ชีวิตของคนคน หนึ่งนั้น ย่อมมีช่วงจังหวะหนึ่ง ช่วงเวลาหนึ่งที่ผิดพลาดไปบ้างทั้งที่โดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ แต่ถ้าหากเราสำนึกได้และกลับเนื้อกลับตัวเสียใหม่ โอกาสและความสำเร็จก็ย่อมมาเยือนเราได้เช่นกัน ดังเรื่องราวชีวิตของ “ชัยรัตน์ ดีเอี่ยม” นักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องจักรกลเกษตร คณะวิศวกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
       
       ครั้งหนึ่ง ชัยรัตน์เคยเป็น “เด็กติดเกม” อย่างหนัก จนทำให้ไม่สนใจการเรียนและผลการเรียนก็ตกต่ำเป็นอย่างมาก
       
       “ปกติเพื่อนๆ ห้องเดียวกันมักจะชอบกินเหล้า ส่วนผมเป็นคนไม่กินเหล้า ก็เลยหันไปเล่นเกมแทน แล้วก็ต้องบอกว่า ตอนที่อยู่ปี 2 ผมติดเกมออนไลน์หนักมาก ก็เล่นพวกแร็คน่าร็อก เล่นทั้งวันทั้งคืนเพราะติดเพื่อนในเกม”
       
       ทว่า หลังจากที่เขาเห็น “เพื่อนซี้” ที่ติดเกมอยู่ด้วยกันและเรียนอยู่คณะเดียวกันต้องโดนรีไทร์ออกจากมหาวิทยาลัย
เพราะมัวแต่เล่นเกมจนไม่สนใจเรียน ก็ทำให้คิดได้
       
       “เห็นเพื่อนต้องโดนรีไทร์เลยคิดได้ว่า ชีวิตเราไม่ควรปล่อยให้เป็นอย่างนั้น และถ้าเรารีไทร์จริงๆ คนที่เสียใจที่สุดก็คือพ่อแม่ กลัวพ่อแม่เสียใจก็เลยตัดสินใจเลิก ตอนนั้นคิดว่า เราน่าจะใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ได้มากกว่านี้ พอดีช่วงนั้นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยชวนให้ผมฝึกเขียนแบบ ผมเห็นว่าท้าทาย ก็เลยตัดสินใจมุ่งมั่นทางด้านนี้ ปัจจุบันก็ยังเล่นเกมออนไลน์อยู่บ้างครับ แต่ก็เล่นยามที่ว่างเท่านั้น”
       
       เมื่อกลับเนื้อกลับตัว ชัยรัตน์ก็ตั้งใจเรียนและมุ่งมั่นบนเส้นทางของการออกแบบเครื่องยนต์กลไกต่างๆ กระทั่งในที่สุดเขาก็ประสบความสำเร็จสูงสุดเมื่อตัดสินใจส่งผลงานการออกแบบที่มีชื่อว่า Z-Speed Boat เข้าร่วมแข่งขันรายการ SolidWorks 3D Contest 2007 ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมจริงๆ และผลงานของเขาก็ได้รับถึง 3 รางวัลด้วยกันคือ รางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันในรอบสุดท้าย Skill Contest รางวัลรองชนะเลิศการขึ้นรูปโมเดลและรางวัล Popular Vote
       
       ที่น่าสนใจก็คือ การคว้ารางวัลของเขาในครั้งนี้นั้นถือว่า ไม่ธรรมดาเพราะต้องฝ่าด่านแข่งขันกับสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงชั้นนำของประเทศ
จำนวนมาก เช่น ม.เกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นต้น
       
       นอกจากนี้ การได้รางวัลของชัยรัตน์ก็ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา เพราะในรอบที่ส่งโมเดลไปให้ดูอย่างเดียว เขาได้แค่ที่ 2 โดยแพ้รุ่นน้องจากสถาบันเดียวกันคือ “หยก หนูสม” แต่เมื่อคณะกรรมการได้ให้ขึ้นไปโชว์ไอเดีย โชว์ฝีมือกันสดๆ บนเวที ชัยรัตน์ก็แสดงความสามารถที่โดดเด่นจนได้รับรางวัล Skill Contest และรางวัล Popular Vote จากผู้ที่เข้ามาร่วมชมงาน
       
       “ผมได้แรงบันดาลใจมาจากการส่งผลงานเข้าแข่งขันในรายการนี้เมื่อปีที่แล้ว ปีที่แล้วผมได้แค่รองชนะเลิศ ผมเลยตั้งใจว่าปีนี้ต้องพัฒนาผลงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เลยเลือกที่จะออกแบบ speed boat โดยเน้นแนวคิดในการออกแบบให้ทันสมัย ใส่เทคนิคการออกแบบเครื่องยนต์เป็นตัว V ทำให้ดูแปลกตาจากลูกสูบเครื่องยนต์ทั่วไปที่มีลักษณะการเคลื่อนไหวแบบขึ้น-ลงเท่านั้น นอกจากนั้นยังต้องประกอบและใช้งานได้จริง ระบบเครื่องยนต์ต้องทำงานสอดคล้องกับหางเสือเรือเพื่อขับเคลื่อนตัว speed boat ด้วย ผมใช้เวลาหาข้อมูลว่าจะทำอะไรประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่อตกลงก็เริ่มลงมือวาดและใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ก็เรียบร้อย”ชัยรัตน์อธิบาย
       
       อย่างไรก็ตาม นอกจากผลงาน Z-Speed Boat ของชัยรัตน์ที่ได้รางวัลในครั้งนี้แล้ว อีกหนึ่งผลงานที่มีชื่อว่า Little Trac จากฝีมือของ “หยก หนูสม” รุ่นน้องของเขาก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กันโดยได้รับ 2 รางวัลคือ ชนะเลิศอันดับ 1 การขึ้นรูปโมเดลและรองชนะเลิศอันดับ 2 จากการแข่งขัน Skill Contest ในรอบสุดท้าย
       
       หยกบอกเล่าถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบ Little Trac ว่า คนทั่วไปจะคุ้นเคยกับรถแทรกเตอร์ที่มีรูปแบบเดิมๆ ดังนั้น จึงมีความคิดว่าอยากออกแบบรถแทรกเตอร์ให้ดูทันสมัย น่าขับ เป็นการฉีกนิยามของรถแทรกเตอร์แบบเดิมๆ ไปเลย ด้วยการจำลองรูปแบบรถกระบะ Big foot มาใช้เพื่อให้ดูทันสมัยและแข็งแกร่ง ส่วนการทำงานของรถจะคล้ายกับรถแทรกเตอร์ทั่วไป แต่การออกแบบ Little Trac นี้จะยากสุดตรงการขึ้นรูปให้ส่วนของพื้นผิวเรียบเนียน
       
       ด้านเกียรติศักดิ์ แสงประดิษฐ์ อาจารย์ที่ปรึกษาอธิบายถึงการแข่งขันเพิ่มเติมว่า การแข่งขัน SolidWorks 3D Contest 2007 ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว โดยทางสถาบันก็ได้ส่งนักศึกษาเข้าร่วมทุกปีเพราะเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่นักศึกษา
จะได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาให้เป็นประโยชน์และสร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัย
       
       “จริงๆ แล้วต้องบอกว่า นี่เป็นการแข่งขันที่สำคัญมากเพราะเป็นการแข่งขันเพื่อนำไปใช้งานจริง ใช้ทำงานจริง เพราะเป็นโปรแกรมที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมจริงๆ เพียงแต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสังคมมากเท่าที่ควร แรงสนับสนุนต่างๆ ก็เลยมีน้อย คนส่วนใหญ่เขาสนใจการออกแบบหุ่นยนต์กันมากกว่า”
       
       “ถามว่า การแข่งหุ่นยนต์ดีไหม ดี แต่ผมคิดว่า พื้นฐานของประเทศไทยคือเกษตรกรรม เราน่าที่จะสนับสนุนนิสิตนักศึกษาให้ค้นคว้าออกแบบสิ่งที่จะช่วยพัฒนาการเกษตรของเรา
ให้มีความก้าวหน้าด้วย” อาจารย์เกียรติศักดิ์สรุปทิ้งท้าย
 
 
 
 
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2006-10-25-1.html
เมื่อ 4 กรกฎาคม 2567 16:11
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv