งานวิจัยระบุเด็กและเยาวชน 52% เห็นว่าเรื่องชู้สาว-สื่อลามกเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข รองลงมาค่านิยมเลียนแบบการบริโภคนิยม ประธานสภาเด็กและเยาวชนฯ พ้อรัฐเมินงบจัดกิจกรรมปี 50 ของกลุ่มเด็ก ด้านรอง ผอ.สท.เตรียมเสนอออกกฎหมายดึงเงินภาษีบาปที่จะเก็บเพิ่มขึ้นอีก 2% ตั้งกองทุนพัฒนาด้านสังคมคล้าย สสส.

 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่หอประชุมสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (สท.) มีการสัมมนา เรื่อง "การศึกษาการใช้ทุนทางสังคมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กและเยาวชน" โดยนำเสนอผลงานวิจัย เรื่อง "การศึกษาการใช้ทุนทางสังคมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กและเยาวชน" จัดทำโดยสถาบันวิจัยวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มีนักวิชาการ ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนเด็กและเยาวชนเข้าร่วมประมาณ 100 คน

 รศ.ดร.กุศล สุนทรธาดา ผู้วิจัย กล่าวว่า จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรมสภาเด็กและเยาวชนจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ อายุระหว่าง 15-24 ปี เมื่อช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2549 จำนวน 680 คน พบว่า เยาวชนส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ปัญหาสำคัญของเด็กและเยาวชนไทยปัจจุบันที่ต้องเร่งแก้ไข

 ได้แก่ เพศสัมพันธ์ ชู้สาว และสื่อลามก 52% ค่านิยมเลียนแบบบริโภคนิยม 49% การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และยาเสพติด 36% และการพนัน ติดเกม 32% โดยระบุสาเหตุของปัญหาเนื่องจากขาดสติ ความยั้งคิด และประสบการณ์ 34% และสภาพแวดล้อม 21%
ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเด็กควรร่วมกันผลักดันให้มีกฎหมายพัฒนาเด็กและเยาวชน ที่จะสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้ทำกิจกรรมการพัฒนาสังคมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยอาจมีการตั้งกองทุนขั้นต่ำ 300-500 ล้านบาท ในการให้เงินสนับสนุนกิจกรรมเด็กและเยาวชนที่สร้างสรรค์" รศ.ดร.กุศล กล่าว

 ด้าน นายเอก วงศ์อนันต์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายหลังจากการปฏิรูปการปกครองในช่วงแรก ได้มอบหมายให้กลุ่มสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดและสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย จัดทำแผนงบประมาณโครงการและกิจกรรมที่จะดำเนินการภายในปี 2550 โดยมีกรอบงบประมาณอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อปีในส่วนของสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด และ 6 ล้านบาทต่อปีรวมเป็นเงินประมาณ 82 ล้านบาท แต่เมื่อรัฐบาลทำงบประมาณกลับไม่มีการจัดสรรเงินตามที่เสนอ

 นายสมชาย เจริญอำนวยสุข รอง ผอ.สท.กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กำลังศึกษาถึงรูปแบบของการจัดตั้งกองทุนเพื่อดำเนินการด้านสังคม โดยจะดึงเงินจากการจัดเก็บภาษีเหล้าที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเสนอให้มีการปรับเพิ่มขึ้นอีก 2% ตามร่าง พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ...มาใช้ในการจัดตั้งกองทุนในการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางสังคม รวมถึงกิจกรรมที่สร้างสรรค์ของเยาวชน ซึ่งอาจจำเป็นต้องออกเป็นกฎหมายรองรับ เช่นเดียวกับการจัดตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)



ที่มาจากหนังสือพิมพ์

บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2006-11-22-2.html
เมื่อ 24 กรกฎาคม 2567 23:59
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv