อภิชาติ พัวพิมล
       ภายหลังจาก “อ๊อฟ” อภิชาติ พัวพิมล ดาราหนุ่มเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ซึ่งมารดามั่นใจว่าสาเหตุการเสียชีวิตมาจากโรคหอบหืด ซึ่งเป็นโรคประจำตัว รวมทั้งมีอาการโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแทรกด้วยนั้น
       
       เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า หลายคนคงอยากรู้ว่า ในทางการแพทย์นั้นโรคหอบหืดมีอาการน่ากลัวมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งมีวิธีการระมัดระวังตัวเองอย่างไรเพื่อไม่ให้เป็น และป้องกันไม่ให้โรคนี้สามารถทำร้ายให้ถึงแก่ชีวิต ขณะเดียวกัน ก็ต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่แม่ของอ๊อฟ ระบุเอาไว้ว่า อาจจะมีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบร่วมด้วย
       
       เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ประดิษฐ์ชัย ชัยเสรี ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวถึงโรคหอบหืด ว่า โดยทั่วไปแล้วโรคหอบหืดเกิดจากอาการแพ้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารทะเล เกสรดอกไม้ ขี้ฝุ่น ไร ฯลฯ ซึ่งความรุนแรงแต่ละรายไม่เหมือนกัน บางคนไวต่อสิ่งที่แพ้ก็จะทำให้เกิดอาการหอบหืดมาก ขณะที่บางคนมีอาการหอบหืดน้อย ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพสิ่งแวดล้อม เช่น หากทราบว่าแพ้อาหารทะเล ก็ไม่ควรรับประทานอาหารทะเล เป็นต้น ดังนั้น คนที่เป็นโรคหอบหืดจะต้องดูแลตัวเองเป็นอย่างดี หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้ ในกรณีของเด็กที่เป็นโรคหอบหืดเมื่อโตขึ้นก็สามารถหายได้เองอีกด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคหอบหืดมากถึง 6% จากประชากรทั้งหมด
       
       “สมัยนี้คนเป็นโรคหอบหืดมากขึ้น เพราะในเมืองมีมลภาวะเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการกำเริบ มี 2-3 อย่าง คือ เมื่อเป็นหวัดทำให้เกิดอาการหอบมากขึ้น หรือมีการสำลักน้ำ ก็จะเกิดการกระตุ้นให้ไอไม่หยุดบานปลายรุนแรงได้”
       
       นพ.ประดิษฐ์ชัย กล่าวต่อว่า ส่วนวิธีการรักษาหากเป็นไม่มาก ก็สามารถรักษาได้โดยการรับประทานยา ยาพ่นจำพวกสเตียรอยด์ หรือฉีดยาแก้แพ้ สูดยาขยายหลอดลม หรือเพิ่มขนาดยาและตัวยาตามลักษณะอาการ ส่วนในรายที่เสียชีวิตจะมีประวัติการหอบอย่างรุนแรงมาก่อน อย่างกรณีของ ดี๊ ดอกมะดัน ซึ่งมีสถิติการเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง แต่กรณีของอ๊อฟนั้นไม่ทราบว่ามีหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบก็มีความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการเครียด
       
       แต่หากมารดาของอ๊อฟ ให้ข้อมูลว่า มีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยนั้น ก็จะเป็นคนละส่วนกัน การเสียชีวิตจึงอาจมาจากหัวใจล้มเหลว เป็นอาการหอบจากโรคหัวใจ ไม่ใช่การเสียชีวิตจากโรคหอบหืด
       
       “การหอบจากอาการหัวใจล้มเหลวอาจถูกกระตุ้นจากการที่กินเค็มมากไป หรือเคยรักษาโรคหัวใจมีการรับประทานยาเป็นประจำ แต่ขาดยาหรือกินไม่ครบ มีการออกแรงมาก ก็อาจเกิดอาการหอบ แน่นหน้าอก หายไม่สะดวก หัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งอาการหอบเป็นการแสดงอาการอย่างหนึ่งเท่านั้น”นพ.ประดิษฐ์ชัย กล่าว
 
 
 
ที่มา-
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2006-11-17-1.html
เมื่อ 6 กรกฎาคม 2567 01:25
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv