กษมา ฟื้นจัดสอบ NT นำข้อมูลมาใช้ในการแก้ปัญหาเด็กไทยอ่าน-เขียนไม่ได้ เตรียมสอบ 3 ช่วงชั้น ป.3 ป.6 และ ม.3 ปลายปีการศึกษานี้ มอบ สพฐ.ไปหารือ สทศ.- สมศ. หาเจ้าภาพตัวจริง และหาเงินมาจัดสอบ ย้ำไม่ผิดกฎหมายเพราะไม่ได้นำผลสัมฤทธิ์มาใช้ในการศึกษาต่อ

       คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้ใช้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับ นายชินภัทร ภูมิรัตน รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ผู้รักษาราชการแทนเลขาธิการ กพฐ.และผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ในที่ประชุมได้มีการพูดถึงเรื่องการอ่านไม่ออก อ่านไม่ได้ โดยจะให้ สพฐ.ชูเรื่องการแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เป็นวาระที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา เพื่อให้เด็กไทยอ่านออกเขียนได้โดย สพฐ.จะผลักดันให้มีการจัดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียน 3 ช่วงชั้นทุกคน ได้แก่ ป.3 ป.6 และ ม.3 ช่วงชั้นละประมาณ 9.7 แสนคน รวมทั้งหมด ประมาณเกือบ 3 ล้านคน ในช่วงปลายปีการศึกษา 2549 หรือประมาณเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลว่า คุณภาพของนักเรียนแต่ละโรงเรียนเป็นอย่างไร มีพื้นฐานความรู้อย่างไร จากนั้นจะนำข้อมูลเหล่านี้มาทำแผนพัฒนานักเรียนให้สามารถอ่านออกเขียนได้
       

       โดย สพฐ.ตั้งเป้าไว้ว่า นักเรียนทุกคนที่จบช่วงชั้นที่ 1 หรือ ป.3 จะต้องอ่านหนังสือและเขียนได้ ส่วนนักเรียนที่จบช่วงชั้นที่ 2 หรือ ป.6 นอกจากอ่านออก เขียนได้คล่องแล้ว ต้องรู้จักคิดวิเคราะห์ได้ด้วย
คุณหญิงกษมา กล่าวต่อว่า สพฐ.แค่ตั้งใจว่าจะผลักดันให้มีการทดสอบดังกล่าวขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่ได้สรุปรายละเอียดว่า ใครจะเป็นผู้ทำหน้าที่จัดสอบ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องรอหารือกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เจ้าของหน้าที่ตามกฎหมายก่อนสมมติว่า สทศ.สามารถจัดสอบให้กระทรวงศึกษาธิการได้ ทาง สพฐ.จะปล่อยให้ สทศ.ทำ แต่ถ้า สทศ.ไม่พร้อมที่จะจัดสอบ สพฐ.ก็จะดำเนินการแทน หรือ สพฐ.อาจจะร่วมมือกับ สทศ.และสำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ช่วยกันจัดสอบ เงื่อนไขเหล่านี้คงต้องหารือเพื่อหาข้อสรุปกับหน่วยงานดังกล่าวก่อน
       
       “ ผลการประชุมพอสรุปได้ว่า สพฐ.จะผลักดันให้มีการจัดสอบ เพียงแต่ใครจะทำ ใช้เงินจากไหน จำนวนเท่าไหร่ และจัดสอบอย่างไร จะสอบวิชาใดบ้าง มอบให้ สพฐ.ไปสรุปรายละเอียดแล้วนำไปเพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนผลทดสอบ จะไม่นำไปใช้ในการศึกษาต่อ แต่ต้องการให้รู้คุณภาพของนักเรียน เพื่อนำมาใช้ทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป”
       
       คุณหญิง กษมา กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาโรงเรียนที่คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานของสำนักรับรองมาตรฐาน
และประเมินคุณภาพการศึกษา โดยขอให้ สพฐ.ไปดูข้อมูลโรงเรียนที่คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานทั้ง 20,000 โรงว่า และทำแผนว่าโรงเรียนใดที่สามารถแก้ไขโดย สพท. และแห่งใดที่จะต้องขอความร่วมมือจากส่วนกลาง จากนั้นให้นำแผนดังกล่าวมาเสนอในที่ประชุมผอ.สพท.ที่จ.สุราษฎร์ธานีแหล่งข่าวจาก สพฐ. กล่าวว่า ขณะนี้ทาง สพฐ.ขาดข้อมูลมาใช้ในการพัฒนาโรงเรียน และนักเรียน เนื่องจาก สพฐ.จัดทดสอบผลสัมฤทธิ์ระดับชาติครั้งสุดท้ายเมื่อปีการศึกษา 2546ต่อจากนั้น สพฐ.แค่ทำคลังข้อสอบไว้ ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ที่มีความพร้อม ดึงไปใช้จัดสอบโดยเป็นการสุ่มสอบ ไม่ใช่สอบทุกคน
       
       ผลก็คือไม่ได้ข้อมูลย้อนกลับมาพอใช้อ้างอิง หรือเปรียบเทียบได้ ข้อดีของการทดสอบผลสัมฤทธิ์ในการเรียนวิชาต่าง ๆ จะชี้วัดความสามารถในการอ่าน-เขียนของเด็กได้ เพราะถ้าเด็กอ่าน เขียนไม่คล่อง การเรียนวิชาอื่น ๆ จะประสบปัญหาตามมา ส่วนงบประมาณที่จัดสอบ NT ปี 2546 ใช้ไปประมาณ 60 ล้านบาท คาดว่า ถ้าทำเต็มรูปแบบอีกครั้งหนึ่ง การจัดสอบครั้งนี้น่าจะใช้เงินไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท
       
       “การจัดสอบนี้สามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายใน พ.ร.บ. สถาบันทดสอบแห่งชาติ เพราะไม่ได้ระบุให้ สทศ.จัดสอบช่วงชั้นอะไรบ้าง ประกอบด้วยความไม่พร้อมของ สทศ. ดังนั้นหาก สพฐ.จะทำก็ไม่น่าผิดกฎหมาย และไม่ได้จัดทดสอบซ้ำกับการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) จึงไม่น่ามีข้อวิตกกังวลใด ๆ”
 
 
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2006-10-02-2.html
เมื่อ 24 กรกฎาคม 2567 15:16
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv