กทช.ชี้ค่ายมือถือกว่าร้อยละ 80-90 เอาเปรียบผู้บริโภค ทั้งด้านโปรโมชั่น การคำนวณค่าโทรผิดของผู้ให้บริการ เดินหน้าจัดตั้งสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม หวังเป็นองค์กรอิสระให้ความคุ้มครองผู้บริโภคและเดินหน้าตรวจสอบค่ายมือ คาดจัดตั้งสถาบันฯ 1 ม.ค.ปีหน้า


( 21พ.ย.) เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จัดเวทีสัมมนาเรื่องการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคม รวมทั้งการเสนอแนะนโยบาย กฎหมาย และมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสานกว่า 100 คนเข้าร่วมสัมมนา

นายสุธรรม อยู่ในธรรม คณะกรรมการ กทช. กล่าวว่า กทช.ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดขึ้นมาเพื่อพัฒนากลไกคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการคมนาคม และให้การคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะที่เป็นผู้ใช้บริการ ซึ่งจากตัวเลขการร้องเรียนของผู้ใช้บริการซึ่งถูกผู้ให้บริการเอาเปรียบ โดยพบว่า  กว่าร้อยละ 80-90 ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือคิดค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม

ทั้งในเรื่องของโปรโมชั่นที่ผู้บริโภคเข้าใจไม่ตรงกันกับผู้ให้บริการ การคิดคำนวณค่าโทรที่ผิดไปจากความจริง อาทิ ผู้ใช้บริการไม่ได้โทรไปต่างประเทศ แต่กลับมีบิลล์เรียกเก็บค่าโทรออกปลายสายต่างประเทศ หรือสายหลุดระหว่างโทร

นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาในเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ อย่างกรณี การจัดตั้งเสาสัญญาณภายในชุมชนอาจส่งสัญญาณรบกวน ฟ้าผ่าโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งผลกระทบในการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบการฟังและระบบประสาท ซึ่งรายละเอียดต่างๆ นี้ยังไม่มีองค์กรใดเข้ามารับผิดชอบหรือทำหน้าที่ประสานงานโดยตรง แม้แต่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ก็ยังไม่ได้ให้ความช่วยเหลือในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมแต่อย่างใด

"ปัจจุบันทั่วประเทศมีผู้ใช้บริการโครงข่ายโทรนาคมประมาณ 44 ล้านคน มีค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดซึ่งมีลูกค้ากว่า 20 ล้านคน ซึ่งแนวโน้มของผู้ใช้บริการนั้นจะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะจัดตั้งองค์กรอิสระ อย่างสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมขึ้นมา เพื่อเป็นองค์กรที่คอยให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือผู้บริโภคในขั้นพื้นฐาน สร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้บริโภค      โดยที่ กทช.จะทำหน้าที่ในการออกกฎเกณฑ์ กฎระเบียบคุ้มครองผู้บริโภคและมาตรการควบคุมผู้ให้บริการ ทั้งนี้เพื่อสร้างสมดุลระหว่างผู้ใช้บริการโทรคมนาคมและผู้ให้บริการ" นายสุธรรม กล่าว

กรรมการ กทช.ยังกล่าวอีกว่า ภาคอีสานซึ่งเป็นฐานลูกค้ารายใหญ่ของค่ายโทรศัพท์มือถือต่างๆ แต่กลับพบว่าผู้ใช้บริการมีไม่กี่คนที่อ่านสัญญา ทำให้ลูกค้าถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่กลับละเลยและไม่สนใจในด้านการตรวจสอบความถูกต้อง ดังนั้นการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมจึงมีความจำเป็นและต้องทำอย่างเร่งด่วน

โดยขณะนี้ กทช.ได้ร่วมกับมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค จัดสัมมนาให้ความรู้ในเรื่องสิทธิของผู้บริโภคไปตามภูมิภาคต่างๆ และคาดว่าสถาบันดังกล่าวจะดำเนินการจัดตั้งได้ภายในวันที่ 1 มกราคม 2550

"หลังการจัดตั้งสถาบันฯ เราอาจจะมีการจัดตั้งสำนักงานเพื่อรับเรื่องร้องเรียนด้านการโทรคมนาคมระดับจังหวัด เพราะยังมีผู้บริโภคหลายรายที่ถูกเอาเปรียบ  แต่ยังเข้าไม่ถึงองค์กรที่จะให้ความช่วยเหลือ" นายสุธรรม กล่าว

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมในปัจจุบันนั้นพบว่า ปัจจุบันการทำงานของภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจนั้น มีกลไกที่ผลักภาระให้ผู้บริโภครับผิดชอบมากยิ่งขึ้น อย่างการขึ้นค่าเอฟทีของการไฟฟ้า การขึ้นราคาน้ำมันโดยที่ผู้บริโภคไม่ทราบต้นทุนหรือโครงสร้างราคาที่แท้จริงของราคาน้ำมัน การดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่คิดเพียงอย่างเดียวว่า จะเอาหุ้นไปขายในตลาดหลักทรัพย์และมีการแบ่งเงินให้ภาคเอกชน แต่กลับไม่ได้คิดว่าจะมีการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร


ดังนั้น การจัดตั้งสถาบันคุ้มครองฯ จะเป็นองค์กรที่ให้ความรู้ด้านสิทธิในการรับรู้และการบริโภคที่เป็นธรรม ให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เพราะแนวโน้มภายใน 5 ปีข้างหน้าระบบการสื่อสารจะขยายตัวมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องเร่งจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค



ที่มา-กรุงเทพธุรกิจ


บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2006-11-21-2.html
เมื่อ 4 กรกฎาคม 2567 18:23
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv