ญี่ปุ่นจับมือรัสเซียสร้างสายเคเบิลใต้น้ำเชื่อมเอเชีย - ยุโรป หวังใช้เป็นเครือข่ายสำรองกรณีเกิดภัยพิบัติ และเป็นอีกหนึ่งช่องทางเชื่อมโยงคอนเทนต์จากญี่ปุ่นสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลกเพิ่มเติมจากเส้นเดิมที่วางพาดมหาสมุทรอินเดีย
       
       สองยักษ์ใหญ่วงการโทรคมนาคมโลกอย่าง เอ็นทีที คอมมูนิเคชัน คอร์ป บริษัทโทรคมนาคมสัญชาติญี่ปุ่น และทรานส์เทเลคอม จากแดนหมีขาว ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการดำเนินการติดตั้งสายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำด้วยระยะทาง 500 กิโลเมตร หรือ 310 ไมล์แล้ว โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้
       
       จุดเริ่มต้นของสายส่งข้อมูลนี้คือเกาะฮอกไกโด ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น ส่วนปลายทางคือเมือง Sakhalin ประเทศรัสเซีย โดยอัตราความเร็วในการขนส่งข้อมูลของสายเคเบิลดังกล่าวอยู่ที่ 640 กิกะบิตต่อวินาที ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยในการติดต่อสื่อสาร และให้บริการข้อมูลที่สำคัญสำหรับญี่ปุ่น เพราะปัจจุบัน ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะ ทำให้การกระจายสัญญาณ หรือส่งผ่านข้อมูลจากญี่ปุ่นสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกจึงนิยมใช้ดาวเทียมเป็นหลัก หรือมิเช่นนั้นก็จะส่งข้อมูลถึงทวีปอเมริกาเหนือก่อน แต่จากการติดตั้งสายเคเบิลในครั้งนี้จึงทำให้การส่งข้อมูลต่อตรงสู่เอเชียทำได้ง่ายขึ้น
       
       นอกจากเคเบิลใยแก้วสายนี้จะเป็นเสมือนเครือข่ายแบนด์วิธสูงสำหรับรองรับการโอนถ่ายข้อมูล
ระหว่างประเทศญี่ปุ่น ข้ามไปสู่ทวีปยุโรปแล้ว ยังสามารถใช้เป็นเครือข่ายสำรองในกรณีที่เกิดภัยธรรมชาติ เช่น การเกิดแผ่นดินไหวได้ด้วย จากเดิมญี่ปุ่นมีสายเคเบิลใต้น้ำไปยังทวีปยุโรปผ่านมหาสมุทรอินเดียเพียงช่องทางเดียว
       
       นายเซอร์เกย์ ลิปาทอฟ (Sergey Lipatov) ประธานบริษัททรานส์เทเลคอมกล่าวว่า "เครือข่ายใต้น้ำช่วยให้เราสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการเชื่อมต่อกับภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก"
       
       ขณะที่นายมาซากิ ทาเกนากะ รองประธานบริษัท NTT Communication ฝ่ายโกลบอลบิสซิเนทกล่าวให้ความเห็นว่า "เคเบิลใต้น้ำเส้นใหม่ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยกระจายข้อมูลจากญี่ปุ่นสู่ยุโรป และการเลือกใช้เส้นทางผ่านประเทศรัสเซียเนื่องจากเป็นเส้นทางที่สั้นมาก เมื่อเปรียบเทียบกับสายเคเบิลใต้น้ำที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียได้อีกด้วย"
       
       อ้างอิงข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษา แยงกี้ กรุ๊ป ระบุว่า ปัจจุบัน การส่งผ่านข้อมูลระหว่างทวีปยุโรป และเอเชียมีปริมาณเพิ่มขึ้นสูงมาก โดยบริษัทยุโรปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์มีการเชื่อมต่อกับบริษัทในภูมิภาคเอเชีย และในจำนวนนี้มีถึง 42 เปอร์เซ็นต์ที่ระบุว่าจะเพิ่มปริมาณการใช้งานขึ้นอีกในอนาคต
       
       หันมามองทางฟากเอเชียจะพบว่า 76 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทในภูมิภาคมีการเชื่อมต่อเพื่อโอนถ่ายข้อมูลกับทางยุโรป และคาดว่าจะต้องใช้แบนด์วิธเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน
       
       สำหรับงบประมาณในการก่อสร้างนี้ รายงานข่าวจากสำนักข่าวเอเอฟพีระบุว่าไม่มีการเปิดเผยให้ทราบแต่อย่างใด
       
       จากกรณีภัยพิบัติที่เคยเกิดขึ้นกับสายเคเบิลใต้น้ำเมื่อช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา บริเวณเกาะไต้หวันได้สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหรรมออนไลน์ รวมถึงระบบโทรคมนาคมในแถบภูมิภาคเอเชียอย่างหนัก การสร้างเคเบิลเส้นใหม่เพื่อรองรับกับภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้โลกสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างน้อยแม้ในภาวะวิกฤต
      
 
 
 
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-02-28-1.html
เมื่อ 5 กรกฎาคม 2567 02:14
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv