ภาพฝนดาวตก "ลีโอนิดส์" เมื่อปี 2544 ที่ญี่ปุ่น
       17-18 พ.ย.นี้เตรียมชมฝนดาวตก “ลีโอนิดส์” จากสายธารฝุ่นดาวหางปี 2475 ชมได้ทั่วประเทศ แต่กรุงเทพฯ อาจ “ปิ๋ว” เพราะแสงไฟรบกวน
       
       สมาคมดาราศาสตร์ไทยแจ้งว่า จะเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกสิงโตหรือ “ลีโอนิดส์” (Leonids) ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและดูได้ทั่วประเทศติดต่อกัน 2 คืน คือ คืนวันที่ 17-18 พ.ย. ซึ่ง นางสาวประพีร์ วิราพร เลขาธิการสมาคมฯ กล่าวว่า ควรชมในช่วงเที่ยงคืนถึงเช้ามืด โดยคืนวันที่ 18 พ.ย. ถึงเช้ามืดของวันที่ 19 พ.ย.จะเห็นฝนดาวตกได้ดีที่สุด และจากข้อมูลการคำนวณของหอดูดาวอาร์มาช (Armagh Observatory) ที่อังกฤษคาดว่าวันดังกล่าวจะมีดาวตกเฉลี่ย 30 ดวงต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับเมื่อปี 2544 ซึ่งมีดาวตกนับพันดวงต่อชั่วโมง จึงถือว่าปีนี้ตกไม่มากนัก
       
สำหรับวิธีการดูให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกแล้วกวาดสายตาไปจนกลางฟ้า และสถานที่ดูต้องมีท้องฟ้าแจ่มใส ไม่มีเมฆ หมอกและแสงไฟรบกวน แต่สำหรับกรุงเทพฯ เลขาธิการสมาคมดาราศาสตร์ฯ กล่าวว่าอาจจะดูได้ยากเพราะมีแสงไฟเยอะ หากจะดูคงต้องออกไปชานเมือง โดยลักษณะของดาวตกที่จะเห็นนั้นจะมีแสงสว่างวาบเคลื่อนผ่านอย่างรวดเร็ว และมีสันหลากหลาย เช่น สีน้ำเงินเขียว สีส้มเหลืองหรือสีแดง เป็นต้น โดยขึ้นอยู่แร่ธาตุที่อยู่ในฝุ่นดาวหางหรือ “สะเก็ดดาว” ของดาวหาง ซึ่งทำให้เกิดดาวตกขึ้น
       
       ทั้งนี้ฝนดาวตกสิงโตมีเบื้องหลังเป็นกลุ่มดาวสิงโต โดยหากมองไปยังกลุ่มดาวสิงโตจะเห็นฝนดาวตกพุ่งออกมาโดยรอบ 40 องศา ส่วนดาวหางที่เป็นต้นกำเนิดของฝนดาวตกครั้งนี้คือ ดาวหาง 55พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P Tempel-Tuttle) ซึ่งมีคาบการโคจร 33 ปี เพิ่งมาเยือนโลกครั้งล่าสุดเมื่อปี 2541
       
       ทว่า การมาเยือนของ 55พีครั้งนั้นนักวิทยาศาสตร์ได้คำนวณการเกิดฝนดาวคลาดเคลื่อนไป 1 วัน ทำให้เกิดงานวิจัยเพื่อหาคำอธิบาย จึงเกิดทฤษฎีว่าฝนดาวตกเกิดจากโลกโคจรเข้าไปใน “สายธาร” สะเก็ดดาวหางที่ทิ้งไว้ในวงโคจรของแต่ละปีไม่ใช่สะเก็ดดาวหางที่เพิ่งโคจรผ่านไป สำหรับปีนี้ฝนดาวตกเกิดจากสายธารสะเก็ดดาวหางที่โคจรมาเยือนโลกเมื่อปี 2475
       
       พร้อมกันนี้นางสาวประพีร์ยังได้อธิบายอีกว่าฝนดาวตกเป็น “ดาวตกแบบมีสกุล” คือเบื้องหลังชัดเจน ซึ่งมีฝนดาวตกประเภทนี้อยู่ประมาณ 10 ชุด ส่วนดาวตกที่เห็นอยู่ทุกวันนั้นเป็น “ดาวตกพเนจร” เพราะไม่มีเบื้องหลังชัดเจน และนอกจากประเทศไทยแล้วหลายประเทศก็มองเห็นฝนดาวตกได้เช่นกัน อาทิ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรปและอเมริกา ซึ่งจากการคำนวณของนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษจากหอดูดาวอาร์มาชร่วมกับ
นักดาราศาสตร์ชาวออสเตรเลีย คาดว่าชาวยุโรปจะได้ชมฝนดาวตกเฉลี่ย 80 ดวงต่อชั่วโมง
 
 
 
       
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2006-11-14-1.html
เมื่อ 24 กรกฎาคม 2567 22:16
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv