หลังจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรฯ สร้าง “หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดต้นแบบ” ได้สำเร็จ ล่าสุดเตรียมส่งลงสนามลองปฏิบัติงานกู้ระเบิดจริงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทีมงานผู้สร้างระบุหุ่นมีสมรรถภาพเก็บกู้วัตถุต้องสงสัย มีทั้งใช้ล้อและตีนตะขาบ สามารถเคลื่อนที่ในพื้นที่แตกต่างกันได้ และเตรียมพัฒนาต่อให้มีความอัจฉริยะมากขึ้น ชี้สามารถดัดแปลงให้วิ่งตรวจสอบระเบิดใต้ท้องรถ ตรวจหาทุ่นระเบิดที่ฝังอยู่ใต้ดิน รวมทั้งเป็นหุ่นยนต์พ่นยาฆ่าแมลงได้ด้วย
       
       รศ.ดร.ณัฏฐกา หอมทรัพย์ จากหน่วยปฏิบัติการวิจัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าประยุกต์ (RECAPE) ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนา “ต้นแบบหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด (Research and Development for Bomb Disposal Robot)” เปิดเผยว่าได้ประสบความสำเร็จในการสร้างหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด ซึ่งจะนำไปใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
       
       “เนื่องมาจากเหตุการณ์ไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นในช่วง 3-4 ปีหลัง ส่งผลให้ประเทศต้องสูญเสียรายได้ ทรัพย์สิน และประชากรของประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทหารหาญ ต้องสละชีพเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินมิให้ผู้ใดมารุกราน และแบ่งแยกดินแดน ซึ่งการสูญเสียชีวิตของทหารส่วนใหญ่เกิดจากการถูกลอบวางระเบิด และการเก็บกู้วัตถุระเบิด ด้วยเหตุนี้เราจึงคิดค้นหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดมาทำหน้าที่เก็บระเบิดแทนคน เพื่อแก้ไขมิให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอีก”
       
       ทั้งนี้หุ่นยนต์ดังกล่าวแบ่งรายละเอียดงานเป็น 2 ส่วน คือ การออกแบบและสร้างตัวต้นแบบหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด และการเขียนโปรแกรมโดยใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ หรือโปรแกรมสมองกลฝังลงในตัวหุ่นยนต์ ทั้งนี้ หุ่นยนต์มีน้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม และขนาดประมาณ 60x110x100 ซม. ซึ่งถือว่ากะทัดรัด สามารถปฏิบัติงานในที่แคบและเคลื่อนย้ายง่าย
       
       “ตัวหนึ่งใช้ล้อสำหรับพื้นที่ขรุขระและพื้นที่ราบ และอีกตัวหนึ่งใช้ตีนตะขาบสำหรับพื้นที่ที่ต้องใช้การปีนป่ายหรือลาดเอียง ทั้งสองแบบใช้ชุดควบคุมมอเตอร์ที่ทนกระแสไฟฟ้าได้ 30 แอมแปร์ ควบคุมได้จากระยะไกลทั้งแบบมีสายและไร้สาย รัศมีไม่น้อยกว่า 300 เมตร สามารถติดตั้งอุปกรณ์เพิ่ม
       
       เช่น แขนกลยกน้ำหนักได้ประมาณ 5 กิโลกรัม ปืนฉีดน้ำความดันสูงสำหรับยิงทำลายวัตถุต้องสงสัย มีกล้องวิดีโอส่งภาพมายังชุดควบคุมทันทีที่ระดับ 30 ภาพต่อวินาที นอกจากนี้ยังมีแผงวงจรหลักระบบฝังตัวที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นพื้นฐาน มีระบบติดต่อแบบไร้สายที่เป็นระบบเดียวกับระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกในการส่งภาพและควบคุม
” รศ.ดร.ณัฏฐกากล่าว พร้อมทั้งบอกต่ออีกว่า
       
       ในปี 2550 คณะวิจัยฯ จะเริ่มพัฒนาตัวหุ่นยนต์ให้มีความอัจฉริยะมากขึ้น เช่น สามารถควบคุมเส้นทางแบบอัตโนมัติและมีโปรแกรมเก็บและแสดงข้อมูลท่าทางการเคลื่อนที่ของแขนกล การบีบจับใช้อุปกรณ์วัดแรงป้อนกลับ และภาพที่ส่งกลับจะพัฒนาให้สามารถสร้างเป็นภาพ 3 มิติ
       
       เพื่อความสะดวกและชัดเจนในการจับเป้าหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถปฏิบัติหน้าที่แทนคน โดยเฉพาะทหารที่ต้องสูญเสียจากเหตุเก็บกู้ระเบิดซึ่งมีบ่อยครั้ง นอกจากนี้ หุ่นดังกล่าวยังสามารถดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ในทางอื่นได้ เช่น หุ่นวิ่งใต้ท้องรถเพื่อตรวจสอบหาวัตถุระเบิด ติดตั้งตัวตรวจจับโลหะเพื่อตรวจหาทุ่นระเบิดที่ฝังอยู่ในดิน หรือใช้เป็นหุ่นยนต์พ่นยาฆ่าแมลงในด้านการเกษตรได้
       
       สำหรับโครงการวิจัยและพัฒนา “ต้นแบบหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด” นี้ มีนายถิระภัทธ จิระนรวิชย์ นายเมธา ผลภาษี และนายพิระณัฐ วิรุณหะ เป็นทีมนักวิจัยหลัก โดยความร่วมมือจากกองวิชาวิศวกรรมศาสตร์ โรงเรียนนายเรืออากาศ และทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ….

 
 
 
ที่มา- 

 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2006-11-21-3.html
เมื่อ 4 กรกฎาคม 2567 18:15
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv