นักวิชาการเชื่อการถอดแผนที่พันธุกรรมจะทำให้มนุษย์แต่ละคนรู้รหัสพันธุกรรมเป็นของตัวเอง นำไปใช้ซื้อยาเฉพาะรายบุคคลได้  เผยที่ผ่านมาคนอเมริกันราว 20% ต้องตายเพราะใช้ยาไม่เหมาะสมกับระบบจีโนมของตัวเอง หวังมีการพัฒนายาเฉพาะบุคคลรักษาโรคทาลัสซีเมียซึ่งคนไทยเป็นกันมาก แย้มโนวาร์ติสผลิตยารักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวโดยไม่ส่งผลข้างเคียงได้แล้ว
       
       “การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2549” (Thailand Research Expo 2006) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระหว่างวันที่ 9-13 ก.ย. ณ สกายฮอลล์และห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว ที่มีการนำเสนอผลงานวิจัยและการประชุมกันหลากหลายหัวข้อ
       
       วานนี้ (12 ก.ย.) ได้มีการอภิปรายพิเศษเรื่อง “การแพทย์และสาธารณสุขหลังยุคจีโนมิกส์” ขึ้น โดย รศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า การศึกษาด้านชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) หรือการนำข้อมูลทางชีวภาพมาใช้ประโยชน์ เป็นเรื่องที่กำลังมีความสำคัญทางการแพทย์และสาธารณสุขมากขึ้น ทว่าแม้เราจะสามารถสร้างแผนที่พันธุกรรมหรือจีโนม (Genome) ได้ แต่ก็พบว่าข้อมูลที่ได้มีมากเกินไป เช่น จีโนมของมนุษย์เพียงคนเดียวก็สามารถถอดรหัสพันธุกรรมเป็นเอกสารได้ถึง 1.5 ล้านหน้ากระดาษ
       
       การศึกษาวิจัยจีโนมที่ตามมาจึงต้องเป็นการประสานงานร่วมกันระหว่างนักชีววิทยา แพทย์ และผู้เชี่ยวชาญทางคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ประโยชน์ที่เราจะได้จากวิทยาการดังกล่าวอาจได้แก่ การทำนาย การพัฒนายา วัคซีน หรือชุดตรวจวินิจฉัยโรค และการวิเคราะห์การตอบสนองต่อตัวยาของเชื้อไวรัส อาทิ เชื้อไวรัสโรคเอดส์ ซึ่งขณะนี้แม้แต่เป้าหมายของตัวยาที่จะมีการพัฒนาในอนาคตก็มีการจดทะเบียน
สิทธิบัตรในต่างประเทศแล้วกว่า 46 ตัว
       
       ด้าน ศ.ดร.อำนวย ถิฐาพันธ์ กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในอนาคตการใช้ยารักษาผู้ป่วยอาจต้องมีความจำเพาะมากขึ้น เป็นตำรับยาเฉพาะส่วนบุคคลนั้นๆ เพราะยาที่ใช้ต้องสอดคล้องกับพันธุกรรมของผู้ป่วยเอง ทำให้การรักษาได้ผล และไม่เกิดผลร้ายกลับมา แทนที่ปัจจุบันที่เรามักใช้ยารักษาโรคคล้ายๆ กันหมด
       
       ทั้งนี้ ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว แม้แต่บริษัทผลิตยาขนาดใหญ่ของต่างชาติก็ยังยอมรับว่า ยาที่ผลิตขึ้นโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยด้านพันธุกรรมจะรักษาผู้ป่วยได้เพียง 30-50 % เท่านั้น จึงไม่สามารถรักษาผู้ป่วยทุกคนได้ โดยหนึ่งในห้าของผู้ป่วยที่ต้องเสียชีวิตในประเทศสหรัฐฯ ก็มาจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะกับยาอันตรายสูง เช่น ยารักษามะเร็ง ยารักษาโรคหืดหอบ และยาลดการต่อต้านอวัยวะใหม่ ฯลฯ
       
       ศ.ดร.อำนวย เล่าต่อว่า ไม่เพียงเท่านั้น ในปีที่ผ่านมา องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ หรือเอฟดีเอ (FDA) ก็ได้กำหนดข้อบังคับใหม่ออกมาแล้วว่า ยาที่จะได้รับการอนุมัติจะต้องมีการศึกษาทางด้านจีโนมมาแล้ว ทำให้ในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่าเมื่อเราจะเข้าไปซื้อยาในร้านขายยา นอกจากจะต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์แล้ว ยังต้องมีรหัสพันธุกรรมของตัวเองไปบอกแก่เภสัชกรด้วย
       
       ส่วน รศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า จากความก้าวหน้าในการนำแผนที่จีโนมมาปรับใช้กับการจ่ายยาอย่างแม่นยำของแพทย์ ยังอาจนำไปสู่การรักษาโรคที่คนไทยเป็นกันมากและเป็นรุนแรงอย่างทาลัสซีเมียด้วย
       
       เช่นเดียวกับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่เกิดจากความผิดปกติของหน่วยพันธุกรรมของ
เซลล์ที่ทำหน้าที่ผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาว ไม่ได้เป็นโรคที่เป็นมาแต่กำเนิด ด้วยเหตุนี้ เราจึงสามารถพัฒนายาที่แก้ไขความผิดปกติต่อหน่วยพันธุกรรมดังกล่าวโดยเฉพาะได้ โดยไม่ส่งผลข้างเคียงอื่นๆ ต่อร่างกาย ซึ่งขณะนี้บริษัทโนวาร์ติส หนึ่งในบรรษัทผลิตยายักษ์ใหญ่ก็สามารถพัฒนายาดังกล่าวได้แล้ว
       
       นอกจากนี้ รศ.นพ.สุรเดช ยังกล่าวด้วยว่า การนำสเต็มเซลล์มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยควบคู่ไปกับการวิจัยจีโนม
ยังอาจทำให้เกิดประสิทธิภาพทางการรักษาโรคแบบใหม่ๆ ในอนาคตได้ด้วย
 
 
ที่มา- 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2006-09-13-2.html
เมื่อ 24 กรกฎาคม 2567 07:15
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv