เลขาธิการ ปธ.ศาลฎีกาจี้โรงเรียนรัฐ เลิกระบบโควต้า-เด็กเส้น ชี้เอาเปรียบลูกชาวบ้าน ขัดรัฐธรรมนูญ



เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดสัมมนาการนำกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ไปสู่การบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนายจรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกา บรรยายพิเศษในหัวข้อ การปฏิบัติต่อเด็กเพื่อประโยชน์สูงสุดและการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อเด็ก ตามกฎกระทรวง ออกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ว่า งานในกระบวนการศาลจะเตือนคณะผู้พิพากษาให้ระวังการใช้ดุลพินิจในการกำหนด
โทษคดีอาญา หากเป็นเรื่องเหมือนกันอย่าใช้ดุลพินิจแตกต่างกัน การใช้ดุลพินิจต้องไม่ฝ่าฝืนและไม่เลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับเด็ก ขอให้มองประโยชน์เด็กสูงสุดเป็นสำคัญ ปัญหาที่เกิดขณะนี้ คือ การเลือกปฏิบัติต่อเด็กโดยสัญชาติ เป็นอคติในระดับที่สังคมโลกยอมรับ ทั้งนี้ การเลือกปฏิบัติโดยสัญชาติไม่ขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายคุ้มครองเด็ก เนื่องจากไม่มีการกำหนดไว้ ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติระหว่างเด็กไทยและเด็กต่างด้าวได้ แต่ยังมีหลักสิทธิมนุษยชน ศีลธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ต้องคำนึงในการปฏิบัติ

"การเลือกปฏิบัติต่อเด็กในสังคมไทยยังมีให้เห็นอีกมาก จึงอยากให้มีการแก้ไขโดยเฉพาะในโรงเรียนของรัฐ โรงเรียนสาธิตต่างๆ จะมีหลักเกณฑ์กำหนดให้ลูกของเจ้าหน้าที่รัฐได้แต้มต่อในการเข้าเรียน ได้คะแนนจากการเป็นลูกหม้อเพิ่มขึ้นกว่าลูกชาวบ้านทั่วไป หรืออาจไม่ต้องสอบก็เข้าเรียนได้เลย การให้โควต้าลูกของเจ้าหน้าที่ เช่น รับนักเรียน 100 คน จะให้โควต้าลูกเจ้าหน้าที่รัฐไว้ 50 คน ลูกชาวบ้านทั่วไปต้องไปแข่งขันให้ได้ 50 คน หลักปฏิบัติหรือกฎเกณฑ์อย่างนี้ การใช้หลักการนี้ถือว่าไม่เป็นธรรม ถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อเด็กจากสถานะของบุคคล" นายจรัญกล่าว

เลขาธิการประธานศาลฎีกา กล่าวว่า หากเรื่องนี้มีการฟ้องร้องเป็นกรณีพิพาท ผู้ถูกเลือกปฏิบัติสามารถไปฟ้องร้องศาลปกครองหรือยื่นเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา
ตีความได้ ซึ่งมีการวินิจฉัยกรณีการรับสมัครพนักงานใหม่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีหลักการสอบข้อเขียนและสอบปากเปล่า โดยสอบข้อเขียนต้องได้ไม่ต่ำกว่า 60 คะแนน แต่หากเป็นลูกของพนักงาน กฟผ.หรืออดีต กฟผ. สอบข้อเขียนได้เพียง 50 คะแนนก็ผ่านได้ ถือเป็นแต้มต่อที่เหนือกว่าคนทั่วไป เป็นการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 วรรค 3 ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย กฟผ.มีความผิด จะไปกำหนดกฎเกณฑ์อย่างนี้ไม่ได้ ต้องยกเลิกไป ดังนั้น อยากให้ผู้ถูกเลือกปฏิบัติ ออกมาแสดงตน และช่วยกันแก้ไข ความอยุติธรรมก็จะหมดไป
 
ที่มา-
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2006-08-22-2.html
เมื่อ 4 กรกฎาคม 2567 08:18
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv