พิธีลงนามระหว่างนายคริส แอทกินสัน (Chris Atkinson) ประธานบริษัทไมโครซอฟต์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนายเจื่องซยาบิ่ง (Truong Gia Binh) ประธานบริษัท เอฟพีทีเวียดนาม
       
กรุงเทพฯ- บริษัทไมโครซอฟต์คอร์ปอเรชั่น
กับ บริษัท FPTCorporation
ของเวียดนาม ได้ลงนามในความตกลงฉบับหนึ่งในวันเสาร์
(18 พ.ย.) เพื่อเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์
ระหว่างกัน เป็นเวลา 3 ปี เพื่อร่วมกันให้บริการโซลูชั่นคุณภาพสูงแก่ประชาคมธุรกิจต่างๆ ทั้งในเวียดนามและในภูมิภาค
เอเชียแปซิฟิก
       
       การลงนามดังกล่าวมีขึ้นในกรุงฮานอย ซึ่งในวันเดียวกันมีการประชุมผู้นำธุรกิจกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียและแปซิฟิก
หรือ เอเปก ที่มีผู้นำหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทในสหรัฐฯ เข้าร่วมหลายร้อยคน        
       การจัดตั้งพันธมิตรในเวียดนามของบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์รายใหญ่ของโลกสัญชาติอเมริกันรายนี้ี้มีขึ้น
ระหว่างการเยือนเวียดนามของ
ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช และยังมีขึ้นในขณะที่นางคอนโดลีซซ่า ไรซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้กล่าวชื่นชมการพัฒนาเศรษฐกิจและการปฏิรูปในเวียดนาม พร้อมเรียกร้องให้อีกหลายประเทศ รวมทั้งเกาหลีเหนือและพม่าต้องยึดถือเอาเป็นแบบอย่าง        
       การก่อตั้งพันธมิตรครั้งนี้ยังมีขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากบริษัทอินเทลคอร์ป (Intel Corp) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก สัญชาติอเมริกัน ประกาศขยายการลงทุนในเวียดนามจาก 605 ล้านดอลลาร์ เป็นประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
       
       ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา บริษัทอินเทลฟายแนนซ์ ซึ่งเป็นแขนงการลงทุนของอินเทลคอร์ป ก็ได้ประกาศเข้าซื้อหุ้นในบริษัท FPT Corporation เพื่อร่วมเป็นหุ้นส่วนในการผลิตคอมพิวเตอร์ และฮาร์ดแวร์ต่างๆ เพื่อสนองความต้องการในเวียดนามและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
       
       ในต้นปีนี้ระหว่างการเยือนเวียดนามของนายวิลเลียม เกตส์ (William Gates) ประธานไมโครซอฟต์
ก็ได้มีการลงนามในบันทึกช่วยความจำกับ FPT ว่าด้วยพื้นฐานความร่วมมือต่างๆ การลงนามในความตกลงครั้งใหม่นี้ จึงเป็นการขยายขอบข่ายความร่วมมือในข้อริเริ่มต่างๆ เพื่อความสำเร็จทั้งภายในประเทศและในภูมิภาค               
โครงการหนึ่งที่สองฝ่ายเน้นหนักเป็นพิเศษก็คือ การหาทางขยายตลาดโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ภายใต้ซอฟต์แวร์วินโดว์เซอร์เวอร์
2003 ของไมโครซอฟท์ (Microsoft Windows Server 2003) สองฝ่ายจะร่วมกันฝึกอบรมพนักงานของ FPT เพื่อให้เป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการธุรกิจข้ามแดน
       
       ปัจจุบันมีการฝึกอบรมวิศวกรของ FPT ไปแล้วกว่า 600 คน ในนั้นจำนวนมากฝึกฝนโดยผู้เชี่ยวชาญของไมโครซอฟต์

บริษัทไมโครซอฟต์ และบริษัทFPTเวียดนามได้ลงนามในความตกลงเพื่อเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์
ระหว่างกัน เป็นเวลา 3 ปี เพื่อร่วมกันให้บริการโซลูชั่นคุณภาพสูงแก่ประชาคมธุรกิจต่างๆ ทั้งในเวียดนามและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
       ก่อนหน้านี้บริษัท FPT กับไมโครซอฟท์ ได้ร่วมกันก่อตั้งศูนย์เพื่อสมรรถนะการแข่งขันของไมโครซอฟต์ (Microsoft Competency Centre- MCC) เพื่อเน้นหนักในธุรกิจ .NET กับหน่วยความร่วมมืออีก 2 หน่วย
       
       ไมโครซอฟท์ยังจะร่วมกับ FPT ในโครงการฝึกฝนทักษะสำหรับบุคคลากรในแผนการก่อตั้งโครงร่างพื้นฐานและการบริหารจัดการในภาครัฐ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ FPT ได้ร่วมธุรกิจกับหุ้นส่วนของไมโครซอฟต์ในทั่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย
       
       สองฝ่ายยังมีโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเอฟพีที (FPT University) ขึ้นในเวียดนาม โดยใช้ซอฟท์แวร์และ
โซลูชั่นต่างๆ ของไมโครซอฟท์   ทั้งนี้เพื่อฝึกทักษะและความเชี่ยวชาญระดับสุดยอดแก่นักศึกษา
       
       นายเจื่อง-ซยา-บิ่ง (Truong Gia Binh) ซีอีโอของ FPT กล่าวว่าสัญญาการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ครั้งนี้ เป็นการยืนยันในการตัดสินใจของไมโครซอฟต์กับFPT ที่จะขยายความสัมพันธ์ที่มีความล้ำลึกอยู่แล้ว
       
       บริษัท FPT ประสบความสำเร็จอย่างสูงในธุรกิจคอมพิวเตอร์และไอที รวมทั้งในฐานะที่เป็นโซลูชั่นโพรวายเดอร์ข้ามชาติ มีลูกค้าในหลายประเทศ รวมทั้งในมาเลเซียกับสิงคโปร์ด้วย นอกจากนั้นยังเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ขยายตลาดและการให้บริการซอฟท์แวร์ของไมโครซอฟต์(Microsoft Dynamics Products) อย่างกว้างขวาง
       
       นายเครก มุนดี (Craig Mudie) หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์และการวิจัยของไมโครซอฟต์ กล่าวว่า FPT ได้เป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบที่แสดงให้เห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมไอทีในเวียดนาม ในการพัฒนาและส่งออกทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์เญินซเวิน
(Nhan Dan) หนังสือพิมพ์รายวันของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
       
       นายมุนดีซึ่งไปร่วมการประชุมเอเปกซีอีโอในเวียดนามกล่าวอีกว่า พันธมิตรทางยุทธศาสตร์ระหว่าง
ไมโครซอฟต์กับ FPT นี้ จะทำให้เกิดแรงกระตุ้นให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้น การวิจัยและการพัฒนา รวมทั้งช่วยดึงดูดการลงทุนของต่างชาติเข้าเวียดนามในระยะยาวอีกด้วย        
       
ในวันเดียวกันนี้ไมโครซอฟต์ยังได้เซ็นสัญญาร่วมทุนอีกฉบับหนึ่งกับบริษัท Vietnam Data Communication Co
(VDC) เพื่อพัฒนาศูนย์อีเลกทรอนิกส์ (Electronic Portal) ขึ้นในเวียดนาม        
       ส่วนอีกด้านหนึ่งนางคอนโดลีซซ่า ไรซ์ ได้ให้สัมภาษณ์โต๊ะกลมกับบรรดาผู้สื่อข่าวในกรุงฮานอยเมื่อวันเสาร์ ว่า "เวียดนามเป็นตัวอย่างของประเทศที่ได้รับผลจากสงครามแต่ ได้เดินทางมายาวไกลมาก ภายในระยะเวลาที่สั้นมาก" ซึ่งบัดนี้สามารถพบเห็นการพาณิชย์และการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ทั่วไปซึ่งเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่ชาติอื่นๆ ควรเอาแบบอย่าง
       
       ในวันเดียวกันบรรดาผูนำทางธุรกิจกว่า 1,000 คน ในกลุ่มเอเปก ได้เป็นพยานในพิธีลงนามในความตกลงด้านธุรกิจและการลงทุนจำนวน 6 โครงการ แต่มีมูลค่ารวมกันเกือบ 2,000 ล้านดอลลาร์ ในนี้จำนวน 5 โครงการเป็นผู้ลงทุนจากสหรัฐฯ และ ในนั้นมีบริษัท AES Transpower เป็นผู้นำหน้า
       
       บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการพลังงานและการไฟฟ้าจากสหรัฐฯ รายนี้ได้ก่อตั้งบริษัทร่วมทุนกับ รัฐวิสาหกิจอุตสาหกรรมเหมืองแร่และถ่านหินเวียดนาม (Vietnam Coal and Mineral Industries Group) หรือ
Vinacomin ในโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินมงเดื่อง (Mong Duong) ใน จ.กว๋างนิง
(Quang Ninh) ซึ่งเป็นเขตเหมืองถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
       
       บริษัทร่วมทุนแห่งนี้ ซึ่งมีฝ่ายอเมริกันถือหุ้น 90% จะดำเนินการผลิตไฟฟ้าขนาด 500 เมกะวัตต์ ภายใต้สัญญาสัมปทานแบบ BOT ทั้งนี้เป็นรายงานของสื่อทางการเวียดนาม.
 
 
 
 
 
ที่มา-
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2006-11-20-1.html
เมื่อ 4 กรกฎาคม 2567 18:15
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv