รศ.ดร.วรากร ไม้เรียง ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขึ้นรับรางวัลศาสตราจารย์ ดร.ชัย มุกตพันธุ์ ครั้งที่ 1 เมื่อเย็นวานนี้
       พูดถึง “วิศวกรรมปฐพี” หลายคนอาจส่ายหัว ไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร แต่เวทีการมอบรางวัลมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.ชัย มุกตพันธุ์ บิดาแห่งปฐพีกลศาสตร์คนแรกของไทย ที่จัดขึ้นโดยวิศวกรรมสถานฯ ทำให้เราได้มีโอกาสรู้จัก การทำงานของวิศวกรทางด้านนี้ดีมากขึ้น
       
       เมื่อเย็นวันที่ 21 ก.พ. วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) ได้จัดพิธีมอบรางวัลศาสตราจารย์ ดร.ชัย มุกตพันธุ์ ครั้งที่ 1 ให้แก่ รศ.ดร.วรากร ไม้เรียง ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขึ้น ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ พร้อมใช้โอกาสเดียวกันจัดงานหารายได้สมทบทุนมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.ชัย มุกตพันธุ์ เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาและทุนวิจัยให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาโทและเอก
       
       ทั้งนี้ รศ.ดร.วรากร เจ้าของรางวัลคนแรกของรางวัลศาสตราจารย์ ดร.ชัย มุกตพันธุ์ ได้อธิบายถึง “วิศวกรรมปฐพี” ว่าหมายถึง สาขาย่อยสาขาหนึ่งของวิศวกรรมโยธา ซึ่งเน้นเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างที่วางอยู่บนดิน หรือที่เรียกว่า “ฐานราก” และสิ่งก่อสร้างที่ใช้ดินเป็นวัสดุก่อสร้าง เช่น เขื่อน โดยกว่า 80-90% ของเขื่อนในประเทศไทยเป็นเขื่อนเพื่อการชลประทาน
       
       สำหรับประโยชน์ของ “วิศวกรรมปฐพี” นั้น รศ.ดร.วรากร บอกว่า จะมีประโยชน์อย่างมากในการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างหลากหลายชนิด อาทิ เขื่อน อาคารใต้ดิน สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน อุโมงค์ การถมทะเล ตลอดจนถึงการวางฐานรากให้กับสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิที่จะขาดการทำงานของวิศวกรปฐพีไปไม่ได้
       
       ส่วนระบบการผลิตบุคลากรวิศวกรรมปฐพีของไทย วิศวกรเจ้าของรางวัล เล่าว่า ในระดับปริญญาตรียังไม่มีการเรียนการสอนศาสตร์ด้านนี้เป็นสาขาวิชาเฉพาะแต่อย่างใด แต่ทว่า นักศึกษาปริญญาตรีก็จะได้เรียนวิชาพื้นฐานมาบ้างแล้ว อาทิ วิชากลศาสตร์ของดิน วิชาวิศวกรรมฐานราก วิชาการทำผนังกั้นดิน และวิชาการปรับปรุงดิน ขณะที่จะได้แยกการเรียนการสอนวิศวกรรมปฐพีเพื่อผลิตผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจริงๆ เมื่อเรียนต่อไปในระดับปริญญาโทและเอกแล้ว
       
       มหาวิทยาลัยที่ได้เปิดหลักสูตรบัณฑิตศึกษาวิศวกรรมปฐพีอย่างเต็มตัวแล้ว เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น

รศ.ดร.วรากร ไม้เรียง
       "วิศวกรรมปฐพีของประเทศไทยเราเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน โดยมี ศ.ดร.ชัย มุกตพันธุ์ เป็นผู้บุกเบิกคนแรกๆ และเป็นบิดาแห่งวิชาปฐพีกลศาสตร์แห่งประเทศไทย เทียบกับบิดาแห่งวิศวกรรมปฐพีโลกคือ เทอร์ซาจิ (Karl von Terzaghi) ที่ให้กำเนิดวิชานี้มาเมื่อ 75 ปีก่อน จึงถือได้ว่าวิศวกรรมปฐพีของประเทศไทยก็มีความทันสมัยพอสมควร" รศ.ดร.วรากร ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อน และหัวหน้าโครงการติดตามพฤติกรรมเขื่อนขุนด่านปราการชล (เขื่อนคลองท่าด่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริ) เล่าอย่างเป็นกันเองและว่า
       
       อย่างไรก็ดี ประเทศไทยในเวลานี้ก็ยังมีความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านนี้อยู่อีกมาก เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องมือวัดและผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและก่อสร้างเขื่อนที่ยังมีกันอยู่น้อยมาก ทำให้ประเทศไทยยังต้องว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศด้วยค่าจ้างราคาแพงอยู่เสมอๆ รศ.ดร.วรากร จึงเชื่อว่า กลไกการผลิตบุคลากรเฉพาะด้านระดับบัณฑิตศึกษาข้างต้นจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นมาก และน่าจะเป็นทำให้ประเทศไทยในอนาคตมีผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปฐพีมากขึ้นตามลำดับและก่อให้เกิดเครือข่ายที่เหนียวแน่นในที่สุด
       
       ทว่า สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เป้าหมายดังกล่าวประสบผลสำเร็จได้ อาจารย์จากรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ว่า ภาครัฐจะเป็นผู้ที่มีความสำคัญมากที่สุด ซึ่งจะต้องให้การสนับสนุนการผลิตผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาในประเทศให้ได้ มิฉะนั้นแล้ว ประเทศไทยก็จะต้องเสียโอกาสการพัฒนาประเทศไปอย่างน่าเสียดาย
       
       "ในอีกด้านหนึ่ง เราก็จะต้องมีการผลิตองค์ความรู้เป็นของเราเองด้วย โดยเราก็ไม่ได้ทิ้งทฤษฎีต่างๆ ที่มีอยู่แล้วไป แต่เราจะต้องนำเอาประสบการณ์ที่สั่งสมมาต่อยอดมากขึ้นเพราะทฤษฎีที่มีอยู่แล้วอาจนำมาใช้กับประเทศไทยไม่ได้ทั้งหมด ซึ่งต่างประเทศไม่มีทางรู้เหมือนเราได้ เช่นเรื่องคุณสมบัติของดินที่แต่ละพื้นที่จะมีไม่เหมือนกันและดินก็เป็นส่วนสำคัญของฐานราก ในเรื่องนี้ ขั้นแรกเราจึงอาจเรียกสิ่งที่ได้ในขั้นแรกก่อนว่าเป็นองค์ความรู้ จากนั้นเมื่อสั่งสมประสบการณ์มากๆ เข้า เราก็จะมีทฤษฎีเป็นของเราเอง"
       
       สำหรับการได้รับรางวัล ศาสตราจารย์ ดร.ชัย มุกตพันธุ์ ในครั้งนี้ รศ.ดร.วรากร เผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้รับการยกย่องให้ได้รับรางวัลดังกล่าว ซึ่งตัวเองก็ทำงานโดยไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับรางวัลมาก่อน แต่ก็จะขอถือรางวัลดังกล่าวให้เป็นสัญญาใจที่มีต่อสังคมซึ่งได้เล็งเห็นผลงานที่ได้ทำมา โดยรางวัลนี้จะผลักดันให้ตัวเองได้ทำงานหนักมากขึ้นต่อไป ตามแนวทางของ ศ.ดร.ชัย มุกตพันธุ์ ผู้เป็นอาจารย์คนสำคัญของตัวเอง เพื่อได้ยึดถือปฏิบัติและทำประโยชน์แก่ประเทศชาติให้มากที่สุด โดยเฉพาะการเป็นแม่แบบที่ดีแก่ลูกศิษย์ ให้พวกเขาได้เป็นคนดี มีความสามารถของสังคมสืบไป
       
       "รศ.ดร.วรากร ไม้เรียง" ถือเป็นวิศวกรปฐพีผู้มีผลงานโดดเด่นด้านวิศวกรรมปฐพีมานานกว่า 30 ปี โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเขื่อนดินที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยเป็นผู้บุกเบิกการใช้เครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมของเขื่อนเพื่อความปลอดภัย เช่น การตรวจวัดการไหลซึมและการเคลื่อนตัวของน้ำ และการตรวจวัดอุณหภูมิของเขื่อน อีกทั้ง รศ.ดร.วรากร ยังได้นำความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาประยุกต์ใช้กับการวิเคราะห์ความมั่นคงของลาดดินในงานวิศวกรรมโยธา และการพัฒนาโปรแกรม “เคยูสโลป” (KUslope) ซึ่งเปิดให้แก่สาธารณชนได้ใช้ประโยชน์โดยไม่เรียกร้องผลประโยชน์
       
       ผลงานที่ผ่านมาของ รศ.ดร.วรากร ซึ่งได้รับมอบหมายจากภาครัฐและเอกชน เช่น การศึกษาภัยพิบัติเนื่องจากแผ่นดินถล่ม จ.เพชรบูรณ์ และ จ.แพร่ การศึกษาปัญหาเพื่อป้องกันและแก้ไขการพิบัติของลาดดินในหลายพื้นที่ การซ่อมแซมเขื่อนมูลบน และการเป็นวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อนโครงการควบคุมงานก่อสร้างเขื่อนคลองท่าด่าน และหัวหน้าโครงการติดตามพฤติกรรมเขื่อนคลองท่าด่านภายหลังจากได้เปิดใช้งานแล้ว
 
 
 
 
 
ที่มา-
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-02-23-2.html
เมื่อ 25 กรกฎาคม 2567 20:29
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv