นายบุญสนอง สุชาติพงษ์ โฆษกกรมชลประทาน กล่าววันนี้ (18 มี.ค.) ถึงสถานการณ์มวลน้ำเสียในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ทำให้มีปลาตายจำนวนมาก เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้มวลน้ำเสียยังคงอยู่ที่ช่วงบริเวณวัดเชิงเลน อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถึงท้ายสถานีวัดน้ำซี 29 อำเภอบางไทร และโรงกรองน้ำบางไทร ซึ่งมีค่าออกซิเจนในน้ำ (ดีโอ) อยู่ที่ 2.22 1.25 และ 2.0 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามลำดับ ซึ่งถือได้ว่าน้ำเสียเจือจางลงไปมากแล้ว จากช่วงแรกค่าดีโอ ต่ำสุดไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่เคลื่อนตัวจากเมื่อวานนี้เพียง 5 กม. เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากสภาวะน้ำทะเลหนุน

โฆษกกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า ขณะนี้กรมชลประทานได้เร่งดำเนินการติดตั้งกังหันน้ำชัยพัฒนาทั้ง 36 เครื่อง ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเพื่อใช้เติมอากาศในแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว โดยจะติดตั้งเป็นระยะตั้งแต่จุดที่มีมวลน้ำเสียต่อเนื่องลงมาถึงพื้นที่ด้านใต้ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงคือ จุดที่มีการเลี้ยงปลาอยู่มากของจังหวัดปทุมธานี น้ำเสียอาจส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของปลาได้ ส่วนที่กรุงเทพฯ นั้น ทราบว่ามีการปิดประตูระบายน้ำคลองต่าง ๆ ป้องกันอย่างดี จึงน่าจะเบาใจได้ และจากมาตรการบรรเทาปัญหาของหลายฝ่าย เป็นไปได้ว่ามวลน้ำเสียอาจจะเจือจางลงมากแล้วเมื่อมาถึงกรุงเทพฯ

ด้านกรมควบคุมมลพิษ ออกประกาศเตือนกรณีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมในแม่น้ำเจ้าพระยาว่า เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ปลาตายในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2550 บริเวณตำบลท่าเสด็จ และตำบลโผงเผง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง กรมควบคุมมลพิษ ได้ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำภายหลังเกิดเหตุอย่างต่อเนื่องทุกวัน จึงขอรายงานการเคลื่อนตัวของมวลน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีคุณภาพน้ำต่ำ ในวันนี้ ดังนี้ มวลน้ำได้เคลื่อนตัวมาถึงบริเวณอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และคุณภาพน้ำเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น ตรวจวัดได้ 2.5 มิลลิกรัมต่อลิตร (จากเดิมที่เคยตรวจวัดได้ 0.8 มิลลิกรัมต่อลิตร) แต่คุณภาพน้ำยังจัดอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม โดยคาดว่าจะเคลื่อนตัวถึงบริเวณอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ประมาณวันที่ 20 มีนาคม 2550 จึงขอแจ้งมาให้ทราบโดยทั่วกัน
 
 
 
 
 
ที่มา- 
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-03-18-2.html
เมื่อ 5 กรกฎาคม 2567 04:17
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv