การค้นพบเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “เอ็มอาร์เอสเอ” (Methicilin Resistant Staphylococcus Aureus) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยต้องตกอยู่ในภาวะดื้อยาและกระทบต่อการรักษานั้น เป็นปรากฏการณ์ทางการแพทย์ที่ร้อนแรงยิ่งในสังคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาที่เชื้อ MRSA ได้คร่าชีวิตเด็กน้อยชาวอเมริกันไปแล้วถึง 4 คน และนับวันจะมีจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคชนิดนี้เพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว
       อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น หากแต่ในประเทศไทยก็กำลังเฝ้าระวังโรคนี้อย่างไม่วางตาเช่นกัน
       ศ.นพ.พิเศษพงศ์ ปัทมะสุคนธ์ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ จากมหาวิทยาลัยเนวาดา ได้อธิบายถึงเชื้อโรค MRSA ว่า เป็นเชื้อโรคที่มีอยู่ทั่วๆไป   ซึ่งในอดีตจะพบเพียงแค่ภายในโรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาลเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคมากมาย แต่ปัจจุบันนี้เชื้อโรคชนิดนี้เป็นเชื้อแบคทีเรียที่แพร่กระจายได้ดีในสังคมที่มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก คนปกติที่เดินตามท้องถนนก็สามารถติดเชื้อนี้ได้โดยไม่รู้ตัวเพราะเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะมีการขยายตัว
ได้อย่างรวดเร็ว
       

       ที่สำคัญคือ คนไข้ที่อ่อนแอมากๆ ก็จะสามารถติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตามในทางการแพทย์ยังถือเป็นเชื้อโรคที่สามารถควบคุมได้
       
       สำหรับสาเหตุของการติดเชื้อโรคชนิดนี้เป็นผลมาจากการดื้อยา เนื่องเพราะผู้ป่วยบางรายจะไม่ยอมรับประทานยาปฏิชีวนะที่แพทย์สั่งให้หมด คิดว่าอาการหายดีแล้วก็เลยไม่รับประทานยาต่อ และเมื่อเกิดโรคอีกครั้งต่อไปจะไม่สามารถใช้ยาตัวเดิมได้ จึงต้องเพิ่มยาตัวใหม่ที่แรงขึ้น จนเป็นสาเหตุที่ทำให้เชื้อโรคชนิดนี้แพร่กระจายเข้าสู่ร่างกายได้
       
       “กลุ่มเสี่ยงที่จะมีโอกาสติดเชื้อโรคชนิดนี้ นอกจากผู้ที่มีอาการดื้อยาแล้วก็คือ ตำรวจ พยาบาล ทหาร นักกีฬา หรือผู้ที่ชอบใช้สิ่งของร่วมกัน อย่างเช่นการไปเข้าไปใช้บริการสปา เป็นต้น เพราะเชื้อโรคจะแฝงตัวอยู่ในทุกสถานที่ที่เราทำกิจกรรม”
       
       นอกจากนี้ ศ.นพ.พิเศษพงศ์ ยังได้บรรยายถึงลักษณะอาการของผู้ที่ติดเชื้อ MRSA ว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับเชื้อชนิดนี้ทางผิวหนังก่อนเป็นลำดับแรก และจะลุกลามไปยังทุกส่วนของร่างกายได้อย่างทั่วถึงถ้าไม่รีบดำเนินการรักษาก็อาจจะเสียชีวิตได้อย่างกะทันหัน
       
       “ผิวหนังจะเป็นด่านแรกที่เชื้อโรคชนิดนี้จะเข้าไปสัมผัสถึง เพราะผิวหนังเปรียบเสมือนประตูบานแรกที่จะเปิดรับผู้คนที่มาเยี่ยมเยือน ซึ่งอาจจะเป็นทั้งคนดีและไม่ดี เราอาจจะเต็มใจรับ หรือบางครั้งอาจจะไม่เต็มใจรับก็ได้ อย่างเช่นเชื้อโรคชนิดนี้ผู้ป่วยอาจจะได้รับโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งอาการเริ่มแรกที่เชื้อนี้ไปทำปฏิกิริยากับผิวหนัง ก็จะทำให้ผิวหนังเป็นแผลผุพอง ลักษณะคล้ายกับฝี”
       
       “และที่สำคัญเชื้อโรคชนิดนี้ไม่เพียงแต่เกิดที่บริเวณผิวหนังเท่านั้น แต่ยังสามารถไปติดเชื้อกับอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณ จมูก ก้น หรือในเม็ดเลือดขาว เป็นต้น ซึ่งลักษณะอาการแบบนี้จะไม่สามารถตรวจวินิจฉัยได้ในเบื้องต้นว่าติดเชื้อ MRSA หรือไม่ แพทย์จะต้องทำการเจาะเลือดเพื่อไปทดสอบจึงจะสามารถทราบผลได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่มีอาการผิวหนังเป็นแผลหรือเป็นฝีควรจะรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยด่วน
มิเช่นนั้นอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้” ศ.นพ.พิเศษพงศ์ อธิบาย
       
       ทางด้าน ผศ.นพ.ชาญวิทย์ ตรีพุทธรัตน์ สาขาจุลชีววิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวสถานการณ์ของโรคในประเทศไทยว่า ขณะนี้ยังไม่พบเชื้อ MRSA แต่อย่างใด เพียงแต่พบเชื้อตัวหนึ่งที่ลักษณะอาการของโรคคล้ายกับเชื้อ MRSA นั่นคือ เชื้อ CAMRSA(Community acquired Methcilin Resistant Staphylococcus)
       
       กล่าวคือมีคนไข้รายหนึ่งอายุประมาณ 30 ปี เป็นผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งทางโรงพยาบาลได้รับการส่งตัวมาจากโรงพยาบาลตากสินด้วยมีอาการเป็นแผลที่เท้า และทางแพทย์เกรงว่าจะติดเชื้อ CAMRSA จึงส่งตัวมาที่โรงพยาบาลศิริราชให้ตรวจรักษาอาการ ทางทีมแพทย์จึงได้มีการเจาะเลือดไปตรวจพิสูจน์และพบว่าติดเชื้อ CAMRSA ซึ่งจะมีลักษณะอาการเหมือนกับเชื้อโรค MRSA แต่เกิดมาจากคนละสายพันธุ์เพราะ MRSA เป็นเชื้อโรคที่เกิดจากการดื้อยา แต่เชื้อ CAMRSA เป็นเชื้อโรคที่เกิดจากชุมชน และอาการของโรคจะมีความรุนแรงน้อยกว่า ซึ่งจากการตรวจสอบประวัติพบว่าผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้รับเชื้อโรคชนิดนี้มาจากโรงพยาบาลอย่างแน่นอน แต่คงจะได้รับเชื้อมาจากชุมชนที่อาศัยอยู่
       
       สำหรับการเฝ้าระวังรักษาตัวเองไม่ให้ติดเชื้อโรคชนิดนี้ ผศ.นพ.ชาญวิทย์แนะนำว่า ทุกครั้งที่มีการทำกิจกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้วหรือเมื่อไปสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ภายนอก ควรจะรีบล้างมือด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ และชำระล้างร่างกายให้เรียบร้อย เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคร้ายแทรกตัวเข้ามาทำร้ายได้ และเมื่อมีอาการเป็นแผลตามผิวหนังไม่ควรปล่อยไว้นานควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกวิธี
       
       “แม้ขณะนี้ไทยยังไม่พบ MRSA แต่เราก็กำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์และวิจัยค้นหาอย่างต่อเนื่อง เพราะ MRSA เป็นเชื้อที่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบที่กว้างขวาง รวมทั้งขณะนี้ทางทีมแพทย์ก็ได้เร่งค้นคว้าเกี่ยวกับเชื้อ CAMRSA ซึ่งเป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดในประเทศไทย เพื่อที่จะได้ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคตัวนี้แพร่กระจายออกไปสู่ประชาชน”ผศ.นพ.ชาญวิทย์สรุป
 
 
 
 
ที่มา-
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2006-11-23-3.html
เมื่อ 24 กรกฎาคม 2567 22:27
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv