พ่อแม่คุณภาพหรือ positive parenting เป็นแนวคิดที่เชื่อว่า สัญชาตญาณของพ่อและแม่ปรารถนาที่จะเลี้ยงดูลูกอย่างดีที่สุด เพื่อให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีความสุข ดำเนินชีวิตด้วยตนเองได้ในอนาคต

พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นคนที่มีความสามารถที่สุดที่จะทำสิ่งนั้นให้กับลูกได้ แต่ทุกวันนี้ด้วยความไม่พร้อมของการเป็นพ่อแม่ ทั้งในเรื่องการขาดทักษะการเลี้ยงดูลูก ทักษะการเป็นพ่อแม่ เมื่อลูกมีปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ อาจทำให้หลายคนรู้สึกหมดหนทางในการดูแลลูก รู้สึกเหนื่อย อ่อนล้า กดดัน จนบางครั้งต้องใช้วิธีรุนแรงในการจัดการกับลูก

พ.ญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูลและกรรมการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวว่า เมื่อพ่อแม่ไม่สามารถจะเลี้ยงดูหรือให้การเรียนรู้กับเด็กในทางบวกได้ ในเวลาเช่นนั้นพ่อแม่จึงต้องการกระบวนการช่วยเหลือบางอย่างทั้งการสนับสนุนความรู้และทักษะการเลี้ยงดูลูกที่เหมาะสม การฝึกฝนตนเองและกำลังใจจากคนรอบข้างทั้งจากครอบครัว ชุมชนและสังคม จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้พ่อแม่มีทักษะของการเป็นพ่อแม่ รู้สึกมีความสุขในการเลี้ยงดูลูก มีแนวทางออกของปัญหา จัดการปัญหาพฤติกรรมลูกโดยไม่ใช้อารมณ์และความรุนแรงได้

ทักษะที่สำคัญของพ่อแม่ คือ การส่งเสริมพัฒนาการของลูกด้วยวิธีสร้างสรรค์ เด็กที่เติบโตภายใต้การดูแลของพ่อแม่ที่มีทักษะ จะสามารถพัฒนาทักษะชีวิต เติบโตด้วยความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและไม่มีปัญหาพฤติกรรมที่รุนแรง

สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ต้องตระหนักคือ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยทั้งทางด้านกายภาพ และทางด้านจิตใจ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นการเรียนรู้สำหรับเด็ก ใส่ใจการเรียนรู้ของลูกทั้งด้านสติปัญญา อารมณ์ และสังคม คอยกระตุ้นการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้กับลูก ฝึกวินัยด้วยความรักอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้วิธีที่จริงจัง แต่นุ่มนวล ยอมรับและเข้าใจลูกตามพัฒนาการ ตามวัย และความแตกต่างระหว่างบุคคล ไม่ควรควาดหวังต่อลูกเกินความเป็นจริง และพ่อแม่เองก็ควรดูแลอารมณ์ตนเองให้พร้อมก่อนที่จะดูแลลูก เพราะมิฉะนั้นการจัดการปัญหาอาจจะใช้ความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง


นอกจากพ่อแม่จะต้องมีทักษะของการเป็นพ่อแม่แล้วยังมีหน้าที่ต่อลูก คือ

การอบรมสั่งสอน - เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ซึ่งไม่ใช่การบ่นแบบปากเปียกปากแฉะ แต่พ่อแม่ควรเรียนรู้ว่าบางอย่างพ่อแม่ต้องฝึกฝนลูก ไม่ใช่ว่าลูกจะทำอะไรทุกอย่างได้เองหมด เช่น เด็กเลือกกินอาหารที่เป็นประโยชน์เองไม่ได้ เพราะ เด็กก็อยากทำตามความพอใจของตนเองมากกว่าก็อาจจะกินอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ หรืออาจมีพฤติกรรมไม่ดี ก็เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องอบรมสั่งสอนในสิ่งที่ควรปฏิบัติให้กับลูก

สิ่งที่เน้นว่าจะต้องสอนคือเรื่องการสื่อสารกับคนอื่น โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารกับพ่อแม่ จะเลี้ยงลูกอย่างไรให้ลูกสื่อสารกับพ่อแม่ได้ ตราบที่ลูกยังคุยกับพ่อแม่ได้ปัญหาก็จะเบาลง อีกอันคือการจัดการกับอารมณ์ต่างๆ ทั้งทางลบและทางบวก ความโกรธ ความอยากได้อยากมี การเอาชนะ สิ่งนี้พ่อแม่ต้องสอนวิธีจัดการทางอารมณ์ให้กับลูก รวมทั้งการแก้ปัญหาและการพึ่งตนเอง

การเป็นแบบอย่างที่ดี - วิธีการสอนเด็กที่ดีที่สุดคือ ตัวเราเป็นแบบอย่างที่ดี อยากให้ลูกเรียนเก่งพ่อแม่ก็คงต้องขยันอ่านหนังสือ และต้องสอนทันทีที่มีโอกาสแต่ไม่ได้พร่ำเพรื่อ พ่อแม่จึงต้องให้เวลากับลูก การสอนทันทีจะทำให้เด็กจำได้ดีเพราะอยู่ในสถานการณ์จริง เด็กจะเรียนรู้ได้เร็วเพราะจะฝังอยู่ในความรู้สึกของเด็ก ส่วนในเด็กเล็กพ่อแม่ต้องเข้าใจว่าบอกอย่างเดียวไม่ได้แต่ต้องเป็นการฝึกถ้าจะให้ลูกทำอะไรต้องเข้าไปจับลูกทำอย่างสิ่งนั้น โดยต้องไม่ใช้ความรุนแรง เช่น ถ้าลูกไม่ทำการบ้านเพราะไม่อยากทำ ถ้าแค่บอกให้ลูกทำอย่างเดียวไม่เกิดประโยชน์ พ่อแม่ต้องเข้าไปฝึกลูกทำทันที ทำไปพร้อมๆ กับลูก และฝึกให้ทำสิ่งนี้จนกลายเป็นกิจวัตรประจำวันของลูก


แม้พ่อแม่จะทำทั้งหมดข้างต้นแต่เด็กก็อาจจะมีปัญหาพฤติกรรม เพราะเป็นไปตามวัย ถือเป็นเรื่องปกติ หรือบางครั้งเด็กรับอิทธิพลจากบางสิ่งทำให้เริ่มมีปัญหา พ่อแม่ก็ต้องเรียนรู้ที่จะจัดการหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูก ซึ่งมีสิ่งที่ควรทำ คือ

1. กำหนดกฎพื้นฐานของบ้านให้ชัดเจน เด็กเรียนรู้ได้ดีในสิ่งแวดล้อมที่มีขอบเขตชัดเจน ที่ช่วยให้เด็กรู้ว่าอะไรทำได้ อะไรไม่ควรทำ กฎของบ้านควรมีความยุติธรรมสำหรับเด็ก ไม่ยากเกินไปที่จะทำได้และเมื่อเด็กโตขึ้นควรให้เด็กเข้ามีส่วนร่วม ในการตกลงกฎในครอบครัวว่าอะไรที่น่าจะทำมากกว่าการตั้งข้อห้ามมากมาย

2. พูดคุยถึงปัญหาโดยตรง เมื่อเด็กไม่ทำตามกฎซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ การพูดคุยโดยพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น มองหาทางออกร่วมกันและกระตุ้นให้เด็กเปลี่ยนวิธีการใหม่

3. ลดการให้ความสนใจกับปัญหา บางครั้งพ่อแม่ยุ่งทุกเรื่องมากเกินไป ซึ่งบางเรื่องไม่ได้เป็นปัญหาอะไร บางครั้งเด็กอาจจะมีปัญหาพฤติกรรมเล็กๆ น้อย พ่อแม่ควรใช้วิธีไม่สนใจในขณะที่เด็กแสดงพฤติกรรมทางลบ จนกระทั่งพฤติกรรมหยุดลง ควรให้คำชมที่ลูกหยุดพฤติกรรม แต่เวลาที่เด็กมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหารุนแรง ควรเข้าไปจัดการทันที

4. พ่อแม่ต้องเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาให้ลูก พ่อแม่ต้องทำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ช่วยลูกได้ เวลาที่ลูกมีปัญหา เช่น เด็กเล็กบางคนเมื่อมีความกระวนกระวายก็อาจจะขึ้นไปปีนอยู่บนผ้าม่าน หรือเด็กบางคนเมื่อมีความกระวนกระวายจะซนกว่าปกติแล้วพ่อแม่ไม่เข้าใจ ไม่เข้าไปช่วย ได้แต่ตะโกนบอก มันก็ไม่เกิดความผูกพันเพราะเด็กเขาต้องเรียนรู้ว่าพ่อแม่ช่วยเขาได้พ่อแม่จัดการบางอย่างให้เขาได้ เด็กจึงจะเกิดการยอมรับ เมื่อเด็กโตขึ้นเรื่อยๆ เวลามีปัญหาเขาจะมาหาพ่อแม่ แต่เด็กที่พ่อแม่ไม่เคยจัดการปัญหาให้เขาได้ เด็กจะออกไปจากพ่อแม่

5.บอกสิ่งที่ต้องการให้ชัดเจน เมื่อพ่อแม่ต้องการให้ลูกทำอะไร การบอกที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ พ่อแม่ควรเตรียมตัวเองโดยเฉพาะด้านอารมณ์ คอยสังเกตว่าลูกกำลังทำอะไร หากเป็นไปได้ ควรให้ลูกทำกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ให้เสร็จ หรือจังหวะที่คิดว่าเหมาะที่จะเข้าไปขัดกิจกรรมที่เด็กทำอยู่ โดยการเข้าไปหาลูกและดึงความสนใจ เพื่อให้ลูกหยุดกิจกรรมที่ทำ จากนั้นบอกให้ลูกทราบว่าจะให้ทำอะไร พูดให้ชัดเจนตรงกับสิ่งที่พ่อแม่ต้องการให้ลูกทำ แล้วให้เวลาลูกในการทำตามที่บอก เมื่อลูกให้ความร่วมมือควรชมและขอบคุณ

บทบาทและหน้าที่ของความเป็นพ่อแม่ ที่คอยดูแล ให้ความรัก ความห่วงใย กำลังใจและเป็นผู้แนะนำสิ่งที่ดีให้กับลูก ยังคงอยู่และไม่มีวันสิ้นสุด แม้ลูกจะเติบโตขึ้นเพียงใดก็ตาม

สนใจจุลสารทอฝันปันรัก จุลสารเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัว หรือปรึกษาปัญหาพฤติกรรมลูก ติดต่อมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก โทร. 0-2412-0738 0-2412-9834 www.thaichildrights.org 
 
 
 
 
 
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-01-31-2.html
เมื่อ 25 กรกฎาคม 2567 09:08
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv