เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการประชุมผู้บริหารระดับสูง ศธ.เมื่อเร็วๆนี้ ได้เห็นชอบสาระการศึกษาที่ควรบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เสนอให้พิจารณาก่อนที่จะนำเสนอต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่จะคล้ายกับที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 โดยมีสาระหลักๆที่สำคัญที่จะเสนอ ได้แก่ หมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย เดิมกำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปีอย่างทั่วถึง โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่จะยกเลิกและกำหนดใหม่โดยระบุให้บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกัน ในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐจะต้องจัดสรรทรัพยากรให้อย่างเป็นธรรมและเพียงพอ เพื่อให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ และการจัดการศึกษาอบรมของรัฐต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน ตามที่กฎหมายบัญญัติ การจัดการศึกษาขององค์กรวิชาชีพและเอกชนภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ย่อมได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายบัญญัติ 

“การยกเลิกให้รัฐจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ไม่ได้เป็นการปลดล็อกอะไร เพียงแต่ว่าเมื่อรัฐกำหนดให้มีการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีก็ต้องจัดการศึกษาให้ทุกคนได้เรียน  ขณะเดียวกันเมื่อรัฐตั้งเป้าจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี หากไม่เขียนกฎหมายบังคับรัฐให้จัดการศึกษาให้เพียงพอ  ก็จะเกิดช่องโหว่เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับเก่า  ที่เปิดช่องให้โรงเรียนเก็บค่าใช้จ่ายในกิจกรรมเสริมนอกหลักสูตรปกติบางชนิด ด้วยการไประดมทรัพยากรและการบริจาคจนทำให้เกิดปัญหาบานปลาย เพราะโรงเรียนไม่ได้เก็บมาเสริมแต่ไปเปิดสอนในส่วนต่างๆเพิ่ม เช่น สอนเสริมคอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ ว่ายน้ำ ซึ่งไม่ใช่ แต่กลายเป็นว่าเปิดเพื่อนำทรัพยากรตรงนี้มาเสริมรายจ่ายปกติทำให้เป็นภาระยุ่งเหยิงแก่ผู้ปกครอง” ศ.ดร.วิจิตรกล่าวและว่า เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้อาจจะต้องมีการปรับกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกัน ทั้งนี้ ในส่วนของค่าบำรุงการศึกษาหรือค่าเทอมนั้นแม้จะปรับแก้เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญใหม่คงไม่มีผลอะไร รัฐจะไม่เก็บจากค่าใช้จ่ายส่วนนี้เหมือนเดิม.


 
 
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-03-02-1.html
เมื่อ 5 กรกฎาคม 2567 04:16
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv