นักศึกษา 5 สถาบันยื่นหนังสือถึงนายกฯ ค้านนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ แฉ! บางแห่งค่าเทอมพุ่งสูงถึง 107% หวั่นกีดกันคนส่วนใหญ่ไม่ให้เข้าถึงการศึกษา

 ชี้การศึกษาถือเป็นสวัสดิการที่รัฐต้องบริการประชาชน ด้าน "วิจิตร" ลั่นเดินหน้า ม.นอกระบบ แต่เน้นความสมัครใจ เผย ครม.ไฟเขียวเพิ่มอีก 3 มหาวิทยาลัย

 ภายหลัง ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้ประกาศเดินหน้าผลักดันให้มหาวิทยาลัยของรัฐที่เหลือ 21 แห่ง จากทั้งหมด 24 แห่ง แปรสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือ ม.นอกระบบ โดยจะเร่งรัดร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มหาวิทยาลัยให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 1 ปี เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในรัฐบาลชุดนี้นั้น

 ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน เวลา 09.00 น. ที่บริเวณด้านหน้ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนิสิต นักศึกษาร่วม 50 คน จาก 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ม.ร.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) โดยการนำของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) มารวมตัวกัน นำโดย นายนิธิวัต วรรณศิริ นิสิตคณะประมง มก. นายศุภ โกลศะสุต นิสิตคณะรัฐศาสตร์ มก. และนายพงษ์สุวรรณ สิทธิเสนา นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.ร. จากนั้นเวลา 10.40 น. ได้เดินทางไปยื่นแถลงการณ์ต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านการแปรรูปมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ และเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งคืนอำนาจให้แก่ประชาชน

 แถลงการณ์ สนนท. ระบุว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันขาดความชอบธรรมในการใช้อำนาจ ดังนั้น จึงไม่ควรกำหนดนโยบายที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะไม่ควรผลักดันนโยบายแปรรูปการศึกษา เนื่องจากขณะนี้ยังขาดการมีส่วนร่วมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ และประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งนโยบายดังกล่าวยังก่อให้เกิดข้อสงสัยในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และสร้างปัญหากีดกันคนส่วนใหญ่ไม่ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ สนนท.ซึ่งเคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องดังกล่าวมาตลอด จึงเรียกร้องให้มีการยกเลิกนโยบายการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ และให้รัฐบาลเร่งคืนอำนาจให้แก่ประชาชนโดยเร็วที่สุด

 นายนิธิวัต วรรณศิริ นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะประมง มก. ในฐานะกรรมการบริหาร สนนท. ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้มี ม.นอกระบบ 4 แห่ง คือ ม.วลัยลักษณ์ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ ม.แม่ฟ้าหลวง พบว่า นักศึกษาได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะบางแห่งค่าเทอมเพิ่มถึง 107 เปอร์เซ็นต์

 "ที่ ม.วลัยลักษณ์ นักศึกษาถูกจัดตารางเรียน 7 วันต่อสัปดาห์ เพราะอาจารย์ไม่ได้เป็นข้าราชการแล้ว เป็นแค่พนักงานมหาวิทยาลัย จึงวิ่งรอกสอนที่อื่นและจัดตารางสอนสอดคล้องกับงานนอกที่ตัวเองรับสอน ทั้งที่การศึกษาถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาคนและพัฒนาประเทศ ที่รัฐมีหน้าที่ต้องให้บริการแก่ประชาชน แต่นโยบายนำ ม.ออกนอกระบบ จะทำให้คนจนถูกกีดกัน เข้าไม่ถึงการศึกษาได้" นายนิธิวัต กล่าว

  กรรมการบริหาร สนนท. กล่าวว่า นโยบายนี้เรียกชื่อกันให้สวยงามว่า นโยบายนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ แต่จริงๆ แล้วเป็นการลดงบประมาณด้านการศึกษาของประเทศเพื่อนำเงินไปใช้ด้านอื่น ในที่สุดมหาวิทยาลัยก็ต้องมาขึ้นค่าเทอมกับนักศึกษา ต่อไปมหาวิทยาลัยรัฐจะเป็นเหมือนมหาวิทยาลัยเอกชน เก็บค่าเทอมสูงเหมือน ม.นอกระบบทั้ง 4 แห่ง

 นายนิธิวัต กล่าวว่า สนนท.คัดค้าน ม.นอกระบบมาตั้งแต่ปี 2541 สมัย นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ที่ผ่านมารัฐบาลทุกชุดที่ขึ้นมาบริหารประเทศไม่เพียงเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องนี้ กลับเร่งผลักดันนโยบายการแปรรูปการศึกษา ทั้งที่ทุกครั้งที่มีการนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และขั้นตอนต่างๆ ในการผ่านร่าง พ.ร.บ.ออกนอกระบบของแต่ละมหาวิทยาลัย ก็มีกระแสคัดค้านจากทุกภาคส่วนของสังคม 

 "เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ออกนอกนอกระบบของจุฬาฯ ม.ทักษิณ และ สจพ. ส่วนสัปดาห์นี้จะนำร่าง พ.ร.บ.ม.เชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ ม.นเรศวร " นายนิธิวัต กล่าว

 นายนิธิวัต กล่าวด้วยว่า สำหรับหนังสือที่ไปยื่นถึงนายกฯ นั้น ข้อแรก เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบาย ม.นอกระบบ ข้อสอง ให้ ม.นอกระบบกลับมาเป็นมหาวิทยาลัยรัฐ
ข้อสาม ขอให้รัฐบาลตระหนักถึงการได้มาซึ่งอำนาจ และขอให้เร่งคืนอำนาจการบริหารประเทศแก่ประชาชน และข้อสี่ ขอให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวอย่างอิสระ ไม่ต้องเกรงกลัวต่ออำนาจใดๆ

 ในวันเดียวกัน พ.ท.พ.ญ.กมลพรรณ ชีวพันธุศรี ประธานเครือข่ายพ่อแม่เยาวชนเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และตัวแทนเครือข่ายฯ อีก 10 คน ในชุดแต่งกายสีดำ ได้นำพวงหรีดข้อความว่า "แด่วงการศึกษาไทย" มาประท้วงผลที่เกิดจากการจัดการศึกษาไทยล้มเหลว เช่น แอดมิชชั่นส์ ที่จะให้เพิ่มการจัดสอบกลุ่มสาระการเรียนรู้จาก 5 กลุ่ม เป็น 8 กลุ่ม การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยรัฐ

  พ.ท.พ.ญ.กมลพรรณ กล่าวว่า จะประท้วงให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นถึงการบริหารงานการศึกษาที่ไม่ได้ผ่านการประชาพิจารณ์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะกรณีนำมหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบราชการ รัฐบาลเร่งรีบทำ

  ด้าน ศ.ดร.วิจิตร ให้สัมภาษณ์ที่ ศธ.ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สนนท.ไม่ได้มายื่นแถลงการณ์ใดๆ กับตน และนายกรัฐมนตรีไม่ได้หารือในเรื่องนี้กับตน แต่ยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะล้มนโยบาย ม.นอกระบบ เพราะปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบไปแล้ว 6 แห่ง อีกทั้งรัฐบาลประกาศชัดเจนแล้วว่า  การออกนอกระบบนั้นให้เป็นความสมัครใจ ถ้ามหาวิทยาลัยไหนไม่พร้อมก็ไม่ต้องออก

 ส่วนที่เกรงกันว่าเมื่อออกนอกระบบแล้วจะทำให้ค่าเทอมสูงขึ้นนั้น ศ.ดร.วิจิตร กล่าวชี้แจงว่า จะต้องพิจารณาเรื่องนี้กันให้ดีๆ เพราะบางมหาวิทยาลัยอาจปรับค่าเทอมสูงขึ้นจริง ทั้งนี้ เป็นเพราะว่ามหาวิทยาลัยแห่งนั้นเก็บค่าเทอมในระดับที่ต่ำมาตลอด และไม่ต้องการปรับค่าเทอมขึ้นหลายครั้ง จึงถือโอกาสปรับครั้งเดียวเมื่อออกนอกระบบ ซึ่งตรงนี้อาจจะทำให้รู้สึกว่าปรับค่าเทอมสูง จริงๆ แล้วมหาวิทยาลัยของรัฐส่วนใหญ่เก็บค่าเทอมแค่ร้อยละ 30 ของค่าใช้จ่ายจริง ที่เหลืออีกร้อยละ70 รัฐยังอุดหนุนเหมือนเดิม

 "การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาแทบไม่มีประเทศไหนที่รัฐต้องแบกรับภาระ หรือจัดการศึกษาให้ฟรี แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ร่ำรวย ก็ยังไม่แบกรับภาระนี้ได้ ยิ่งสถานะของประเทศไทยในปัจจุบันด้วยแล้ว เฉพาะรัฐอุดหนุนเรียนฟรี 12 ปีของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังแทบหาเงินไม่พอ ฉะนั้น รัฐคงไม่สามารถจัดเรียนฟรีในระดับอุดมศึกษาได้" ศ.ดร.วิจิตร กล่าวและว่า ครม.เห็นชอบ ม.นอกระบบอีก 3 สถาบัน คือ ร่าง พ.ร.บ.ม.เชียงใหม่  ร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  และร่าง พ.ร.บ. ม.นเรศวร


 


ที่มาจากหนังสือพิมพ์

บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2006-11-29-3.html
เมื่อ 24 กรกฎาคม 2567 22:20
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv