การศึกษาวิวัฒนาการมนุษย์จะช่วยให้เข้าใจถึงสภาวะและเงื่อนไขต่างๆ ที่หล่อหลอมให้มนุษย์มีความสามารถในการกระทำสิ่งต่างๆ รวมทั้งยังได้ศึกษาถึงบรรพบุรุษว่ามีที่มาและพัฒนาการอย่างไร ตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิต และอนาคตในการดำรงเผ่าพันธุ์

ดร.รัชนี ทศรัตน์ นักวิจัยโครงการวิจัยร่วมทางโบราณคดีไทย-นิวซีแลนด์ กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการวิจัยในลักษณะงานนำร่อง หรืองานวิจัยบุกเบิกของประเทศไทย ในการนำเอาวิทยาศาสตร์ในสาขาชีวะเคมีมาประยุกต์ใช้ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับผู้คนที่เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์

เป็นโครงการร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับนิวซีแลนด์ ฝ่ายไทยประกอบด้วย กรมศิลปากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ฝ่ายนิวซีแลนด์ ได้แก่ มหาวิทยาลัยโอทาโก

ที่น่าสนใจคือ โครงการวิจัยนี้ ใช้ตัวอย่างของ "ดีเอ็นเอโบราณ" ที่ได้โครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ที่เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ในชุมชนโบราณ บริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนต้น จำนวน 2 แห่ง คือ แหล่งโบราณคดีบ้านหลุมข้าว และแหล่งโบราณคดีเนินอุโลก อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา

ซึ่งเป็นสนามวิจัยเพื่อเก็บข้อมูลของโครงการวิจัยทางโบราณคดีร่วมไทย-นิวซีแลนด์ โดยกรมศิลปากรของไทย กับ "dept of anthropology" จากนิวซีแลนด์

โดยงานวิจัยในบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนต้น เริ่มขึ้นมาแล้วเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา มีสนามหลักอยู่ในเขต อ.โนนสูง เป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่ขุดค้นเพื่อศึกษาเกี่ยวกับชีวิต สังคม และวัฒนธรรมของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์

ในจุดนี้มีแหล่งโบราณคดีที่ได้ขุดค้นไปแล้วคือ แหล่งโบราณคดีเนินอุโลก แหล่งโบราณคดีบ้านหลุมเข้า และแหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด

ดร.รัชนี ระบุว่า หลักฐานข้อมูลจากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีเหล่านี้ ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ๆ หลายประการ และบางประการยังเป็นการเปลี่ยนแปลงเนื้อหา แนวคิดทางวิชาการเกี่ยวกับพัฒนาการทางสังคม และวัฒนธรรมสมัยโบราณในประเทศไทย

โดยเฉพาะในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น การค้นพบภาชนะดินเผาที่ตกแต่งผิวด้วยการเขียนสี ซึ่งอายุทางวิทยาศาสตร์ พบว่าเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว จึงเป็นภาชนะดินเผาที่มีอายุเก่าแก่กว่าภาชนะโบราณคดีบ้านเชียงถึง 2,000 ปี ส่งผลให้ภาชนะดินเผาบ้านโนนวัด เป็นภาชนะดินเผาที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

นอกจากนี้ ลูกปัดเปลือกหอยที่ทำจากเปลือกหอยทะเลหลายชนิด ก็เป็นหลักฐานใหม่ที่ยังไม่เคยปรากฏพบจากแหล่งโบราณคดีใดๆ ในประเทศไทยมาก่อน

ทั้งนี้ หลักฐานสำคัญหนึ่งที่พบจากการขุดค้น ได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์จำนวนหลายร้อยโครง ซึ่งปรากฏหลักฐานในหลุมฝังศพ และสุสานโบราณขนาดใหญ่ โครงกระดูกมนุษย์เหล่านี้จึงกลายเป็นคลังความรู้ทางตรงสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้าง และสายพันธุ์มนุษย์ที่เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ราว 5,000 ปีมาแล้ว โดยเป็นหลักฐานสำหรับการเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม ประกอบการวิจัยเกี่ยวกับสายพันธุ์มนุษย์ด้วย "Mitochondreal DNA"

โดย รศ.พ.ญ.พัชรีย์ เลิศฤทธิ์ ภาควิชาชีวะเคมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้เสริมในกรณีนี้ว่า คุณสมบัติของ Mitochondreal DNA ที่เอื้อที่ต่อการศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าดีเอ็นเอในนิวเคลียส นอกจากนี้ ยังนำเสนอขั้นตอนและเทคนิควิธีทางห้องปฏิบัติสำหรับการเตรียมและศึกษาตัวอย่างของดีเอ็นเอ

ในกรณีของ ดีเอ็นเอมนุษย์ปัจจุบัน และดีเอ็นเอที่สกัดได้จากโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ตลอดจนการนำเสนอข้อมูลของการวิจัย Mitochondreal DNA ทั้งในกรณีของดีเอ็นเอมนุษย์ปัจจุบัน และดีเอ็นเอที่สกัดจากโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ตลอดจนการนำเสนอข้อมูลภาพรวมของผลการวิจัย Mitochondreal DNA ของมนุษย์โบราณทั่วโลก ที่ก่อให้เกิดความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการ เส้นทางการอพยพเคลื่อนย้าย และการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์โบราณในภูมิภาคต่างๆ ทั้งโลก

ขณะที่ ศ.ดร.เสมอชัย พูนสุวรรณ ภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผลการวิจัยยืนยันว่า คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แหล่งโบราณคดี ลักษณะพันธุกรรมของโครงกระดูกในแต่ละแห่งมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติต่อเนื่องกันมา ตลอดช่วงระยะเวลาของการตั้งถิ่นฐานเป็นเวลานับพันๆ ปี

อีกทั้งยังนำข้อมูลเชิงพันธุกรรมของมนุษย์โบราณจากแหล่งโบราณคดีทั้ง 2 ไปศึกษาเชื่อมโยงกับข้อมูลทางด้านพันธุกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ ในประเทศไทยที่ยังมีชีวิตอยู่ปัจจุบัน

พบว่ากลุ่มประชากรมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านหลุมข้าว และเนินอุโลก มีลักษณะพันธุกรรมสัมพันธ์กับลักษณะทางพันธุกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวบ้าน
ที่อาศัยอยู่ในเขตภูเขาแถบ จ.ชัยภูมิ และจ.นครราชสีมา
 
 
 
ที่มา-
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2006-11-19-2.html
เมื่อ 24 กรกฎาคม 2567 22:28
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv