"ริโอแกรนด์" แม่น้ำสายสำคัญของอเมริกาเหนือ เชื่อมต่อพรมแดนสหรัฐฯ-แม็กซิโก หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนนับล้าน แต่กำลังเข้าสู่วิกฤติ เพราะมีผู้ใช้ประโยชน์กับสายน้ำแห่งนี้มากเกินไป

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
แม่น้ำคงคา สายธารศักดิ์สิทธิ์ของชาวอินเดีย ก็กำลังประสบปัญหามลพิษอย่างรุนแรง

แม่น้ำโขงเผชิญปัญหาการประมงที่มากเกินไป สัตว์น้ำที่เป็นหนึ่งในวงจรของระบบนิเวศน์กำลังสูญหาย

แม่น้ำไนล์แหล่งกำเนิดอารยธรรมสำคัญของโลก เมื่อมองจากอวกาศเห็นบางช่วงของทางน้ำที่กำลังเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้เป็นผลมาจากโลกร้อน

หรืออนาคตปลาตามแหล่งน้ำต้องอาศัยหน้ากากกรองออกซิเจน !!

ตำแหน่งของแม่น้ำสายสำคัญทั้ง 10 ที่ WWF ระบุว่า กำลังวิกฤติ และอาจจะเหลือแต่เพียงชื่อในไม่ช้า

เอพี/เอเอฟพี/บีบีซีนิวส์ – 10 แม่น้ำสายสำคัญของโลกอาจจะกลายเป็นแค่ "ตำนาน" แหล่งน้ำเหล่านี้กำลังเหือดแห้งและถูกคุกคามอย่างหนัก จากเขื่อน, ภาคการเกษตร-อุตสาหกรรม และการตกปลามากเกิน รวมถึงปัญหาโลกร้อน มีแม่น้ำเพียง 21 จาก 177 สายที่ไหลลงทะเลโดยไม่มีอุปสรรค ที่สำคัญ 5 ใน 10 สายล้วนอยู่ในเอเชียทั้งแยงซี, โขง, คงคา, สินธุ และสาละวินหล่อเลี้ยงชีวิตประชาชนกว่า 870 ล้านคน กำลังเข้าขั้นวิกฤติ
       
       กองทุนสัตว์ป่าโลก หรือ ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ (World Wide Fund for Nature : WWF) รายงานถึงสถานการณ์มลภาวะ โลกร้อน และการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดกำลังทำลายแม่น้ำสายสำคัญๆ ของโลก และเชือว่าภายในทศวรรษนี้ปลาหลายพันสายพันธุ์กำลังถูกทำลาย เหตุเพราะน้ำตามแม่น้ำแล้งลงอย่างรวดเร็ว
       

       รายงานระบุว่า ขณะนี้มีแม่น้ำสายยาวเพียง 21 สายจากทั้งหมด 177 สายในโลกที่ไหลลงสู่ท้องทะเลโดยไร้อุปสรรคขัดขวาง ส่วนที่เหลือกำลังถูกทำลายทางโครงสร้าง มีปลาอพยพและสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์จากที่อื่นเข้ามาแทน เนื่องมาจากสภาพของแม่น้ำ ซึ่ง 1 ใน 5 ของปลาและสิ่งมีชีวิตในน้ำจืดกว่า 10,000 สายพันธุ์นั้นกำลังสูญพันธุ์หรือไม่ก็อยู่ในสภาพที่เสี่ยงต่อการสิ้นสูญ
       

       เจมี พิตทอค (Jamie Pittock) หัวหน้าโครงการแหล่งน้ำจืดของ WWF กล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ หันมาพิทักษ์แม่น้ำ ทะเลสาบ และพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างเร่งด่วน ซึ่งการพัฒนาแบบไม่หยุดยั้งทำให้ศักยภาพของธรรมชาติอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย
       
       ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าว มุ่งไปที่แม่น้ำสายสำคัญๆ อันเป็นสัญลักษณ์ของโลกทั้ง 10 สายได้แก่ ไนล์ (แอฟริกา), ดานูบ (ยุโรป), ริโอ แกรนด์ (อเมริกาเหนือ), ลา พลาตา (อเมริกาใต้) และ เมอร์เรย์-ดาร์ลิง (ออสเตรเลีย)
       
       ส่วนอีก 5 สายล้วนอยู่ในเอเชีย ได้แก่ แยงซี (จีน), สาละวิน (พม่า) เชื่อมต่อนู่ (ยูนนาน), สินธุ (ปากีสถาน), คงคา (อินเดีย) และโขงเชื่อมต่อล้านช้าง (สิบสองปันนา)
       

       อย่างที่ทราบกันดีว่าลุ่มน้ำ "แยงซี" ของจีนมีมลพิษสูงขึ้นถึง 70% และประสบปัญหานี้มากว่า 50 ปี อุตสาหกรรมกว่าครึ่งของจีนปล่อยน้ำเสียและสิ่งโสโครกลงแม่น้ำแห่งนี้ ทั้งกองขยะ เล้าหมู โรงพยาบาล และเหมืองแร่ และอาจรวมถึงขยะกัมมัตภาพรังสีที่ถมอยู่ใต้แม่น้ำแห่งนี้ทำให้แม่น้ำสายดังกล่าว เป็นหนึ่งในแม่น้ำที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก
       
       ขณะที่แม่น้ำ "ดานูบ" นับเป็นหัวใจของยุโรป ประชากรปลาเกือบครึ่งทวีปอาศัยอยู่ในแม่น้ำแห่งนี้ และหลังจากมีการสร้างเขื่อนขึ้นจำนวนมาก ส่งผลให้พื้นที่ชุ่มน้ำและที่ราบลุ่มน้ำหายไปเกือบ 80% อีกทั้งการขยายทางน้ำเพื่อขนส่ง ปั๊มน้ำสู่ชุมชน ถมตลิ่ง นับเป็นการคุกคามปลาและพืชที่อยู่ในดานูบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่แม่น้ำไหลผ่านเยอรมนีสู่ทะเลดำ
       
       การทำประมงมากเกินไป เป็นภัยคุกคามสำคัญต่อแม่น้ำโขง ส่วนแม่น้ำสาละวินและลาพลาตา ประสบปัญหาจากเขื่อน แม่น้ำริโอแกรนด์และคงคามีประชากรใช้งานจากแม่น้ำมากเกินไป ขณะที่แม่น้ำไนล์และสินธุกำลังประสบเคราะห์กรรมจากโลกร้อน
       
       "แม่น้ำเป็นแหล่งน้ำจืดสำคัญของโลก และปริมาณน้ำจืดที่มีอยู่ประมาณครึ่งหนึ่ง ก็ถูกใช้ไปจนหมดแล้ว" พิตทอคเผย และชี้ว่า แม้ภัยที่คุกคามแม่น้ำนั้นมีความแตกต่างกันไป หรือมีความเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน แต่การแก้ปัญหานั้นต้องการนโยบายแบบบูรณาการ มากกว่าความพยายามที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาในแง่มุมเดียว และอาจจบลงโดยไม่ได้ผลตามต้องการ
       

       "ตัวอย่างเช่น ในขณะที่รัฐบาลวิตกเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะทำให้ปริมาณน้ำลดลง พวกเขาก็จะสร้างเขื่อนมากขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำเพิ่ม ซึ่งจะส่งผลให้มีการผันน้ำจากแม่น้ำมากขึ้น และจะสร้างปัญหาทางนิเวศวิทยามากยิ่งขึ้น" พิตทอคระบุ
       
       รัฐบาลจำนวนมากยังมุ่งความสนใจไปที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อเป็นแหล่งพลังงาน "สะอาด" แต่นั่นก็จะหมายความว่า จะต้องสร้างเขื่อนมากขึ้นเพื่อกักน้ำ และจะทำลายประชากรปลาจนหมดสิ้น เขากล่าวเสริม
       
       รายงานของ WWF เน้นว่า การผันน้ำ เขื่อน และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นภัยคุกคามที่ส่งผลกว้างมากที่สุด ซึ่งจะมีผลกระทบเกือบทั้งหมดต่อมนุษย์ นอกจากนี้ สัตว์และพืชพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามารุกราน และมลพิษ ก็เป็นปัญหาร้ายแรงเช่นกัน
       
       ทั้งนี้ WWF ได้ศึกษาเรื่องแหล่งน้ำ และเปิดเผยรายงานฉบับนี้ เพื่อต้อนรับ "วันน้ำโลก" (World Water Day) ที่มีขึ้นในวันที่ 22 มี.ค.ของทุกปี โดยปีนี้มีแนวคิดหลักว่า "เผชิญกับการขาดแคลนน้ำ" (Coping with Water Scarcity)
 
 
 
 
 
ที่มา- 
 
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-03-21-3.html
เมื่อ 25 กรกฎาคม 2567 23:13
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv