ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ มีมากขึ้น วิถีการดำเนินชีวิตไม่ว่าการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทำให้มะเร็งกลายเป็นปัญหาทางสุขภาพที่ทั่วโลกให้ความสนใจกันมากขึ้น

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นมะเร็งทางโลหิตวิทยาที่พบได้บ่อยที่สุด สถานการณ์ทั่วโลก มะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 200,000 คนในแต่ละปี หากประชาชนและผู้ป่วยมีความรู้ ความเข้าใจและเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของโรคมะเร็งชนิดนี้ จะช่วยให้การรักษาเป็นไปได้ง่ายขึ้น ผู้ป่วยจะมีโอกาสหายจากโรคมะเร็งได้มากขึ้น

ผู้ที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ไม่ทราบด้วยซ้ำว่าตนเป็นโรคนี้ เพราะเริ่มต้นมีอาการไข้เรื้อรัง เบื่ออาหารน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ และมีต่อมน้ำเหลืองโตโดยอาจพบก้อนที่คอ รักแร้ และขาหนีบ แต่ไม่มีอาการเจ็บ หรือมีก้อนตามอวัยวะต่างๆ เมื่อมีอาการเหล่านี้ท่านควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและวินิจฉัยโรคต่อไปนี้

สาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่พบว่ามีความสัมพันธ์กับหลายภาวะได้แก่ การสัมผัสกับสารเคมี ยาฆ่าแมลง การติดเชื้อไวรัส เช่น เอปไตน์บาไวรัส การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร ปัจจัยอื่น ได้แก่ การเป็นโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง เช่น เอสแอลอี ที่เริ่มมีคนเป็นมากขึ้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องโดยกำเนิดหรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อันเนื่องจากการได้รับยากดภูมิคุ้มกันภายหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ การติดเชื้อเอชไอวี บางครั้งกรรมพันธุ์ก็มีส่วนเกี่ยวข้องเช่นกัน

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งได้เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด B-cell ชนิด T-cell และชนิด NK-cell มักพบชนิด B-cell มากที่สุด แต่แบ่งแบบง่ายๆ เป็น 2 ชนิด คือชนิดที่รุนแรง และชนิดที่ไม่รุนแรง ซึ้งมีวิธีในการรักษาแตกต่างกันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะแตกต่างจากมะเร็งอื่นๆ ที่แม้จะเป็นในระยะที่รุนแรงก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

วิธีการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วยชนิดของโรค ระยะของโรค รวมทั้งสภาวะของร่างกาย แพทย์จะใช้วิธีการรักษาเดี่ยวๆ หรือร่วมกันมากกว่า 1 วิธี ได้แก่ การใช้ยาเคมีบำบัด การฉายแสงรังสีรักษา และในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด B-cell ส่วนใหญ่ การใช้แอนตี้บอดี้ซึ่งไปทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง ร่วมกับการรักษาอื่นทำให้ผลการรักษาดีขึ้น

ในรายที่ภาวะโรคค่อนข้างรุนแรง มีการดื้อต่อการรักษาดังกล่าวหรือมีโรคกลับมาเป็นซ้ำ และผู้ป่วยมีอายุน้อยแพทย์จะเลือกการปลูกถ่ายไขกระดูกให้กับผู้ป่วยโดยต้องอาศัยเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ของตนเองหรือของผู้อื่นเช่น ญาติ หรือฝาแฝดที่เข้ากับผู้ป่วยได้

นอกเหนือจากการรักษาโดยแพทย์แล้ว ความร่วมมือของผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและครอบครัว เช่น การมาพบแพทย์ตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ครบถ้วน รวมถึงการดูแลร่างกายให้แข็งแรง ก็ช่วยให้การรักษามีประสิทธิผลและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กำลังใจจากคนใกล้ชิดก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยต่อสู้กับโรคได้ 
 
 
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2006-10-25-3.html
เมื่อ 24 กรกฎาคม 2567 20:29
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv