นักวิจัยมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ในสหรัฐสังเคราะห์โมเลกุล ที่ทำให้เซลล์มะเร็งฆ่าตัวเอง สร้างความหวังเรื่องการรักษามะเร็งด้วยวิธีใหม่ ๆ ทั้งนี้ เซลล์ปกติมีกระบวนการทำลายตัวเอง หากพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น โดยจะเปลี่ยนโปรตีนโปรคาสเปส 3 ให้เป็นคาสเปส 3 ส่งสัญญาณให้เซลล์ฆ่าตัวเอง แต่เซลล์มะเร็งสามารถต้านทานกระบวนการนี้ ทำให้เซลล์มะเร็งอยู่รอดและแพร่กระจาย
 
คณะนักวิจัยศึกษาสารสังเคราะห์กว่า 20,000 ชนิด ที่มีโครงสร้างแตกต่างกัน เพื่อดูว่าตัวไหนสามารถกระตุ้นให้โปรคาสเปส 3 พัฒนาเป็นคาสเปส 3 ได้ พบว่า สารสังเคราะห์ที่ชื่อว่า โมเลกุลพีเอซี 1 สามารถกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งของหนูและคนทำลายตัวเองได้ ยิ่งเซลล์มะเร็งมีโปรคาสเปส 3 มากเท่าไหร่ ยิ่งใช้สารตัวนี้น้อยลง ขณะที่เซลล์ปกติเช่น เซลล์เม็ดเลือดขาวไม่ได้รับผลจากการเติมโมเลกุลดังกล่าว เพราะมีโปรคาสเปส 3 น้อย จึงไม่ถูกกระตุ้นให้เกิดกระบวนการฆ่าตัวเอง ผลการทดลองกับเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติของอาสาสมัครคนเดียวกันพบว่า เซลล์มะเร็งตอบสนองต่อโมเลกุลพีเอซี 1 มากกว่าเซลล์ปกติถึง 2,000 เท่า
 
อย่างไรก็ตาม คณะนักวิจัยแนะว่า ผู้ป่วยแต่ละคนอาจตอบสนองต่อวิธีการนี้แตกต่างกัน เนื่องจากพบว่า เซลล์แต่ละคนมีระดับโปรคาสเปส 3 แตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องปรับวิธีรักษาเป็นราย ๆ ไป และพบว่า เซลล์มะเร็งบางชนิดมีโปรคาสเปส 3 มากเป็นพิเศษเช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งผิวหนัง และมะเร็งตับ นอกจากนี้ คณะนักวิจัยในสหรัฐพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ที่เป็นโรคอ้วน มักมีอาการลุกลามเร็วกว่าและเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ที่ไม่เป็นโรคอ้วน
 
โรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งหลายชนิด ทั้งมะเร็งลำไส้ มะเร็งมดลูก มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งเต้านม สำหรับสตรีวัยหมดรอบเดือน มีความเสี่ยงสูงเป็นมะเร็งรังไข่.
 
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2006-08-30-3.html
เมื่อ 24 กรกฎาคม 2567 08:14
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv