โรงเรียนแพทย์ 4 ภาค จับมือเอ็มเทค เซ็นสัญญา 5 ปี ขยายผลการใช้เทคโนโลยีภาพ 3 มิติ ช่วยวางแผนการผ่าตัด และออกแบบวัสดุฝังใน แก้ไขความผิดปกติของกะโหลกศีรษะ ใบหน้า ขากรรไกร ฯลฯ ให้ผู้ป่วย เพิ่มความแน่นอนในการรักษา ระบุใช้รักษาผู้ป่วยมาแล้ว 200 ราย ได้ผลดีมาก ไม่มีอาการแทรกซ้อน
       
       นับวันความก้าวหน้าทางการแพทย์ยิ่งจะทำให้มนุษย์เราสามารถไว้วางใจในชีวิตได้มากขึ้นทุกขณะ ไม่เพียงแต่การคงไว้ซึ่งสุขอนามัยที่ดีของร่ายกายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความมั่นคงทางจิตใจด้วย เช่น ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติแต่กำเนิด มีเนื้องอก หรือประสบอุบัติเหตุ จนเกิดความผิดปกติของกะโหลกศีรษะ ใบหน้า ขากรรไกร กระบอกตา กระดูกแขน ขา และสะโพก ฯลฯ ซึ่งทำให้ร่างกายของผู้ป่วยมีรูปทรงผิดปกติ และส่งผลต่อความสุขใจในชีวิตได้
       
       ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือ “การสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการสร้างต้นแบบรวดเร็วและวัสดุฝังในทางการแพทย์” ขึ้น ระหว่างเอ็มเทค และโรงเรียนแพทย์ของ 4 สถาบันคือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วานนี้ (27 ก.ย.) เพื่อขยายผลการใช้งานไปสู่ทุกภูมิภาคของประเทศ
       
       รศ.นพ.จรัญ มหาทุมะรัตน์ หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่ง ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการบริหารสมาคมแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะนานาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชีย ในฐานะผู้บุกเบิกโครงการ ให้ข้อมูลว่า ในอดีตการรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติข้างต้นจะต้องใช้การเอ็กซเรย์ การทำซีทีสแกน หรือการทำเอ็มอาร์ไอ แล้วเข้ารับการผ่าตัดด้วยมือเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ผลการรักษาขึ้นอยู่กับความชำนาญของแพทย์เป็นสำคัญ ขณะที่การผ่าตัดในบริเวณที่ซับซ้อน มีส่วนโค้งเว้ามาก เช่น ใบหน้า กะโหลกศีรษะ กระบอกตา ขากรรไกร จะทำได้ลำบาก กินเวลามาก ต้องวางยาให้คนไข้ให้สลบไปนาน คนไข้ฟื้นตัวได้ช้า อีกทั้งอาจได้ผลการรักษาที่ไม่ดีนัก และต้องผ่าตัดซ้ำอีก
       
       จากเหตุผลนี้ จึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวการแพทย์ดังกล่าวขึ้น เพื่อให้สามารถจำลองภาพ 3 มิติของอวัยวะที่ได้รับความเสียหาย เช่น กะโหลกศีรษะ ใบหน้า กระบอกตา ขากรรไกร ฯลฯ เปรียบเทียบกับด้านที่ยังสมบูรณ์อยู่ คล้ายกับการนำกระจกมาวางทาบให้เกิดภาพส่วนที่เสียหายไป เพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผนการผ่าตัดและผลิตวัสดุฝังในแทนส่วนที่เสียหายได้อย่าง
รวดเร็วและแม่นยำ เช่น วัสดุฝังในกระดูกกะโหลกศีรษะและใบหน้า จึงลดความผิดพลาดของการผลิตวัสดุฝังในด้วยมือ และจากการจินตนาการภาพส่วนที่ได้รับความเสียหายของแพทย์ระหว่างการผ่าตัด
       
       สำหรับการวิจัยพัฒนาดังกล่าว ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2542 หลังจากที่มีการพัฒนาในยุโรปเพียงไม่กี่ปี โดยได้มีการทดลองใช้งานกับผู้ป่วยแล้วร่วม 200 คน ซึ่งกว่า 80% เป็นผู้ป่วยที่มีความผิดปกติที่กะโหลกศีรษะและใบหน้า ปรากฎว่ามีผลการรักษาดีมาก แทบไม่มีโรคแทรกซ้อนใดๆ เลย จนมั่นใจว่าจะสามารถขยายผลการใช้เทคโนโลยีนี้ในระดับประเทศได้ นำมาสู่การลงนามครั้งนี้ในที่สุด
       
       รศ.นพ.จรัญ กล่าวว่า ข้อดีของการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้จะได้แก่ การช่วยให้การผ่าตัดทำได้รวดเร็วขึ้น มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพดีกว่าอดีต โดยมีความผิดพลาดไม่ถึง 1% ถือเป็นรายแรกในประเทศไทย และมีคุณภาพทัดเทียมสากล ที่สำคัญ ค่าใช้จ่ายในการออกแบบและผลิตวัสดุฝังในยังมีราคาต่ำกว่าต่างประเทศประมาณ 1 เท่าตัว นอกจากนั้นแล้ว ยังสามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปประยุกต์ใช้ได้กว้างขวาง เช่น การทำศัลยกรรมกระดูก ศัลยกรรมประสาท ศัลยกรรมช่องปาก และใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยสอนให้แก่นักศึกษาทางการแพทย์ได้ด้วย
       

       ด้าน ดร.กฤษฎา สุชีวะ รองผอ.เอ็มเทค กล่าวถึงความร่วมมือระยะ 5 ปีนี้ว่า ในโครงการดังกล่าว เอ็มเทคได้ให้การสนับสนุนมาตั้งแต่เริ่มต้น อาทิ การร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) และมหาวิทยาลัยคาทอลิก ประเทศเบลเยี่ยม ผู้เป็นประเทศต้นแบบวิทยาการ ตลอดจนถึงการให้ทุนนักศึกษาปริญญาเอกมาร่วมทำงานวิจัยกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในการสร้างต้นแบบรวดเร็วทางการแพทย์จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยในปี 2549 เอ็มเทคได้รับงบประมาณสนับสนุนในโครงการประมาณ 40 ล้านบาท ส่วนงบประมาณในปี 2550 จะยื่นเรื่องขอไว้ 50 ล้านบาท
       
       สำหรับบทบาทระยะต่อไปของเอ็มเทคๆ จะให้การช่วยเหลือแก่ทั้ง 4 สถาบันในด้านการประมวลผลข้อมูลจากเครื่องสร้างต้นแบบรวดเร็วเป็นหลัก ซึ่งแต่ละสถาบันสามารถส่งข้อมูลผู้ป่วยมาให้เอ็มเทคป้อนเข้าสู่เครื่องออกแบบต้นแบบวัสดุฝังใน
เพื่อนำผลที่ได้ไปใช้งาน โดยปัจจุบันเครื่องมือนี้จะมีอยู่ที่เอ็มเทคเพียงเครื่องเดียว มีราคาเครื่องละ 3 ล้านบาท เอ็มเทคกำลังผลักดันให้เกิดห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือนี้ไปใช้งานยังมหาวิทยาลัยขอนแก่น
เพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ขณะเดียวกันก็จะให้ความช่วยเหลือด้านวัสดุเพื่อทำวัสดุฝังในให้แก่สถาบันที่ต้องการด้วย
       
       นอกจากนั้น นักวิจัยเอ็มเทคยังได้มีการพัฒนาวัสดุที่จะนำมาผลิตวัสดุฝังในชนิดใหม่ที่เข้ากับร่างกายผู้ป่วยได้ดีขึ้น และไม่เกิดอาการแพ้ จากปกติที่ใช้พอลิเมอร์ชนิดพีเอ็มเอ็มเอ (PMMA) ซึ่งทันตแพทย์จะนำมาใช้กับการทำฟันเทียม โดยพยายามทำให้มีความใกล้เคียงกับวัสดุในธรรมชาติมากที่สุด เช่น สารไฮดรอกซีแอปาไทต์ จากปะการัง กระดูกวัว และควาย รวมถึงสารโพลีเอทธิลีน หรือพีอี (PE) เป็นต้น
       
       สำหรับวัตถุประสงค์โครงการครั้งนี้ รองผอ.เอ็มเทค เผยว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวในการศัลยกรรมทางการแพทย์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ทัดเทียมกับคนทั่วไป อีกทั้งเป็นการเผยแพร่และถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้เป็นที่รู้จัก มีการใช้งานจริง และมีประสิทธิภาพสูงสุดโดยร่วมมือกับศูนย์การแพทย์ต่างๆ ของประเทศ ตลอดจนเป็นการพัฒนาบุคลากรระดับบัณฑิตศึกษาทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ให้มีมากขึ้นด้วย
       
       ส่วนผู้ป่วยที่ต้องการติดต่อขอรับบริการสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย หรือโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี สำหรับภาคกลางและกรุงเทพฯ, โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ สำหรับภาคเหนือ, โรงพยาบาลขอนแก่น และภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำหรับภาคใต้ หรือหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ ดร.กฤษณ์ไกรพ์ สิทธิเสรีประทีป ศูนย์เอ็มเทค 0-2564-6500 ต่อ 4378
 
 
ที่มา- 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2006-09-29-2.html
เมื่อ 24 กรกฎาคม 2567 15:17
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv