บ่อยครั้งที่ต้องเสียชีวิต และทรัพย์สินให้กับภัยพิบัติจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันจากน้ำป่าไหลหลาก แต่ด้วยมันสมอง และสองมือของเยาวชนไทยที่สามารถคิดค้น *"ระบบเตือนภัยน้ำท่วมผ่านมือถือ"* ทำให้ชาวบ้านที่เสี่ยงกับปัญหาน้ำป่าไหลหลาก ใจชื้นขึ้นมาบ้าง

เยาวชนคนเก่ง ประกอบด้วย *วุฒิพงษ์ คำพันธ์* และ *รัฐวิศน์ พัฒนชัยวงศ์* นักเรียน ม.5 โรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย ซึ่งมี *ครูสุรินทร์ หุ่นสวรรณ์* เป็นที่ปรึกษา ล่าสุดพวกเขาได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากการประกวดโครงงานคอมพิวเตอร์ระดับประเทศ ประจำปี 2549 จากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

อุปกรณ์หลักๆ ที่ใช้ประกอบด้วย ไมโครคอนโทรลเลอร์ AX11 โทรศัพท์ และเซ็นเซอร์วัดระดับน้ำ โดยเขียนคำสั่งในโปรแกรม Setup IC4.21 GA ด้วยภาษา Interactive C แล้วโหลดไปยังไมโครคอนโทรลเลอร์ AX11 


หลักการทำงานของโปรแกรมระบบเตือนภัยน้ำท่วมผ่านมือถือไม่ซับซ้อนมากนัก โปรแกรมจะเช็คความต้านทานจากแผงวงจรวัดความต้านทาน ถ้าความต้านทานมากกว่า หรือเท่ากับ 180 บ่งบอกว่า *น้ำยังไม่ท่วม* จากนั้นไมโครคอนโทรลเลอร์ AX11 จะสั่งให้เซอร์โวมอเตอร์วางหูโทรศัพท์ แต่ถ้าความต้านทานมากกว่า หรือเท่ากับ 160 บ่งชี้ว่า *มีความชื้น* ไมโครคอนโทรลเลอร์ AX11 จะสั่งให้เซอร์โวมอเตอร์วางหูโทรศัพท์

แต่เมื่อไหร่ที่ค่าความต้านทานน้อยกว่า 160 เป็นสัญญาบ่งบอกว่า *น้ำท่วม* ไมโครคอนโทรลเลอร์ AX11 จะสั่งให้เซอร์โวมอเตอร์ยกหูโทรศัพท์ และจ่ายไฟ 5V ไปให้รีเลย์ เพื่อให้รีเลย์ไปทำงานกดปุ่มโทรศัพท์ที่บันทึกเลขหมายปลายทาง ไว้แล้วเป็นเวลา 2 วินาที ต่อจากนั้น โทรศัพท์จะโทร.ไปยังหมายเลขปลายทางที่บันทึกไว้เป็นเวลา 9 วินาที

หลังจากนั้น ลำโพงเปียโซจะส่งเสียงความถี่ 5 ครั้ง เป็นเวลา 5 วินาที ต่อจากนั้นเซอร์โวมอเตอร์ก็จะวางหูโทรศัพท์ แล้วจะโทร.ออกอีก 2 ครั้ง หลังจากนั้น ไมโครคอนโทรลเลอร์ AX11 ก็จะรอการกดปุ่ม Start เพื่อเริ่มต้นใหม่

ถ้าถามถึงประโยชน์ของระบบเตือนภัยน้ำท่วมผ่านมือถือ บอกได้เลยว่ามีมากกว่าที่คิด "เพราะจะช่วยเตือนภัยน้ำท่วมขณะอยู่นอกพื้นที่ หรือนอกบ้านด้วยโทรศัพท์มือถือ นอกจากนั้น ขณะที่อยู่ในบ้าน หรือกำลังนอนหลับก็จะได้รับการเตือนภัยด้วยเสียงจากลำโพง โดยระยะห่างระหว่างเซ็นเซอร์วัดระดับกับน้ำในตัวบ้าน สามารถใช้งานได้ไกลประมาณ 500 เมตร หรือมากกว่านั้น ติดตั้งเพียงเครื่องเดียวก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมู่บ้าน โทรศัพท์หนึ่งคู่สายสามารถแยกใช้ได้ทั้ง 2 ระบบ ทั้งระบบเตือนภัย และใช้งานปกติ นอกจากนี้ ระบบที่คิดค้นขึ้นสามารถพัฒนาต่อกับระบบการกระจายเสียงตามหมู่บ้านได้" วุฒิพงษ์บอกเล่าถึงประโยชน์อย่างมากมายของโครงการนี้

วุฒิพงษ์บอกด้วยว่า สำหรับการพัฒนาโครงงานในอนาคตนั้น ควรจะใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์เบสิกแสตมป์แทน เพราะเขียนโปรแกรมง่าย ราคาถูกกว่าไมโครคอนโทรลเลอร์ AX11 และช่วยลดขนาดของอุปกรณ์ลง รวมทั้ง ต้องพัฒนาเซ็นเซอร์แบบไม่ใช้สวิท โดยใช้การวัดความต้านทานของน้ำเปรียบเทียบกับอากาศ และพัฒนาอุปกรณ์ให้มีรูปร่างเล็กลง พร้อมทั้งเพิ่มเสียงเตือนด้วยคำพูด เช่น "ขณะนี้น้ำกำลังจะท่วมบ้านของท่าน กรุณากลับบ้านด่วน"

นับเป็นโครงการที่ประยุกต์ความรู้เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาบูรณาการ และใช้งานได้จริงๆ

ที่มาจากหนังสือพิมพ์  : คอลัมน์"การศึกษาสู่เศรษฐกิจ"

บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2006-11-06-1.html
เมื่อ 24 กรกฎาคม 2567 20:05
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv