"รมว.วิทยาศาสตร์" พร้อมส่งต่อเทคโนโลยีรับมือระเบิดป่วนกรุง ให้กลาโหม ไอซีทีและคมนาคม ชูเทคโนโลยีตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือสั่งบึ้ม เครื่องบินสอดแนมติดกล้องวงจรปิด ตลอดจนติดชิพอัจฉริยะจับตารถต้องสงสัย
-

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรี ในส่วนของมาตรการป้องกันเหตุไม่สงบในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ประชุมให้ความสนใจที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีความพร้อมที่จะร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆ เช่น อากาศยานไร้คนขับหรือยูเอวี ซึ่งเป็นเครื่องบินสอดแนมทางทหารขนาดเล็ก ที่ใช้การบังคับระยะไกลและติดกล้องเพื่อตรวจดูสิ่งผิดปกติ เป็นผลงานพัฒนาร่วมกับกระทรวงกลาโหม

อากาศยานไร้คนขับ ทำงานโดยระบบควบคุมการบินอัตโนมัติ ที่ควบคุมเครื่องบินให้บินไปยังสถานที่เป้าหมาย โดยไม่มีคนขับ แต่จะมีคนบังคับอยู่ที่สถานีภาคพื้นดิน พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์บันทึกภาพ ทั้งกล้องภาพนิ่งและวิดีโอภาพเคลื่อนไหว ซึ่งทำหน้าที่เป็นตาทิพย์ จากนั้นจะส่งสัญญาณภาพกลับมาภาคพื้นดิน เพื่อแปลสัญญาณเหล่านั้นเป็นสารสนเทศต่อไป เหมาะใช้ประโยชน์ด้านการลาดตระเวน การเฝ้าตรวจ การค้นหาเป้าหมาย ตลอดจนใช้ในงานตรวจการติดตามเป้าหมาย และใช้ในงานการข่าว เป็นต้น

ขณะที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) หน่วยงานในสังกัด ได้พัฒนาเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์ เพื่อป้องกันการจุดฉนวนระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือ ตลอดจนรถสื่อสารฉุกเฉินเคลื่อนที่ ซึ่งใช้งานกับพื้นที่ประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิ เหตุการณ์น้ำท่วมโคลนถล่ม เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สามารถนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ความไม่สงบนี้ได้เช่นกัน โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะสร้างความร่วมมือกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป

รถสื่อสารฉุกเฉินเคลื่อนที่ สามารถให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานและอินเทอร์เน็ตได้ จึงทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็วในการติดตั้งและใช้งานระบบสื่อสารฉุกเฉิน สามารถให้บริการในพื้นที่
33 ตารางกิโลเมตรโดยรอบจุดที่รถเคลื่อนที่เข้าไปถึง ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สายได้พร้อมกัน 25- 30 เครื่อง และรองรับการใช้งานโทรศัพท์พร้อมๆ กันได้ 30 คู่สาย

นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังมีศักยภาพในการสร้างความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม ในการนำระบบอาร์เอฟไอดี (RFID) หรือชิพอิเล็กทรอนิกส์ ใช้กับรถยนต์   เพื่อตรวจจับ และติดตามรถยนต์ที่มีพฤติกรรมต้องสงสัย

"แนวคิดในการตรวจสอบและป้องกันการซุกซ่อนระเบิดในถังขยะนั้น เราสามารถผลิตถังขยะพลาสติกโปร่งใส เพื่อให้ยากแก่การปิดบัง รวมถึงติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพิ่มขึ้นในจุดต่างๆ ได้ทั่วถึง แต่ต้องตรวจสอบและบำรุงรักษาให้กล้องทำงานได้ตลอดเวลาด้วย" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว
 
 
 
 
 
ที่มา- 
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-01-06-1.html
เมื่อ 25 กรกฎาคม 2567 05:11
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv