รถอัจฉริยะผลงานคนไทยยังคงต้องรอการพัฒนาอีกหลายปี

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
การสัมมนา "รถอัจฉริยะไร้คนขับ" (ซ้ายไปขวา) ดร.ภาสกร ประถมบุตร,รศ.ดร.มนูกิจ พานิชกุล, นินนาท ไชยธีรภิญโย รองประธานบริหาร บ.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, รศ.ดร.ประภาส จงสถิตย์วัฒนา นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย, นายปิติ มโนมัยพิบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บ.ไทก้า มอเตอร์เซลส์ จำกัด และ นายกานต์ โอสถานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายคุณภาพ บ.ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด

ดร.ภาสกร ประภมบุตร

ในโลกของนิยายวิทยาศาสตร์เราจะสร้างให้ยานยนตร์สามารถขับเคลื่อนอย่างชาญฉลาด
ไม่ว่าจะเหาะเหินเวหา เลี้ยวซ้ายขวาได้ดังใจ แถมด้วยระบบอัจฉริยะป้องกันอุบัติเหตุ
คงไม่ใช่เรื่องยากเกินจินตนาการ แต่กว่าจะสร้างฝันสู่ความเป็นจริงก็ไม่ง่าย
หากแต่ความพยายามของคนไม่เคยหยุดนิ่ง
       
       สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
จัดสัมมนา “ประเทศไทยจะพัฒนารถอัจฉริยะไร้คนขับคันแรกได้อย่างไร” เพื่อเผยแพร่ความรู้และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีเชื่อมต่องานวิจัย อันจะสามารถขยายผลสู่เชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลาย ทั้งยังเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศ
       
       ทั้งนี้ โครงการพัฒนารถอัจฉริยะไร้คนขับโดยรับความร่วมมือในลักษณะเครือข่ายการวิจัยจาก 12 สถาบันคือ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(สจพ.) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร(SIIT) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) มหาวิทยาลัยมหิดล
สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย(เอไอที) มหาวิทยาลัยนเรศวร(มน.) และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า(จปร.)
       
       ความร่วมมือดังกล่าวเป็นโครงการเพื่อพัฒนารถที่มีความเป็นอัจฉริยะ สามารถขับเคลื่อนจากสถานที่หนึ่งไปยังสถานที่หนึ่งได้โดยปราศจากคนบังคับ และอาศัยเพียงการป้อนข้อมูลสถานที่เป้าหมายของผู้โดยสาร และรถจะรับรู้ข้อมูลจากอุปกรณ์ตรวจวัดประเภทต่างๆ
ที่ติดตั้งในรถยนต์ เช่น อุปกรณ์ตรวจวัดตำแหน่งปัจจุบันของรถ อุปกรณ์ตรวจวัดตำแหน่งของรถคันที่สวนทางมา อุปกรณ์ตรวจวัดสิ่งกีดขวางทั้งที่อยู่นิ่งและเคลื่อนทีบนเส้นทาง อุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณจราจร เป็นต้น
       
       แต่ละสถาบันจะรับผิดชอบในโครงการย่อยตามความถนัดโดยมีสถาบันเอไอทีบริหารโครงการโดยรวมทั้ง 12 โครงการ ในส่วนงานวิจัยทางกลไกของรถอัจฉริยะรับผิดชอบโดย จุฬาฯ และ สจล. ส่วนงานด้านอุปกรณ์ตรวจวัด เช่น การใช้สัญญาณภาพตรวจจับสิ่งกีดขวาง เป็นต้น รับผิดชอบโดย มจธ. ม.กรุงเทพและ สจพ. งานส่วนระบบควบคุม เช่น ควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่ เป็นต้น รับผิดชอบโดย SIIT มหิดล และ มก. ในส่วนเชื่อมต่อการแสดงผลกับผู้ใช้และควบคุมทางไกล รับผิดชอบโดย เอไอที จากนั้นเมื่อทุกส่วนทำสำเร็จก็จะนำผลงานมารวมกันเพื่อสร้างเป็น “รถอัจฉริยะ” ต้นแบบ
       
       รศ.ดร.มนูกิจ พานิชกุล จากเอไอทีและผู้ประสานงานโครงการพัฒนารถอัจฉริยะกล่าวว่า หากจะได้ “รถอัจฉริยะ” ต้นแบบต้องใช้เงิน 27 ล้านบาท โดยแบ่งใช้กับงานวิจัยภายใน 3 ปี ซึ่งจะหนักไปในส่วนของอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และช่วงปีแรก ด้านงานวิจัยก็จะดำเนินงานโดยนักวิจัยไทยทั้งหมด
แต่ขณะนี้ได้รับงบประมาณจากเนคเทค 1 ล้านบาทเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการ
       
       สำหรับความร่วมมือในการทำงานวิจัยเพื่อพัฒนารถอัจฉริยะครั้งนี้ รศ.ดร.มนูกิจกล่าวว่า เพราะที่ผ่านมานักวิจัยไม่เคยได้ร่วมทำงานในลักษณะงานวิจัย แต่จะทำในลักษณะการประชุมวิชาการ วารสารวิชาการและสัมมนาเป็นส่วนใหญ่ จึงร่วมกันทำโครงการที่คิดว่ามีประโยชน์แก่ปนระเทศชาติ และได้ใช้ความรู้ความสามารถของนักวิจัย ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีความสามารถต่างกัน เช่น ที่เอไอทีถนัดทางด้านการควบคุม
แต่ทางจุฬาฯ ถนัดทางด้านเครื่องกล เป็นต้น ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นได้ต้องใช้ความเชี่ยวชาญในหลายๆ ด้าน
       
       “ก็มีหลายหัวข้อที่เราพิจารณากัน รวมถึงมีแนวคิดสร้างหุนยนต์ไปสำรวจดาวอังคารด้วย แต่พิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการนี้มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ ที่ง่ายที่สุดคือเอาไปใช้ในสถานที่จำกัด เช่น สวนสาธารณะหรือตามโรงพยาบาล ให้สามารถขับรถในพื้นที่ๆ ไกลกันมากๆ ให้ไปส่งด้วยตัวเอง หรือการท่องเที่ยวก็โปรแกรมให้รถเคลื่อนที่ไปตามที่ต้องการ ไม่จำเป็นต้องสร้างเส้นทางแม่เหล็กให้รถเคลื่อนที่แต่รถสามารถนำนักท่องเที่ยวไปได้ คนที่ขับรถไม่ได้ เช่น คนแก่ คนพิการ ก็สามารถนำมาใช้ได้” รศ.ดร.มนูกิจกล่าว
       
       ส่วนเป้าหมายของการพัฒนานั้น รศ.ดร.มนูกิจตั้งไว้ที่การพัฒนารถให้มีความเร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อให้สามารถใช้งานได้จริง โดยปัจจุบันทำได้ 3.6 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ยังไม่เสถียร ขณะที่ความเร็วที่ทำได้เสถียรแล้ว
คือประมาณ 1 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้งนี้หากมีงบประมาณในการติดตั้งตัวตรวจวัดหรือเซนเซอร์ก็จะสามารถเพิ่มความเร็วของรถได้มากขึ้น อย่างไรก็ดีได้ออกแบบให้ผู้โดยสารสามารถกลับไปบังคับรถเองเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินได้ตลอดเวลา เพราะบางกรณีเซนเซอร์อาจเกิดความผิดพลาดได้
       
       นอกจากการพัฒนาทางด้านกายภาพของรถอัจฉริยะแล้ว ข้อมูลจราจรก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้รถอัจฉริยะเลือกเส้นทางที่ปลอดภัยและประหยัดเวลา
เพื่อนำผู้โดยสารไปถึงยังเป้าหมาย ซึ่ง ดร.ภาสกร ประถมบุตร ผู้อำนวยการโปรแกรมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ ของเนคเทค กล่าวว่าได้โครงการจราจรอัจฉริยะตั้งแต่ปลายปี 2548 โดยความร่วมมือของอาจารย์มหาวิทยาลัยและภาคเอกชน และได้รับการสนับสนุนจากสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ซึ่งจะให้ข้อมูลจราจรที่เป็นประโยชน์ทั้งผู้ขับขี่ทั่วไปและรถอัจฉริยะด้วย
       
       “ตอนนี้มีงานวิจัยหลายงาน เช่น การตรวจสอบการจราจรด้วยกล้อง เชื่อมจีพีเอส ระบบนำทางตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลจราจร พยายามส่งไปยังผู้ขับขี่รถยนต์บนเส้นทางการจราจร อาจจะไม่จำเป็นต้องส่งเข้าตัวรับข้อมูลรถยนต์เลยก็ได้ อาจจะมาในรูป จส.100 หรือฝากข้อมูลไปยังคลื่น จส.100 ซึ่งกำลังทำอยู่ เอาข้อมูลที่เป็นตัวอักษรส่งไปยังเครื่องรับของผู้ขับขี่ อาจจะเป็นระบบหนึ่งการระบบนำทางในรถยนต์ก็ได้ (Navigator)”
       
       ทั้งนี้ ดร.ภาสกรยังได้เผยแนวทางพัฒนาระบบจราจรอัจฉริยะว่า ต่อไปอาจจะส่งระบบข้อมูลถึงคนขับรถในรูปเสียง เพราะคนขับก็อาจไม่อยากละสายตาจากการขับขี่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ไม่ยากเกินความสามารถของนักวิจัยไทย และสิ่งที่ต้องทำก่อนอื่นในตอนนี้คือ ศูนย์ข้อมูลจราจร ที่ทำได้ง่ายและคาดว่าปลายปีหน้าจะแล้วเสร็จ โดยตอนนี้ได้รับข้อมูลจาก สนข. การทางพิเศษแห่งประเทศไทยบางส่วนแล้ว
       
       อย่างไรก็ดี นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการเนคเทค ระบุว่าไทยผลิตรถยนต์ได้ปีละ 1 ล้านคัน หรือราว 500,000 ล้านบาท แต่ใช้เหล็ก พลาสติกและหนังเป็นหลัก ส่วนระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือซอฟต์แวร์ที่เป็นหัวใจ เราต้องพัฒนาต่อไป ซึ่งรถอัจฉริยะนี้เป็นความก้าวหน้าระดับสูงที่ต่างประเทศสนใจมาก หวังว่าไทยจะมีรถอัจฉริยะคันแรกเพื่อสร้างความยั่งยืนให้ประเทศต่อไป
 
 
 
 
ที่มา-
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2006-11-11-2.html
เมื่อ 24 กรกฎาคม 2567 22:14
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv