อยากให้ผู้ใหญ่ – พ่อแม่ – ผู้ปกครอง และ ครู ไปดูหนังเรื่องนี้กันให้หมด

ตั้งแต่บทความสุดท้ายจบไป ผมก็วิ่งวุ่นกับการจัดงานมหกรรมเยาวชน 60 ปี 60 ล้านความดีเริ่มที่เยาวชน ที่จัดกัน ณ ถนนพระอาทิตย์ ตั้งแต่วันที่ 15-17 ธันวาคม 49 ปีก่อนน่ะครับ เลยไม่ได้เขียนบทความอะไรออกมาให้ได้อ่านกัน

ผมเกือบลืมไปแล้วว่าผมได้ไปดูหนังมาเรื่องนึงมา แล้ววันนี้หนังเรื่องนั้นก็กำลังจะลงโรง ผมเคยบอกตัวเองไว้แล้วว่าจะต้องชวนเพื่อนๆ ทั้งหมดสมัยมัธยมไปดูด้วยกัน

จนมาถึงช่วงเดือนธันวาคมปีที่ผ่านนั่นแหละครับเหตุการณ์จึงเริ่มขึ้น

“มีคนมาชวนผมให้ไปดูหนังด้วยกัน” โอ้ว ผมจะทำยังไงดี

ผมไม่มีทางเลือกอื่น เพราะว่าว่างอยู่เลยตอบตกลง (ใจจริงก็อยากไปดูหนังน่ะแหละ)

เมื่อคณะผู้มาดูหนัง ที่มีทั้งคุณหมอ พี่ๆเครือข่ายครอบครัว พี่ๆเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก และเยาวชนจำนวนหนึ่ง มาถึงจุดนัดพบ ก็ต้องแปลกใจ เพราะในเวลานั้น หนังยังไม่มีชื่อเรื่อง ...

ก่อนที่จะรับชมนั้นก็มีเจ้าหน้าที่น่ารักๆ จาก GTH เข้ามาให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับหนังว่ามันไม่มีบท ไม่มีสคริปต์ และเป็นการตามถ่ายเด็ก ม.6 ที่เรียนในโรงเรียนชายล้วนแห่งหนึ่ง ตลอดหนึ่งปีเต็มก่อนการเอนทรานซ์ ซึ่งปีที่ถ่ายทำจะเป็นปีแรกที่มีการเอนทรานซ์ ระบบโอเน็ต-เอเน็ต ซึ่งไม่เกี่ยวกับโอเด็ด แต่อย่างใด

ขณะที่หนังตัวอย่างฉายไปเรื่อยๆ ผมรู้สึกถึงความมีชีวิตของหนังเรื่องนี้ และผมรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้นำความรู้สึกบางอย่างเมื่อหลายปีก่อนของผมกลับมา

การตามเก็บภาพชีวิตเด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง การใช้ชีวิตโลดโผน เถียงพ่อ-แม่ มีเหตุผลของตัวเอง ไปไหนมาไหนเป็นกลุ่มก๊วน เที่ยวอย่างมีความสุข มีความสุขกับวันแต่ละวันอย่างเต็มที่เพราะวันพรุ่งนี้มันเป็นอนาคต แต่ละคนมีความฝันของตัวเอง มีแนวทางการดำเนินชีวิตของตัวเอง เท่าที่ประสบการณ์จะเอื้ออำนวยให้ มีมิตรภาพและความจริงใจให้แก่กัน

ใครที่เคยใช้ชีวิตมัธยมด้วยการตามล่า ตามหาความฝันของตัวเอง และรู้ว่าตัวเองยังมีความฝันอยู่ อยากให้มาดูหนังเรื่องนี้กันให้เยอะๆ ไม่แน่นะบางทีความเป็นเด็ก และความใสของหนังเรื่องนี้อาจทำให้คุณย้อนเวลากลับไปยังช่วงเวลาที่มีความสุขนั้นก็เป็นได้


จากข้อมูลที่หนังบอกไว้ว่า แต่ละปีมีเด็กที่สอบเอนทรานซ์ถึง ปีละ 200,000 คน และจากจำนวนนี้ 160,000 คน คือ ผู้ผิดหวัง! (จงภูมิใจเถอะถ้าเอนท์ไม่ติด เพราะเพื่อนคุณจะเยอะ และเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม-ขำๆ เด้อ)

ช่วงเวลาเอนทรานซ์นี้เองที่วัยรุ่นส่วนใหญ่ในประเทศนี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญแห่งชีวิตก็ว่าได้ เด็กไทยหลายหมื่นคน ทุ่มเทเวลาพักผ่อนหลังเลิกเรียน ไม่เว้นแม้แต่วันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อที่จะได้ไปเรียนกวดวิชา สำหรับเด็กที่มีฐานะหน่อยก็จะเลือกเรียนกับครูที่มีชื่อเสียง เก่ง เก็งข้อสอบดี สัดส่วนรองลงมาก็เป็นการเรียนกับครูเป็นการส่วนตัว หรือตามสถานกวดวิชาที่ครูเป็นคนเปิดสอนนอกเหนือจากเวลาสอนปกติในโรงเรียน

ชีวิตการเป็นเด็กนักเรียนไทย เครียดมาก!

เมื่อความคิดที่ว่าต้องเอนท์ให้ติดเป็นสิ่งที่ถูกฝังอยู่ในหัวของเด็กไปแล้ว ส่วนหนึ่งก็ยอมรับว่าเป็นค่านิยมของผู้เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองหรือคุณครูด้วยส่วนหนึ่งที่อยากให้บุตรหลาน หรือนักเรียนของตนได้ศึกษาในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง มีความพร้อมทั้งอุปกรณ์ และบุคลากรทางการศึกษา ด้วยความเชื่อที่ว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เด็กที่ได้ก้าวเข้าไปเรียนในสถานศึกษาเหล่านั้นมีอนาคตที่ดี และหน้าที่การงานที่มั่นคง อันเป็นผลให้พ่อแม่ หรือคุณครูคุยได้เต็มปากว่า นี่ลูกชั้น - นี่ลูกศิษย์ชั้น

ด้วยความเป็นห่วงของพ่อแม่ หรือครู ที่อยากให้เด็กเอนท์ติดกลายเป็นความคาดหวัง และกดดันให้เด็กต้องกดดันตัวเองอยู่ตลอดเวลา จนถึงขั้นทำให้เด็กเกิดภาวะเครียดได้ แต่สุดท้ายแล้วคนที่อยู่ใกล้ชิดเด็กจริงๆ ก็คือพ่อแม่ และเพื่อนๆของเค้าน่ะแหละที่จะเป็นกำลังใจสำคัญให้เด็กคนหนึ่งที่เสียใจก้าวข้ามจุดสำคัญในชีวิตครั้งนี้และเติบโตขึ้นมาเป็นอนาคตของสังคม

อยากให้ผู้บริหารการศึกษาทุกระดับตั้งแต่ระดับปฏิบัติการในโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียน ผู้บริหารเขตการศึกษา ผู้จัดทำแผนการศึกษาในทุกระดับ ในกระทรวงศึกษาธิการได้มาดูหนังเรื่องนี้ เพื่อที่จะได้ช่วยกันคิดว่าจะทำอะไรให้เกิดขึ้น …

ณ วันนี้สิทธิทางการศึกษาของเด็กไทยในระดับมัธยมก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ทั้งเรื่องที่รัฐช่วยจัดรัฐสวัสดิการให้กับเด็กเรื่องค่าเล่าเรียน หรือค่าต่างๆ นานา แต่สำหรับเด็กมหาวิทยาลัยก็คงต้องผจญชีวิตกันอีกมากมาย เพราะไม่รู้ว่าการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนของเด็กพุ่งทะยานตามไปหรือไม่ นี่ไม่รวมถึงการกู้ยืมเงินเพื่อนำไปเรียน ซึ่งการจ่ายคืนแบบขึ้นอยู่กับรายได้หลังจบการศึกษาของเด็กคนหนึ่งอีกต่างหาก (ได้ข่าวว่าดอกเบี้ยร้อยละ 5 ซึ่งจะคิดตั้งแต่กู้ไปเรียน เรียนจบมาไม่ต้องทำอะไรล่ะ ใช้หนี้ดอกเบี้ยก็หมดเงินเดือนแล้วละ)

แล้วเด็กไร้สัญชาติล่ะ

สิทธิทางการศึกษาของเด็กเยาวชนชาวไทยภูเขา หรือเด็กไทยกลุ่มอื่นๆ ซึ่งไร้สัญชาติถูกหมางเมินจากรัฐ ทั้งๆที่เขาเหล่านั้นเกิดบนผืนแผ่นดินไทย แต่ไม่ได้รับสัญชาติ ถึงแม้ว่าเด็กๆเหล่านั้นจะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จนถึงระดับมหาวิทยาลัย แต่เขาเหล่าจะไม่มีโอกาสได้รับใบรับรองการศึกษาแม้ว่าเขาจะเรียนจนจบแล้วก็ตาม

เกิดบนแผ่นดินไทย ไม่ได้รับสัญชาติไทย?

เรียนในเมืองไทย แต่ไม่ได้รับวุฒิการศึกษา?

นี่เป็นอีกหนึ่งมุมของปัญหาที่ยังรอการแก้ไขจากผู้ใหญ่ใจดีทุกๆท่าน


กลับมาที่ Final Score...

วันนี้เด็กๆ นับแสนคนกำลังประสบชะตากรรมแบบเดียวกันกับที่หนังกำลังนำเสนอ ...

สถาบันครอบครัว ครู และเพื่อน เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่สุดของเด็กม.6 ที่กำลังจะสอบเอนทรานซ์

ผมไม่เขียนอะไรแล้วดีกว่าครับ

บอกได้คำเดียวว่าใครก็ตามทั้งพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ครู เพื่อน ฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กที่กำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายห้ามพลาด

เนื้อหาในหนังดีกว่าที่ผมเขียนไว้เยอะครับ ผมเขียนบรรยายความรู้สึกไม่ค่อยเก่ง

เชิญไปดูกันเองดีกว่า 1 กุมภาพันธ์ นี้ ที่โรงภาพยนตร์ทั่วไปครับ


โดย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
เป็นคน จ.อุบลราชธานี มาอยู่ กทม. (หรือจะเรียกว่า บ้านนอกเข้ากรุงก็ได้)
มีความสนใจในงานพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยนำประเด็นสิทธิเด็กมาเป็นประเด็นสำคัญในการทำงาน เพื่อที่จะ (พยายาม) ให้เพื่อนๆ น้องๆ เด็กและเยาวชนได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียม ทั้งการพัฒนา การอยู่รอด การปกป้องคุ้มครองและการมีส่วนร่วม

วันนึงเมื่อเป็นผู้ใหญ่คงไปทำงานประเด็นสิทธิมะนู้ดชน

ปัจจุบันทำงานที่ศูนย์กิจกรรมเยาวชนเพื่อชุมชนและสังคม

==============================
Editor Note:

 

บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-02-01-1.html
เมื่อ 5 กรกฎาคม 2567 00:16
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv