่องอยู่เป็นนิจ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา.

- สละโลกได้ ก็พ้นทุกข์ได้