จากจุดเล็กๆ ของคนสูงวัยที่มักหลงลืม บางรายอาการหนักถึงขั้นจำคู่ชีวิตตัวเองไม่ได้ ถามซ้ำซาก อย่าคิดว่าญาติผู้ใหญ่ของเราเรียกร้องความสนใจ แท้จริงนั่นคือสัญญาณ บอกเหตุ ที่ต้องคิดหาวิธีป้องกันได้แล้ว เพื่อช่วยชะลอโรคอัลไซเมอร์บุกทำลายสมองก่อนที่จะสายเกินแก้ และปีนี้ก็เป็นปีฉลองครบ 100 ปี วันอัลไซเมอร์โลก (วันที่ 21 ก.ย.) ทางสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลราชวิถี จัดงาน “จากวันนั้นถึงวันนี้ 100 ปี อัลไซเมอร์” ณ อาคารเฉลิมพระ เกียรติฯ รพ.ราชวิถี

คนมักเข้าใจผิดว่า สมองเสื่อมคืออัลไซเมอร์ อัลไซเมอร์ก็คือสมองเสื่อม ซึ่งในความเป็นจริง โรคอัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม แล้ววิธีไม่ให้สมองเสื่อมนั้น พ.อ.(พ) ผศ.นพ. สามารถ นิธินันทน์ จากสาขาวิชาประสาทวิทยา วิทยาลัยแพทย์พระมงกุฎเกล้า ได้เผยถึงสัญญาณเตือนอันดับแรกคือ เริ่มคำนวณผิดพลาด คิดได้ช้าลง จึงต้องฝึกทดสอบสภาพสมองบ่อยๆ โดยหัดวาดรูป ผลัดนอน-นั่ง-ยืน-เดินให้สมดุล เล่นเกมที่ต้องใช้ สมอง เช่น การต่อจิ๊กซอว์ หรือเล่นไพ่ที่ไม่ใช่การพนันก็จะช่วยได้ดี ที่สำคัญต้องมีสมาธิกับกิจกรรมตรงหน้า และ พยายามนึกย้อนหรือเรียงลำดับเหตุการณ์ ใน 1 ชม.ที่ผ่านมาบ่อยๆ

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน แห่งคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะให้รับประทานปลาทะเลน้ำลึก เพราะมีกรดโอเมก้า 3 สูง ซึ่งดีต่อเซลล์สมอง จำพวกวิตามินบีต่างๆ โดยเฉพาะวิตามินบี 12 ที่พบในไข่ เครื่องในสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากนมนั้น ช่วยลดอัตราเสี่ยงอัลไซเมอร์ได้มากถึง 4 เท่า ที่สำคัญต้องนำคาถานี้ไปปฏิบัติให้เป็นกิจวัตรคือ “ผักครึ่งหนึ่ง อย่างอื่นครึ่งหนึ่ง” ซึ่งผักก็ควรหั่นเป็นชิ้นเล็กเพื่อให้เคี้ยวง่าย นำไปลวกในน้ำเดือดในปริมาณน้อยสุด เพียงครู่เดียว ดีกว่าต้มจนสุกหรือเปื่อย เพื่อพฤกษเคมี หรือคุณค่าทางสารอาหารยังอยู่ครบไม่ถูกความร้อนทำลายหมด หากยังติดใจสงสัยสอบถามข้อมูลที่ โทร.0-2201-2588, 0-2880-8542.
 
 
ที่มา- 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2006-09-26-1.html
เมื่อ 4 กรกฎาคม 2567 12:13
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv