ปัตติทานมัย
เอาบุญมาฝากนะครับ/คะ
 
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙ /
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์
 
“แม่น้ำเป็นที่อยู่ของฝูงปลา ย่อมหลั่งไหลไปสู่สาครท้องทะเลหลวง ฉันใด
ห้วงบุญย่อมหลั่งไหลไปสู่นรชนผู้เป็นบัณฑิต ให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ที่นอน ที่นั่ง เครื่องปูลาด
เหมือนห้วงน้ำหลั่งไหลเข้าไปสู่สาคร ฉันนั้น” (ปฐมอภิสันทสูตร)


      บุญ คือ พลังงานอันบริสุทธิ์ มีอานุภาพยิ่งใหญ่กว่าพลังทั้งปวง เป็นเครื่องนำมาซึ่งความสุขและความสำเร็จในชีวิต คุณสมบัติของบุญ คือเก็บสะสมเอาไว้ได้ เหมือนกระแสไฟฟ้าที่สามารถชาร์จเก็บสะสมเอาไว้ในแบตเตอรี่ และยังสามารถอุทิศให้แก่ผู้ที่ละโลกไปแล้วได้ บุญมีคุณสมบัติคล้ายน้ำ คือ สามารถที่จะไหลไปได้ไกล ๆเหมือนน้ำจากภูเขาไหลลงไปสู่ทะเลที่อยู่ไกลแสนไกล บุญก็สามารถที่จะอุทิศให้กับผู้ที่ละโลกไปแล้ว แม้อยู่กันคนละโลกได้

     ปัตติทานมัย คือ การทำบุญแล้วตั้งใจอุทิศให้คนอื่น บุญพิเศษนี้เกิดจากความเมตตาปรารถนาดีที่อยากแผ่บุญแผ่กุศลที่ตนทำเอาไว้ให้คนอื่นได้บุญด้วย การจะอุทิศบุญให้แก่ผู้อื่นได้ตัวเองก็ต้องมีบุญมากพอ เช่น มีบุญที่เกิดจากการทำกาย วาจา ใจให้สะอาดบริสุทธิ์ หรือได้ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น เมื่อตั้งจิตปรารถนาให้คนอื่นได้รับส่วนบุญ บุญจึงจะไปถึงบุคคลที่อยู่ปลายทาง หากเขาไปเกิดเป็นสัตว์นรกเปรต อสุรกาย บุญก็จะหนุนส่งให้เขาได้คลายจากทุกข์มากเป็นทุกข์น้อย ทุกข์น้อยก็หมดทุกข์หลุดพ้นจากอบายไปเกิดในสุคติภูมิได้ หรือหากไปเกิดเป็นชาวสวรรค์ จากเป็นเทวดาที่สุขน้อยก็สุขมาก ที่สุขมากก็มีความสุขมากยิ่ง ๆ ขึ้นไป

นางเปรตผู้น่าสงสาร

     ๑ในสมัยพุทธกาลมีเปรตตนหนึ่ง หลังจากที่หลุดพ้นจากการถูกทัณฑ์ทรมาน แต่กรรมยังไมหมด นางคิดว่าทำอย่างไรหนอจะหมดเวรหมดกรรมนี้ได้ จึงไปยืนอยู่บริเวณที่จงกรม ปรากฏกายอันน่าเวทนาให้พระสารีบุตรเถระเห็น พระเถระท่านเป็นพระอรหันต์จึงไม่กลัว ไม่สะดุ้งตกใจ มีแต่ความสงสารอยากช่วยนางให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมาน ท่านเมตตาไต่ถามนางว่า “เธอเป็นคนเปลือยกาย มีรูปร่างไม่น่าดู ซูบผอม เนื้อตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น เธอเป็นใคร มายืนอยู่ตรงนี้ทำไม”

     เมื่อเปรตถูกพระเถระถาม นางก็ลำดับเหตุการณ์ให้ท่านฟังว่า เมื่อ 5 ชาติที่แล้ว ตนเคยเป็นมารดาของพระสารีบุตร ภพชาตินี้ได้เป็นเปรตที่มากไปด้วยความหิวและความกระหาย เมื่อถูกความหิวครอบงำ ก็ต้องกินน้ำลาย น้ำมูก เสมหะที่เขาถ่มทิ้ง และกินมันเหลวของซากศพซึ่งกำลังถูกเผาที่เชิงตะกอน กินเลือดของหญิงที่คลอดบุตรและเลือดสด ๆ ของพวกบุรุษที่ถูกตัดมือตัดเท้านางเปรตรำพันต่อไปว่า “ในอัตภาพของเปรตนี้ ต้องกินเนื้อ เอ็น และข้อมือข้อเท้าของคนที่ตายแล้ว กินหนอง เลือดของสัตว์และมนุษย์ ไม่มีที่พักอาศัย ร่อนเร่ไปได้รับความลำบากยิ่งกว่าคนพเนจรในเมืองมนุษย์นี้เสียอีก และยังต้องนอนบนเตียงของคนตายที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า แม่อยากหลุดพ้นจากอัตภาพนี้เหลือเกิน ขอพระคุณเจ้าได้ทำทาน แล้วอุทิศส่วนกุศลให้แม่บ้างเถิด”
 

     พระสารีบุตรรู้ว่าการจะให้อดีตโยมมารดาหลุดพ้นจากอัตภาพของเปรตต้องทำอย่างไรบ้างรุ่งขึ้น ท่านออกไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ถึงพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร พระราชาทรงมีพระราชศรัทธาอยากสร้างกุฏิถวายท่านเป็นการส่วนตัว จึงส่งพวกช่างหลวงมาสร้างกุฏิ 4 หลังเมื่อพระเถระได้รับถวายกุฏิที่พักสงฆ์พร้อมด้วยไทยธรรมทุกอย่างจากพระราชาแล้ว ท่านได้ถวายสิ่งของทั้งหมดแด่ภิกษุสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง 4 แล้วอุทิศบุญแก่เปรตผู้เป็นมารดา

     ฝ่ายเปรตมารดาเมื่อได้อนุโมทนาแล้วก็ไปบังเกิดในเทวโลกพรั่งพร้อมไปด้วยสิ่งที่น่าปรารถนาทุกอย่าง ครั้นตกกลางคืน จึงรีบลงจากเทวโลกมาที่วัดพระเชตวัน เพื่อจะเข้าไปนมัสการพระสารีบุตร บังเอิญว่าพระมหาโมคคัลลานะพบนางก่อน จึงสอบถามจุดประสงค์ของการลงมายังโลกมนุษย์ พระเถระได้กราบทูลเรื่องที่ประสบมาด้วยตัวเองแด่พระบรมศาสดาท่ามกลางพุทธบริษัทที่กำลังฟังธรรม พระพุทธองค์ทรงอาศัยเรื่องของเปรตผู้พลิกวิกฤตได้ด้วยบุญที่พระสารีบุตรอุทิศให้เทศน์สอนพุทธบริษัท เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ให้เห็นทุกข์เห็นโทษของความตระหนี่ ทำให้มหาชนรักในการสั่งสมบุญมากขึ้น
 

     จะเห็นว่า บุญสามารถอุทิศให้กันได้ถ้าไม่แบ่งบุญ ญาติที่ล่วงลับไปแล้วก็ไม่มีโอกาสได้ส่วนบุญกับเรา พระพุทธองค์จึงทรงสอนเหล่าพุทธบริษัทให้รู้จักการอุทิศส่วนบุญให้หมู่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เมื่อเราให้เขาได้มีส่วนแห่งบุญแทนที่บุญจะหมดไป แต่กลับกลายเป็นได้บุญเพิ่มขึ้น เหมือนต่อแสงเทียนให้สว่างยิ่ง ๆ ขึ้นไปโดยเริ่มจากตัวผู้อุทิศส่วนกุศลซึ่งเป็นดวงที่หนึ่งขยายต่อไปเป็นสองดวง สามดวง สิบดวง ร้อยดวงพันดวง ยิ่งต่อไปมากเท่าไรก็ยิ่งสว่างไสวเพียงนั้นเพราะฉะนั้นการทำบุญแล้วอุทิศให้แก่หมู่ญาติหรือบุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว จึงเรียกว่า “ปัตติทานมัย”

อุทิศบุญให้พญายมราช

     ในอดีตชายคนหนึ่งเคยเป็นอำมาตย์ แต่ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ชอบฉ้อราษฎร์บังหลวง พิจารณาคดีด้วยความลำเอียงเป็นประจำ แต่ด้วยบุญที่เคยนำดอกมะลิ 1 หม้อ ไปบูชาพระมหาเจดีย์แล้วแบ่งส่วนบุญให้แก่พญายมราช ก่อนตายใจของเขาเศร้าหมองไม่ผ่องใส นึกถึงบุญไม่ออกมีแต่ภาพที่ตนเองทำบาปเอาไว้ ครั้นตายไปจึงถูกนายนิรยบาลควบคุมตัวไปพิจารณาโทษในยมโลกแม้พญายมราชจะเตือนให้นึกถึงบุญ เขาก็นึกไม่ออก เพราะบาปมันบังตาเอาไว้ พญายมราชจึงตรวจดูเอง แล้วเตือนให้ได้สติว่า “ยังจำได้ไหมท่านเคยบูชามหาเจดีย์ด้วยดอกมะลิ 1 หม้อ แล้วอุทิศส่วนกุศลให้เราด้วย” อำมาตย์จำกุศลกรรมของตนเองได้ จึงมีใจผ่องใส พอจิตผ่องใสเท่านั้นก็ได้ไปบังเกิดในเทวโลกทันที

     การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏเป็นสิ่งที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ มีโอกาสพลัดไปเกิดได้ทั้งอบายภูมิและสุคติภูมิ เพราะในขณะที่เราเป็นมนุษย์ ก็มีทั้งทำบุญและทำบาปปะปนกันไป การได้ช่องของบุญและบาปที่จะส่งผลจึงช่วงชิงกันอยู่ตลอดเวลา เพื่อความมั่นใจในชีวิต เมื่อมีโอกาสทำบุญแล้ว เราต้องอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว เพราะบุญนี้จะเป็นผลดีย้อนกลับมาถึงตัวเราเหมือนพญายมราชรู้ว่าบุคคลนี้เคยอุทิศส่วนกุศลให้จึงพยายามช่วยให้เขาหลุดพ้นจากอบายเพื่อไปสวรรค์ได้
 

     การอุทิศบุญกุศลอุปมาเหมือนคนมีความรู้แล้วมีจิตเมตตาถ่ายทอดให้แก่คนอื่น ด้วยหวังให้เขาได้มีความรู้ความสามารถด้วย แต่ถ้าไม่ได้อุทิศบุญกุศลหรืออุทิศไม่ถูกวิธี บุญก็ไม่ถึงหมู่ญาติการให้ส่วนบุญนั้น สามารถให้ได้ทั้งแก่คนเป็นและคนตาย การให้ส่วนบุญแก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ จะให้ต่อหน้าก็ได้ ให้ลับหลังก็ได้ การให้ต่อหน้า เช่น เราไปงานบวชมา เมื่อพบพ่อแม่หรือญาติมิตร ก็บอกว่า “เอาบุญมาฝากนะครับ/คะ วันนี้ไปร่วมงานบวชเพื่อนมา ขอให้คุณพ่ออนุโมทนามีส่วนในบุญด้วยครับ/ค่ะ” ผู้รับจะอนุโมทนาหรือไม่ก็ตาม แต่ผู้ให้ย่อมได้รับบุญแล้ว ถ้าเขาอนุโมทนา เขาก็ได้รับบุญจากปัตตานุโมทนามัย

     การให้ลับหลัง เช่น ทำบุญแล้วนึกถึงชื่อบุคคลที่เราอยากให้เขาได้บุญด้วย ซึ่งบางทีเขาอยู่ห่างไกล ติดต่อกันไม่ได้ หรือรู้ว่าเขายังไม่ศรัทธายังไม่พร้อมจะอนุโมทนา แต่เงินที่เรานำมาทำบุญเป็นทรัพย์ที่หามาด้วยกัน จึงมีใจบริสุทธิ์อยากให้เขาได้บุญด้วย เอาไว้วันใดที่เขาอนุโมทนา เขาก็จะได้บุญนั้น ๆ ด้วย

     การอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วไม่ว่าเขาจะตายไปแล้วนานเท่าใด จะอุทิศเป็นภาษาไทย ภาษาบาลี หรือภาษาอื่นใดก็ได้ มีน้ำกรวดก็ได้ ไม่มีน้ำกรวดก็ได้ ย่อมสำเร็จทั้งสิ้นเพราะการอุทิศบุญต้องเกิดจากการให้ด้วยใจเป็นหลัก ส่วนการกรวดน้ำเป็นเรื่องของพิธีกรรม เป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่า เรากำลังอุทิศบุญกุศล โดยหลักให้ทำใจใส ๆ นึกถึงชื่อหรือรูปร่างหน้าตาของหมู่ญาติหรือบุคคลที่เราต้องการแผ่ส่วนบุญชนิดจำเพาะเจาะจงให้ แต่จะอุทิศส่วนกุศลโดยรวม ๆ ก็ได้ว่า... อิทํ เม ญาตีนํ โหตุ สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย ขอผลบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าจงประสบความสุขด้วยเถิด

สังสารโมจกเปติวัตถุ มก.เล่ม ๔๙/๑๓๒
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//ปัตติทานมัย.html
เมื่อ 1 กรกฎาคม 2567 21:09
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv