ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 เผยข้าราชการครู-ชาวบ้านไทยพุทธ เครียดจัด หลังเป็นเหยื่อสังเวยโจรใต้ไม่เว้นวัน ระบุจากตัวเลข 200ครอบครัว ขยับขึ้นเป็น1,000ครอบครัว รับนักจิตวิทยาไม่พอรับมือ เตรียมขยายศูนย์เพิ่ม 37 แห่งต้นปี2550 คลุม ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสงขลา

นางวัลลี ธรรมโกสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15(ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) เปิดเผยว่า ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ ส่งผลให้มีแนวโน้มประชาชนเกิดความเครียมดและปัญหาทางสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการครูที่ตกเป็นเหยื่อการสร้างสถานการณ์อย่างหนักในระยะนี้ ทำให้มีจำนวนข้าราชการครูที่จำเป็นต้องได้รับการเยียวยาสภาพจิตใจอย่างเร่งด่วน โดยพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ถือว่ามียอดครูที่ต้องได้รับการดูแลมากที่สุดเมื่อเทียบกับจังหวัดยะลา และปัตตานี โดยขณะนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ดังกล่าวแล้ว

 นางวัลลี กล่าวว่า นอกจากกลุ่มข้าราชการครูที่อยู่ในภาวะน่าเป็นห่วงจากผลพวงของความรุนแรงและตกเป็นเหยื่อสถานการณ์รายวันแล้ว
พบว่า กลุ่มหญิงหม้ายที่สูญเสียสามีจากปัญหาความไม่สงบเป็นอีกกลุ่มที่ต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ
รวมถึงกลุ่มชาวบ้านไทยพุทธ ที่ตกเป็นเป้าของคนร้ายมากขึ้นในเวลานี้

 ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 จากจำนวนของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ได้รับความสูญเสียและต้องการการเยียวยาสุขภาพจิตจำนวน จากเดิมในปี 2547-2548 มี 200 ครอบครัว แต่จากสถานการณ์ที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่องส่งผลให้มีครอบครัวที่ต้องการการเยียวยาทางสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยยอดรวมล่าสุดในปีนี้ 2549 นี้พบว่ามีครอบครัวที่ต้องการได้รับการเยียวยาสุขภาพจิตสูงกว่า 1,000 ครอบครัวแล้ว แต่อุปสรรคสำคัญคือจำนวนจิตแพทย์ที่มีเพียง 15คน ซึ่งไม่เพียงพอที่จะรับมือกับสถานการณ์ในขณะนี้

 นางวัลลี กล่าวต่อว่า เพื่อให้สามารถรองรับกับสถานการณ์ดังกล่าวกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จะเร่งพัฒนาเครือข่ายและจัดตั้งให้มีศูนย์สุขภาพจิตในโรงพยาบาลชุมชนให้ครบทุกแห่งใน 3จ.ชายแดนภาคใต้และอีก 5 อำเภอของ จ.สงขลา รวมจำนวน 37 ศูนย์ภายในปีหน้า 2550 จากปัจจุบันที่มีศูนย์กระจายอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนต่างๆในพื้นที่เพียง 15 ศูนย์ ซึ่งไม่เพียงพอครอบคลุมทุกพื้นที่โดยทางกรมสุขภาพจิตจะเร่งจัดหาบุคลากรเข้าประจำในโรงพยาบาลชุมชน
เป็นศูนย์สุขภาพจิตเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ทั้งด้วยวิธีจัดจ้างนักจิตวิทยา,การพัฒนาแพทย์เจ้าหน้าที่เครือข่ายสุขภาพจิตในพื้นที่เข้าทำงานในโรงพยาบาลชุมชน
เพื่อให้บริการด้านสุขภาพจิตแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบ
 "ยอมรับว่าปัญหาขณะนี้น่าเป็นห่วงเพราะประชาชนในพื้นที่ต่างอยู่ในอาการเครียดจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกันความรุนแรงยังทวีความต่อเนื่องยิ่งตอกย่ำให้สภาพจิตใจที่ย่ำแย่อยู่แล้วทรุดลงไปอีก
เราจึงจำเป็นต้องทำงานให้หนักมากขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพจิตใจประชาชนไม่ให้ย่ำแย่ลงไปอีก"
ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 กล่าว

ที่มาจากหนังสือพิมพ์

บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2006-11-26-2.html
เมื่อ 24 กรกฎาคม 2567 22:15
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv