บรรดาวัยรุ่นที่อยาก “สูง” โปรดฟังคำเตือนที่ต้องบอกว่าสำคัญยิ่ง เนื่องเพราะมีข้อมูลและผลการวิจัยออกมาชัดเจนแล้วว่า การดื่มน้ำอัดลมและนมจะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของโครงสร้างกระดูก เนื่องเพราะกาเฟอีนที่มีอยู่ในน้ำอัดลมจะไปทำลายแคลเซียม ฟันกร่อน กระดูกพัง แถมแม้ดื่มเข้าไปเพียงกระป๋องเดียวก็เสี่ยงอ้วนถึง 60% เลยทีเดียว
 
ในการเสวนาเรื่อง นม+น้ำอัดลม = สูญ ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล
สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจยิ่งว่า มูลค่าตลาดน้ำอัดลม ทั้งกลุ่มน้ำสี น้ำดำ ในปี 2547 มีสูงถึง 40,000 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ในทางโภชนาการน้ำอัดลมไม่มีคุณค่าใดๆ ไม่จำเป็นต้องบริโภค        
       เนื่องเพราะน้ำอัดลมที่มีโคล่าหรือน้ำดำ จะมีสารกาเฟอีนที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น กาเฟอีนยังส่งผลให้ร่างกายขับแคลเซียมออกมาจากปัสสาวะได้มากขึ้น แม้ว่าจะดื่มนม แต่แคลเซียมจะถูกขับออกมา นอกจากนี้อาจทำให้อ้วนได้ง่าย จึงเป็นที่มาของสูตร นม+น้ำอัดลม = สูญ
       
       “น้ำอัดลมมีน้ำตาลเป็นส่วนผสม 6-13 ช้อนชา หรือ 7 ช้อนชา ต่อ 1 กระป๋อง น้ำอัดลมจึงมีน้ำตาลมากที่สุดเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มชนิดอื่น ขณะที่เครื่องดื่มชนิดอื่น หากเทียบปริมาณ 200 มิลลิลิตร หรือ 1 แก้ว  น้ำหวานชนิดเข้มข้นมีน้ำตาล 7-18 กรัม เฉลี่ย 4 ช้อนชา น้ำหวานของเหลวมี 14-49 กรัม เฉลี่ย 7 ช้อนชา นมถั่วเหลืองมี 9-30 กรัม  เฉลี่ย 5 ช้อนชา น้ำผลไม้มี 14-46  กรัม  หรือ 5 ช้อนชาครึ่ง ชาเขียวมี 6-31 กรัม 5 ช้อนชา” รศ. ดร.ประไพศรี กล่าวและว่า ดังนั้นจะเห็นว่าน้ำตาลจากเครื่องดื่มมีสูงมาก ถ้าหากบริโภคจึงควรดื่มเครื่องดื่มที่มีสารอาหารอื่นที่มีประโยชน์เช่น ดื่มนมจืด ลดน้ำหวาน หรือน้ำอัดลม การบริโภคไม่ถูกต้องก็จะทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาทั้งโรคอ้วน เบาหวาน หัวใจและโรคหลอดเลือด
       
       ขณะที่นพ.สุริยเดว ทรีปาติ โฆษกเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เสริมว่า งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พบว่า เด็กอายุ 9 เดือน สูงถึง 31% เคยดื่มน้ำอัดลมหรือน้ำหวานแล้ว เนื่องจากเกิดความเข้าใจผิดว่า น้ำส้มอัดลมสามารถใช้แทนได้ ซึ่งพ่อแม่ไม่รู้ ผลกระทบในระยะสั้นนั้นทำให้เด็กปวดท้อง ถ่ายแข็ง ไม่กินผักผลไม้ ส่วนผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวนั้นจะทำให้การสะสมมวลกระดูกของเด็กในช่วง 5 ปี ของการเจริญเติบโต โดยผู้หญิงอยู่ระหว่าง 10-15 ปี ส่วนเด็กชาย 12-17 ปี 50% จะสร้างขึ้นช่วงวัยรุ่น รวมทั้งส่วนสูงของวัยรุ่นตั้งแต่ 25-30 เซนติเมตรก็จะเกิดช่วงนี้ด้วย แต่น้ำอัดลมมีกรดฟอสฟอริก ทำให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง กระดูกเปราะ มีผลให้กระดูกหักง่าย หรือกลายเป็นโรคกระดูกพรุนก่อนวัยอันควร
       
ที่สำคัญคือ การดื่มน้ำอัดลมแต่ละกระป๋องจะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคอ้วนถึง 60% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ดื่ม รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงต่อฟันผุ และฆ่าความหิวทำให้เด็กได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ลดน้อยลง ส่วนกรดในน้ำอัดลม  ยังทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ กลายเป็นโรคกระเพาะได้ อีกทั้งส่งผลให้แคลเซียมในร่างกายต่ำ เนื่องจากร่างกายจะพยายามรักษาระดับแคลเซียมในเลือดโดยดึงมาจากกระดูกแทนมวลกระดูกจึงลดลง
 
นอกจากนี้ งานวิจัยในอังกฤษยังพบว่า การดื่มน้ำอัดลมเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เด็กวัยอายุ 14 ปี จาก 92 ใน 100 คน สารเคลือบฟันกร่อน ฟันบางลง หรือขอบฟันแตกได้ง่าย การดื่มน้ำอัดลมวันละครั้ง อาจทำให้เด็กอายุ 12 ปี มีโอกาสฟันกร่อน ถึง 59% เด็กที่ดื่มน้ำอัดลมลดลงจากวันละ 2 แก้วเหลือ 1 แก้ว ภายใน 12 เดือน จะลดน้ำหนักได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่ลด และเพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพเด็กควรจะดื่มนมจืดวันละ 2-3 แก้วและดื่มน้ำเปล่า 8-10 แก้ว จึงจะเพียงพอในแต่ละวันเพื่อสร้างต้นทุนสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ และไม่เกิดปัญหาเรื่องกระดูกเมื่อมีอายุมากขึ้น
       
       “โรคอ้วนอาจนำไปสู่โรคเบาหวานในเด็ก หากเด็กมีปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรม ในวันที่ 14 พ.ย. นี้ ซึ่งเป็นวันเบาหวานโลก ที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าในปี 2005 จะมีผู้ป่วยโรคนี้ 344 ล้านคนนั้น ผมคิดว่าการลดปัจจัยเสี่ยงในการดื่มน้ำอัดลม จะช่วยลดผู้ป่วยโรคอ้วนและโรคเบาหวานลงได้ แม้ว่าสถิติเด็กที่เป็นเบาหวานจะมีไม่มากแต่ก็เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 10-20 ปีที่ผ่านมา โดยทั่วโลกกำลังกังวลเรื่องนี้ สมาคมแพทย์ของอเมริกา ออกนโยบาย ไม่ให้จำหน่ายน้ำอัดลมในโรงเรียน สิงคโปร์ห้ามขายเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากกว่า 8 กรัม ในโรงเรียน น้ำอัดลมจึงไม่มีในโรงเรียน ออสเตรเลียกำลังเสนอมาตรการนี้ ส่วนแคนาดาระบุชัดว่า ปัญหาเด็กอ้วนมาจากน้ำอัดลม ส่วนประเทศแถบสแกนดิเนเวียห้ามการโฆษณาทุกชนิดในเด็กแรกเกิดจนถึง 12 ปี ซึ่งโฆษณาในเด็ก 90% เป็นเรื่องไร้สาระมีเพียง 10% ที่มีประโยชน์ ต่อเด็กจริงๆ"
       
       นพ.สุริยเดวบอกด้วยว่า เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ขอเสนอว่าโรงเรียนควรมีนโยบายเครื่องดื่มอ่อนหวาน ซึ่งหมายถึงการทำให้เครื่องดื่มในโรงเรียน ไม่ควรมีน้ำตาล หรือมีน้ำตาลไม่เกิน 5% นอกจากนั้นรัฐบาลควรมีนโยบายไม่สนับสนุนให้คนไทยดื่มน้ำอัดลม ด้วยการจัดทำภาษีอ่อนหวาน โดยเก็บภาษีน้ำอัดลม เป็นภาษีท้องถิ่น เพื่อนำไปสนับสนุนกิจกรรมของโรงเรียนในท้องถิ่น
       
       “ภาษีอ่อนหวานเกิดขึ้นไม่ง่าย แต่ก็เป็นข้อเสนอที่หวังว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำลายสุขภาพจะตระหนักถึงสุขภาพของเย าวชนโดยอาจไม่เก็บในเชิงภาษีแต่ก็ควรให้การสนับสนุนในรูปแบบอื่นๆ ที่มีความจริงใจไม่ใช่แฝงการตลาด”
       
       ส่วนดร.นพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ร่วมกับ สสส. สำรวจ “การดื่มนมของนักเรียน ป.4 ป.6 และทัศนะของผู้ปกครองเรื่องการดื่มของเด็ก” จำนวน 2,519 คน รวม 10 จังหวัด ในเขตกทม. เชียงราย สุโขทัย สิงห์บุรี ราชบุรี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด สกลนคร ตรัง นครศรีธรรมราช เมื่อปลายปี 2548 พบว่า เด็ก ป.4 ถึง 92% เด็ก ป.6 มากถึง 91.7% เข้าใจว่าการไม่ดื่มนมมีผลต่อสุขภาพ เช่นเดียวกับผู้ปกครอง  61% ที่รู้ดีว่าในนมมีสารอาหารซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก เช่น โปรตีน แคลเซียม วิตามิน
       
       อย่างไรก็ตามการรับรู้ผลจากการดื่มนมทั้งเด็กและผู้ปกครองต่างเข้าใจประโยชน์ของการดื่มนมเพียงนามธรรมว่า การดื่มนมทำให้สุขภาพแข็งแรง แต่การรับรู้ในส่วนที่ช่วยในการเติบโตและทำให้กระดูกและฟันแข็งแรงยังมีอยู่น้อยมาก
       
       “ที่น่าสนใจในผลการสำรวจพบว่าเด็ก ป. 4 และ ป. 6 ก็ยังดื่มน้ำอัดลมมากรองจากนม โดย เด็ก ป. 4 ดื่มนมเปรี้ยว 37% น้ำอัดลม 35% เด็ก ป. 6 ดื่มนมจืด 58% น้ำอัดลม 48% จากข้อมูลประมาณการได้ว่าเด็ก ป.4-ป.6 ซึ่งอยู่ในวัย 10-12 ปี  ดื่มน้ำอัดลมถึง 1 ล้าน 2 แสนคนยิ่งหากเป็นช่วงโปรโมชั่นของน้ำอัดลมด้วยแล้วปริมาณการดื่มของเด็กก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น” ดร.นพดลสรุป 
 
ที่มา- 

บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2006-11-10-2.html
เมื่อ 4 กรกฎาคม 2567 18:19
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv